เก็บตกเวทีเสวนา 8 เดือนการหายตัวไปของนักกิจกรรมชาวไทยและการสืบหาความจริงของครอบครัว

25 กุมภาพันธ์ 2564

Amnesty International Thailand

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 มีรายงานว่าวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยที่อยู่ระหว่างการลี้ภัย ถูกบุคคลไม่ทราบฝ่ายลักพาตัวไปจากบริเวณอพาร์ทเมนท์ที่วันเฉลิมพักอยู่ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา วันเฉลิมเป็นที่รู้จักในประเทศไทยจากการวิพากษ์วิจรณ์การทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี และในระหว่างที่ยังลี้ภัยอยู่ วันเฉลิมมักแสดงความเห็นทางออนไลน์

 

ทั้งนี้ทางการไทยออกหมายจับวันเฉลิมเมื่อปี 2561 ในข้อหาฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. และยังรวมไปถึงหมายจับคดีผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อปี 2561 กรณีโพสต์ข้อความบิดเบือนให้ร้ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติด และยังเป็น 1 ใน 14 ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ เมื่อปี 2558 ด้วย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ยังเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยอย่างน้อย 104 คนซึ่งลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านหลังรัฐประหารเมื่อปี 2557  และต่อมาเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมือง 9 คนที่หายตัวไปในช่วงที่ผ่านมา โดยมีรายงานยืนยันว่าผู้ลี้ภัยทางการเมืองอย่างน้อยสองคนถูกฆาตกรรมและพบศพแล้ว

 

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือคุณเจน พี่สาวของวันเฉลิมกำลังพูดสายกับเขาทางโทรศัพท์ในช่วงเวลาประมาณ 16.30 น.ของวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ระหว่างการสนทนา วันเฉลิมเดินออกจากที่พักเพื่อไปซื้ออาหารด้านนอกอพาร์ทเมนท์ อย่างไรก็ดี บทสนทนาของทั้งสองถูกตัดลงอย่างฉับพลัน โดยมีเสียงร้องของวันเฉลิมว่าถูกรัดคอและตะโกนว่าหายใจไม่ออก

 

ตามรายงานข่าว ภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณที่พักของวันเฉลิม แสดงให้เห็นภาพของรถเอสยูวีสีดำยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไฮแลนเดอร์ ขับออกจากด้านนอกของที่พัก หลังจากนั้นวันเฉลิมก็หายตัวไป แต่ในส่วนของทางการไทยและทางการกัมพูชามีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในการค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้นกับวันเฉลิม และไม่แสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วนมากนัก ทางคุณเจนจึงได้เดินทางไปยังประเทศกัมพูชาในเดือนธันวาคม 2563 พร้อมทนายความเพื่อไปให้ปากคำเพิ่มเติมต่อศาลแขวงกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

 

การบังคับให้บุคคลสูญหายไม่ใช่เรื่องใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กรณีการลักพาตัววันเฉลิม ซึ่งเพียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร ทำให้ต้องลี้ภัยออกจากประเทศไทยจนเกิดเหตุการณ์ลักพาตัวและหายตัวไป เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กระแสความไม่พอใจในประเทศไทยต่อการลอยนวลพ้นผิดของผู้ที่กระทำการหรือสั่งการให้เกิดการลักพาตัว และยังคงเป็นปัญหาระหว่างรัฐบาลกับผู้เห็นต่างที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐ

 

เพื่อเป็นการติดตามการสืบสวนสอบสวนกรณีการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และภารกิจที่ทางครอบครัวและทีมทนายความได้เดินทางไปยังประเทศกัมพูชาเมื่อเดือนธันวาคม 2563 เพื่อไปให้ปากคำเพิ่มเติมและยื่นหลักฐานที่ได้รวบรวมต่อผู้พิพากษาศาลแขวงกรุงพนมเปญ รวมถึงกลไกการทำงานขององค์การสหประชาชาติต่อประเด็นการบังคับบุคคลให้สูญหาย สรุปใจความจากงานเสวนา MISSING IN CAMBODIA – AN UPDATE จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT)

 

