แอมเนสตี้ จี้ ผู้รับผิดชอบกรณี 'ตากใบ' ต้องถูกนำมาลงโทษ

25 ตุลาคม 2555

Amnesty International 

แอมเนสตี้ จี้ ผู้รับผิดชอบกรณี 'ตากใบ' ต้องถูกนำมาลงโทษ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์เรียกร้องทางการไทย ระบุว่า การเสียชีวิตของผู้ประท้วง 85 คนในเหตุการณ์ตากใบเมื่อ 8 ปีก่อนต้องมีผู้รับผิดชอบและถูกนำมาดำเนินการตามกม. ชี้การให้ค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายยังไม่เพียงพอ

25 ต.ค. 55 - เนื่องในวันครบรอบ 8 ปี เหตุการณ์ตากใบ ซึ่งเป็นการสลายการชุมนุมโดยทหารต่อผู้ประท้วงที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 85 คน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานใหญ่อยู่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลนำผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวมาดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย พร้อมชี้ว่า ถึงแม้ทางการไทยจะจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้เสียหายเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็ย้ำว่า ยังไม่เพียงพอต่อการนำมาซึ่งความยุติธรรม แต่รัฐไทยจำเป็นต้องยุติปัญหาการลอยนวลของเจ้าหน้าที่รัฐ

ทั้งนี้ เหตุการณ์ตากใบ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 ที่อ. ตากใบ จ. นราธิวาส มีผู้ชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องให้ปล่อยตัวชายท้องถิ่น 6 คนซึ่งถูกจับกุมก่อนหน้านี้ ตำรวจจึงได้เรียกกำลังเสริมจากกองทัพเพื่อมาควบคุมสถานการณ์ หลังจากการปะทะและตอบโต้ทางกำลัง ผู้ชุมนุมและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หลายร้อยคนได้ถูกจับกุม ถอดเสื้อ ผูกมือไพล่หลังและถูกให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นในแนวราบ ต่อมาทหารได้ขนย้ายผู้ชุมนุมไปนอนซ้อนกันบนรถบรรทุกห้าถึงหกชั้น และเมื่อรถดังกล่าวมาถึงค่ายทหารอีก 3 ชั่วโมงถัดมา ก็พบว่ามีผู้เสียชีวิตหลายคนจากการขาดอากาศหายใจ

/////

แถลงการณ์ฉบับเต็ม

ประเทศไทย: ความตายของผู้ประท้วง 85 คนต้องมีผู้รับผิดชอบและถูกลงโทษ

เจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงของไทยผู้ซึ่งรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้ประท้วง 85 คนเมื่อแปดปีที่แล้ว ที่อำเภอตากใบ จ.นราธิวาส ต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 กองกำลังความมั่นคงยิงปืนใส่ผู้ประท้วงด้านนอกสถานีตำรวจภูธรตากใบ มีผู้เสียชีวิต 7 คนในที่เกิดเหตุ และอีก 78 คนถูกทับหรือขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตในระหว่างการใช้รถทหารขนส่งพวกเขาไปควบคุมตัวที่ค่ายทหาร

“เป็นเรื่องน่าละอายที่ไม่มีผู้ใดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจากกรณีความตายนี้ และที่ผ่านมามีการปล่อยให้ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงกรณีอื่นๆ ลอยนวลไม่ต้องรับโทษ ในระหว่างการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในภาคใต้ของไทย”

อิสเบล อาร์ราดอน (Isabelle Arradon) ผู้อำนวยการแผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว  “โชคร้ายที่กรณีนี้สะท้อนปัญหาการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ร้ายแรง ซึ่งมักเกิดขึ้นในภาคใต้และตลอดทั่วประเทศ”

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในจังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 และมีลักษณะที่ริดลอนสิทธิและเสรีภาพ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงไม่ต้องรับผิดทางอาญา กฎหมายฉบับนี้ต้องถูกยกเลิกโดยทันที หรือให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนได้

ในปี 2555 ทางการได้ดำเนินการที่น่ายินดีในการให้ค่าชดเชยกับครอบครัวของผู้เสียหายจากการประท้วงที่ตากใบ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ยังไม่เพียงพอ

 “การให้เงินกับผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ได้หมายความว่าทางการหลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องนำตัวผู้รับผิดชอบมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และการให้การเยียวยาอย่างเต็มที่ต่อผู้ได้รับผลกระทบ การให้ค่าชดเชยนี้ยังไม่อาจประกันว่าการละเมิดเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต” อาร์ราดอนกล่าว

ในเดือนมิถุนายน 2555 ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธโอกาสของผู้เสียหายจากกรณีตากใบอีกครั้งหนึ่งในการเรียกร้องความยุติธรรม โดยมีคำสั่งยกคำร้องต่อการอุทธรณ์คำสั่งไต่สวนการตายเมื่อปี 2552 เนื่องจากคำสั่งศาลจากการไต่สวนการตายเมื่อเดือนตุลาคม 2547 ระบุเพียงว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ

นับแต่ปี 2547 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,000 คนจากการขัดแย้งกันด้วยอาวุธระหว่างรัฐกับผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ทั้งสองฝ่ายต่างมีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบเลือกสังหารเป้าหมายที่เป็นพลเรือน และยังโจมตีพลเรือนจนเสียชีวิตอย่างไม่เลือกหน้า

“ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในภาคใต้เป็นเรื่องน่าเศร้า การโจมตีก็มุ่งให้เกิดความหวาดกลัวในบรรดาพลเรือน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน การละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเช่นนี้เป็นปัญหาท้าทายร้ายแรงต่อกลไกด้านความมั่นคงของไทย การรักษาความสงบของสาธารณะต้องดำเนินไปพร้อมกับการเคารพสิทธิมนุษยชน และต้องไม่ขัดขวางกระบวนการลงโทษผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าผู้ละเมิดนั้นจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือผู้ก่อความไม่สงบ” อาร์ราดอนกล่าว