เมียนมา: ยุติการประหัตประหารผู้สื่อข่าว

27 พฤษภาคม 2564

Amnesty International Thailand

ภาพถ่ายโดย: Hkun Lat/Getty Images

หน่วยงานของกองทัพเมียนมา ควรยกเลิกการดำเนินคดีต่อผู้สื่อข่าวทันที แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันนี้ ทั้งนี้รวมถึงผู้ที่ถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดี คนที่รอการประกันตัว หรือผู้ที่มีหมายจับ ซึ่งเป็นการดำเนินคดีเพียงเพราะการทำงานและการใช้สิทธิมนุษยชนของตนเอง

“ผู้สื่อข่าวทำงานในแนวหน้าของการต่อสู้ เพื่อเปิดเผยความจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาทุกวันนี้” เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการด้านวิจัยประจำภูมิภาค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 

“ความรุนแรง การข่มขู่ และการคุกคามที่หน่วยงานของกองทัพกระทำต่อพวกเขา สะท้อนให้เห็นว่าการทำหน้าที่เปิดเผยความจริงของพวกเขามีพลัง ผู้สื่อข่าวแต่ละคนอาจถูกข่มขู่ ถูกจับกุม หรือถูกกระทำที่เลวร้ายกว่านั้น แต่ไม่มีทางที่จะยุติหรือขัดขวางการทำหน้าที่อย่างเสรีของสื่อในเมียนมาได้”  

การประหัตประหาร การข่มขู่ การคุกคามและการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องกับผู้สื่อข่าวในเมียนมา ถือเป็นความพยายามอย่างชัดเจนที่หน่วยงานของกองทัพพยายามจะปราบปรามการแสดงความเห็นต่างอย่างสงบ และปิดบังเหตุการณ์ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคง นับตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา การปราบปรามทั่วประเทศส่งผลให้เกิดการปฏิเสธอย่างกว้างขวางต่อสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูล 

ในวันที่ 24 พฤษภาคม แดนนี เฟนสเตอร์ พลเมืองชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศคนที่สามที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวนับตั้งแต่การทำรัฐประหารในเมียนมา เขาถูกทางการจับกุมที่ท่าอากาศยานนานาชาติย่างกุ้ง ระหว่างรอขึ้นเครื่องไปมาเลเซีย มีรายงานว่าเขาถูกนำตัวไปที่เรือนจำอินเส่ง และจนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม ยังไม่มีการแจ้งข้อหากับเขา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่า แดนนี เฟนสเตอร์ถูกจับเพราะการใช้สิทธิมนุษยชนของตนเอง เขาต้องได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข 

จนถึงวันที่ 21 พฤษภาคม มีผู้สื่อข่าว 88 คนถูกจับกูมนับตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ทั้งนี้ตัวเลขล่าสุดตามที่สมาคมเพื่อการช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองแห่งพม่า (AAPPB) ระบุว่ากว่าครึ่งหนึ่งยังคงถูกควบคุมตัว และอีก 33 คนอยู่ระหว่างการหลบหนี สองคนได้รับการประกันตัวออกมา อีกหลายสิบคนได้หลบหนีออกไปนอกประเทศ หรือเดินทางไปขอที่พักพิงในดินแดนภายใต้การควบคุมขององค์กรชาติพันธุ์ติดอาวุธ มีผู้สื่อข่าวสองคนได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืน ระหว่างทำข่าวการชุมนุมประท้วง  

“การจับกุมแดนนี เฟนสเตอร์เป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าสื่อมวลชนในเมียนมาตกเป็นเป้าหมายหน่วยงานของกองทัพจากการพยายามเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพในระหว่างที่มีการปราบปรามอย่างโหดร้าย” เอ็มเมอร์ลีน จิล กล่าว

“แม้จะมีการปิดกั้นด้านการสื่อสารอย่างกว้างขวาง แต่โลกยังคงมีโอกาสได้รับทราบและได้รับรู้ถึงการปฏิบัติที่มิชอบของหน่วยงานของกองทัพซึ่งเป็นผลมาจากความกล้าหาญของผู้สื่อข่าว”

 

บรรยากาศของความหวาดกลัว: “เราไม่ต้องการหวนกลับไปในยุคแบบนั้นอีก” 

การปราบปรามของหน่วยงานของกองทัพต่อสื่อมวลชน ส่งผลให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัวในบรรดาสื่อมวลชนทั้งหลาย ซึ่งกระทบต่อการเข้าถึงข้อมูลและสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ในวันที่ 8 มีนาคม สำนักข่าว Myanmar NOW, Khit Thit Media, Democratic Voice of Burma (DVB), Mizzima และ 7day ถูกถอนใบอนุญาต เป็นคำสั่งห้ามที่ส่งผลกระทบต่อสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุและโทรทัศน์ และสื่อดิจิทัล 

ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2564 เป็นต้นมา ไม่มีหนังสือพิมพ์ข่าวรายวันที่เป็นของเอกชนวางจำหน่ายในประเทศอีกต่อไป เนื่องจากสำนักข่าวหลายแห่งถูกระงับสิทธิในการดำเนินงาน ผู้สื่อข่าวที่ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแสดงความกังวลว่า การปราบปรามอย่างต่อเนื่องภายหลังการทำรัฐประหาร กำลังทำให้ยุคมืดของการเซ็นเซอร์ การเซ็นเซอร์ตัวเอง และการออกข่าวที่บิดเบือนความจริงจากการสนับสนุนของรัฐ ได้หวนกลับมาอีกครั้ง “เรารู้สึกว่าสถานการณ์กำลังเปลี่ยนกลับไปเหมือนตอนที่เรายังเป็นเด็ก....เราไม่อยากกลับไปสู่คืนวันเช่นนั้นอีก ที่มีแต่สื่อของรัฐและการโฆษณาชวนเชื่อ” ผู้สื่อข่าวที่ย่างกุ้งคนหนึ่งกล่าว “เป็นเรื่องยากมากที่จะต่อสู้และอยู่รอดในฐานะสื่อมวลชนในช่วงเวลานี้ของเมียนมา ไม่มีความปลอดภัยเลย ไม่เฉพาะกับตัวผู้สื่อข่าวเอง แต่ยังรวมถึงครอบครัวของพวกเขา เราทุกคนต่างต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ขาดความมั่นคงทุกวัน แต่เรายังคงพยายามรายงานข่าวให้มากสุดเท่าที่จะทำได้”  

หลังการผูกขาดของรัฐต่อวงการสื่อและการเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวดเกือบห้าทศวรรษ ในปี 2555 หน่วยงานที่รับจดทะเบียนและตรวจสอบสื่อมวลชน ได้ประกาศยกเลิกการเซ็นเซอร์เนื้อหาก่อนตีพิมพ์ ในปี 2556 กระทรวงข้อมูลของเมียนมาเริ่มออกใบอนุญาตให้กับหนังสือพิมพ์รายวันที่เป็นของเอกชน   

อย่างไรก็ดี ปฏิบัติการเมื่อเร็ว ๆ นี้ของหน่วยงานราชการ นับเป็นการก้าวถอยหลังครั้งสำคัญสำหรับสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก และความก้าวหน้าของเสรีภาพสื่อในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้การระบอบการปกครองแบบกึ่งพลเรือนที่กำลังจะสูญหายไปเกือบทั้งหมด 

หน่วยงานของกองทัพเมียนมาควรรับประกันสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ต้องเคารพ คุ้มครอง ส่งเสริม และปฏิบัติให้เป็นผลซึ่งการเข้าถึงข้อมูลและเสรีภาพสื่อ ทั้งนี้ด้วยการยุติการปิดกั้นเว็บไซต์ข่าวอิสระ และโซเชียลมีเดียต่างๆ และให้เปิดบริการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตอย่างเต็มที่และเร่งด่วน  

 

กฎหมายเก่า การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งใหม่

ในวันที่ 3 มีนาคม 2564 มินเนียว ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว Democratic Voice of Burma (DVB) ถูกจับกุมระหว่างทำข่าวการชุมนุมประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหารที่เมืองแปร เขตพะโค ตอนกลางของเมียนมา จากแถลงการณ์ของ DVB มินเนียวถูกตำรวจซ้อมระหว่างการจับกุมจนได้รับบาดเจ็บ ต่อมาศาลตัดสินจำคุกเขาสามปีในวันที่ 12 พฤษภาคม โดยใช้อำนาจตามมาตรา 505(a) ของประมวลกฎหมายอาญา  

การกำหนดโทษที่ยาวนานครั้งนี้ ถือเป็นคำตัดสินครั้งที่สองต่อผู้สื่อข่าว นับตั้งแต่เกิดการทำรัฐประหาร โดยก่อนหน้านี้ เมถ่วย อ่องจากสำนักข่าว DVB ถูกศาลตัดสินจำคุกหนึ่งเดือนตามมาตรา 188 ผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 505(a) ของประมวลกฎหมายอาญา ที่เป็นกฎหมายตั้งแต่ยุคอาณานิคม ซึ่งห้ามการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ “แถลงการณ์ ข่าวลือ หรือรายงาน....โดยมีเจตนาซึ่งอาจกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งทหารบก ทหารเรือ หรือทหารอากาศ ในกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ กระทำการขบถ หรือเพิกเฉยต่อคำสั่ง หรือไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตน”  

กฎหมายที่มีเนื้อหากว้างขวางเช่นนี้ ได้เคยถูกกองทัพเมียนมาใช้ เพื่อโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าว และนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม เป็นการลงโทษผู้แจกใบปลิวทางการเมือง หรือคนที่พยายามรายงานข่าว  

ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 หน่วยงานของกองทัพเมียนมาประกาศการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหลายฉบับ รวมทั้งการเพิ่มเติมเนื้อหาของมาตรา 505A โดยข้อบทใหม่นี้จะเอาผิดกับผู้ที่ทำให้เกิดหรือจงใจทำให้เกิดความหวาดกลัว เผยแพร่ข่าวเท็จ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมให้เกิดการกระทำผิดทางอาญาต่อข้าราชการ โดยมีกำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำสามปี รวมทั้งการสั่งปรับ 

การแก้ไขเพิ่มเติมเหล่านี้ ละเมิดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ เปิดโอกาสให้มีการจับกุมและตัดสินว่ามีความผิดเพียงมองจากเจตนา ไม่ใช่แค่ผู้สื่อข่าวที่ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ หากยังรวมถึงคนที่มีชื่อเสียง แพทย์ ครู และข้าราชการอื่น ๆ ที่ต้องสงสัยว่าเข้าร่วมกับขบวนการอารยะขัดขืนของพลเมือง ซึ่งได้ทำการชุมนุมประท้วงด้วยการนัดหยุดงานทั่วประเทศ และมีหมายจับตามมาตรา 505A และอื่น ๆ   

มาตรา 505A ของประมวลกฎหมายอาญา รวมทั้งพระราชบัญญัติการชุมนุมโดยสงบและการเดินขบวนโดยสงบ และพระราชบัญญัติการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นกฎหมายที่ควรถูกยกเลิกหรือแก้ไขให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หน่วยงานของกองทัพเมียนมาต้องยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงความเห็น และเสรีภาพสื่อ ประกันให้บุคคลมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล และยุติการโจมตีสื่อมวลชน 

 

ติดต่อ: press@amnesty.org