หลังการทำรัฐประหาร กองทัพเมียนมาปิดกั้นความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างสิ้นเชิง

17 ธันวาคม 2564

Amnesty International 

  • จำกัดการเข้าถึงอาหารและเวชภัณฑ์ในพื้นที่ ซึ่งกองทัพโจมตีประชากรพลเรือนอย่างไม่เลือกเป้าหมาย
  • ผู้ทำงานให้ความช่วยเหลือในท้องถิ่นและอาสาสมัครผู้ทำงานด้านมนุษยธรรม ตกเป็นเป้าหมายระหว่างการจัดซื้อหรือส่งมอบความช่วยเหลือ หรือให้การดูแลสุขภาพฉุกเฉิน 
  • ผู้พลัดถิ่นรายใหม่รู้สึกเสี่ยงภัยต่อชีวิตระหว่างพยายามต่อสู้เพื่อตอบสนองความอยู่รอดขั้นพื้นฐานของตนเอง 

กองทัพเมียนมาได้โจมตีประชากรพลเรือนของตนเองอย่างไม่เลือกเป้าหมาย และขัดขวางการเข้าถึงสิ่งของที่จำเป็นต่อการอยู่รอด นับแต่ยึดอำนาจเมื่อเกือบหนึ่งปีที่แล้วในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันนี้ 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสัมภาษณ์พลเรือนพลัดถิ่นสี่คน และผู้ทำงานให้ความช่วยเหลือในท้องถิ่นและอาสาสมัครผู้ทำงานด้านมนุษยธรรมหกคน เรื่องราวที่มีพลังของพวกเขาเน้นให้เห็นความพยายามอย่างเป็นระบบของกองทัพที่จะทำให้ประชาชนอดตาย และขัดขวางไม่ให้เข้าถึงการดูแลสุขภาพ โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปราบปรามการต่อต้านรัฐประหารด้วยอาวุธ

ในช่วงกว่าหกทศวรรษที่ผ่านมา กองทัพใช้ยุทธศาสตร์ “สี่ตัด” บริเวณพรมแดนของประเทศ โดยตัดการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็น เพื่อทำลายแรงสนับสนุนต่อองค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ที่สู้รบเพื่ออำนาจการตัดสินใจด้วยตนเอง ในปัจจุบัน ได้มีการขยายการใช้ยุทธวิธีนี้ในพื้นที่ที่กำลังอยู่ใต้การควบคุมของกองทัพปกป้องประชาชน ในขณะที่ยังคงปราบปรามอย่างรุนแรงต่อการต่อต้านรัฐประหารในทุกรูปแบบ การใช้ยุทธศาสตร์สี่ตัดของกองทัพส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชากรพลเรือน

กองทัพได้ทำสงครามกับฝ่ายต่อต้านที่ใช้อาวุธ โดยไม่เพียงใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดอย่างไม่เลือกเป้าหมาย และเผาบ้านเรือนหลายร้อยหลัง แต่ยังได้ตัดการเข้าถึงสิ่งของ และบริการที่จำเป็นต่อชีวิตของประชากรพลเรือนในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์และในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ  

องค์การสหประชาชาติระบุว่า มีผู้พลัดถิ่นฐานในประเทศจำนวน 284,700 คน อันเนื่องมาจากการสู้รบด้วยอาวุธและการขาดเสถียรภาพนับแต่การทำรัฐประหาร และมีประชากรอย่างน้อยสองล้านคนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในปี 2564 พร้อมกับชี้ว่า ความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอีก  

ในวันที่ 9 ธันวาคม องค์การสหประชาชาติระบุถึงการเข้าถึงด้านมนุษยธรรม “ที่จำกัดอย่างยิ่ง” เนื่องจากปัญหาท้าทายรวมทั้งการปิดกั้นถนนและการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 

“นับแต่กองทัพได้ยึดอำนาจ ประชาชนชาวเมียนมาต้องเผชิญกับความทุกข์ยากสาหัส ประชาชนหลายแสนคนถูกบีบให้ต้องละทิ้งบ้านเรือนของตนเอง หลายคนต้องทนทุกข์ทรมานกับความหิวโหยและมีชีวิตอย่างหวาดกลัว พยายามเอาตัวรอดในสภาพที่ไม่มีการดูแลด้านสุขภาพหรือการแพทย์ ในขณะที่ยังมีการระบาดของโรคต่อไป” เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว 

