ในวันที่ผู้มีอำนาจไม่(อยาก)ฟัง ถึงเวลาแห่งการรวมพลัง “พูดเพื่อเด็ก”

24 กันยายน 2564

Amnesty International Thailand

วันจันทร์ที่ 20 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเยาวชนแห่งชาติ  แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับ The Reporters จัดไลฟ์เปิดตัวโครงการ “พูดเพื่อเด็ก” โครงการที่จับมือผู้ใหญ่ให้ร่วมส่งเสียงเพื่อเด็กในวันที่ผู้มีอำนาจไม่(อยาก)ฟัง เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กที่ออกมาใช้เสรีภาพทางการแสดงออก โดยมีเป้าหมายสูงสุดของ โครงการฯ คือการให้เด็กมีส่วนร่วมและใช้เสรีภาพทางการแสดงออกโดยปราศจากความรุนแรงและความหวาดกลัวตลอดจน รณรงคให้ทุกคนออกมาปกป้องสิทธิเด็กและหาพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก เพื่อช่วยยุติความรุนแรงทางกายและจิตใจ ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กทั้งในบ้านและนอกบ้านด้วย 

 

พร้อมชวนวิทยากรอย่าง นิภาพร สมน้อย แม่ของเยาวชนที่ถูกยิงในเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมแดงเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม อวัช รัตนปิณฑะ ประชาชนผู้ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ณัฐวุฒิ เนาวบุตร อาสาสมัครโครงการ Child in Mob ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ที่ปรึกษาคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภัทรานิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายรณรงค์นโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มาร่วมพูดคุยเรื่องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของเยาวชนและร่วมส่งเสียงเพื่อ “พูดเพื่อเด็ก” 

 

สายธารแห่งการเคลื่อนไหว กับเยาวชนไทยที่ไม่สยบยอม 

ภัทรานิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายรณรงค์นโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ชวนเราไปทำความรู้จักกับสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของเยาวชน และกล่าวว่า ความคิดเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่ออกตามกติการะหว่างประเทศ ข้อบทที่ 21 ซึ่งระบุว่ารัฐ มีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกและก็รับรองสิทธิในการชุมนุม โดยไม่มีข้อกำหนดห้ามให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี ในการเข้าร่วมการชุมนุม แต่มีข้อกำหนดหน้าที่เพิ่มเติมว่ารัฐจะต้องหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้กลุ่มเปราะบางสามารถเข้าร่วมการชุมนุมได้ 

 

ข้อมูลจากม็อบดาต้า ไทยแลนด์ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 16 กันยายนนี้ มีการชุมนุมเกิดขึ้นทั้งหมด 1,852 ครั้ง เยาวชนเองคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเยอะมากทั้งจากการชุมนุมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้รับผลกระทบในเชิงกดทับ รวมถึงในบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งได้รับผลกระทบเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวกับการชุมนุมโดยเฉพาะ 

 

“อยากจะย้อนกลับไปถึงปี 2553 ขณะนั้นมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ปักหลักที่กรุงเทพมหานคร ข้อมูลได้ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวน 99 คน และได้รับบาดเจ็บราว 2000 ราย หนึ่งในผู้เสียชีวิตนั้นมีเด็กอายุเพียง 14 ปี เสียชีวิตจากกระสุนจริง ภายหลังศาลมีการไต่สวนว่าเป็นอาวุธปืนที่มาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร 

“หลังการรัฐประหารปี 2557 รัฐไทยมีการใช้กฎอัยการศึกในการจำกัดการชุมนุม ห้ามไม่ให้ชุมนุมตั้งแต่ห้าคนเป็นต้นไป จากนั้นเมื่อยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว ได้มีคำสั่งหัวหน้าคสช. ตามมา ในช่วงนั้น เท่าที่เราสามารถค้นหาข้อมูลได้จากศูนย์ทนายความ มีการระบุว่าได้มีการดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนจำนวนประมาณ 7 คน จากข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้เผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่ขอนแก่น”

“หลังจากนั้นเราได้ก้าวเข้ามาสู่ระยะที่สอง นั่นคือช่วงเลือกตั้ง จุดเปลี่ยนหลังจากการเลือกตั้ง ปรากฏว่ามีการยุบพรรคการเมือง มีการแทรกแซงอำนาจในรัฐสภา โดยตัวแทนสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกที่เป็นจุดเริ่มต้นในการนับจำนวนเด็กที่ถูกดำเนินคดี นับตั้งแต่ 18 กรกฎาคมจนถึงปัจจุบัน” 

 

ภัทรานิษฐ์เสริมว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือทางกฎหมาย ได้บันทึกข้อมูลผู้ที่ถูกดำจากการชุมนุม ว่ามีเด็กอย่างน้อย 184 คนที่ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมากจากเข้าร่วมชุมนุมและการแสดงออก ฐานคดีที่มากที่สุดก็คือ ความผิดฐานฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจำนวน 184 นี้ นับว่าเป็นหนึ่งในสิบของผู้ชุมนุมทั้งหมดที่ถูกดำเนินคดี 

 

“เด็กเริ่มเข้ามามีบทบาทในการพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง เมื่อก่อนเราอาจเข้าใจว่าคนที่พูดเรื่องนี้ได้อาจจะเป็นผู้ใหญ่แต่คราวนี้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีออกมาพูดมากขึ้น ดังนั้นจึงอยากจะดึงความสนใจขึ้นมา ว่าจำนวน 184 คนที่ถูกดำเนินคดี เพิ่งมาเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมา ที่เพิ่มจากเดือนกรกฎาคมหรือมิถุนายน สามถึงสี่เท่าตัว

“ช่วงปีที่แล้วข้อความที่เขาพูด มันเป็นข้อความที่อธิบายว่าเขาถูกกดทับในระบบโรงเรียน ซึ่งเขาคิดว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงกับการที่ประเทศไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนและไม่เป็นประชาธิปไตย นำมาสู่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างการผูกโบว์ขาว ต่อมาเด็กและเยาวชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นถูกคุกคามออนไลน์ จนถึงช่วงที่เรากำลังอยู่ตอนนี้ คือช่วงที่มีการชุมนุมถี่ขึ้นจากกลุ่มที่หลากหลาย ข้อความของพวกเขาแสดงให้เห็นว่า ฉันนี่แหละคือผลผลิตของความเหลื่อมล้ำทุกอย่างตลอดเจ็ดปีที่ผ่านมา

“โครงการม็อบดาต้าไทยแลนด์ก็มีการบันทึกว่าช่วงสองเดือนที่ผ่านมา มีการชุมนุมมากถึง 165 ครั้ง หรือตอนนี้อาจจะมากกว่านั้นแล้วด้วย ร้อยกว่าครั้งมันนำมาสู่การดำเนินคดีกับเด็กร้อยกว่าคน เฉพาะบริเวณดินแดงมีการชุมนุมประมาณ 37 ครั้ง ซึ่งค่อนข้างถี่และผู้ชุมนุมถูกจับกุมเกือบทุกวัน”

 

นอกจากนี้ ข้อมูลของแอมเนสตี้ ประเทศไทย และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีเด็กได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมอย่างน้อยประมาณ 50 คน รวมถึงมีเด็กที่ต้องอยู่ในภาวะโคม่า

 

“เราพบว่าเด็กที่บาดเจ็บจากที่ชุมนุมและถูกจับกุมส่วนใหญ่จะมาจากการสลายการชุมนุมแบบปิดล้อม ซึ่งเป็นยุทธวิธีใหม่ของเจ้าหน้าที่ ที่ต้องจำกัดพื้นที่ให้แคบที่สุด ทำให้ไม่มีทางในการหลบหนีหรือสลายการชุมนุมโดยธรรมชาติ แม้จะเป็นการใช้อาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง แต่หากใช้โดยผิดหลักการและไม่เลือกเป้าหมาย ก็นำมาสู่การบาดเจ็บร้ายแรง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายทั้งหลักสากลระหว่างประเทศและกฎหมายของไทยเอง”

 

ภัทรานิษฐ์ชี้ว่า กฎหมายไทยได้มีการกำหนดหลักการในการปฏิบัติต่อเด็ก เช่นใน พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว ที่ระบุไว้ว่าการจับกุมเด็กต้องกระทำโดยละมุนละม่อม การใช้เครื่องพันธนาการก็ทำได้ทำที่จำเป็นเท่านั้น แต่นับตั้งแต่มีการรวมกลุ่มของกลุ่มเยาวชนที่สามเหลี่ยมดินแดงเป็นต้นมาพบว่า การจับโดยละมุนละม่อมไม่เกิดขึ้นจริง จึงทำให้มีคน บาดเจ็บมากมายทั้งจาการใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนรวมถึงหรือการใช้วาจาข่มขู่

 

“ข้อมูลจากศูนย์ทนายสิทธิฯ ระบุว่ามีเด็กจำนวนอย่างน้อย 147 คน ถูกจับกุมโดยไม่มีหมายจับจากศาล การโดนจับแบบนี้มันหมายถึงการโดนจับแบบกะทันหัน  และมีการจับกุมในเวลากลางคืน ซึ่งทำให้เด็กไม่ได้พบที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายหรือทนายความเด็ก ภายใต้เหตุผลว่าเด็กใช้ความรุนแรง ดังนั้นการใช้ความรุนแรงโต้กลับทางกฎหมายและกายภาพของเจ้าหน้าที่รัฐ มันกำลังให้ความชอบธรรมกับรัฐ แต่เราต้องมาดูกันทีละขั้นตอน ว่าเขาทำตามกฎหมายจริง ๆ หรือไม่ 

“กระบวนการทุกอย่างที่ทำกับเด็กโดยหลักการ มันเขียนไว้อย่างดีและให้ประโยชน์สูงสุดของเด็ก เพราะฉะนั้นเราก็เลยอยากฝากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจ พนักงานอัยการหรือแม้แต่ศาลเองในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา หรือว่ากระบวนการที่ปฏิบัติต่อเด็กให้คำนึงด้วยว่านอกจากความมุ่งหมายที่อยากจะให้เขาแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

 

และให้โอกาสเขาในการกลับเข้าสู่สังคมได้ใหม่ เราต้องตระหนักด้วยว่าเราเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ภายใต้หลักนิติรัฐ เพราะฉะนั้นหน้าที่หลักสำคัญที่สุดคือการตรวจสอบการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

“เราไม่ได้มาเพื่อพูดแทนเด็ก แต่อยากพูดเพื่อเด็ก ด้วยการขอเรียกร้องให้องค์กรรัฐทั้งหมดเคารพไม่ใช่เพียงแค่หลักประโยชน์สูงสุดของเด็กอย่างเดียว แต่ต้องเคารพถึงหลักนิติรัฐด้วยในการทำหน้าที่” 

 

ภัทรานิษฐ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ตามหลักการแล้ว การจับกุมจะกระทำได้ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ต้องแสดงตนในเครื่องแบบ ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการจับกุม และต้องมีหมายศาล แม้จะเป็นความผิดเฉพาะหน้าตามพรก.ฉุกเฉิน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงในการจับกุม เพราะการจับกุมนั้นจะต้องเป็นไปตามหลักการและขั้นตอน รวมถึงจะต้องแจ้งข้อหาในการจับกุม แจ้งสิทธิในการพบทนายและผู้ปกครอง 




ชีวิตของลูกชายที่เปลี่ยนไป กับความยุติธรรมซึ่งเป็นดังหวังของครอบครัว 

นิภาพร สมน้อยและสามี ครอบครัวของเยาวชนวัย 15 ปีที่ถูกยิงด้วยกระสุนจริงบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงระบุว่า  ลูกชายยังคงไม่ฟื้น เขายังไม่รู้สึกตัว แม้เวลาจะผ่านมาสองถึงสามวันแล้ว 

 

“เท่าที่คุยกับหมอ หมอบอกว่าอาการของเขายังทรงตัวอยู่ แต่แนวโน้มก็ยังไม่ดีขึ้น” คุณพ่อของเขากล่าว 

 

นิภาพรได้เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ในวันนั้นซึ่งเปลี่ยนชีวิตของครอบครัวไปตลอดกาล ว่าในวันชุมนุม ลูกชายได้โทรมาขอเข้าร่วมการชุมนุม แต่เธอตอบไปว่าไม่ขอให้ไป เพราะมันอันตราย “เขาเลยตอบว่าไม่ไปหรอก รู้อยู่ว่าอันตราย” 

 

“หลังจากนั้นเราเห็นข้อมูลและหลักฐานที่ทางกรรมาธิการเขารวบรวมมาให้ เมื่อได้เห็นคลิปครั้งแรก ก็รู้สึกตกใจมากยิ่งขึ้น เพราะหลักฐานที่เห็นมันมากพอสมควร จนไม่น่าเชื่อว่าจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าของคดีเกิดขึ้น

 

ตรงนั้นมีกล้องวงจรปิดทั้งหมด 54 ตัว แม่เห็นรอยกระสุนและจุดที่น้องล้ม นั่นน่าจะเป็นหลักฐานที่สามารถไล่เรียงบุคคลที่ก่อเหตุได้ แต่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลอะไรจากตำรวจ” 

 

ผู้เป็นพ่อของเยาวชนคนดังกล่าวได้กล่าวว่า “หลักฐานในคลิปชัดเจนว่าคนยิงอยู่ที่จุดไหน หากเขาลงมือยิงแล้วจะไปที่ไหน ถ้าเป็นตำรวจที่มีประสบการณ์ในการสืบสวน ป่านนี้ก็น่าจะหาคนยิงเจอแล้ว ถ้าตำรวจหาคนรับผิดชอบไม่ได้ ก็ไม่สมควรเป็นตำรวจ เพราะหลักฐานค่อนข้างชัดเจน

 

“อยากให้ตำรวจหาตัวคนร้ายที่ลงมือยิงน้องมาดำเนินคดีตามกฎหมาย อย่างน้อยก็คนที่ลงมือยิง ซึ่งยังไม่รวมถึงผู้สั่งการ เพราะกว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้ก็คงลำบาก ผมคิดว่าชายฉกรรจ์กลุ่มใหญ่ไม่ได้ลงมือทำแค่คนเดียว แต่ต้องมีผู้สั่งการ” 

