แอมเนสตี้เรียกร้องไทยยกเลิกการดำเนินคดีที่ไม่ชอบธรรมต่อแกนนำการชุมนุมโดยทันที

24 กันยายน 2564

Amnesty International Thailand

สืบเนื่องจากการจับกุมปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” นักกิจกรรมชาวไทยคนสำคัญที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ในข้อหายุยงปลุกปั่นและความผิดทางคอมพิวเตอร์

มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ขณะที่เริ่มมีการชุมนุมอีกครั้งในประเทศไทย ทางการไทยยังคงใช้อำนาจอย่างมิชอบ เพื่อควบคุมตัวและลงโทษผู้ชุมนุมโดยสงบ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางการไทยได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบเพื่อปิดปากนักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การจับกุมปนัสยาเป็นเพียงตัวอย่างล่าสุดของการปราบปรามอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบของรัฐบาล”  

“ปนัสยาเป็นนักศึกษาและแกนนำการชุมนุมคนสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาเธอตกเป็นเป้าหมายของทางการไทยหลายครั้ง เธอเป็นนักพูดที่มีอิทธิพลในขบวนการที่มีแกนนำเป็นเยาวชน พวกเขาเรียกร้องการคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบในประเทศไทย การจับกุมปนัสยาแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีเจตนาที่จะยุติการสร้างภาพที่เลวร้ายให้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมือง”  

“การดำเนินคดีโดยพลการต่อปนัสยาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ที่มีเนื้อหาคลุมเครือ และข้อหายุยงปลุกปั่นที่ตีความได้กว้างขวาง เป็นความอัปยศและเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบอย่างชัดเจน ทางการไทยต้องยกเลิกการดำเนินคดีเหล่านี้ทันที และต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่สนับสนุนการเอาผิดทางอาญากับการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกเหล่านี้”  

“การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องสำหรับการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพฯ แสดงให้เห็นว่าประชาชนคนไทยให้ความสำคัญกับสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ รัฐบาลไทยต้องอนุญาตให้บุคคลสามารถแสดงความเห็นในการชุมนุมโดยสงบได้”  

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนลเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีในทุกข้อหาต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ ปล่อยตัวผู้ที่ยังถูกควบคุมตัว และให้เจรจาอย่างจริงจังกับผู้ชุมนุม” 

 

 

ข้อมูลพื้นฐาน 

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” นักกิจกรรมชาวไทยที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ ถูกเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) จับกุมและถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นและความผิดทางคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ปนัสยาได้รับการประกันตัวออกมาด้วยการวางหลักทรัพย์มูลค่า 35,000 บาท 

เธอถูกดำเนินคดีอาญาหลายข้อหาจากการทำกิจกรรมและเคลื่อนไหวโดยสงบ เธออาจได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตหากศาลตัดสินว่ามีความผิด 

ปนัสยาได้รณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนความยุติธรรมทางสังคม ความเท่าเทียม ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาทางการได้ควบคุมตัวเธอหลายครั้ง และไม่ให้สิทธิในการประกันตัวกับแกนนำที่เป็นนักศึกษาเหล่านี้ ปนัสยาเคยถูกควบคุมตัวระหว่างวันที่ 15-30 ตุลาคม 2563 และระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่เธอติดเชื้อโควิด-19  

ปนัสยาเข้าร่วมการชุมนุมที่มีแกนนำเป็นเยาวชนครั้งสำคัญเมื่อปีที่แล้ว โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมหลายหมื่นคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา พวกเขาเรียกร้องการปฏิรูปสังคมและการเมือง การจับกุมเธอในวันนี้ เกิดขึ้นหลังจากทางการไทยใช้เวลาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาปิดปากผู้วิจารณ์ และกดขี่ผู้ที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก  

ในเดือนมีนาคม 2564 ทางการไทยเสนอร่างกฎหมายเพื่อกำกับดูแลองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะออกกฎหมายปราบปรามเพื่อควบคุมภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชน ในร่างฉบับสุดท้าย กฎหมายนี้จะให้อำนาจแก่รัฐบาลในการยุติการดำเนินการของกลุ่มใด ๆ โดยพลการ สามารถเข้าไปในสถานที่ส่วนบุคคลขององค์กรต่างๆ ได้ และละเมิดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ  

ในการรับมือกับผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนที่เรียกร้องการปฏิรูปในระบอบประชาธิปไตย ตลอดทั้งปี 2563 รวมถึงปี 2564 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวง และจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศไทย ตำรวจมักใช้กำลังอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย เกินกว่าเหตุ และโดยไม่จำเป็น เพื่อสลายกลุ่มผู้ชุมนุมโดยสงบ และดำเนินคดีอาญากับผู้เข้าร่วมการชุมนุมหลายร้อยคน 

ตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2563 ถึง 20 กันยายน 2564 มีการดำเนินคดีอาญากับบุคคลอย่างน้อย 1,341 คน (เป็นเด็กและเยาวชน 182 คน) ในข้อหายุยงปลุกปั่น หมิ่นประมาทพรมหากษัตริย์ ความผิดทางคอมพิวเตอร์ และการละเมิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ จำนวน 1,040 คดีเนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุม