บทบาทสื่อในการชุมนุม: สร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างความเข้าใจกับสังคม

5 มีนาคม 2564

Amnesty International Thailand

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจัดงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัล "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประจำปี 2563 โดยมีการเสวนาในหัวข้อ "บทบาทสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวการชุมนุม: ทบทวนบทเรียน ข้อท้าท้าย และมองไปข้างหน้าตลอดปี 2564" ร่วมเสวนาโดย ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน, ฐปณีย์ เอียดศรีไชย สื่อมวลชนที่เกาะติดข่าวการชุมนุม, จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำราษฎร ชวนคุยโดย นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว WorkpointTODAY

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำราษฎร กล่าวว่า ช่วงแรกที่กลุ่มตนจัดชุมนุมและมี 10 ข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นช่วงที่สื่อรู้สึกกระอักกระอ่วนว่าจะนำเสนอข่าวนี้อย่างไร หลายช่องก็หยุดถ่ายทอดสดไปเลยเพราะไม่แน่ใจว่านำเสนอข่าวได้หรือไม่

 

“เราเห็นว่าสื่อออนไลน์จะเปิดกว้างได้มากกว่า แต่สื่อหลักต้องใช้เวลากว่าจะพูดคำว่า 'สถาบัน' ได้ แต่คำที่ตรงเกินไปต้องลดทอนลง ซึ่งพวกเราเข้าใจดี แต่มีสื่อบางสำนักให้ข่าวด้านเดียวจนเป็นผลลบต่อผู้ชุมนุมและผู้จัดการชุมนุม หากกระอักกระอ่วนที่จะนำเสนอแต่อย่างน้อยควรนำเสนอภาพรวมของการชุมนุมได้ ล่าสุดที่ผู้ชุมนุมปะทะกับตำรวจ ก็มีการนำเสนอข่าวแค่ว่าฝั่งรัฐและตำรวจถูกกระทำอะไรบ้าง แต่ไม่บอกว่าผู้ชุมนุมถูกทำอะไรบ้าง เช่นผู้ชุมนุมถูกกระทืบจากตำรวจควบคุมฝูงชน

“สิ่งที่เราเสนอออกไปอาจเป็นอันตรายต่อตัวเราเอง ถ้าไม่มีสื่อนำเสนอเราอาจได้รับอันตรายมากกว่านี้ พอสื่อพยายามนำเสนอข้อมูลของเรานำเสนอออกไปมากๆ โดยเฉพาะด้านความเป็นมนุษย์ของเราช่วยสร้างความปลอดภัยให้เรามากขึ้น ทำให้ผู้รับสารสนใจติดตามเรื่องที่เราพูดมากขึ้น ส่วนการให้สัมภาษณ์สื่อช่วงหลังเราก็พยายามลดโทนของคำลง เพื่อให้สื่อสามารถส่งสารของเราได้

อยากขอบคุณสื่อที่ช่วยสื่อสารสิ่งที่เราเรียกร้อง แต่ยังมีบางสื่อที่ยุยงปลุกปั่น อยากขอให้หยุดทำและให้ทำงานอย่างมีจรรยาบรรณสื่อ อยากให้องค์กรสิทธิมนุษยชนช่วยทำงานมากกว่านี้ เรากำลังต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของคนในประเทศไทย เราต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการต่อสู้ครั้งนี้ ปนัสยา กล่าว

 

ด้าน ฐปณีย์ เอียดศรีไชย สื่อมวลชนที่เกาะติดข่าวการชุมนุม กล่าวว่า การชุมนุมที่ทะลุเพดานข้อเรียกร้องด้วยข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้สื่อต้องทำงานทะลุเพดานเหมือนกัน เพราะเนื้อหาเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ จนต้องตั้งคำถามว่าจะรายงานข่าวนี้อย่างไร จึงกลับไปปรึกษาทนายความและพี่ๆ ในแวดวงสื่อ  

 

 