 

แทบจะเอาตัวไม่รอดในป่า 

 

 

แคทเธอรีน* กำลังตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ขณะที่เกิดการสู้รบระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐบาล กับกองกำลังของกลุ่มพลเรือนฝ่ายต่อต้านและองค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ตลอดทั่วรัฐคะยาในเดือนพฤษภาคม กองทัพตอบโต้กับฝ่ายต่อต้านกลุ่มใหม่ด้วยการทิ้งระเบิดทางอากาศ การระดมยิงปืนใหญ่ และการยิงปืนอย่างไม่เลือกเป้าหมาย ส่งผลให้ประชากร 100,000 คนหลบหนีจากบ้านเรือนจนถึงวันที่ 8 มิถุนายน ทั้งนี้ตามการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ 

ในวันที่ 9 มิถุนายน ทอม แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมากล่าวเตือนถึง “การเสียชีวิตของคนจำนวนมากจากความหิวโหย โรคภัยไข้เจ็บ และผลกระทบ” ตลอดทั้งรัฐ ในขณะที่กองทัพปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าถึงอาหาร น้ำ และเวชภัณฑ์ รวมทั้งขัดขวางการจัดส่งความช่วยเหลือ 

ตอนที่การสู้รบลามไปถึงหมู่บ้านของแคทเธอรีนที่เมืองเดโมโซ เธอและสามีพร้อมกับลูกสองคนต้องหลบหนีไปอยู่ในป่า พวกเขาต้องย้ายถิ่นฐานหลายครั้งเพื่อความปลอดภัย และประสบความยากลำบากระหว่างหน้าฝน ต้องนอนอยู่ใต้ผืนผ้าใบ จากปากคำของสามี แม้ว่าพวกเขาจะได้รับอาหารอยู่บ้างจากกลุ่มช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและชาวบ้านคนอื่น แต่ก็ไม่เพียงพอ  

หลังจากตั้งครรภ์ได้เจ็ดเดือน แคทเธอรีนเริ่มอาเจียนและมีอาการเวียนศีรษะ เหนื่อยล้า และหายใจถี่ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เธอเกิดอาการชักเกร็ง เมื่อตั้งครรภ์ได้แปดเดือน มือเท้าเริ่มบวม และเธอไม่สามารถเดินได้ เธอเริ่มเจ็บท้องคลอดในเดือนตุลาคม แม้ว่าจะมีหมอตำแยอยู่ด้วย แต่ทั้งแคทเธอรีนและลูกก็ไม่รอดชีวิต  

“เธอไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ไม่มีที่พักอาศัยอันอบอุ่น ภรรยาผมประสบความทุกข์ยากระหว่างตั้งครรภ์ ร่างกายเธออ่อนแอและทำให้ไม่สามารถคลอดลูกได้” สามีของเธอกล่าว 

 

 

เมืองพรูโซ รัฐคะยาประสบปัญหาการพลัดถิ่นฐานของคนจำนวนมากนับแต่เดือนพฤษภาคม แต่ฟรานซิส* ไม่สามารถหลบหนีกับครอบครัวได้ทันที เขาเป็นอัมพาตตั้งแต่เอวลงมา ภรรยาเขาและแม่ยายหลบหนีเข้าไปอยู่ในป่าพร้อมกับลูกสี่คน และเขาได้ตามไปในวันต่อมา โดยชาวบ้านได้กลับมาอุ้มเขาเข้าไปในป่า 

