จดหมายเปิดผนึกเนื่องในโอกาสการเริ่มดำรงตำแหน่งในฐานะอัยการประจำศาลอาญาระหว่างประเทศ

17 มิถุนายน 2564

Amnesty International Thailand

16 มิถุนายน 2564

อัยการ, คาริม ข่าน 

ในนามของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ดิฉันขอแสดงความยินดีที่ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นอัยการประจำศาลอาญาระหว่างประเทศ (‘ICC’) ประชาคมโลกได้ร้องขอให้ท่านอำนวยความยุติธรรม ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง และให้นำตัวผู้กระทำผิดที่มีอิทธิพลมากสุดมาลงโทษ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยินดีให้ความช่วยเหลือและความสนับสนุนในการปฏิบัติภารกิจที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้

 

ท่านได้เข้าดำรงตำแหน่งในขณะที่ความยุติธรรมระหว่างประเทศ และขบวนการสิทธิมนุษยชนโดยรวม ต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องในการดำเนินงานให้เกิดความรับผิดต่ออาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงอื่น ๆ ล้วนเป็นสาเหตุที่รากเหง้าของวิกฤตที่กระทบต่อความเชื่อมั่นในขบวนการสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรมระหว่างประเทศ และสถาบันระหว่างประเทศ รวมทั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ แม้จะมีปัญหาเหล่านี้ แต่ยังมีการเรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศดำเนินการแทรกแซงมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมายังคงมีการก่ออาชญากรรมตามธรรมนูญกรุงโรมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีผู้ใดต้องรับผิด วิกฤตด้านสภาวะภูมิอากาศดูเหมือนจะทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น และเราได้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางที่เกิดขึ้นกับผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ และการพลัดถิ่นฐานที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานของท่านจึงต้องตอบสนองต่อข้อเรียกร้องอย่างชอบธรรม เพื่อกำหนดให้การกระทำที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม เป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่งตามธรรมนูญกรุงโรม

แน่นอนว่า เราไม่จำเป็นต้อรอถึงอนาคต เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทของท่าน อาชญากรรมสงครามที่ผ่านมาซึ่งเกิดขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง อาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้นในเมียนมา โดยกองทัพที่เรืองอำนาจ และการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศใน โคลอมเบียต่างเป็นตัวอย่างซึ่งสะท้อนให้เห็นต้นทุนของความล่าช้าในการดำเนินงาน ให้เกิดความรับผิดต่อการละเมิดทั้งในอดีตและปัจจุบัน

 

ในความเห็นของเรา สถานการณ์ในประเทศฟิลิปปินส์ ปาเลสไตน์ และอัฟกานิสถาน เป็นเหตุผลสำคัญที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ และพนักงานสอบสวนของศาลอาญาระหว่างประเทศ ต้องทำหน้าที่เป็น ‘คำตอบสุดท้าย’ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ซึ่งอยู่ในจุดอับที่ความยุติธรรมระหว่างประเทศเข้าไม่ถึง เนื่องจากประเทศมหาอำนาจได้ขัดขวางและสกัดกั้นการเอาผิดกับอาชญากรรมเช่นนี้มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ด้วยเหตุดังกล่าว การทำงานของหน่วยงานของท่านจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง อันที่จริงแล้ว การสอบสวนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ จะสะท้อนถึงการบรรลุความสำเร็จที่สำคัญด้านความยุติธรรม หลังจากความล่าช้าในช่วงหลายปีหรือหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีความรับผิดใด ๆ เลย

ท่านยังควรให้ความสนใจอย่างเร่งด่วนกับสถานการณ์อย่างอื่น เป็นเวลากว่าทศวรรษที่รัฐบาลไนจีเรีย ‘จงใจที่จะไม่’ ดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ทั้งที่เกิดขึ้นจากกลุ่มโบโกฮารามและกองทัพไนจีเรีย ภายหลังการไต่สวนในเบื้องต้น เราคาดหวังว่าหน่วยงานของท่านจะเริ่มการสอบสวนต่อไป แต่กลับเป็นตรงกันข้าม สถานการณ์ดังกล่าวยังอยู่ในภาวะชะงักงันโดยพลการ และยังคงปล่อยให้มีการก่ออาชญากรรมอย่างกว้างขวางต่อไป โดยไม่ต้องมีผู้รับโทษ ส่วนผู้เสียหายยังคงไม่ได้รับความยุติธรรมต่อไป เราหวังว่าท่านจะตระหนักว่า ความล่าช้าที่ต่อเนื่องในไนจีเรีย จะยิ่งบั่นทอนโอกาสในการฟ้องคดีจนประสบความสำเร็จ และเราขอกระตุ้นหน่วยงานของท่านให้ ร้องขออำนาจอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถสอบสวนกรณีนี้ได้ เรามีข้อกังวลร่วมกันเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน ซึ่งที่ผ่านมาอยู่ในภาวะชะงักงันในขั้นตอนการไต่สวนเบื้องต้นและการสอบสวน เราตระหนักดีและเสียใจที่ประเทศภาคี ต่างล้มเหลวและไม่จัดสรรทรัพยากรที่จำเป็น เพื่อให้ท่านสามารถเดินหน้าสอบสวนสถานการณ์เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว และเราจะยังคงส่งเสียงเรียกร้องอย่างหนักแน่นให้ประเทศต่าง ๆ ปฏิบัติตามพันธกรณีของตน ประการสุดท้าย การใช้เหตุผลว่าสำนักงานอัยการศาลไม่ได้ดำเนินการให้เกิดความก้าวหน้า เพื่อเป็นเหตุผลในการจัดสรรทรัพยากรให้สำนักงาน ไม่ใช่สิ่งที่ช่วยปลอบประโลมใจผู้เสียหาย ซึ่งต่างต้องรอคอยความยุติธรรมมาเป็นเวลานาน รวมทั้งในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไนจีเรีย ซึ่งมีการลอยนวลพ้นผิดอย่างกว้างขวาง

