แอมเนสตี้ยืนหยัดทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อไป แม้มีเสียงขับไล่ให้ออกนอกประเทศ

16 กุมภาพันธ์ 2565

Amnesty International

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทำงานในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และให้คำมั่นที่จะดำเนินงานต่อไป เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนในประเทศนี้ แม้มีเสียงเรียกร้องให้ขับไล่องค์กรออกจากประเทศ 

ไคลด์ วอร์ด รองเลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ในฐานะที่เป็นขบวนการของคนธรรมดาที่เคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ที่มีการดำเนินงานในกว่า 70 ประเทศ มีสมาชิกและผู้สนับสนุนใน 150 ประเทศและดินแดน ไม่ว่าเป็นการดำเนินงานในที่ใด เราต่างมีภารกิจเดียวกันคือ การป้องกัน ตรวจสอบ และกระตุ้นให้รัฐ บรรษัท และหน่วยงานหรือบุคคลอื่นต้องรับผิดชอบต่อการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายระหว่างประเทศ

“เราให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ต่อทางการเกี่ยวกับการดำเนินงานที่ทำได้ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของตน เราจะยังคงดำเนินงานเช่นนี้ต่อไปอย่างเป็นอิสระและไม่ลำเอียง และตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ต่อกรณีที่มีการรณรงค์ต่อต้านแอมเนสตี้ และการตรวจสอบที่เกี่ยวข้อง เราพร้อมจะตอบคำถามที่รัฐบาลมีเกี่ยวกับการทำงานของเราในประเทศไทยต่อไป  

“แม้เราตระหนักว่า รัฐบาลไทยมีหน้าที่คุ้มครองความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ แต่เรายังคงต้องเน้นย้ำว่า ทางการต้องปฏิบัติหน้าที่นี้ในลักษณะที่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และต้องเป็นการดำเนินงานที่ได้สัดส่วน จำเป็น และตอบสนองต่อพันธกรณีของรัฐบาล เพื่อประกันและสนับสนุนการเคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ  

“ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อให้ทางการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของตน จัดทำขึ้นตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีการให้ความเห็นชอบในระดับสากล และประเทศไทยให้คำมั่นที่จะปฏิบัติตาม”

“การรณรงค์ต่อต้านแอมเนสตี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ทางการกำลังดำเนินงานเพื่อประกาศใช้กฎหมายที่กำลังถูกจับตามอง เพื่อควบคุมกำกับหน่วยงานไม่แสวงหากำไรในประเทศ ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. .... ฉบับนี้อาจส่งผลอย่างร้ายแรงต่อภาคประชาสังคมทุกส่วนในประเทศไทย และที่ผ่านมาแอมเนสตี้ได้เรียกร้องในทุกโอกาสที่เป็นไปได้ เพื่อให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายนี้ และให้เปิดรับฟังความเห็นเพิ่มเติม การโจมตีแอมเนสตี้เกิดขึ้นพร้อมกับสภาวะที่ทางการไทยดูจะมีความอดทนต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนน้อยลง” 

 

ข้อมูลพื้นฐาน 

ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องอย่างเปิดเผย ให้ขับไล่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกจากประเทศไทย เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้จัดทำการลงชื่อทางออนไลน์ สนับสนุนการรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดีย และการจัดประท้วงขนาดเล็ก 

นายกรัฐมนตรีตอบสนองด้วยการประกาศให้มีการสอบสวนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นขบวนการของคนธรรมดามากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก ที่ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรมสำหรับทุกคน ประกอบด้วยสำนักเลขาธิการใหญ่ และเครือข่ายสมาชิกระหว่างประเทศและหน่วยงานที่เป็นสมาชิกระดับประเทศ รวมทั้งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แม้ว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยและสำนักเลขาธิการใหญ่จะเป็นองค์กรนิติบุคคลที่แยกจากกัน แต่มีการร่วมมือทำงานอย่างใกล้ชิดภายใต้ธรรมนูญฉบับเดียวกัน  

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ press@amnesty.org