ในเวทีเสวนา สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เล่าถึงความคืบหน้าจากที่เดินทางไปกัมพูชา จุดประสงค์ของการเดินทางไปประเทศกัมพูชา เนื่องจากผู้พิพากษาศาลแขวงกรุงพนมเปญ ได้ให้ทางคุณเจนไปให้ปากคำเพิ่มเติมในกรณีของวันเฉลิม

 

“เอกสารที่เราเตรียมไปด้วยจะเป็นเอกสารรูปถ่ายที่ยืนยันสถานที่ที่วันเฉลิมเคยพักอยู่ หนังสือเดินทาง เลขที่บัญชีธนาคาร แล้วก็เอกสารของทางการไทย และในวันเกิดเหตุ เราเองเป็นคนที่อยู่ในสายคุยกับวันเฉลิม สิ่งที่ทางทีมทนายได้เตรียมไปยื่นให้ผู้พิพากษาของกรุงพนมเปญ เราคิดว่ามันครบถ้วนพอที่จะสามารถยืนยันได้ว่าวันเฉลิมอยู่ที่กัมพูชาจริง และหายไปจากกัมพูชาจริงค่ะ”

 

“แต่เมื่อได้เข้าพบกับทางรองผู้บัญชาการตำรวจของกัมพูชา ทำให้ได้ทราบว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจของกัมพูชาไม่ได้ทำการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง และถ้าดูจากสิ่งที่เขาตอบมายังสถานทูตไทยและนานาชาติ ทำให้เราเห็นว่าทางการกัมพูชาไม่ได้เห็นคดีนี้เป็นคดีสำคัญเท่าที่ควร”

 

“และจากที่ได้เข้าพบผู้พิพากษาในวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ก็ทำให้เราได้เห็นอีกว่าทางผู้พิพากษาไม่ได้ให้ความสนใจต่อหลักฐานที่เราเตรียมไป อีกทั้งยังบอกว่าถ้าไม่สามารถหาหลักฐานได้หรือมีพยานยืนยัน ทางกัมพูชาก็จะไม่ทำการสืบสวนคดีนี้ต่อ”

 

หลังจากได้กลับมาประเทศไทย คุณเจนก็ได้ยื่นเอกสารเพื่อให้ผู้พิพากษาเรียกพยานบุคคลในวันที่เกิดเหตุ และให้ตำรวจตรวจดูกล้อง CCTV ตามเส้นทางที่วันเฉลิมได้หายตัวไปในวันที่เกิดเหตุ

 

“ก่อนหน้าที่ทางเราได้คุยกับตำรวจ ตำรวจบอกว่ากล้อง CCTV ของคอนโด ไม่มีวันเฉลิมปรากฏอยู่ในวีดีโอ ซึ่งเขาแจ้งว่าดูตั้งแต่วันที่ 2 – 6 มิถุนายน 2563 แต่ภาพที่เราได้มาซึ่งเห็นรถคันสีดำที่วันเฉลิมถูกอุ้มนั้น เราได้มาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 เราก็เลยไม่รู้ว่าเขาสอบสวนอะไร ยังไง และการที่มาอยู่ในเวทีวันนี้ เพื่อขอให้ไม่ว่าจะเป็น UN องค์กรสิทธิ หรือนานาชาติให้ความสนใจ และให้ทางการกัมพูชาทำการสืบสวนสอบสวนกรณีของวันเฉลิมอย่างจริงจัง อยากให้เขาเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ อยากเห็นการไต่สวนของศาลกัมพูชามีการพิจารณาอย่างเป็นธรรม และให้ญาติได้รับความเป็นธรรมจากกรณีที่วันเฉลิมหายไป

 

ในส่วนของทางการไทย วันที่ 27 มกราคม 2564 ทางทีมได้ทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุดและคณะกรรมการคุ้มครองคนหาย สังกัดกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อทวงถามความคืบหน้าของการไต่สวนในคดีของวันเฉลิม และได้ทราบคร่าวๆว่า “ทางสำนักงานอัยการสูงสุดและคณะกรรมการคุ้มครองคนหายได้ส่งต่อเรื่องให้ DSI แต่ตอนนี้ยังไม่เป็นทางการ ทาง DSI ก็ได้ติดต่อประสานทางคุณเจนมาว่าอยากขอแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ทางคุณเจนได้ไปยื่นทางศาลแขวงกรุงพนมเปญ และขอคุยในเรื่องของข้อมูลที่ทางคุณเจนได้มาแต่ทาง DSI ยังไม่ได้รับเป็นคดีอย่างเป็นทางการ”

 

คุณสุณัย ผาสุก ตัวแทนจากองค์กร Human Rights Watch ประจำประเทศไทย

คุณสุณัยกล่าวว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิม ก็ทำให้ทราบอย่างชัดเจนว่าไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นการถูกนำพาตัวไปโดยผู้ชายกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นกลุ่ม armed men และเกิดขึ้นต่อหน้าพยานมากมายที่อยู่ในพื้นที่ อีกทั้งยังเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางวัน ทำไมข้อเท็จจริงเหล่านี้ถึงสำคัญ มันสำคัญเพราะว่าวันเฉลิมไม่ใช่เคสแรกและไม่ใช่แค่เคสเดียวของการลักพาตัวที่นำไปสู่การบังคับให้สูญหายของผู้ลี้ภัยชาวไทยในประเทศเพื่อนบ้าน วันเฉลิมเป็นคนที่ 9 ในจำนวนผู้ลี้ภัย 9 คนแหละกลายเป็นของเหยื่อการบังคับให้สูญหายที่มีการติดต่อกันระหว่างทางการไทยและทางการของประเทศเพื่อนบ้าน (consecutive cases) ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ต่อคนที่ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย อันเนื่องจากความกลัวในการถูกปฏิบัติที่ไม่ชอบ (fear of persecution)

 

เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่าการเป็นศัตรูกับรัฐ อันเกิดจากการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเขาอาจจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่เขาจะเป็นที่จับตาของเจ้าหน้าที่รัฐ ทางการ หรือคนของราชวัง (outdraw royalists) “ไม่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะอยู่ที่ไหนก็จะไม่มีที่ที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา คนของทางการก็จะตามพวกเขาจนเจอ ปฏิบัติมิชอบต่อพวกเขา เช่น กรณีก่อนหน้าวันเฉลิม ไม่ว่าจะเป็นดีเจเบียร์ คนที่หนึ่ง โก้ตี๋ คนที่สอง สุรชัยและพวกอีก 2 คน หายตัวไปในประเทศลาว ซึ่งใน 5 คนนี้ พบร่างลอยอยู่ในแม่น้ำโขง 2 คน และอีก 3 คนที่รู้จักกันในนามของชื่อ ลุงสนามหลวงและพรรคพวก หายตัวไปในเวียดนาม (ซึ่งรวมทั้งหมด 8 คน) หลังจากนั้นคือวันเฉลิม เป็นกรณีที่ 9”

 

ข้อแตกต่างที่เกิดขึ้นกรณีของวันเฉลิมกับกรณีอื่นๆคือ “กรณีของวันเฉลิมเกิดขึ้นท่ามกลางพยานหลักฐานมากมาย เกิดขึ้นในช่วงเวลากลางวัน เกิดขึ้นในระยะการจับภาพของกล้อง CCTV ซึ่งไม่ใช่ที่ที่ไม่มีคนอยู่ แต่เป็นที่ที่เต็มไปด้วยผู้คน และเป็นที่รู้กันว่าก่อนที่จะหายตัวไป วันเฉลิมอาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา เขาลี้ภัยโดยเป็นที่รับรู้ของทางการกัมพูชา ซึ่งถือเป็นความแตกต่างอย่างมาก คำถามคือ ทำไมกฎหมายถึงอนุญาตให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ (A Bladen Criminal Act) และทำไมถึงไม่มีการตอบโต้โดยทันทีจากทางการกัมพูชา”

 