หลังผ่านไปสัปดาห์ครึ่ง ครอบครัวได้กลับมาที่บ้าน แต่อีกไม่นานก็ต้องหลบหนีอีกครั้งเพราะเริ่มมีการสู้รบขึ้นมาอีก โดยรวมแล้ว พวกเขาใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนอยู่ในป่า “ตอนที่หลบหนีไปครั้งแรก เรานอนได้ทุกที่เท่าที่จะทำได้ แม้จะไม่มีผ้าห่มหรือไม่มีหลังคา หลังผ่านไปวันหรือสองวัน เมื่อสถานการณ์เริ่มสงบลงบ้าง เราได้กลับไปเอาผ้าปูที่นอนและผ้าห่ม [มาจากบ้าน] เราต้องพักอาศัยอยู่ใต้ผืนผ้าใบตลอดเวลา” ฟรานซิสกล่าว 

ครอบครัวเขาและคนอื่นที่ต้องหลบหนีจากหมู่บ้าน ไม่เพียงต้องดำรงชีพจากอาหารและน้ำเท่าที่จะหาได้ พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงเวชภัณฑ์หรือยารักษาโรคได้ ภรรยาของฟรานซิสต้องใช้ถุงมือยางและหลอดสวนเพื่อช่วยในขับถ่ายและการปัสสาวะ ระหว่างที่หลบหนีอยู่ในป่า  

ในเดือนมิถุนายน กลุ่มการกุศลได้ให้ที่พักที่มั่นคงมากขึ้นกับเขา ทำให้เขาอาศัยอยู่กับภรรยาและลูกคนเล็กทั้งสองคนได้ แม้ว่าที่พักพิงแห่งนี้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีกว่า และทำให้เข้าถึงทรัพยากรมากกว่าอยู่ในป่า แต่ฟรานซิสบอกว่าก็มีอาหารอย่างจำกัด เขายังกลัวว่าที่ ๆ เขาพักพิงอยู่ อาจจะถูกโจมตีเช่นกัน 

ลูกคนโตอีกสองคนของฟรานซิสอาศัยอยู่กับยายและป้าที่บ้าน และพวกเขาก็ต้องหลบซ่อนตัวในป่าเป็นบางครั้ง ขณะที่การสู้รบระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านยังเกิดขึ้นต่อไป เขาต้องการกลับไปอยู่กับลูก แต่ก็กังวลว่าจะทำให้คนอื่นประสบความยากลำบากเพราะต้องมาช่วยเหลือเขา “ถ้าผมกลับไปอยู่ในหมู่บ้านและมีเหตุให้ต้องหลบหนีอีกครั้ง ผมจะกลายเป็นภาระกับคนอื่น ผมทนให้เกิดเรื่องแบบนั้นไม่ได้ ผมจึงตัดสินใจอยู่ที่นี่จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น” เขากล่าว 

 

แบกคนที่รักไว้บนหลัง 

 

 

ในภาคสะกายและภาคมะเกว รวมทั้งรัฐชินทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา การสู้รบระหว่างกองทัพกับกลุ่มพลเรือนฝ่ายต่อต้าน รวมทั้งองค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นฐานกว่า 93,000 คน ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ในขณะที่กองทัพโจมตีพื้นที่ของชาวบ้านด้วยการทิ้งระเบิดทางอากาศ การวางเพลิง และการยิงปืนใส่อย่างไม่เลือกเป้าหมาย 

เทียลเหลียน* อายุ 30 ปี หลบหนีจากหมู่บ้านของเธอในเมืองมี่นดะ รัฐชิน ไปอยู่ในป่าพร้อมกับสามี ลูกสองคน พ่อ และยาย เมื่อการสู้รบเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม

เนื่องจากพ่อของเธอซึ่งมีอายุ 77 ปี และยายซึ่งคาดว่ามีอายุกว่าร้อยปี ไม่สามารถเดินได้อย่างคล่องแคล่ว เทียลเหลียนและสามีต้องแบกพวกเขาไว้บนหลังระหว่างการหลบหนี ครอบครัวของเธอต้องหนีเข้าไปหลบซ่อนตัวในป่าเป็นบางครั้ง โดยเทียลเหลียนและสามีได้สร้างเพิงเล็ก ๆ ทำจากผ้าใบเอาไว้ บางครั้งพวกเขากังวลว่าเสียงเด็กทารกที่ร้องไห้ อาจทำให้ทหารรู้ที่ซ่อนตัวของพวกเขา ทั้งสามีภรรยาจึงต้องหลบหนีลึกเข้าไปในป่าพร้อมกับลูก ทิ้งให้ผู้สูงวัยทั้งสองคนอยู่ในเพิงพักเป็นเวลาหลายวันในบางครั้ง  