“วิชาชีพสื่อไม่ใช่ว่าจะต้องรายงานทุกเรื่องที่อยู่ตรงหน้า แต่ต้องกลั่นกรองสิ่งที่เกิดขึ้น เราเป็นสื่อมวลชน ต้องรายงานข่าวด้วยความรับผิดชอบในวิชาชีพและต้องก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ การรายงานข่าวการชุมนุม ไม่ใช่แค่บอกว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ต้องสร้างความเข้าใจกับสังคมว่าทำไมเขาต้องออกมาชุมนุม ทำให้เห็นภูมิหลัง เห็นความเป็นมนุษย์ของผู้ชุมนุม

เวลาเกิดความรุนแรงแล้วไม่มีตัวแทนผู้ชุมนุมมาสื่อสาร ทำให้ข้อมูลพวกนี้ขาดหายไป ผู้ชุมนุมจึงควรทำงานร่วมกับสื่อ ถ้าผู้ชุมนุมไม่มีความชัดเจนในการสื่อสาร ไม่มีตัวแทนที่จะพูดคุยด้วยได้ สื่อก็ทำงานร่วมได้ยาก ส่วนฝ่ายภาครัฐ นับแต่การสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน ตำรวจไม่มีการแถลงข่าวอย่างชัดเจนว่าจะมีลำดับขั้นตอนในการสลายการชุมนุมอย่างไรบ้าง ล่าสุดที่มีการใช้กระสุนยางก็ไม่มีการประกาศบอก ส่งผลกระทบต่อการทำงานสื่อ องค์กรต่างๆ จึงต้องช่วยกันเรียกร้องให้ตำรวจแถลงให้ชัดเจน ทุกภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกันเรียกร้องให้ไม่มีการใช้ความรุนแรง ฐปณีย์กล่าว

 

จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทการปกป้องสื่อของสมาคมว่ามีหลายด้าน ทั้งการทำงานเบื้องหน้า เช่น การออกแถลงการณ์ การทำปลอกแขนสื่อมวลชน และการทำงานเบื้องหลัง เช่น การช่วยเหลือนักข่าวที่โดนเจ้าหน้าที่จับระหว่างสลายการชุมนุมที่ได้ประสานกับตำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือทันที และหลังจากนั้นมีการเชิญนักข่าวภาคสนามมาพูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและแนวทางการนำเสนอข่าวต่อไป 

 

 

“ระหว่างการทำข่าวที่มีความรุนแรง เราหาทางให้นักข่าวทำงานได้อย่างอิสระไม่ถูกคุกคาม โดยทำปลอกแขนและแจ้งแกนนำผู้ชุมนุมกับตำรวจเพื่อเป็นสัญลักษณ์แบ่งฝ่าย นอกจากนี้เรามีการออกแถลงการณ์ แต่บางครั้งสังคมตั้งคำถามว่าเราช้า แต่ระหว่างนั้นเรากำลังหาความชัดเจนของข้อมูลและหารือร่วมกัน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักข่าวภาคสนามหากมีการออกแถลงการณ์ประณามเรื่องอะไร โดยเรายืนยันในหลักเสรีภาพของสื่อเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน

ล่าสุดเราเชิญนักข่าวภาคสนามไปพูดคุยกันถึงความลำบากในการทำงานและการประเมินสถานการณ์ เพื่อให้การทำหน้าที่สื่อเป็นทางออกของประเทศ สื่อต้องการพื้นที่ปลอดภัยในการทำงานข่าวโดยมีเสรีภาพ ปลอดภัยทั้งจากรัฐและผู้ชุมนุม สมาคมนักข่าวยินดีเป็นองค์กรหนึ่งที่หาทางออกให้ประเทศในการสร้างพื้นที่การพูดคุย ซึ่งเราเคยทำมาแล้วช่วงปี 2553 และช่วงกปปส. หลังจากนี้องค์กรสื่อต้องทำงานหนักมากขึ้นในการประสานฝ่ายต่างๆ เพื่อให้นักข่าวทำงานได้ปลอดภัยครบถ้วนรอบด้าน จีรพงษ์ กล่าว

