อัยการสั่งไม่ฟ้อง 3 นักปกป้องสิทธิฯ กรณีรายงานการทรมานภาคใต้

2 พฤศจิกายน 2560

อัยการสั่งไม่ฟ้องสามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เปิดโปงการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐในภาคใต้ หลังการรณรงค์อย่างต่อเนื่องโดยแอมเนสตี้และผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

 

สํานักงานอัยการจังหวัดปัตตานีสั่งไม่ฟ้องและยุติการดำเนินคดีหมิ่นประมาทต่อพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พร้อมนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนอีกสองคน สมชาย หอมลออ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ กรณีถูกกองทัพฟ้องหมิ่นประมาท จากการที่ทั้งสามทำรายงานเปิดโปงการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย

 

เจมส์ โกเมซ ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าแม้การสั่งไม่ฟ้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสามคน แต่จริงๆ แล้วไม่ควรที่จะมีการดำเนินคดีกับพวกเขาตั้งแต่แรกเลยด้วยซ้ำ เพราะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสามคนไม่ได้ทำอะไรผิด นอกจากแสดงความกล้าหาญยืนหยัดต่อสู้อย่างสันติเพื่อสิทธิมนุษยชนของผู้อื่นจากการทำรายงานเปิดโปงการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

 

“ทางการไทยต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงจัง เพื่อสร้างบรรยากาศที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถทำหน้าที่ของพวกเขาได้โดยไม่กลัวการตอบโต้หรือเอาคืน ทางการไทยยังควรยกเลิกการดำเนินคดีทั้งหมดต่อบุคคลที่ถูกจำคุกหรือต้องเข้ารับการไต่สวนเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของพวกเขาอย่างสันติด้วย” เจมส์ โกเมซ กล่าว

 

รายงานดังกล่าวเป็นการบันทึกคำให้การเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ ทั้งหมด 54 กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งรวมถึงตำรวจและทหารในพื้นที่ ตีพิมพ์และเผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยความร่วมมือของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจ


ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2559 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้แจ้งความหมิ่นประมาทและความผิดทางคอมพิวเตอร์ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสามคน ซึ่งเป็นบรรณาธิการของรายงานฉบับดังกล่าว

 

หลังการรณรงค์อย่างต่อเนื่องของแอมเนสตี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ตลอดจนองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ทั่วโลก เจ้าหน้าที่กองทัพได้ออกมาให้คำมั่นสัญญาว่าจะถอนฟ้องเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา จนกระทั่งอัยการสั่งไม่ฟ้องและยุติการดำเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสามอย่างเป็นทางการ ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2560

 

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ขอเรียกร้องให้ทางการไทยลดการฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาท เนื่องจากพบว่าข้อหานี้มักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว และภาคประชาสังคมในประเทศ ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างสันติตลอดหลายปีที่ผ่านมา