กัมพูชา/ไทย: หนึ่งปีผ่านไป ยังไม่มีความยุติธรรมให้วันเฉลิม

4 มิถุนายน 2564

Amnesty International Thailand

  • กัมพูชาล้มเหลวในการสอบสวน ไม่สามารถระบุชะตากรรมและที่อยู่ของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ได้ 

  • ประเทศไทย อาเซียน ต้องทำการสอบสวนอย่างเป็นอิสระด้วยตนเอง 

 

ทางการกัมพูชาไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีด้านกฎหมาย ที่จะต้องดำเนินการสอบสวนอย่างเหมาะสมต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้นกับนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ชาวไทยผู้มีความเห็นต่างจากรัฐบาล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันนี้ หนึ่งปีหลังการหายตัวไปของเขาในกรุงพนมเปญ

ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกระตุ้นทางการไทยให้เริ่มการสอบสวนอย่างเป็นอิสระด้วยตนเอง เกี่ยวกับการหายตัวไปของพลเมืองชาวไทย เนื่องจากมีความชัดเจนว่า กัมพูชาล้มเหลวในการสอบสวนเพื่อให้ทราบชะตากรรมและที่อยู่ของนายวันเฉลิม 

“เป็นการสอบสวนที่เต็มไปด้วยความล้มเหลวและขาดความคืบหน้า หนึ่งปีที่ผ่านมาเต็มไปด้วยการถ่วงเวลา การกล่าวหาคนอื่น และไม่มีความพยายามที่น่าเชื่อถือในการสอบสวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายวันเฉลิมอย่างแท้จริง การสอบสวนครั้งนี้ถือเป็นการดูหมิ่นต่อนายวันเฉลิมและครอบครัว และต้องมีการสอบสวนอย่างจริงจัง” มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว  

“ความล้มเหลวซ้ำซากของทางการกัมพูชา จนทำให้ไม่สามารถสอบสวนการบังคับบุคคลให้สูญหายกรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างเหมาะสม ถือเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของกัมพูชา”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลอย่างยิ่งว่าจนถึงปัจจุบัน ทางการกัมพูชายังไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะดำเนินการสอบสวนโดยทันที รอบด้าน ไม่ลำเอียง และเป็นอิสระในกรณีนี้ เพื่อระบุถึงชะตากรรมและที่อยู่ของนายวันเฉลิม ซึ่งสอดคล้องตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced disappearance : CPED) ซึ่งกัมพูชาเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ 

การสอบสวนทางอาญาต่อการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์ ได้ดำเนินอย่างเป็นทางการในกัมพูชาตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 และในเดือนธันวาคม 2563 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลวิพากษ์จารณ์ถึงการขาดความก้าวหน้าในการสอบสวน และเรียกร้องให้ใช้มาตรการเร่งด่วนหลายประการ เพื่อให้เกิดการสอบสวนที่สอดคล้องตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ นับแต่นั้นมา ยังคงไม่มีการดำเนินงานตามมาตรการเหล่านี้ และเป็นที่น่าตกใจที่การสอบสวนดูเหมือนจะยุติลงโดยสิ้นเชิง 

ในเดือนมีนาคม 2564 ทางการกัมพูชาล้มเหลวในการรายงานความคืบหน้าหน้าอย่างจริงจังในการสอบสวน ตามจดหมายตอบกลับ ล่าสุดต่อคำถามของจดหมายร่วมจากกลไกพิเศษแห่งสหประชาชาติจากหลายคณะ รวมทั้ง คณะทำงานว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจแห่งองค์การสหประชาชาติ จดหมายตอบดังกล่าวดูเหมือนจะผลักภาระการสอบสวนไปที่ครอบครัวของนายวันเฉลิม แม้ทางการกัมพูชาจะมีพันธกรณีอย่างชัดเจนตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 

นับแต่นางสาวสิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิมได้ให้การต่อศาลที่กรุงพนมเปญเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ทางการไม่ได้รายงานการดำเนินงานด้านการสอบสวนใดๆ ที่เกิดขึ้นในคดีนี้เลย ความบกพร่องในการตอบคำถามของทางการกัมพูชาและการขาดการตรวจสอบอย่างเหมาะสมต่อพยานหลักฐานใหม่ ๆ ที่พี่สาวนายวันเฉลิมได้นำเสนอ ตอกย้ำถึงข้อกังวลขั้นพื้นฐานต่อความน่าเชื่อถือของการสอบสวนครั้งนี้ 

 

ถึงเวลาที่ไทยและอาเซียนต้องสอบสวนอย่างเป็นอิสระ 

จากความล้มเหลวที่ชัดเจนในการสอบสวนของกัมพูชาจนถึงปัจจุบัน ในวันที่ 4 มิถุนายน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงอัยการสูงสุดของไทย เน้นให้เห็นความล้มเหลวของการสอบสวนในกัมพูชา และเรียกร้องให้อัยการสูงสุดร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ เริ่มการสอบสวนอย่างเป็นทางการต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายกรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547   

เพื่อประกันความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของการสอบสวนครั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเสนอแนะให้การสอบสวนครั้งนี้ควรเกิดขึ้น โดยการมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) 

“สืบเนื่องจากความบกพร่องอย่างชัดเจนในการสอบสวนของกัมพูชา ถึงเวลาที่ทางการไทยต้องเข้ามาทำหน้าที่ และดำเนินการสอบสวนอย่างรอบด้าน ไม่ลำเอียง และเป็นอิสระต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายซึ่งเกิดขึ้นกับพลเมืองของตนเองในระหว่างที่อยู่ต่างประเทศ” มิงยู ฮาห์กล่าว

“เมื่อพิจารณาถึงการดำเนินคดีอาญาของทางการไทยต่อนายวันเฉลิม รวมทั้งแบบแผนที่น่าตกใจอย่างยิ่งของการบังคับบุคคลให้สูญหายซึ่งเกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยชาวไทยในประเทศเพื่อนบ้านในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นเหตุให้จำเป็นต้องมีการสอบสวนที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล” 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังย้ำข้อเรียกร้องที่มีต่อคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ให้ดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในอาเซียน เพื่อให้เกิดมาตรการความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต่อกรณีผู้เสียหายจากการบังคับให้สูญหาย รวมทั้งการค้นหา ระบุตำแหน่งที่อยู่ ปล่อยบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

“ความเงียบงันของ ASEAN และ AICHR ในขณะที่เกิดการบังคับบุคคลให้สูญหายข้ามพรมแดนภายในภูมิภาค เป็นเรื่องน่าละอายและถือเป็นความร่วมมือระดับภูมิภาคที่เลวร้ายสุดครั้งหนึ่ง การลอยนวลพ้นผิด ความอยุติธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางเกิดขึ้นได้เพราะความเพิกเฉยของหน่วยงานระดับภูมิภาค ถึงเวลาแล้วที่อาเซียนต้องแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนต่อการบังคับบุคคลให้สูญหาย”

 

ข้อมูลพื้นฐาน 

นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ อายุ 37 ปี เป็นนักกิจกรรมชาวไทยที่ลี้ภัยและอาศัยอยู่ในกัมพูชา นางสาว สิตานันท์ พี่สาวของเขา ได้รายงานการถูกอุ้มหายของน้องชายที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ภาพจากกล้องวงจรปิดที่เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนภายหลังการถูกลักพาตัว แสดงให้เห็นภาพของรถยนต์สีน้ำเงินเข้มยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไฮแลนเดอร์ ขับออกจากที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นวันเฉลิมก็หายตัวไป ซึ่งเป็นวันที่มีผู้พบเห็นนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์เป็นครั้งสุดท้าย รวมทั้งภาพของชายสองคนซึ่งดูเหมือนจะเป็นประจักษ์พยานต่อการอุ้มหายครั้งนี้   

ก่อนหน้านี้ทางการไทยได้ดำเนินคดีอาญากับนายวันเฉลิม ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2561 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยกล่าวหาว่าเขาได้โพสต์ข้อความต่อต้านและล้อเลียนรัฐบาลผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊ก มีรายงานว่า ในขณะนั้นทางการไทยได้ร้องขอให้ทางการกัมพูชาส่งตัวนายวันเฉลิมเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกับมาไทย แต่ทางการกัมพูชาไม่ได้ยอมรับว่าเคยมีคำร้องขอดังกล่าว ก่อนหน้านั้นในปี 2557 ทางการไทยยังได้ดำเนินคดีกับเขาจากการไม่มารายงานตัวตามประกาศที่มีผลต่อนักกิจกรรมและนักการเมืองหลายคน ในช่วงหลังการทำรัฐประหารเดือนพฤษภาคมปีดังกล่าว 

ในเดือนธันวาคม 2563 หกเดือนหลังการบังคับให้สูญหายกรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแสดงความกังวลอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับความคืบหน้าและรอบด้านในการสอบสวนของกัมพูชา และเรียกร้องให้ทางการกัมพูชาค้นหาและสอบปากคำประจักษ์พยานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบุคคลที่ปรากฏตัวในภาพกล้องวงจรปิด ทางองค์กรยังขอให้ทางการกัมพูชาแจ้งให้ครอบครัวนายวันเฉลิมทราบถึงข้อมูลความก้าวหน้าและผลลัพธ์ของการสอบสวน ทั้งนี้เพื่อประกันให้เกิดการสอบสวนที่เป็นผล แต่ดูเหมือนว่าข้อเสนอแนะเหล่านี้จะไม่ได้ถูกนำไปใช้นับแต่เดือนธันวาคม 2563  

ก่อนหน้านี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยชาวไทยในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทางการไทยได้ขอให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน การบังคับบุคคลให้สูญหายกรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ สะท้อนให้เห็นแบบแผนที่น่าตกใจอย่างยิ่งของการลักพาตัวและการสังหารนอกกระบวนการทางกฎหมายนับแต่เดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งเกิดขึ้นกับนักกิจกรรมชาวไทยที่ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านอย่างน้อยเก้าคน รวมทั้งในลาวและเวียดนาม และเป็นการกระทำของบุคคลไม่ทราบฝ่าย 

ในแต่ละกรณี ทางการไทยได้ร้องขอให้มีการจับกุมหรือส่งตัวบุคคลให้เป็นผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินคดีอาญาอันเนื่องจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงความเห็นของพวกเขา โดยส่วนใหญ่เป็นการแสดงความเห็นทางออนไลน์ และในบางกรณีเกิดขึ้นระหว่างการลี้ภัย  

เมื่อพิจารณาถึงแบบแผนการบังคับสูญหาย การสังหาร และการลอยนวลพ้นผิดอย่างกว้างขวางที่เกิดขึ้นในภูมิภาค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ กระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ให้คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) หน่วยงานกำกับดูแลด้านสิทธิมนุษยชนของอาเซียน ปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ “เพื่อขอข้อมูลจากรัฐภาคีอาเซียน ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” ทั้งนี้เพื่อเผยให้เห็นความจริงเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมทั้งกรณีของนายวันเฉลิม