 

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กล่าวว่า เวลาพูดถึงสื่อ ต้องแยกระหว่างสื่อดั้งเดิม เช่น วิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์ กับสื่อใหม่ เช่น สื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ในเชิงปฏิบัติของนักข่าวภาคสนามก็จะรายงานสิ่งที่เจอตามวิชาชีพ แต่สื่อดั้งเดิมทุกแห่งจะมีจุดประสงค์ต่อการเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งบวกและลบ เพราะผู้คุมนโยบายสื่อจะมีธงในแต่ละเรื่อง

 

 

“ในอดีตสื่อกระแสหลักได้รับความสนใจระหว่างการรายงานข่าวการชุมนุม แต่วันนี้สื่อกระแสหลักถูกเพิกเฉยมากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้เสพสื่อเหล่านี้แล้ว การชุมนุมเสื้อเหลืองเสื้อแดงจะมีโฆษกคอยประสานกับสื่อกระแสหลัก แต่การชุมนุมช่วงหลังมานี้ผู้ชุมนุมสื่อสารกับคนรุ่นใหม่โดยตรง ไม่มีการทำความเข้าใจชี้แจงหรือประสานงานเท่าที่ควร นักข่าวในพื้นที่ก็รายงานข่าวจากกรอบความคิดความเชื่อของตัวเอง ในการชุมนุมหลายครั้งผู้สื่อข่าวภาคสนามจึงเลือกเชื่อแหล่งข่าวจากราชการและยืนอยู่หลังแนวตำรวจเพื่อความปลอดภัย เรื่องที่รายงานออกมาจึงตรงข้ามกับสิ่งที่ปรากฏในโซเชียลมีเดีย สิ่งสำคัญคือกองบรรณาธิการในสำนักข่าว หากปักธงให้ข่าวมีความรอบด้านได้จะเป็นเรื่องดี แต่บางสำนักปักธงว่าตัวเองจะเป็นดาวสยามยุคดิจิทัล ทำให้คนแต่ละกลุ่มได้รับข้อมูลคนละด้าน แต่ช่วงปีที่ผ่านมาเกิด cancel culture แบนสปอนเซอร์ของสื่อ ที่ทำให้สื่อต้องเปลี่ยนแปลง นี่คือพลังของคนเสพสื่อ

ตัวผมเองก็มีคนในครอบครัวไปร่วมชุมนุมเหมือนหลายครอบครัว การแสดงออกหลายอย่างเราอาจไม่ได้เห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเขาตัดสินใจแล้วเราต้องเคารพสิ่งที่เขาคิด ลูกผมบอกว่าเขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเองแต่เขาทำเพื่อคนรุ่นเขาและอนาคตของพวกเขา แม้จะภูมิใจว่าเขาทำเพื่อสังคม แต่ในฐานะพ่อก็อดเป็นกังวลไม่ได้ สิ่งที่เกิดกับครอบครัวของผมทำให้เห็นว่าการนำเสนอของสื่อบางครั้งมีการใส่ร้ายป้ายสี เราเห็นเหตุการณ์ที่เมียนมามีคนรุ่นใหม่เสียชีวิตจำนวนมาก เราไม่อยากให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นซ้ำในประเทศไทย เราไม่อยากเห็นลูกหลานตายเพียงเพราะเขามีความเชื่อทางการเมืองแตกต่างจากเรา สิ่งหนึ่งที่เราจะทำได้คืออย่าวางเฉยกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น สื่อต้องพยายามสร้างพื้นที่ของการพูดคุยอย่างเข้าใจกัน ถ้าสื่อยังโหมกระพือให้เกิดความเกลียดชัง จะเป็นการอนุญาตให้มีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น ถึงเวลาที่เราต้องพูดคุยทำความเข้าใจกัน ดร.มานะ กล่าว