 

ผู้เป็นแม่เสริมว่า “ตอนนี้มีการตั้งคำถามหลายสิ่ง ไม่ว่าคนยิงจะเป็นคู่อริของน้องหรือเปล่า เป็นกลุ่มชายฉกรรจ์ที่เรากำลังตั้งคำถามอยู่ไหม เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือกลุ่มควบคุมฝูงชนไหม แต่อย่างที่บอกคือ เหตุมันเกิดที่หน้าดินแดง แล้วกระสุนที่ยิงไม่น่าจะยิงจากที่สูง เพราะวิถีกระสุนมันอยู่ตรงช่วงคอและเป็นแนวตรง ถ้าจะตามต่อแม่ว่ามันคงไม่เหนือบ่ากว่าแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการพยายามจะอยากให้จับคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้ และทำคดีนี้ให้กระจ่าง เพื่อที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะได้ไม่ต้องตกเป็นจำเลยของสังคม

 

“แม่อยากฝากถึงเจ้าหน้าที่รัฐว่า อยากให้มองว่าการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิเป็นเรื่องปกติในสังคม  คุณควรจะออกมาฟังบ้างว่าเขาต้องการอะไร ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เราไม่สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่มาร่วมชุมนุมเขาก็มีสิทธิเสรีภาพที่จะออกมา จึงอยากฝากถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าการสลายการชุมนุมและการกระทำที่เกิดในที่ชุมนุมควรทำให้กระจ่างชัดที่สุด รวมถึงคดีของน้องด้วย  ตอนนี้แม่ยังร้อนใจอยู่ เพราะคดียังไม่มีความคืบหน้า ไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่เลย 

“ที่สำคัญที่สุดคืออาการน้องยังไม่ดีขึ้น มันเป็นสิ่งที่ครอบครัวเรารับไม่ได้ ตอนนี้คุณหมอให้ยาที่ค่อนข้างสูงสำหรับน้อง รวมถึงยากระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจ”

“เพราะถ้าไม่กระตุ้นหัวใจ หัวใจน้องจะอ่อนลงเรื่อย ๆ” ผู้เป็นพ่อเสริม “การให้ยาตอนนี้เริ่มจะเต็มลิมิตของยาที่เขาจะให้ได้แล้ว มันมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว ถ้าเต็มลิมิตแล้วหัวใจน้องยังอ่อนลง แนวโน้มก็ไม่ดี เรารอปาฏิหาริย์อย่างเดียว คือให้น้องฟื้นขึ้นมา จะดีไม่ดี ร่างกายเขาจะเป็นยังไงค่อยว่ากันอีกที แค่ให้เขาลืมตาขึ้นมาก่อน”



“ถึงเวลาฟัง” 

อวัช รัตนปิณฑะ เป็นตัวแทนของประชาชนที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก เขาแสดงความคิดเห็นด้านการเมืองในพื้นที่โซเชียลมีเดียที่มีผู้ติดตามนับแสนคนของตนเอง รวมถึงเป็นหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ได้ออกมาแสดงพลังในการเป็นหนึ่งในมวลชนที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง 

 

“ทุกวันที่เราอ่านข่าวในทวิตเตอร์ เรารู้สึกว่ามันหดหู่ทุกวัน ยิ่งได้ฟังที่คุณพ่อคุณแม่พูดเมื่อกี้ ผมรู้สึกสะเทือนใจมาก มันเป็นความรู้สึกที่แย่มากๆ ที่เราตื่นมาทุกวันแล้วเห็นสภาพสังคมเป็นแบบนี้

“เราเห็นเยาวชนที่แค่ออกไปเรียกร้องเพื่ออยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ถูกใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ทุกวัน แม้เรายังจะไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมกับกลุ่มทะลุแก๊ส แต่เราเคยผ่านการชุมนุมอื่นมา ทำให้มองเห็นว่าทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว มันกลายเป็นว่ารัฐเหมือนมองกลุ่มผู้ชุมนุมโดยเฉพาะผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชน เป็นศัตรูกับเขาอย่างเต็มตัว

 

เพราะว่าวิธีการรับมือมันเกินไปกว่า สิ่งที่ควรจะเป็นมาก กลายเป็นว่าสิทธิในการชุมนุมของประชาชน มันไม่เหลืออยู่แล้ว และสิทธิในความเป็นเยาวชน มันก็ถูกมองข้าม ผมเลยรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้มัน น่าเป็นห่วงและ มันไม่ควรที่จะเป็นเรื่องเคยชินกับสิ่งนี้

 

“พวกเราเห็นสิ่งนี้ทุกวัน กลายเป็นว่าทุกคนที่เจอสิ่งนี้เกิดความรู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า แล้วกลายเป็นว่าบางคนเริ่มไม่อยากรับรู้ข่าวสารเพราะมันเครียด และส่งผลต่อสภาพจิตใจและความรู้สึกของเขา มันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้มาก ๆ ดังนั้นผมจึงรู้สึกว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องออกมาช่วยกันพูด ช่วยกันทำให้มันไม่เป็นเรื่องปกติที่มันจะต้องเกิดขึ้นในสังคม 

“ขณะเดียวกัน ผมรู้สึกว่ารัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ จะต้องตั้งคำถามแล้วว่า การที่เด็กอายุต่ำกว่า 18 เลือกที่จะออกมาชุมนุมเป็นเพราะอะไร ผมรู้สึกว่าจำนวนของผู้ชุมนุม หรืออายุของผู้ชุมนุมนับวันกำลังเด็กลงเรื่อยๆ ช่วงแรกๆ เราอาจจะยังรู้สึกว่า ผู้ชุมนุมมีหลากหลายอายุ แต่ ณ วันนี้กลุ่มทะลุแก๊ส คือเยาวชน เป็นกลุ่มคนที่อายุน้อยมาก เพราะฉะนั้นผมเลยรู้สึกว่ารัฐบาลจะต้องพิจารณาแล้วกลับมาถามตัวเองอย่างจริงจัง รวมไปถึงกับมาตรการรับมือว่า สิ่งที่คุณทำอยู่มันถูกต้องกับการรับมือในการชุมนุมแล้วหรือยัง” 

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชยถามเขาถึงเรื่องของประเด็นการ “สนับสนุนความรุนแรง” เมื่อใครสักคนออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับกลุ่มวัยรุ่นดินแดงที่ถูกสลายการชุมนุม อวัชตอบว่า “ก่อนอื่นต้องตั้งคำถามก่อนครับ ว่าก่อนจะเกิดกลุ่มทะลุแก๊ส มีการชุมนุมมาแล้วกี่ครั้ง และมีการพยายามส่งเสียงเรียกร้องไปยังภาครัฐมาแล้วกี่ครั้ง” 

 

“ผมอยากให้มองไปที่ชีวิตของพวกเขา ว่าการที่กลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้ออกมาเรียกร้องโดยพร้อมแลกกับชีวิต หรือพร้อมจะลงมาทั้ง ๆ ที่อยู่แล้วว่าการรับมือของรัฐในวันนี้คือการใช้ความรุนแรง และจะต้องเจอกับกระสุนยาง แก๊สน้ำตา หรือแม้กระทั่งกระบองที่จะสามารถทำร้ายร่างกายเขาจนบอบช้ำ หรือก่อให้เกิดความพิการได้ เราต้องตั้งคำถามกันแล้วว่าทำไมเด็กกลุ่มนี้ถึงกล้า นั่นเป็นเพราะชีวิตของเขาตอนนี้ อาจจะไม่มีอะไรเหลืออยู่แล้วหรือเปล่า

“เขาอาจที่จะมองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง อาจจะมองไม่เห็นว่าเราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปในวันพรุ่งนี้ได้อย่างไรในสภาพสังคมที่เป็นแบบนี้ ในระบบที่กดขี่พวกเขาอยู่ทุกๆ วัน ทำให้พวกเขาไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียง แม้ว่าพวกเขาจะเปล่งสุดเสียง มันก็ไม่เคยถูก รับฟัง หรือมันไม่เคยถูกได้ยินโดยภาครัฐ ฉะนั้นผมรู้สึกว่าวันนี้เราต้องทำความเข้าใจกลุ่มคนบางกลุ่ม ที่เขาไม่มีทางเลือกในชีวิตแล้ว แล้วเขาเป็นคนกลุ่มที่โดนทำร้ายมาตลอดเวลา เราทุกคนเป็นมนุษย์ น้องๆทุกคนเป็นมนุษย์ ทุกคนมีหัวจิตหัวใจ มีความรู้สึก คุณต้องลองคิดกลับไปว่าถ้าเป็นคุณที่ชีวิตนี้อาจจะไม่เหลืออะไรแล้ว แม้กระทั่งข้าวหรือว่าการงานอาชีพ  แล้วคุณออกไปเรียกร้องเพื่อหวังจะให้ภาครัฐและผู้มีอำนาจฟังเสียงของคุณ แต่คุณกลับได้ความรุนแรงตอบโต้กลับมา   เป็นคุณคุณจะทำอย่างไร?

“สัญชาตญาณมนุษย์เราสุดท้ายคือการเอาตัวรอด ในเมื่อรัฐทำแบบนี้กับเขา ตอบโต้แบบนี้กับเขา วิธีการเอาตัวรอดของมนุษย์ มันก็อาจจะเป็นการนำมาซึ่งการใช้ความรุนแรงแบบที่เกิดขึ้นด้วยหรือเปล่า อาจจะเป็นวิธีการตอบโต้เดียวกับเขาหรือเปล่าที่ทำได้ ผมเลยรู้สึกว่าอยากให้มองหลายหลายมุมและทำความเข้าใจว่า ทำไมมันเกิดสิ่งนี้ขึ้น และการที่เราออกมาเรียกร้องหรือว่า มาสนับสนุนกลุ่มทะลุแก๊ส ไม่ได้แปลว่าเราสนับสนุนความรุนแรง แต่เราอยากให้รัฐมองเห็นปัญหาว่าทำไมจึงมาถึงตรงนี้ได้ 

“ถ้าคุณรับฟังตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ตอนที่การชุมนุมมันสันติมากๆ จนพัฒนามาถึงทุกวันนี้ มันจะเกิดสิ่งนี้ขึ้นไหม แล้วพอมันเกิดสิ่งนี้ขึ้นคุณก็เลือกที่จะสนใจว่าม็อบกลุ่มทะลุแก๊สคือกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง แต่คุณไม่เคยที่จะยอมรับ หรือมองกลับไปที่ต้นตอของปัญหา ว่ามันคืออะไร ผมรู้สึกว่าไม่อยากให้มองกลุ่มม็อบทะลุแก๊สว่าเป็นกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง แต่อยากให้มองเขาว่าเขาคือกลุ่มคนที่ยังไม่มีทางเลือกที่จะสามารถทำให้รัฐบาลฟังเสียงเขาได้ นี่อาจจะเป็นวิธีเดียวที่เขาทำได้ตอนนี้ คือการทำให้รัฐสนใจในสิ่งที่เขาเรียกร้องอยู่  อาจจะเป็นวิธีการเดียวที่เขาเหลืออยู่ตอนนี้ครับ”

 

ฐปณีย์เสริมว่า ในส่วนของสื่อมวลชน สิ่งที่ทำได้มากที่สุด คือการพยายามไปหาคำตอบ หรือคุยกับพวกเขา เพื่อให้ได้ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เขาคิด ซึ่งได้พบในสิ่งเดียวกับที่อวัชได้กล่าวมา นั่นคือการที่เธอพบว่าเด็กเหล่านี้ถูกกดทับด้วยสภาพปัญหาที่ถูกสั่งสม จนกลายมาเป็นจุดที่ทำให้ต้องออกมาเรียกความสนใจ  ประกอบกับรัฐก็เลือกใช้วิธีความรุนแรง กลับไปหาเขา

 

“พี่แยมถามเขานะว่าทำไมเขาต้องใช้ความรุนแรง แต่สิ่งที่เขาใช้มันมีแค่หนังสติ๊ก อาจจะมีประทัดหรือว่ามีระเบิดปิงปองที่ถูกนำมาใช้ ในภายหลัง แต่มันก็มีขึ้นหลังจากช่วงที่ถูกตอบโต้ ด้วยกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตา เขาบอกว่ามันอาจจะเทียบไม่ได้กับสิ่งที่รัฐมี อาวุธที่พวกเขาใช้ เขาก็ยอมรับว่าเอามาป้องกันตัวเอง

“เขาก็ต้องการพี่รัฐรับฟังนะ เขาพูดอย่างนี้เลย ก็มาฟังเขาสิ มาฟังว่าพวกเขาคิดยังไง ที่ผ่านมาไม่ฟัง เขาก็อยากให้มารับฟังเขา แต่วิธีการที่จะแสดงออก มันมีหลายวิธี พี่แยมถามว่า ‘ก็มีคนบอกว่ามันไม่ใช่สันติวิธี มันเป็นการใช้ความรุนแรง’ แล้วเขาก็เลยบอกว่า ‘ทำไมสังคมหรือผู้ใหญ่ ไม่ถามกลับไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐหรือ เจ้าหน้าที่ตำรวจบ้างล่ะ ว่าที่ตำรวจทำมันคือสันติวิธีหรอ?’”