ประเทศไทยมีรายชื่อคนถูกบังคับให้สูญหายมากกว่า 80 คน “แต่กรณีของวันเฉลิมเป็นกรณีแรกที่ทางการไทยตอบสนองต่อสถานการณ์ภายใน 24 ชั่วโมง (ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน) โดยกระทรวงการต่างประเทศในกรุงเทพ ได้สั่งให้สถานทูตไทยในกัมพูชา สอบถามทางการกัมพูชาเพื่อค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้นกับวันเฉลิม (อาจด้วยทางการไทยไม่อยากใช้คำว่าการบังคับสูญหาย) ขอให้ทางการกัมพูชาช่วยตรวจสอบยืนยัน (verify) ต่อการรายงานข่าวของสื่อ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับวันเฉลิม”

 

ทางการกัมพูชาได้ตอบกลับกรณีของวันเฉลิมในแง่ที่ว่ายังไม่ได้รับข้อมูล และไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทางกัมพูชาจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าว แต่เท่าที่เห็นคือไม่มีการตอบสนองใดๆต่อเหตุการณ์ดังกล่าว คุณสุณัยกล่าวว่า “การได้รับความสนใจจากสื่อทั้งในและต่างประเทศ ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งที่เราต้องทำต่อไป อย่างที่คุณเจนได้พูดว่าเดือนแรกของการหายตัวไปของวันเฉลิมกลายเป็นที่สนใจเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งในภาคเอกชน และในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย มีการทำเสื้อในกรณีการสูญหายของวันเฉลิม (ผมเองก็มีเสื้อสกรีนรูปวันเฉลิม) แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความสนใจของผู้คนก็ลดลง และกลายเป็นโอกาสของทางการกัมพูชาที่ ‘ในการทำให้กระบวนการล่าช้า’ (drag their feet)”

 

 ดังนั้นเราจึงต้องดึงความสนใจจากสื่อให้กลับมาสนใจในประเด็นเรื่องการบังคับให้สูญหายในประเทศไทยมากขึ้นเพื่อสร้างแรงกดดันอีกครั้ง “เพราะถ้าเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับวันเฉลิม ก็มีโอกาสที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนอื่นๆ ที่เห็นต่างจากรัฐและออกมาเคลื่อนไหวอีกเช่นกัน จนกว่าการบังคับให้สูญหายจะหายไปจากประเทศไทย”

 

“ทางการไทยที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อ well-being ของประชาชนชาวไทยไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐ รัฐไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้ โดยเฉพาะคนที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย เช่น เกิดการบังคับให้สูญหาย รัฐไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อประชาชน”

 

คุณสณัยยังกล่าวอีกว่า “จำเป็นต้องมีการไต่สวนของรัฐสภาเพื่อติดตามว่าสำนักงานอัยการสูงสุดและ DSI กำลังดำเนินการอย่างไรและเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ และสื่อมวลชนเองก็ควรสอบถามนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับความคืบหน้าของคดีว่าทาง DSI จะอนุมัติให้คดีของวันเฉลิมเป็นคดีสอบสวนพิเศษเพื่อให้มีเขตอำนาจในการสอบสวนอย่างเป็นทางการหรือไม่ เพราะคนที่เป็นประธาน DSI ก็คือนายกรัฐมนตรี ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของท่านนายกฯ ในการตอบคำถามเหล่านี้”

 

ประเทศไทยมีคณะทำงานเรื่องคนสูญหาย (missing person) แต่ไม่ใช่การบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งการบังคับบุคคลให้สูญหายยังไม่ใช่อาชญากรรมตามกฎหมายของประเทศไทย ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ไม่มีบทลงโทษทางอาญาต่อผู้กระทำความผิดในฐานกระทำบุคคลให้สูญหาย แม้ทางการไทยได้ให้คำมั่นสัญาต่อ UN และสาธารณะครั้งแล้วครั้งเล่าว่าจะไม่มีการบังคับให้บุคคลสูญหาย แต่จะทำอย่างไรในเมื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายยังไม่มีบทลงโทษทางอาญา และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปราการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญาหายยังไม่ผ่าน ยังอยู่ในกระบวนการ อีกทั้งเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวก็ไม่เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ และมีการเสนอร่างทางเลือกที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลโดยประชาชนควบคู่ไปด้วย อย่างไรก็ตามคุณสุณัยกล่าวว่ายังไม่มีข้อบ่งชี้จากรัฐบาลว่าจะรวมร่างทั้งสองฉบับเข้าด้วยกัน

 

Badar Farrukh ผู้แทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ พูดถึงกลไกระหว่างประเทศโดยเฉพาะเรื่องการสืบสวนสอบสวนของกรณีวันเฉลิม

Badar Farrukh ผู้แทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UN OHCHR กล่าวว่า “กระบวนพิเศษของ UN (UN special procedures) ที่เกี่ยวข้องได้แจ้งให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชารับทราบเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนถึงการหายตัวไปของวันเฉลิม โดยเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนอย่างรวดเร็ว ถี่ถ้วนและเป็นกลาง”

  

และ Farrukh ยังกล่าวอีกว่า”ครอบครัวของวันเฉลิมมีสิทธิที่จะรับทราบถึงความคืบหน้าและผลลัพธ์จากการสืบสวน เบาะแสของวันเฉลิมและพฤติการณ์การหายตัวไปของเขาตลอดจนการระบุตัวผู้กระทำผิด”

 

จดหมายของ UN เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ระบุว่า “สิทธิในการรับรู้ความจริง เป็นสิทธิที่สมบูรณ์ซึ่งไม่สามารถ จำกัดได้และมีภาระผูกพันที่แน่นอนในการดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อค้นหาบุคคลนั้น”

 

Farrukh กล่าวว่า “รัฐบาลกัมพูชาได้ตอบกลับการสื่อสารนี้พร้อมผลการสอบสวนเบื้องต้น โดยปฏิเสธข้อมูลหรือหลักฐานทุกชิ้นที่ทางครอบครัวได้ส่งไป ตามบันทึกของกัมพูชาระบุว่า วันเฉลิมไม่ได้ต่ออายุวีซ่าของเขาหลังจากเดือนธันวาคม 2560 อีกทั้งยังระบุว่าไม่สามารถรวบรวมหลักฐานจากกล้องรักษาความปลอดภัยได้และรถที่คาดว่าใช้ลักพาตัววันเฉลิมไม่ได้จดทะเบียนในกัมพูชา เจ้าหน้าที่กัมพูชายังยืนยันตามคำให้การของพยานสามคนว่าไม่มีรายงานการลักพาตัวในพื้นที่”

 

กระบวนการพิเศษของ UN (The UN special procedures) ยังเรียกร้องให้ทางการไทยสอบสวนกรณีของวันเฉลิมและกรณีอื่น ๆ เกี่ยวกับการบังคับให้สูญหายโดยเร็ว ถี่ถ้วน เป็นกลางและโดยไม่ล่าช้า อย่างไรก็ตาม Farrukh ตั้งข้อสังเกตว่า “สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้จนกว่าการบังคับให้สูญหายจะมีบทลงโทษทางอาญาในประเทศไทย แม้รัฐบาลไทยจะให้คำมั่นสัญญากับ UN และสาธารณชน แต่ก็ยังไม่ได้ทำให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญาและร่างกฎหมายต่อต้านการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เสนอโดยรัฐบาลนั้นรอดำเนินการมานานแล้ว”

 

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 รัฐบาลไทยได้ส่งรายงานฉบับที่สองต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมานซึ่งล่าช้ามาตั้งแต่ปี 2561 รายงานดังกล่าวยังให้รายละเอียดบางประการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีการตั้งข้อสังเกตว่าหากการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายกลายเป็นความผิดทางอาญา ทั้งสองข้อหานี้ (การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย) จะต้องมีกฎเกณฑ์ข้อจำกัด เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่คิดว่าจะต้องทำให้ความผิดเหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับ (imprescriptible) หรือไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา

 

ในขณะเดียวกัน Farrukh กล่าวว่า OHCHR ได้รับแจ้งจาก DSI และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของกระทรวงยุติธรรมว่ามีการส่งร่างกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกาไปยังคณะกรรมการประสานงานของรัฐสภา และแม้ว่านี่จะเป็นก้าวต่อไป แต่กระบวนการเหล่านี้ก็ผ่านมาเป็นเวลานานแล้ว”

 

