แอมเนสตี้ส่งจดหมายกระตุ้นอาเซียนเร่งแก้ไขวิกฤตโรฮิงญาอย่างจริงจัง

6 ตุลาคม 2560

แอมเนสตี้ส่งจดหมายเรียกร้องให้อาเซียนจัดประชุมฉุกเฉินเพื่อหาทางแก้ไขวิกฤตล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ระบุที่ผ่านมายังมีท่าทีไม่ชัดเจน

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ผู้นำประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงต่อชาวโรฮิงญาในเมียนมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในจดหมายถึงประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในวันนี้

 

จดหมายซึ่งลงนามโดยผู้อำนวยการ 13 คนจากสำนักงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย เรียกร้องให้อาเซียนจัดประชุมสุดยอดฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมในตอนเหนือของรัฐยะไข่ของเมียนมา

 

“อาเซียนไม่ได้แสดงจุดยืนใดๆ ในขณะที่รัฐภาคีใช้ปฏิบัติการความรุนแรงเพื่อล้างเผ่าพันธุ์” เจมส์ โกเมซ ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

 

“รัฐบาลประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต้องยึดมั่นปฏิบัติตามพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งบัญญัติไว้ในกฎบัตรอาเซียน ในขณะที่กองทัพเมียนมาได้แสดงความดูหมิ่นต่อพันธกิจนี้อย่างชัดเจน และยังคงเดินหน้าก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติกับชาวโรฮิงญาต่อไป”

 

นับแต่กลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาโจมตีป้อมของฝ่ายความมั่นคงในเมียนมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 รัฐบาลเมียนมาได้เริ่มก่อปฏิบัติการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โหดร้าย และรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา แอมเนสตี้ได้เก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายหลายครั้ง รวมทั้งการสังหารแบบไม่ชอบด้วยกฎหมาย การวางเพลิงเผาบ้านเรือนและหมู่บ้านต่างๆ ในวงกว้าง

 

ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของการล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งในทางกฎหมายถือว่าเป็น อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ รวมไปถึงการสังหารและการเนรเทศ หรือการบังคับให้ประชากรต้องเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยืนยันด้วยว่ามีการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลโดยกองทัพเมียนมา

 

ที่ผ่านมา อาเซียนได้แสดงท่าทีต่อกรณีนี้ โดยออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2560 เกือบหนึ่งเดือนหลังความโหดร้ายในรัฐยะไข่เริ่มขึ้น โดยอาเซียนได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่หลีกเลี่ยงไม่ใช้แม้แต่คำว่า “โรฮิงญา” และแถลงการณ์นี้มีเนื้อหาค่อนข้างอ่อน

 

จดหมายของแอมเนสตี้กล่าวว่าการแสดงท่าทีเช่นนี้ยังไม่เพียงพอ และอาเซียนจำเป็นต้องแสดงท่าทีต่อวิกฤตในเมียนมาอย่างจริงจังมากกว่านี้

 

แอมเนสตี้เรียกร้องรัฐบาลฟิลิปปินส์ ในฐานะประธานคนปัจจุบันของอาเซียน ให้เรียกประชุมสุดยอดฉุกเฉินระดับอาเซียน เพื่อให้มีการอภิปรายถึงปัญหาในเมียนมา ซึ่งรวมถึง

 

  • ให้ยุติความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชน และอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ
  • ประกันให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และสามารถเดินทางกลับถิ่นฐานของตนได้อย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี สำหรับผู้ที่สมัครใจจะกลับ 
  • ยุติการเลือกปฏิบัติที่ฝังรากลึกต่อชาวโรฮิงญา สนับสนุนการสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นอิสระ และให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย

 

จดหมายนี้ลงนามโดยผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในออสเตรเลีย ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย มองโกเลีย เนปาล นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ไทย และไต้หวัน