 

อวัชกล่าวว่า “ผมรู้สึกว่าพอเป็นกลุ่มทะลุแก๊ส  คนก็จะเริ่มตั้งคำถามว่า ไหนบอกว่าม็อบที่เรียกร้องกันมาคือสันติวิธี ทำไมวันนี้ถึงมีระเบิด ปะทัด หนังสติ้กผมว่ามันกลับไปสู่จุดเดิมที่ผ่านมา เราสันติวิธีกันแล้ว แต่คุณไม่เคยรับฟังอยู่ดี ขณะเดียวกัน อาวุธที่เขามีมันเทียบไม่ได้กับ สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังใช้อยู่เลย สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้คือการทำให้ ถึงแก่ชีวิต หรือเกิดทำให้ความพิการได้ ผมเลยรุ้สึกว่ามันเทียบกันไม่ได้เลยกับสิ่งที่เกิดขึ้น

 

“แต่กลายเป็นว่า ผมรู้สึกว่ากลุ่มทะลุแก๊สตอบโต้เจ้าหน้าที่มันก็เป็นสิ่งที่ทำได้เท่าที่ทำได้ ผมว่าท้ายที่สุดแล้ว รัฐต้องกลับมามองถึงต้นตอปัญหาสิ่งที่เขาเรียกร้อง อย่างที่พี่แยมพูดว่าเขาไม่มีทางเลือกแล้ว จึงต้องยอมที่จะออกมาเจอสิ่งนี้ด้วยซ้ำ ออกมาเสี่ยง 

“สิ่งที่ผมมองว่าเป็นปัญหาอีกอย่างก็คือการที่รัฐจับว่าประเด็นนี้ว่า การตอบโต้ของเขามันคือการใช้ความรุนแรง เป็นที่เป็นการอาฆาตมาดร้าย จนกลายเป็นว่าผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ กลายเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งผมว่ามันเป็นวิธีการใช้วิธีการเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้น รู้สึกว่าพวกเราต้องมีพื้นที่ให้พวกเขาได้มีเสียงจริงๆ ให้เขาได้พูดสิ่งที่เขารู้สึก ว่าทำไมเราต้องทำความเข้าใจหัวอกของเขา

“ในฐานะที่เคยเป็นเยาวชนมาก่อน และเติบโตขึ้นมา ผมเองเรียนจบได้ไม่นาน ต้องเริ่มใช้ชีวิต และรู้สึกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในสังคม คือการที่ประชาชนหรือเยาวชนรู้สึกไม่มีความหวัง มันเป็นความรู้สึกที่ตื่นขึ้นมาแล้วเราโดนพรากความฝันและอนาคตไป นั่นทำให้ผมรู้สึกว่าการที่เยาวชนออกมาเรียกร้อง คืออยากให้รัฐได้ฟังเขาจริงๆ และลงมือแก้ปัญหา ว่าทำยังไงพวกเขาจึงจะสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ จะทำยังไงกับระบบที่กดทับพวกเราอยู่ ระบบที่บิดเบี้ยวต้องถูกแก้จริง. ๆ สักที เพราะสิ่งที่เยาวชนต้องมารับมือในทุกวันนี้ คือผลพวงจากอดีตที่ผู้มีอำนาจต่างสืบต่อกันมา 

“สิ่งที่เราอยากฝากและอยากพูดแทนเด็กๆ คือ ให้โอกาสให้พวกเขาได้เติบโต ให้โอกาสให้พวกเขาได้มีความฝัน ได้เรียนรู้ ได้มีอนาคตที่ดีต่อไปในประเทศนี้ เพราะว่าคนที่จะต้องอยู่ในประเทศนี้ต่อไป คือเยาวชน ถ้าคุณไม่สามารถที่จะให้เขามีพื้นที่ใน การคิดในการแสดงออกได้ ประเทศมันก็จะอยู่แบบนี้ถูกแช่แข็งตลอดไปแบบนี้ 

“และท้ายที่สุด เยาวชนทุกคนทีต้องอยู่ในสภาพสังคมแบบนี้ ถ้าเขามีทางเลือกที่ดีกว่านี้ มีโอกาสที่ดีกว่านี้ เขาก็จะเดินออกไปจากที่นี่  ส่วนคนที่ไม่มีโอกาสก็จะเป็นที่สูญสิ้นชีวิตตัวเองหรือเปล่า ทำให้เขาไม่มีทางเลือกในการที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น จนการนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่มันส่งผลกระทบต่อภาพรวมของสังคมที่มันแย่ลง เพราะฉะนั้นให้โอกาสพวกเขา ฟังเสียงพวกเขาแล้วแก้ไขปัญหาไปด้วยกันนะครับ”



ในม็อบมีเด็ก อาสาสมัครที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชน

ณัฐวุฒิ เนาวบุตร เป็นหนึ่งในอาสาสมัครโครงการ Child in Mob ภายใต้เครือข่าย Child in Protest หรือในชื่อภาษาไทยว่า “ในม็อบมีเด็ก” 

 

เขาพาเราย้อนกลับไปในวันที่ 29 กันยายน 2563 เมื่อสถานการณ์การชุมนุมในประเทศไทยได้นำพาเด็กและเยาวชนเข้ามาชุมนุมมากยิ่งขึ้น กลุ่มในม็อบมีเด็กจึงอยากที่จะทราบว่าเด็กในที่ชุมนุมนั้นกำลังต้องการจะสื่อสารอะไรให้สังคมรับทราบ ก่อนจะเจอจุดเปลี่ยนสำคัญในวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่เกิดการสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา ที่มี “เด็กตัวเล็ก” ได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตา 

 

“มันทำให้เรากลับมาตั้งคำถามถึงในเรื่องพื้นที่ปลอดภัยของเด็กว่า เราจะมีมาตรการหรือรูปแบบยังไงที่จะช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ชุมนุม ให้พวกเขาสามารถมาชุมนุมได้อย่างปลอดภัย นั่นเพราะว่าการชุมนุมของเด็กเองก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน พวกเขามีสิทธิจะส่งเสียง และผู้ใหญ่เองก็ควรรับฟัง” 

 

กลุ่มในม็อบมีเด็กนั้นจะทำการแจกสายรัดข้อมือให้กับเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 15 และ 18 ปี เพื่อระบุตัวตนในการช่วยเหลือหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน นั่นทำให้พวกเขาสามารถรับรู้ได้เช่นกันว่ามีเด็กเข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมากเท่าไร รวมถึงมีการให้ข้อมูลเรื่องพื้นที่ปลอดภัย และสิทธิต่าง ๆ ของเด็กที่พวกเขาจะได้รับการคุ้มครอง

 

“ปีที่แล้ว เราได้ลงพื้นที่ 9 ครั้ง  พบว่ามีเด็กเข้าร่วมมากมากกว่าประมาณ 5,489 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะมาก แต่พอเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด  ตัวอาสาเองก็ลงพื้นที่ได้ยากขึ้น ส่วนน้องจากเดิมที่มาชุมนุมในรูปแบบของม็อบนักเรียนก็มีน้อยลง เพราะฉะนั้นในช่วงปีนี้ ตัวเลขถึงเมื่อวาน เราลงพื้นที่ทั้งหมด 34 ครั้ง และได้ผูกแท็กข้อมือไปแบ้ว 1,532 เส้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กโต แต่ในส่วนของม็อบที่บริเวณดินแดง ก็จะพบว่าเด็กที่อายุระหว่าง15-18ปี จะเยอะเป็นพิเศษ”

 

นอกจากนี้ อาสาสมัครในม็อบมีเด็กยังทำงานเพื่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพาเด็กออกจากพื้นที่ การปฐมพยาบาล รวมถึงจัดทีมเข้าไปดูแลเยาวชนที่อาจได้รับบาดเจ็บระหว่างการชุมนุม 

 