  

ในเวเนซุเอลา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสามารถบันทึกข้อมูลการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย การควบคุมตัวโดยพลการ และการเสียชีวิตเนื่องจากการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าพนักงานของรัฐ หรือกลุ่มพลเรือนติดอาวุธฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งในหลายกรณีสำนักงานอัยการศาลสอบสวนจนได้ข้อสรุปแล้วว่า เป็นการกระทำที่ถึงขั้นเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และเราคาดหวังว่าหน่วยงานของท่าน จะมีมติตามข้อสรุปจากการไต่สวนเบื้องต้นในกรณีนี้ เราขอกระตุ้นให้ท่านตัดสินใจอย่างรวดเร็ว และไม่ปล่อยให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ขาดความมั่นใจ ท่ามกลางการไต่สวนเบื้องต้นที่ไม่มีวันจบสิ้น 

ในเดือนพฤษภาคม 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และ Asser Instituut ตีพิมพ์ รายงานของผู้เชี่ยวชาญ ชื่อ ‘ธรรมนูญกรุงโรมครบ 40 ปี’ ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตที่สำคัญหลายประการ จากมุมมองของ ‘คนในรุ่นหลังธรรมนูญกรุงโรม’ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่มีต่ออนาคตในอีก 20 ปีของศาล ข้อค้นพบสำคัญอย่างหนึ่ง รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องประกันให้มีการเข้าถึงความยุติธรรมจากศาลอาญาระหว่างประเทศอย่างจริงจัง สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบมากสุดจากอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ข้อค้นพบสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความยุติธรรมระหว่างประเทศที่เป็นองค์รวมอาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีการมอง ‘ให้พ้นจากศาลอาญาระหว่างประเทศ’ โดยสำนักงานอัยการศาลควรปฏิบัติหน้าที่บนแนวคิดที่กว้างขวาง และเน้นการทำงานที่หนุนเสริมกัน โดยอาจหมายถึงว่า ศาลและสำนักงานอัยการศาล พิจารณาบทบาทของตนในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของระบบยุติธรรมระหว่างประเทศภายใต้ธรรมนูญกรุงโรม และให้ร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรมระดับภูมิภาคและระดับชาติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เราทราบว่าท่านตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี  

อย่างไรก็ดี ในทัศนะของเรา การทำงานที่หนุนเสริมกันไม่ได้หมายถึงการให้ความสำคัญในเบื้องต้นกับกระบวนการยุติธรรมระดับประเทศ โดยเฉพาะเมื่อหลายประเทศไม่ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างแท้จริง หรือไม่สามารถสอบสวนและฟ้องคดีอาญาตามกฎหมายระหว่างประเทศได้ ด้วยเหตุดังกล่าว มติของสำนักงานอัยการศาลเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่จะไม่เริ่มการสอบสวนกรณีสหราชอาณาจักร/อิรัก จึงถือเป็นมติที่น่าละอาย แสดงถึงการยอมแพ้ต่อแรงกดดันของชาติมหาอำนาจที่เป็นรัฐภาคี และยังเป็นโรดแมปให้รัฐที่นิยมการแทรกแซงในระดับประเทศ และในระดับของศาลอาญาระหว่างประเทศ ในขณะที่ท่านเข้าดำรงตำแหน่งนี้ เราขอกระตุ้นอย่างจริงจังให้ท่านทบทวนมตินี้ และตระหนักว่าแนวทางที่โอนอ่อนมากเกินไปให้กับรัฐต่าง ๆ ไม่อาจถือเป็นการทำงานในเชิงหนุนเสริม หากเป็นความร่วมมือให้เกิดการลอยนวลพ้นผิดของชาติมหาอำนาจ 

การเข้าดำรงตำแหน่งของท่านถือเป็นโอกาสสำคัญในการฟื้นฟูบทบาทที่สำคัญของสำนักงานอัยการศาล ซึ่งที่ผ่านมายังไม่สามารถตอบสนองอย่างเต็มที่กับความคาดหวังที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบมากสุดจากอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ เรายังมีความกังวลว่า สำนักงานอัยการศาลไม่ได้ดำเนินการที่ส่งเสริมวัฒนธรรมของการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เราเห็นว่าการเริ่มดำรงตำแหน่งของท่าน จะเป็นโอกาสพิเศษอย่างยิ่งที่จะค้นหาแนวทางพัฒนาการทำงานของหน่วยงานของท่าน ยกตัวอย่างเช่น การดำเนินงานให้มีการเสนอข้อมูลของคดีอย่างหนักแน่นในศาล อันเป็นผลมาจากการสอบสวนอย่างเป็นผลและพยานหลักฐานที่หนักแน่น  

ในเวลาเดียวกัน หน่วยงานของท่านต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายที่สำคัญ รวมทั้งที่เป็นผลมาจากมติของสมัชชาของรัฐภาคี (Assembly of States Parties) ที่ ตัดลดงบประมาณอย่างต่อเนื่อง สำหรับสำนักงานอัยการศาล และขัดขวางไม่ให้สำนักงานสามารถปฏิบัติงานได้ตามศักยภาพขั้นพื้นฐาน ในความเห็นของเราแล้ว โดยทั่วไปแล้ว สำนักงานอัยการศาลไม่ได้ ร้องของบประมาณประจำปีอย่างเพียงพอ และอันที่จริงยังได้โอนอ่อนต่อแรงกดดันจากสมัชชาของรัฐภาคี ปล่อยให้มีการใช้ข้อพิจารณาทางการเมืองโดยพลการในการกำหนดงบประมาณ สำหรับประเด็นนี้ ท่านอาจตระหนักเป็นอย่างดีว่า หลายรัฐไม่ต้องการให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้าไปสอบสวนสถานการณ์บางอย่าง และรัฐเหล่านี้อาจพยายามทำให้ศาลเกิดความอ่อนแอ รวมทั้งโดยผ่านการไม่จัดสรรงบประมาณให้อย่างเพียงพอ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศที่เป็นแหล่งทุนสำคัญของศาล แสดงความต่อต้าน ไม่ต้องการให้ศาลเข้าไปสอบสวนกรณีของปาเลสไตน์ รวมทั้งความเสี่ยงที่รัฐเหล่านี้กำหนดเงื่อนไขเพื่อจำกัดการใช้เงินโดยพลการ เราจึงกังวลว่าข้อพิจารณาทางการเมืองเหล่านี้ กำลังส่งผลกระทบกับการทำงานของหน่วยงานของท่าน จากข้อมูลเหล่านี้ เราจึงขอกระตุ้นให้ท่านต่อต้านการจำกัดโดยพลการต่อทรัพยากรที่จัดสรรให้สำนักงาน โดยถือเป็นการแทรกแซงที่ไม่อาจยอมรับได้ต่อความสามารถของหน่วยงานของท่านในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระ  

ดังที่หน่วยงานของท่านส่งสัญญาณว่า มีเจตนาที่จะเริ่มสอบสวนสถานการณ์ใหม่หลายกรณี เราจึงกังวลอย่างยิ่งเมื่อได้อ่านรายงานการทบทวนของคณะผู้เชี่ยวชาญอิสระ ที่พิจารณาข้อเสนองบประมาณปี 2563 และพบว่าหน่วยงานสอบสวนและหน่วยงานฟ้องคดีที่อยู่ภายใต้หน่วยงานของท่าน มีจำนวนเจ้าหน้าที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก โดยหน่วยงานสอบสวน ‘มีพนักงานเต็มเวลาน้อยกว่าจำนวนที่จะทำให้สามารถปฏิบัติหน้าที่พื้นฐานได้ 87 คน’ ในความเห็นของเรา การดำรงตำแหน่งใหม่ของท่านจึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะอภิปรายเรื่องนี้อย่างจริงจังกับสมัชชา เพื่อพิจารณาความจำเป็นทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้ศาลอาญาระหว่างประเทศทำหน้าที่ได้อย่างเป็นผล เราขอกระตุ้นให้ท่านรีเซ็ตแนวทางการจัดทำงบประมาณศาลแบบคนขี้แพ้ และในช่วงสัปดาห์แรกของการดำรงตำแหน่ง ขอให้ท่านร้องของบประมาณที่สอดคล้องอย่างจริงจังกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นที่มีต่อหน่วยงานของท่านในปี 2565

ในช่วงหลายวันแรกในตำแหน่งของท่าน ท่านอาจพบว่ามีหลายสถานการณ์ที่กำลังรอการแทรกแซงอย่างเร่งด่วนจากท่าน รวมทั้งการไต่สวนเบื้องต้นที่เกิดขึ้นในไนจีเรีย ยูเครน และฟิลิปปินส์ ซึ่งได้เกิดข้อสรุปเมื่อเร็ว ๆ นี้ และมีข้อเสนอให้เปิดการสอบสวน และข้อสรุปจากการไต่สวนเบื้องต้นในกรณีของเวเนซุเอลาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น แต่กลับมีความล่าช้าอย่างน่าเสียใจ แม้เราตระหนักว่าท่านอาจต้องพิจารณาว่ากิจกรรมบางอย่างอาจนำไปสู่ความเห็นที่แบ่งแยกเป็นสองฝ่ายชัดเจน แต่การพิจารณาเหล่านี้ก็ควรเกิดขึ้นตามหลักเกณฑ์ที่โปร่งใส และมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน และสอดคล้องกับสิทธิของผู้เสียหาย ซึ่งหลายคนได้เฝ้ารอมาเป็นเวลาหลายปี เพื่อให้หน่วยงานของท่านเข้ามาเริ่มการไต่สวนในเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การสอบสวนต่อไป ซึ่งล้วนเป็นสถานการณ์ที่สำคัญในความคิดของท่าน เรายังกระตุ้นอย่างจริงจังให้ท่านไม่ยอมรับการจัดลำดับความสำคัญของประเด็น โดยมีพื้นฐานมาจากข้อเรียกร้องที่ขาดความยั่งยืนของสมัชชาของรัฐภาคีที่มองว่า หน่วยงานของท่านเหมาะสมแล้วกับงบประมาณประจำปีที่มี ‘การเติบโตเป็นศูนย์’ ในแต่ละปี การจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินงานของท่าน ควรมีพื้นฐานมาจากการได้รับการจัดสรรบุคลากรและทรัพยากรที่อย่างน้อยเพียงพอกับการทำงานตามศักยภาพในขั้นพื้นฐาน (หรือ ‘ในเบื้องต้น’) ขององค์กร ทั้งนี้เพื่อช่วยให้หน่วยงานของท่านสามารถตอบสนองอย่างเพียงพอต่อข้อเรียกร้องให้มีการแทรกแซง โดยไม่มีความย่อหย่อนทั้งในเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพ และมีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาอย่างเหมาะสม  

ท่านอัยการ,

ในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของท่าน ท่านต้องมีความกล้าหาญและเป็นอิสระอย่างยิ่ง 

เราคาดหวังว่าท่านจะต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างใหญ่หลวงจากชาติมหาอำนาจ กรณีที่การสอบสวนของท่านส่งผลกระทบต่อพลเมืองและผลประโยชน์ของพวกเขา อันที่จริงแล้ว รัฐภาคีจำนวนมากได้พยายามที่จะแทรกแซงอำนาจหน้าที่ด้านตุลาการของศาลเมื่อเร็ว ๆ นี้ ด้วยการ ประกาศต่อต้านอย่างเปิดเผย ต่อการสอบสวนของศาลอาญาระหว่างประเทศ ในกรณีปาเลสไตน์ เป็นต้น เรายังตระหนักว่ารัฐบางแห่งได้แสดงความหวังว่า การสอบสวนกรณีปาเลสไตน์ของศาล จะเปลี่ยนทิศทางไปเมื่อท่านเข้าดำรงตำแหน่งนี้ ดังจะเห็นได้จากจดหมาย ของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งสหราชอาณาจักร ที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564

  

เราจึงเรียกร้องให้ท่านปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระอย่างยิ่ง และปราศจากความกลัวหรือความลำเอียง ทั้งในกรณีสถานการณ์ในปาเลสไตน์และสถานการณ์อื่น ๆ รวมทั้งในขณะที่ท่านได้รับแรงกดดันหรือการข่มขู่ อันเป็นผลมาจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่อย่างเป็นอิสระและเหมาะสมของท่าน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและสมาชิกอีก 10 ล้านคนในขบวนการของเราจะปกป้องท่านอย่างดีสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในระหว่างที่ท่านเดินหน้าสอบสวนสถานการณ์ที่ท้าทายสุดเหล่านี้ เราจะคอยให้กำลังใจต่อท่าน และเรายังต้องพึ่งพาท่านต่อไป  

ขอแสดงความนับถือ,

แอกเนส คาลามาร์ด

เลขาธิการสากล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล