ถ้อยแถลงแอมเนสตี้ระบุความรุนแรงในเมียนมายังวิกฤต ระหว่างการประชุมคณะมนตรีเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 47

13 กรกฎาคม 2564

Amnesty International Thailand

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้กล่าวถ้อยแถลงการณ์ถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในระหว่างการประชุมครั้งที่ 47 ซึ่งเป็นการกล่าวย้ำถึงสถานการณ์ความรุนแรง และวิกฤตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ชาวเมียนมาต้องเผชิญนับตั้งแต่การรัฐประหารของกองทัพเมียนมา 

 

แอมเนสตี้ชี้ว่า สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมในเมียนมายังคงเผชิญกับวิกฤติอย่างรุนแรงทั่วประเทศ และส่งผลกระทบต่อทุกชุมชน กองทัพเมียนมายังคงกักขัง ทรมาน และสังหารประชาชนตามอำเภอใจ  การเข้าถึงด้านมนุษยธรรมยังคงถูกจำกัดอย่างเข้มงวดทั่วประเทศ  แม้เศรษฐกิจของประเทศจะกำลังตกต่ำลงท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19  ที่ผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวเตือนถึงภาวะการขาดแคลนอาหารก็ตาม โดยยังคงมีการปะทะกันระหว่างทหารเมียนมาและพลเรือนด้วยอาวุธที่ได้แพร่สะพัดไปทั่วประเทศ รวมถึงในใจกลางเมืองด้วยเช่นกัน

 

ขณะนี้ทุกคนในเมียนมากำลังถูกละเมิดสิทธิ โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยที่ตกเป็นเป้าหมายหลักของกองทัพ ทั้งในรัฐคะฉิ่น กะเหรี่ยง ชิน กะเหรี่ยงแดง (คะเรนนี) ดาระอั้ง และฉาน โดยประชาชนหลายหมื่นคนในรัฐกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงแดง และคะฉิ่นนั้น ถูกบังคับให้หลบหนีการโจมตีทางอากาศและกระสุนปืน และมีรายงานว่ามีพลเรือนผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและถูกทำลายทรัพย์สิน รวมทั้งโรงเรียนอย่างน้อยหนึ่งแห่งในตอนเหนือของรัฐฉาน โดยมีผู้พลัดถิ่นหลายพันคนเนื่องจากการต่อสู้ที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAO) และการทหารที่ถูกบังคับเกณฑ์ 

 

ในรัฐยะไข่ ชาวยะไข่และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ เองก็ยังคงเป็นผู้พลัดถิ่นฐาน อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างกองทัพเมียนมาและกองทัพอาระกัน ในขณะที่ชาวโรฮิงญายังคงถูกปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐาน และถูกบังคับให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขจากอคติทางเชื้อชาติ โดยมีผู้ถูกกักขังประมาณ 126,000 คน  ในค่ายกักกันตั้งแต่ปี 2555

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้ประณามการใช้ความรุนแรงและการใช้กองกำลังสังหารหมู่ประชาชนของกองทัพเมียนมา ต่อประธานสมัชชาสหประชาชาติ ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่และคณะมนตรีความมั่นคง รวมถึงได้เรียกร้องให้กองทัพปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัว ยุติการทำร้ายร่างกาย และยุติการใช้ความรุนแรงกับชาวเมียนมา โดยจนถึงปัจจุบัน การละเมิดเช่นนี้นี้ยังคงมีอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง  

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการดำเนินการใด ๆ ที่เป็นรูปธรรมมาเป็นเวลานาน ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งต่อการหยุดยั้งคลื่นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ นั่นคือการวางเรื่องทางการเมืองไว้ก่อน  แล้วร่วมมือกันดำเนินคดีกับผู้ทำความผิดร้ายแรงเช่นนี้ตามกฎหมาย รวมถึงดำเนินการตามหลักของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC นั่นคือ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินพหุภาคีกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง  และกำหนดให้มีการห้ามส่งอาวุธทั่วโลกอย่างครอบคลุม  และเพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน

 

และได้ตั้งคำถามต่อข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อตามหามาตรการที่จะทำให้เสียงของภาคประชาสังคมในเมียนมาได้เป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจของประชาคมโลก รวมถึงตั้งคำถามว่า “เราจะมีมาตรการเพื่อรับรองได้อย่างไร ว่าสิทธิมนุษยชนนั้นจะเป็นศูนย์กลางของการตอบสนองต่อเหตุการณ์วิกฤตระหว่างประเทศเช่นนี้?”

 

เอกสารเพิ่มเติม

แถลงการณ์ฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษ) คลิกที่นี่