“คำถามที่เราได้ยินบ่อยมาก คือการถูกถามว่า นี่คือการส่งเสริมให้เด็กไปชุมนุมหรือเปล่า ทั้งจากสื่อ ผู้ปกครอง และผู้มีความคิดเห็น ที่พยายามตั้งคำถามว่าเด็กสามารถเข้าชุมนุมได้ไหม และการที่เราไปทำงาน มันคือการสนับสนุนเรื่องนี้หรือเปล่า 

“ผมอยากตอบว่า ตัวเรื่องของสิทธินั้น การที่เด็กจะพูดมันเป็นสิทธิของเขามาตั้งแต่เกิดแล้ว และมันเป็นสิทธิที่เขาอยากจะแสดงออก ที่ไม่ได้พูดมาลอย ๆ แต่มีกฎหมายรองรับ เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก มาตรา 22 เน้นย้ำว่าการจะทำอะไรต้องยึดหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และปฏิบัติอย่างเป็นธรรม 

“ทางการไทยเองก็ถือว่าเป็นรัฐที่รับรองอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ที่เน้นย้ำว่าเด็กที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ที่เขาออกมาแสดงความคิดเห็น ควรได้รับการรับฟังแล้วก็ มีในเรื่องของความปลอดภัยด้วย หลักๆ เราไม่ได้เข้าไปพูดถึงเรื่องสิทธิว่าเราควรส่งเสริมอย่างไร แต่เราเห็นเหตุการณ์ ทางเราเองก็พยายามเน้นย้ำว่า ถ้ามันมีม็อบเกิดขึ้นแล้ว และมีเด็กเข้าไปอยู่ในพื้นที่ สิ่งที่เราควรจะให้ความสำคัญก็คือความปลอดภัยของเด็ก

“เราได้มีการทำข้อมูลและประสานไปยังแอมเนสตี้ที่เป็นหนึ่งในหน่วยงานภาคี ที่มีความคิดเห็นเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก ในเดือนที่แล้วเราพบว่ามีการคุกคาม อย่างน้อย 56 กรณีจากปกติ 10 เคสต่อเดือน โดยผลกระทบที่ได้รับของเด็กที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง  มีตั้งแต่ การข่มขู่ การติดตามไปบ้าน การเจรจา บอกผู้ปกครองให้เด็กยุติเรื่องการแสดงออก อย่างในดินแดงมีการใช้ความรุนแรงโดยไม่คำนึงถึงสิทธิเด็ก

“ถ้าเป็นเด็กเล็ก เราจะสามารถแบ่งได้หยาบๆได้ เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่มากับผู้ปกครอง เพราะว่าผู้ปกครองบางคนได้รับผลกระทบจากโควิด กับอีกกรณีหนึ่งคือเด็กในพื้นที่ชุมนุมเอง หมายถึงว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมนุม เขาก็อยากมามีส่วนร่วม นการเปลี่ยนแปลง หรือบางคนอาจจะมาแค่สังเกตการณ์ ซึ่งรัฐเองก็ควรที่จะมองในประเด็นนี้ ที่มีเรื่องของความปลอดภัย เพราะเด็กบางคนเข้ามา เขาก็แค่อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแค่นั้นเอง หรือบางคนมาเพื่อที่จะอยากจะส่งเสียง แต่สิ่งที่รัฐทำ คือการพยายามใช้มาตรการเดียว คือการพยายามสลายการชุมนุม แล้วก็ใช้ความรุนแรงในพื้นที่ 

“จริงๆ เด็กที่บริเวณดินแดง เขาถือว่าเป็นเด็กที่น่ารักนะครับ จากการพูดคุย พวกเขาจะรับฟังเรื่องที่เรากำลังสื่อสาร อย่างเรื่องที่เราพูดถึงเรื่องสิทธิต่างๆ สำหรับเขาก็ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่เขารู้ว่าเขามีสิทธิที่จะชุมนุมด้วยเหรอ หรือแม้กระทั่งเขามีสิทธิ์ในความปลอดภัยในการชุมนุม  รวมไปถึงสิทธิการเข้าถึงทนาย พวกเขาจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ”



“สังคมกินคน” เสียงของเยาวชนที่ไม่มีใคร(อยาก)ฟัง 

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือหนึ่งในผู้ที่ทำงานวิจัยด้านเยาวชนตั้งแต่การเคลื่อนไหวของเยาวชนปลดแอก “แต่ปีนี้พอดิฉันเริ่มพูดเรื่องม็อบที่ดินแดง เราเห็นภาพชัดเลยว่าสังคมไทยให้ความสนใจน้อยกว่าม็อบปีที่แล้วมาก” พร้อมนำมาซึ่งคำถามที่ว่า ทำไม? 

 

กนกรัตน์ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วมักจะเห็นภาพของลูกหลานชนชั้นกลางและคนที่พอมีอันจะกิน ซึ่งอยู่ในโรงเรียนและเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าทำไมคนที่ชีวิตไม่เดือดร้อนอะไรจึงออกมาม็อบ 

 

“แต่พอมาปีนี้ ดิฉันคิดว่าปัญหามันเริ่มต้นที่สังคมไทย ด้วยวิธีคิดที่มีต่อลูกหลานคนยากคนจน ในสังคม พอเป็นลูกหลานคนจน หรือคนด้อยโอกาสในสังคม สังคมไทยมักมีคำหรือข้อสรุปข้ออธิบายเรียบร้อยแล้วก่อนที่จะรู้จักเขาด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายว่าเขาเป็นลูกคนจน ที่ใช้ความรุนแรง เป็นแก๊งก่อกวน เป็นเด็กแว้น คนจึงไม่ค่อยเริ่มต้นที่จะสมใจว่าม็อบ ดินแดงคือใคร ซึ่งที่ผ่านมาดิฉันไปถามหลายหลายคนที่ไม่เฉพาะไม่ใช่เฉพาะคนธรรมดา แม้แต่เยาวชนที่เข้าร่วมมาปีที่แล้วก็ยังมีความสนใจหรือเข้าใจต่อม็อบดินแดงน้อยลงมาก

“ม็อบปีนี้ต้องบอกว่าเป็นลูกหลานของชนชั้นล่าง หรือเยาวชนที่ด้อยโอกาสในหลากหลายมิติ”

“ในปีที่แล้วสิ่งที่เขาเรียกร้องคืออนาคตของพวกเขา เขาเรียกร้องถึงโลกที่เขาปรารถนา แล้วก็วิเคราะห์แล้วว่าในอนาคต ที่มันดูมืดมน มันมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย

“ในการเก็บข้อมูลตลอดเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมาและลงมือสัมภาษณ์เยาวชนไป 30 กว่าคน สามารถบอกเลยว่า พวกเขาคือลูกหลานของคนชั้นล่างและล่างที่สุดในสังคมที่เหลื่อมล้ำที่สุดของสังคมไทยในทุกมิติ เขามาจาก พื้นฐานครอบครัวที่ยากจน แม้ว่าครอบครัวเขาพยายามจะต่อสู้ในทุกวิถีทาง เพื่อยกระดับการเป็นอยู่ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ฉะนั้นพวกเขาก็มาจากกลุ่มเยาวชนที่หลุดออกจากการศึกษา มาจากเยาวชนที่ครอบครัวไม่สมบูรณ์

“พวกเขามาจากกลุ่มครอบครัวที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรืออะไรก็ตาม เช่นจากโควิด ผลกระทบโดยตรงนั้นหมายถึงชีวิต ความเป็นอยู่ของเขาจริงๆ นอกจากนั้นเขาคือเยาวชนที่ถูกกดขี่ หรือมีประสบการณ์โดยตรง ในการถูกล่วงละเมิด ทั้งจากการถูกตำรวจรีดไถ ถูกตำรวจล่วงละเมิด ถูกเจ้าหน้าที่รัฐในโรงเรียนละเมิดสิทธิ และจากการถูกเจ้าหน้าที่ดูถูกและคุกคามในอีกหลายพื้นที่ของประเทศไทย นอกจากนี้ส่วนหนึ่งยังเป็นเยาวชนในระบบที่ถูกจ้างงานในราคาที่ไม่เป็นธรรม ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้ เยาวชนจำนวนมากไม่มีที่อยู่อาศัย เป็นหลักแหล่ง พวกเขาเป็นเยาวชนที่ไม่เหลือที่พึ่งอะไรแล้ว 

ดิฉันถามว่าความฝันพวกเขาคืออะไร คำตอบของพวกเขาต่างจากเยาวชนปีที่แล้วมาก ม็อบช่วงปีที่แล้วเขาฝันถึงอนาคตของเขา แต่ปีนี้เขาฝันถึงวันนี้ที่ดีขึ้น ความฝันของเยาวชนที่ดินแดงเป็นความฝันที่เรียบง่ายมาก เขาเพียงแค่อยากมีที่อยู่ที่ดี อยากมีอาหารกินครบสามมื้อ อยากอยู่ในโรงเรียนที่เห็นพวกเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีหัวจิตหัวใจ พวกเขาคือการระเบิดตัวขึ้นของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการศึกษาไทย ปัญหาการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ ครอบครัวไทย และสาธารณูปโภคของสังคมไทย

“ถ้าเขาเป็นลูกหลานชนชั้นล่าง เขาจะตกใต้เส้นความยากจนทันที นี่คือเรื่องดิฉันฟังจากเด็ก 30 คน ดิฉันรู้สึกว่า มันเหมือนกับหนังนิยายที่พูดถึงคนไม่มีทางสู้ แต่พวกเขาสู้ทุกวิถีทางในชีวิตเลย” 

 

อาจารย์กนกรัตน์ชี้ว่า เยาวชนบนพื้นที่การชุมนุมที่สามเหลี่ยมดินแดง คือตัวแทนของเรื่องราวที่ไม่มีใครอยากรับฟัง และพยายามไม่ได้ยิน หนึ่งปีผ่านไปรัฐบาลยอมเจรจากับทุกกลุ่ม แต่ไม่ยอมเจรจาหรือประนีประนอมให้เกิดการปฏิรูปใด ๆ ที่เป็นข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องของเยาวชน ท้ายที่สุดเยาวชนที่ดินแดงมองว่าการเรียกร้องโดยสันติวิธีแบบเดิมไม่ประสบความสำเร็จ จึงเริ่มต้นยกระดับ 

 

“ความกลัวของพวกเขามันเปลี่ยนไปแล้ว หนึ่งคือเขาเป็นเยาวชนที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐจริง ๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ในสายตาของเขา แต่คือคนที่เอารัดเอาเปรียบเขา นี่เป็นครั้งแรกที่เขาสามารถแสดงออกถึงความอึดอัดที่มีจากประสบการณ์โดยตรง

“เขาคือเหยื่อของสังคม มันเป็นสังคมกินคน และพวกเขาคือกลุ่มที่ถูกสังคมกินกลุ่มแรกในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ

สอง คือระดับความรุนแรงในเชิงเปรียบเทียบ ระเบิดในที่ชุมนุมดินแดงดังขึ้นต่อเนื่องทุกนาที และราคาของระเบิดปิงปองอยู่ที่ 70 ลูก 100 บาท ที่เขารู้ว่ามันไม่เป็นอันตรายต่อตัวเขา คือมันมีแค่เสียง และพวกเขาไม่ได้ไม่คิดคำนวณว่านี่คือการไม่ใช้ความรุนแรง ดิฉันถามเยาวชนว่าอะไรคือเส้นความรุนแรงที่สุดของคุณ ทั้งหมดตอบว่าคือหนังสติ๊กและลูกแก้ว” 

 

อาจารย์ให้ข้อสังเกตว่า ปีที่แล้วรัฐบาลคิดว่าตนประสบความสำเร็จในการชะลอปัญหาทุกอย่างไปไว้ใต้พรม แต่เมื่อสังคมผ่านไปถึงจุดหนึ่งแล้ว สังคมไทยจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม 

 

“เหตุการณ์เมื่อคืนนี้เมื่อวานนี้เป็นอีกโฉมหน้าหนึ่งของม็อบดินแดง คือการจลาจลแบบดาวกระจาย การนัดหมายมันไม่ได้มี บนพื้นที่ออนไลน์ แต่เป็นออฟไลน์ เป็นการสื่อสารแบบปากต่อปาก ต้องบอกว่าไม่ว่าจะเป็นคนจนคนรวยเยาวชนยุคนี้มีความเรียนรู้อย่างรวดเร็ว   เขาเชื่อว่าเขามีความสามารถไม่ได้แตกต่างจากผู้ใหญ่  มีสิทธิการเรียกร้องไม่ต่างจากผู้ใหญ่ 

“แล้วเราเห็นการจับกุม 200 300 คดี แต่มันไม่มีอะไรดีขึ้นหรอก  การผลักภาระไปให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคง หรือคฝ พวกเขาก็มีเครื่องมือกี่ออย่าง มีแต่แค่โล่ ไม้กระบอง แก๊สน้ำตา เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ก็รถเคลื่อนที่เร็ว นี่คือทั้งหมดที่มี แต่ถ้าปล่อยให้ใช้เครื่องมือเหล่านี้ ทุกอย่างก็จะไม่มีวันจบเครื่องมือเหล่านี้มันไม่สามารถจัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศนี้ที่มันมีมาหลายปี เป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงจะมาแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

 

อาจารย์ได้ให้ความเห็นถึงรัฐไทยต่อว่า ภายใต้ฐานคิดแบบรัฐบาลอนุรักษ์นิยม ทำให้รัฐบาลเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างจะแก้ได้ด้วยการควบคุม เพื่อให้เกิดเสถียรภาพมากที่สุด เมื่อคิดแบบนี้ก็จะมีวิธีการจัดการปัญหาดังนี้  

 

“ หนึ่ง คือข่มขู่ให้กลัว 

สอง ถ้าไม่กลัว รัฐจะสร้างความหมายด้อยค่าให้กลุ่มคนเหล่านี้จนไม่เหลือที่ยืน ไม่มีใครต้องการจะสนใจ 

สาม ถ้าไม่กลัวอีก แล้วยังไม่ด้อยค่าอีก จะนำไปสู่การจับกุม หรือทำให้หายไป 

สี่ คือการทำไม่มีที่เหลือในสังคม 

 

“ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด เช่นกรณีการค้ายาเสพติด” 

 

ทั้งนี้ อาจารย์กนกรัตน์ได้มอบข้อเสนอสามอย่างเพื่อแก้ปัญหา นั่นคือ

1. เราต้องได้ยินเขาโดยที่เขาไม่ต้องพูด เพราะเยาวชนพูดมาเยอะมากแล้ว มันไม่มีความจำเป็นในแง่เปิดเวทีเพื่อฟัง ต้องเป็นการรับฟังที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งจริงๆ

2. คือต้องแก้ปันหาจากภายในของระบบราชการและนโยบาย

3. เปิดพื้นที่อย่างกว้างขวางจริงจัง ครั้งนี้ไม่ใช่แค่เปิดอกเจรจา แต่อาจเปิดคอมมิวนิตี้ฮอล์เพื่อรับฟังในแบบที่สังคมไทยไม่เคยฟัง



สู่การแก้ปัญหา ผ่านการรับฟังด้วยหัวใจ

สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ที่ปรึกษาคณะกรรมสิทธิ์มนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า “ที่ทุกท่านกล่าวมาเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างตรงกับที่ทางกสม.ได้พยายามรวบรวม นั่นคือการลงพื้นที่ และตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์นี้โดยเฉพาะ ที่ผ่านมาได้มีการเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านมาพูดคุย ทั้งกลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มสิทธิเด็ก นักวิชาการ นักจิตวิทยา สื่อมวลชน ทนายความสิทธิ และล่าสุดมีการเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. รองผู้บังคับบัญชาการตำรวจ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มาพูดคุยและรับฟังข้อเท็จจริง 

 

“กสม. ก็เคยประชุมเรื่องสิทธิเด็กพูดเรื่องประเด็นสิทธิเด็กเป็นหลัก แน่นอนว่าการยุติความรุนแรงมันจะใช้ความรุนแรงไม่ได้ มีแต่จะบานปลาย ฉันเชื่อว่าทุกคนที่อยู่ในวิธีนี้ก็มีแนวทางค่อนข้างชัดเจนแล้วก็เห็นพ้องต้องกัน ว่าห่วงใยเยาวชน 

“ตอนนี้สิ่งที่เราได้ค้นพบและดิฉันเองก็มีโอกาสที่ร่วมประชุมก็เห็นว่า มิติของการมองทั้งของรัฐแล้วก็ผู้ชุมนุม รวมถึงมิติของปัญหานั้น ได้รับการมองเห็นจากคนละมุม มิติของการมองของภาครัฐคือความมั่นคง  ในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมอีกมองมิติของสังคมในเรื่องใกล้ตัวในเรื่องของชีวิต 

“เราก็ได้ข้อมูลสอดคล้องกับทุกท่าน คือเด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่โดนกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า คือเขาลำบาก แล้วระบบก็ไม่เอื้อ สุดท้ายแล้วก็ต้องพยายามดิ้นรนเพื่ออยู่รอด อันนี้ก็เข้าใจได้ว่ามันเกิดขึ้นแบบนี้จริงๆ” 

 

สรวงมณฑ์จึงได้ให้ข้อเสนอดังนี้:

  1. จัดเวทีให้มีการรับฟังเด็กและเยาวชน โดยมีหน่วยงานรัฐเข้าร่วม เพื่อหาทางออกร่วมกัน และเปิดพื้นที่ในการแสดงสิทธิและเสรีภาพโดย ปราศจากความรุนแรง ทั้งร่างกายและจิตใจ 

  2. หน่วยงานของรัฐ ควรมีแนวปฏิบัติ และปฏิบัติอย่างเหมาะสมกับเด็กในพื้นที่การชุมนุม โดยจัดให้มีระบบดูแล เด็กและเยาวชน ตั้งแต่เริ่มชุมนุม ระหว่างชุมนุมหลังการชุมนุม  แล้วก็จัดให้มีการคัดกรอง พื้นที่การชุมนุมให้เป็นพื้นที่ ปลอดภัย โดยติดสัญลักษณ์ให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สังเกตเห็น และมีการปฏิบัติที่เหมาะสม

  3. เจ้าหน้าที่รัฐควรจัดหามาตรการ เชิงป้องกันที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการใช้เสรีภาพในการ ชุมนุมได้อย่าง ปลอดภัย แล้วก็ควรแยกกลุ่มผู้ชุมนุมให้ชัดเจน ระหว่างผู้ก่อความรุนแรงและไม่ก่อความรุนแรง 

  4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรที่จะจัดอบรมเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน เพื่อให้ปฎิบัติหน้าที่ได้สอดคล้อง ตามมาตรฐานสากล โดยมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนที่คำนึงถึงมิติของเด็กและเยาวชน

  5.  รัฐบาลควรประสานงานกับกระทรวง DE  และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดูแลคุ้มครอง และเผยแพร่ข้อมูล ของเด็กที่ต่ำอายุต่ำกว่า 12 ปี รวมทั้งมีมาตรการที่ไม่ให้เกิดการตีตรา กลั่นแกล้ง สร้างความเกลียดชังในโลกออนไลน์ 

 

“เด็กมีสิทธิในการมีชีวิต สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการที่จะได้รับการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม 

ทางเราก็พยายามจะทำงานอย่างเต็มที่ และให้ความสำคัญอย่างมากเพราะผลกระทบทุกวันนี้คือต้นทุนของชีวิต มันมีหลากหลายด้าน ต้นทุนชีวิตเด็กไม่เท่ากัน การรับฟังความคิดเห็นก็มีความจำเป็นค่ะ”

 

บทสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนจบลงด้วยไฟแห่งความหวังที่กนกรัตน์เล็งเห็น เธอได้กล่าวว่า แม้บางคนอาจรู้สึกสิ้นหวังที่ไทยยังไม่ประสบความสำเร็จกับการปกป้องสิทธิของเยาวชน แต่ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ นี่คือหมุดหมายใหม่ของสังคมไทย 

 

“เยาวชนรุ่นใหม่ทำให้เราเห็นถึงอนาคตประเทศนี้ เราไม่เคยเห็นมาก่อนกับปรากฎการณ์ที่จะมีเยาวชนที่ตระหนักถึงสิทธิของตัวเองและ ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้สังคมดีขึ้นอย่างต่อเนื่องขนาดนี้  พวกเขาเป็นเยาวชนในทุกชนชั้น ในทุกมิติ 

 

“เราอาจจะเจ็บปวดในระยะสั้น ที่เห็นการถูกคุกคาม แต่ดิฉันคิดว่าสังคมไม่สามารถอยู่อย่างนี้ตลอดไปได้ โดยที่ไม่ฟังเสียงเยาวชนเลย ดังนั้นวันนี้เป็นวันเยาวชนแห่งชาติปีนี้ก็ถือว่าเป็นปีที่สองที่เราจะได้ฉลองวันเยาวชนในโฉมหน้าใหม่”

 

และนี่คือเสียงของผู้ใหญ่ ที่พร้อมชวนทุกคนมาร่วมกัน “พูดเพื่อเด็ก”