มติยูเอ็นยกระดับมาตรการต่อต้านความรุนแรงในเมียนมา พร้อมให้ยุติการใช้อาวุธโดยทันที

23 มิถุนายน 2564

Amnesty International Thailand

หลังการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ แอมเนสตี้กล่าวย้ำว่า ทุกประเทศต้องยุติการขายอาวุธให้กับกองทัพเมียนมา ตามมติโดยทันที เพื่อยุติความรุนแรงและการใช้กำลังในพื้นที่  

มติดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก 119 ประเทศ แม้จะถูกคัดค้านจาก 1 ประเทศคือเบลารุส และ 36 ประเทศงดออกเสียง รวมถึงประเทศไทย ทำให้รัฐสมาชิกต้องเลี่ยงการส่งอาวุธไปพม่า  โดยที่ผ่านมาได้ประณามการปราบปรามภาคประชาสังคม และประชาชนผู้ชุมนุมโดยสงบ พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง และยุติการจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนโดยทันที

ลอว์เรนซ์ มอส ผู้สนับสนุนอาวุโสสหประชาชาติของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในฐานะที่เป็นกระบอกเสียงของมนุษยชาติร่วมกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการประณามกองทัพเมียนมาที่ได้เข่นฆ่าชีวิตประชาชนในชาติ 

“กองทัพเมียนมาจะต้องตอบรับต่อมติสมัชชาสหประชาชาติและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และต้องบังคับใช้มาตรการดังกล่าว”

“ทุกประเทศเอง ต้องปฏิบัติตามมติในการห้ามส่งอาวุธเข้าประเทศเมียนมา  รวมถึงคณะมนตรีความมั่นคง จะต้องบังคับใช้มาตรการนี้ทันที โดยกำหนดให้มีการห้ามค้าอาวุธกับเมียนมา ทั่วทั้งโลก”

“นับเป็นสัญญาณที่ดี ที่สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคง 11 คนได้โหวตสนับสนุนมตินี้ แม้รัสเซียกับจีนจะงดออกเสียงเพื่อรับรองมติก็ตาม  ทั้งจีนและรัสเซีย ควรละเว้นจากการขัดขวางเจตจำนงของประชาคมโลก ผ่านการใช้สิทธิวีโต้ยับยั้งมติคณะมนตรีความมั่นคง ที่กำหนดให้มีการห้ามค้าอาวุธทั่วโลกต่อเมียนมา

“รัฐทุกรัฐจะต้องกระตุ้นให้จีนและรัสเซีย ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในการยุติการค้าอาวุธกับเมียนมา และให้ความร่วมมือในการบังคับรัฐทุกรัฐ ให้ทำตามมติคณะมนตรีความมั่นคง” ลอว์เรนซ์กล่าว

นับตั้งแต่กองทัพได้รัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้ชุมนุมกว่า 870 คนถูกคร่าชีวิตโดยกองทัพ อีกกว่า 4,938 รายถูกจับกุม รวมถึงสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบก็ได้ถูกพรากไปด้วย ทางการยังได้สั่งปิดสื่อมวลชน ระงับอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย 

มติสมัชชาสหประชาชาตินี้จึงมีขึ้นเพื่อให้เมียนมาปล่อยตัวผู้นำทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และคนอื่นๆ ทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ "โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข"  และเพื่อยุติข้อจำกัดด้านบุคลากรทางการแพทย์ ภาคประชาสังคม สมาชิกสหภาพแรงงาน นักข่าวและพนักงานสื่อ และข้อจำกัดบนอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย

มติของสหประชาชาติยังระบุถึงการสอบสวนของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ที่กำลังดำเนินการเรื่องอาชญากรรมการทารุณในบังกลาเทศและเมียนมา โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงสถานการณ์ในเมียนมาโดยรวมต่อ ICC และกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่ทหารที่รับผิดชอบในการก่ออาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

มติดังกล่าวได้ผ่านการเจรจากันระหว่าง 9 ประเทศสมาชิกของประชาคมอาเซียน และกลุ่มแกนหลักจากกว่า 50 รัฐที่สนับสนุนมติดังกล่าว

“หลังเจรจาเรื่องข้อความในมตินี้แล้ว เราได้พบความล้มเหลวในสี่รัฐสมาชิกของประชาคมอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา ลาว และประเทศไทย ที่ยังคงสนับสนุนคะแนนเสียงที่ไม่เป็นผลดีต่อความสำเร็จของการเจรจานี้ และกระบวนการไกล่เกลี่ยต่าง ๆ ที่อาเซียนอ้างว่าเป็นผู้นำ”

“ตลอดเวลาแปดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาคมอาเซียนได้ล้มเหลวในการดำเนินงานตามแถลงการณ์ที่เป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 24 เมษายน  โดยไม่แม้แต่เสนอชื่อผู้แทนพิเศษของตน กล่าวได้ว่าขณะนี้อาเซียนล้มเหลวในการร่วมมือกันเพื่อปล่อยตัวผู้ต้องขังโดยมิชอบ และล้มเหลวด้านการต่อต้านการส่งอาวุธไปยังเมียนมา

“ประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน จะต้องใช้อำนาจระดับทวิภาคี และระดับภูมิภาคทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าเมียนมาปฏิบัติตามข้อเรียกร้องเหล่านี้ แต่ประชาคมโลกเองก็ไม่สามารถรอแค่ประชาคมอาเซียนเพียงลำพังได้อีกต่อไป โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องดำเนินการเพื่อบังคับใช้การเรียกร้องของสมัชชาใหญ่ต่อเมียนมา”