บางครั้งมีหนูมาแทะผ้าใบจนเป็นรู ทำให้พวกเขาได้รับการคุ้มครองน้อยลง “ตอนฝนตก ผืนผ้าใบไม่สามารถแบกรับน้ำหนักของน้ำได้ ทำให้เราเปียกชุ่มพร้อมกับผ้าห่ม” เทียลเหลียนกล่าว บางครั้งพวกเขายังไม่มีอะไรกินเป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน เพราะไม่กล้าก่อกองไฟขณะที่ทหารอยู่ใกล้ ๆ 

แม้แต่ตอนที่สามารถเดินทางกลับไปหมู่บ้าน การเข้าถึงอาหารและเวชภัณฑ์ก็เป็นไปอย่างยากลำบาก “มีการปิดกั้นถนนในระหว่างการไปซื้อข้าวสาร และไม่มีใครในหมู่บ้านขายข้าวสารให้” เทียลเหลียนกล่าว 

“เพราะมีทหารมาตั้งด่านในถนน เราจึงต้องจ่ายเงิน 1,500 จ๊าต (ประมาณ 1 เหรียญ) ซื้อเสบียง ซึ่งถ้า [ตอนปรกติ] เราจะจ่ายเพียง 1,000 จ๊าต” เธอกล่าวเสริม นอกจากจะขาดแคลนข้าวสาร เธอบอกว่าบางครั้งครอบครัวของเธอไม่สามารถเข้าถึงน้ำมันพืช เกลือ หรือน้ำพริกได้  

จากการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ การสู้รบครั้งใหม่ตั้งแต่เดือนมีนาคมระหว่างองค์กรปลดแอกชาวคะฉิ่น (KIO) กับกองทัพในรัฐคะฉิ่นตอนเหนือสุดของเมียนมา ส่งผลให้ประชาชนกว่า 15,000 คนต้องพลัดถิ่นฐานทั่วทั้งรัฐ  

คอเร็ง* ไม่ได้กลับมาที่หมู่บ้านที่เมืองอินจังหยางเลย นับแต่การสู้รบรุนแรงขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม เธอออกจากหมู่บ้านและเดินเท้าพร้อมกับลูกชายอายุหนึ่งขวบเป็นเวลาสองวัน ก่อนจะหยุดเพื่อตั้งเพิงพัก จากนั้นมาจึงได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำกัด “มีการตั้งด่านบนถนน และที่ ๆ ดิฉันอยู่ก็เป็นที่ห่างไกล ทำให้ยากต่อการเข้าถึงอาหารและเวชภัณฑ์” เธอกล่าว  

ประมาณเดือนเมษายน คอเร็งพบว่าเธอตั้งครรภ์ แต่ยังไม่เคยไปฝากครรภ์ที่ไหน เธอกังวลเกี่ยวกับการคลอดลูก เพราะกว่าจะเดินทางไปสถานีอนามัยก็ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง และจะต้องเดินทางผ่านด่านของทหารด้วย  

 

การตัดเสบียง 

 

 

ผู้ทำงานด้านมนุษยธรรมในพื้นที่หกคน อธิบายถึงวิธีการที่กองทัพจำกัดอย่างรุนแรงต่อการเข้าถึงความช่วยเหลือ รวมทั้งการจับกุมผู้ทำงานให้ความช่วยเหลือ และการยึดหรือทำลายเสบียงอาหาร เวชภัณฑ์ และสิ่งของบรรเทาทุกข์ หรือการจำกัดการขนส่ง  

“กองทัพขัดขวางไม่ให้ประชาชนเข้าถึงความช่วยเหลือที่จำเป็นต่อชีวิต พวกเขาปิดกั้นสิ่งช่วยเหลือที่จำเป็น รวมทั้งปิดกั้นเส้นทางขนส่งอาหารและเวชภัณฑ์ และข่มขู่ผู้ทำงานด้านสุขภาพที่เพียงแต่ต้องการรักษาชีวิตคน” เอ็มเมอร์ลีน กิลกล่าว 

ในเดือนพฤศจิกายน องค์การสหประชาชาติบรรยายถึงสภาพด้านความมั่นคง “ที่เปราะบาง” ในทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมียน และการเข้าถึงด้านมนุษยธรรม “ที่จำกัดอย่างยิ่ง” 

ที่เมืองโมบเย ตอนใต้ของรัฐฉานซึ่งเกิดการสู้รบขึ้นช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ทีมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมซึ่งประกอบด้วยเยาวชนในพื้นที่ พยายามส่งความช่วยเหลือให้กับผู้พลัดถิ่นฐานที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาในตอนเช้าของวันที่ 8 มิถุนายน ตามข้อมูลของสมาชิกคนหนึ่งในทีม ซึ่งเราไม่สามารถระบุชื่อได้เนื่องจากกลัวการตอบโต้ เขากล่าวว่า ตัวเขาและสมาชิกในทีมช่วยเหลือคนอื่น เอากระสอบข้าวสารใส่บนรถที่โรงเรียน ซึ่งได้ถูกเปลี่ยนเป็นที่เก็บเสบียง แต่ตอนที่รถกำลังออกเดินทาง ทหารก็ยิงปืนใส่ ทำให้รถไม่สามารถเดินทางไปยังเป้าหมายได้  

“เราต้องพากันวิ่งหลบหนี และไม่สามารถขนส่งเสบียงได้อีก” เขากล่าว 

ในคืนวันนั้น เขามองเห็นจากในระยะไกลขณะที่ทหารขนเสบียงออกจากที่จัดเก็บและเอาไปเผา เสบียงที่ถูกทำลายรวมถึงข้าวสารกว่า 80 กระสอบ อาหารอย่างอื่น เวชภัณฑ์ และน้ำมันเชื้อเพลิงอีกหลายถัง ทหารยังทำลายรถพยาบาลที่มีตราสัญลักษณ์และรถอีกหนึ่งคัน “พวกเขาเผาทุกอย่าง ยกเว้นแต่สุขาแบบเคลื่อนที่” ผู้ทำงานด้านมนุษยธรรมคนหนึ่งกล่าว  

ทหารยังเล็งปืนและยิงไปในทิศทางของภูเขา เขากล่าว ทำให้คนซึ่งหนีออกจากบ้านเพื่อหลบซ่อนตัว ต้องหาที่ซ่อนตัวใหม่ แม้ว่าพวกเขาไม่มีอาหารเพียงพอ แต่ก็ไม่กล้าจะออกมาจากที่ซ่อนตัวเพื่อหาอาหาร  

ทีมงานให้ความช่วยเหลือยังระบุว่าช่วงต้นเดือนตุลาคม คนขับรถขนส่งเสบียงอาหารที่จะนำไปให้กับผู้พลัดถิ่นฐานในประเทศในเมืองโมบเย ได้ถูกจับตัวระหว่างเมืองยองฉ่วยและเมืองฝายขุ่น “[ทหาร] ได้ยึดเสบียงอาหารแห้งและรถบรรทุกไป และยังจับกุมคนขับกับผู้ช่วยของเขา”  

กองทัพยังปิดกั้นการขนส่งเวชภัณฑ์ไปที่เมืองโมบเยตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม เขาบอก และทีมงานของเขาไม่สามารถกลับไปรับของบริจาคจากย่างกุ้งได้ “สถานการณ์ไม่ปลอดภัย เราจึงไม่กล้าเดินทางไปรับสิ่งของบริจาค และไม่มีคนขับรถคนไหนกล้าขนส่งสิ่งของเหล่านี้เช่นกัน”  

ทีมงานของเขาไม่กล้าเดินทางไปตลาดที่เมืองลอยก่อที่อยู่ใกล้ เพื่อซื้อข้าวของด้วยตนเองอีกต่อไป และต้องมีการชะลอการจัดส่งสิ่งของเนื่องจากความเสี่ยงเหล่านี้ พวกเขายังประสบปัญหาในการส่งมอบเงินเพื่อจัดซื้อสิ่งของเหล่านี้ เนื่องจากนายหน้าที่รับส่งเงินไม่กล้าให้ความช่วยเหลือ เพราะกลัวจะตกเป็นเป้าหมายเช่นกัน  

ทีมงานอาสาสมัคร ซึ่งทำงานกับผู้ให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพ และให้บริการคลินิกเคลื่อนที่ รวมทั้งบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน ยังต้องชะลอหรือระงับการขนส่งบริการเหล่านี้ในบางครั้ง เพราะกลัวจะถูกจับกุม  

ผู้ทำงานภาคประชาสังคมที่เมืองฝายขุ่นที่อยู่ใกล้ ๆ แต่มีการสู้รบและมีการพลัดถิ่นฐานตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า กองทัพเริ่มปิดกั้นถนนตั้งแต่เดือนมิถุนายน “ในตอนแรก เราต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น แต่พวกเขาก็มาปิดกั้นอีก ตอนนี้พวกเราต้องลำเลียง [สิ่งของบรรเทาทุกข์] ทีละน้อย แต่ในบางพื้นที่เราก็ไม่สามารถนำสิ่งของไปให้ได้เลย” เธอกล่าว  

กองทัพยังมักตรวจสอบสิ่งของที่อยู่ในรถตามด่านตรวจ “ในช่วงนี้ พวกเขาตรวจสิ่งของต่าง ๆ อย่างละเอียด รวมทั้งเวชภัณฑ์ต่าง ๆ เพราะมีคนที่สั่งเวชภัณฑ์เหล่านี้ [ทหาร] จะเปิดกล่องเหล่านี้ออกระหว่างเรียกให้หยุดตรวจในถนน และยึดสิ่งของเอาไว้” เธอกล่าว  

ผู้ทำงานภาคประชาสังคมอีกคนหนึ่งอธิบายถึงปัญหาท้าทายที่คล้ายคลึงกัน ระหว่างพยายามส่งความช่วยเหลือไปที่เมืองลอยก่อ เมืองเดโมโซ และเมืองพรูโซ รัฐคะยา “ทหารเรียกให้หยุดตรวจตลอดเวลา ตอนที่พวกเราเอาอาหารและผ้าใบเพื่อใช้เป็นเพิงพักไปส่ง บางครั้งพวกเขาไม่อนุญาตให้เราผ่านไปได้ ตอนที่เราขนส่งเสบียง เราไม่สามารถทำอย่างเปิดเผยได้” เธอกล่าว 

หน่วยงานของเธอต้องเอาธงสีขาวออกไป ก่อนหน้านี้มีการติดธงไว้บนรถ เป็นสัญลักษณ์ของหน่วยบรรเทาทุกข์ นอกจากนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ทหารสงสัย หน่วยงานของเธอยังต้องจัดซื้อสิ่งของในปริมาณไม่มากนัก  

ความหวาดกลัวว่าจะถูกโจมตีหรือตกเป็นเป้าระหว่างการยิงสู้รบ ยังทำให้ทีมงานต้องชะลอหรือยุติการส่งความช่วยเหลือไปในบางพื้นที่ของเมืองเดโมโซ “เราต้องค้นหาว่าถนนเส้นไหนจะปลอดภัย และ [ทหาร] ไม่รู้จักเส้นทางนั้น” เธอกล่าว “เราจะหยุดพักและเก็บรักษาเสบียง เมื่อถนนปลอดภัย เราจึงเริ่มเดินทางอีก”  

 

ความกลัวอย่างกว้างขวาง

 

 

ผู้ทำงานด้านมนุษยธรรมในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา เผชิญกับอุปสรรคคล้าย ๆ กัน และองค์การสหประชาชาติรายงานว่ามีการขาดแคลนอาหาร เชื้อเพลิง และเวชภัณฑ์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 

อาสาสมัครจากทีมช่วยเหลือฉุกเฉินที่เมืองมี่นดะ รัฐชินบอกว่า กลุ่มของเขาไม่สามารถส่งอาหารหรือเวชภัณฑ์ไปในหลายพื้นที่ของเมืองแห่งนี้ เนื่องจากมีการตั้งด่านในถนน และทีมงานต้องจัดส่งของในปริมาณน้อยลงโดยใช้รถมอเตอร์ไซค์ หรือการเดินเท้า เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่เห็น หลังจากมีสมาชิกคนหนึ่งถูกจับกุมระหว่างเดินทางกลับจากการส่งความช่วยเหลือให้กับผู้พลัดถิ่น  

ที่เมืองคาเล ในภาคสะกาย ผู้ทำงานภาคประชาสังคมบอกว่า กองทัพ “ปิดกั้นถนนสายหลักทั้งหมด” และทหาร “ตรวจข้าวของทุกอย่าง” ในรถที่เดินทางตามเส้นทางเหล่านี้  

“พวกเขาห้ามขนส่งสิ่งของเพื่อช่วยเหลือ [ผู้พลัดถิ่นฐานในประเทศ] และจับกุมคนด้วย เราจึงไม่กล้าขนส่งข้าวของบางอย่างที่ให้ความช่วยเหลือได้ และได้แต่รอเวลา” เธอกล่าว หน่วยงานของเธองดเว้นการส่งเวชภัณฑ์อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากทราบว่าทหารได้ตรวจยึดเวชภัณฑ์บริเวณปากทางเข้าเมืองแห่งนี้  

ความเสี่ยงต่อการขนส่งสินค้า ทำให้ประสบปัญหาในการหาคนขับรถเข้าไปในพื้นที่ที่ยังคงมีการสู้รบในรัฐชิน และภาคสะกาย ซึ่งเป็นพื้นที่การทำงานของหน่วยงานของเธอ เธอกล่าวว่า “บางครั้ง เราต้องเจรจาและขอร้อง [คนขับ] ให้ช่วยขับรถไปส่งอาหาร” เธอกล่าว  

แพทย์อาสาคนหนึ่งที่เมืองหยินมาร์บินในภาคสะกายบอกว่า ทีมงานของเขาไม่สามารถขนส่งเวชภัณฑ์หรืออุปกรณ์การแพทย์ได้อย่างอิสระ “ในบางครั้ง [ทางผู้ผลิต] ส่งของมาให้กับเรา แต่เราไม่ได้รับ” เขากล่าว เขาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายที่ให้การดูแลสุขภาพในชุมชนห่างไกลที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง รวมทั้งสมาชิกของกองกำลังปกป้องประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ และการส่งความช่วยเหลือด้านอาหารให้กับผู้พลัดถิ่นฐานในภาคสะกาย 

กองทัพได้สั่งปิดกั้นบริการอินเตอร์เน็ตใน 24 เมืองทางภาคกลาง และตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา รวมทั้งที่เมืองหยินมาร์บิน ตั้งแต่เดือนกันยายน แพทย์อาสาบอกว่า เขาและทีมงานประสบกับความล่าช้าในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งได้กลายเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งกองทัพได้ปิดกั้นบริการโทรศัพท์หลายครั้ง  

เขาและทีมงานยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัย เขาบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ในเดือนกรกฎาคมสถานีอนามัยชั่วคราวแห่งหนึ่งถูกโจมตีด้วยลูกปืนใหญ่และกระสุนปืนของกองทัพ ทำให้อาสาสมัครและผู้ป่วยต้องหลบหนี โดยอาสาสมัครสามคนในเครือข่ายของเขาถูกจับกุมด้วย เขากล่าว  

เรื่องราวเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศ และสะท้อนให้เห็นว่า กองทัพเมียนมาดำเนินการอย่างเป็นระบบเพื่อปิดกั้นไม่ให้พลเรือนเข้าถึงสิ่งของและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นอย่างยิ่ง  

“เราจะเห็นคนตายมากขึ้นถ้ากองทัพยังคงปฏิบัติการอย่างโหดร้ายกับประชาชนของตนต่อไป กองทัพต้องอนุญาตให้ผู้ทำงานด้านมนุษยธรรมเข้าถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างเต็มที่” เอ็มเมอร์ลีน กิลกล่าว

 

 

หมายเหตุ: * มีการเปลี่ยนชื่อเพื่อความปลอดภัยของผู้ให้ข้อมูล