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ตัวแทนจากกลุ่ม Women for Freedom and Democracy พูดเรื่องความสัมพันธ์กับวันเฉลิม และความโกรธเคืองจากการไม่ตอบสนองต่อประเด็นการบังคับสูญหายของทางการไทย

 

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง เป็นนักกิจกรรมและเป็นเพื่อนของวันเฉลิมกล่าวว่า “การหายตัวไปของวันเฉลิมได้รับความสนใจอย่างมาก ไม่เพียงเพราะว่าเป็นกรณีของการบังคับบุคคลให้สูญหาย แต่ยังเป็นเพราะว่าประเทศไทยไม่ปลอดภัยและหลายคนก็หวาดกลัว” เธอกล่าวว่า “นักกิจกรรม นักศึกษาไม่เพียงแต่พูดถึงวันเฉลิมเท่านั้น แต่ยังพูดถึงกรณีอื่น ๆ ด้วยเพราะตระหนักดีว่าเหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน”

 

ชุมาพรเชื่อด้วยว่าขบวนการเยาวชนไทยไม่เพียงแต่ใส่ใจในประเด็นของตนเองเท่านั้น แต่ยังสนใจในประเด็นอื่น ๆ ด้วยเช่น การรัฐประหารโดยกองทัพที่เกิดขึ้นในเมียนมา

 

วันเฉลิมยังทำงานเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมมากมายและชุมาพรเชื่อว่า “การหายตัวไปของเขา ได้รับความสนใจในระดับนี้ เพราะงานของเขาที่เขาทำ สัมผัสกับชีวิตของผู้คนมากมาย”

 

 ชุมาพร รู้จักวันเฉลิมมากกว่า 10 ปี เขาทำงานภาคประชาสังคมในประเด็นเรื่อง HIV LGBT และได้พบกับวันเฉลิมตอนที่เขาทำงานที่สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เราเป็นเพื่อนกันเนื่องจากว่าเรามีอุดมการณ์ทางการเมืองคล้ายๆ กัน เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในช่วงรัฐประหารเมื่อปี 2557 กลุ่มคนทำงานเรื่อง HIV และ LGBT ส่วนใหญ่สนับสนุนกลุ่ม กปปส. สนับสนุนทหาร สนับสนุนระบอบการปกครองแบบอนุรักษ์นิยม แต่เขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น วันเฉลิมต้องจากครอบครัว ต้องจากเพื่อนไป เพราะเขายืนหยัดในเสรีภาพ

 

วันเฉลิมได้เล่าแก่คุณชุมาพรว่าเขาเดินทางไปปัตตานีหลายครั้ง เพื่อสนับสนุนกลุ่มเยาวชนในการต่อสู้และแก้ปัญหาความขัดแย้ง เขายังสนับสนุนให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ปัตตานี เส้นทางชีวิตของวันเฉลิมเริ่มต้นเมื่อเขาเรียนมัธยมปลาย เขาเป็นอาสาสมัครในเหตุการณ์สึนามิ ในปี 2006 เขาทำงานในประเด็นพหุวัฒนธรรม สนับสนุนให้เกิดสันติภาพ สนับสนุนเรื่องสุขภาวะทางเพศ เพศศึกษาสำหรับเยาวชนทั่วประเทศ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าทำไมถึงมีข้อความจากเยาวชนเป็นล้านข้อความในทวิตเตอร์ที่ทวงถามว่า “วันเฉลิมอยู่ไหน” และ “#saveวันเฉลิม” เพราะว่าเขาพยายามชี้ให้เห็นถึงชีวิตที่ถูกกดขี่

 

ชุมาพรกล่าวว่า “วันที่เขาต้องลี้ภัยไปยังกัมพูชา เขาต้องออกจากงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน และหลังจากที่เขาถูกลักพาตัวไป ก็ไม่มีอะไรที่พวกเราจะช่วยได้นอกว่าทวงถามความยุติธรรมให้เกิดแก่ตัววันเฉลิมเอง ความยุติธรรมแก่ครอบครัวของวันเฉลิม เพราะเราไม่อยากเสียเพื่อนเราไปอีก” และอยากบอกกับวันเฉลิมว่า “เราภูมิใจในตัวเขามากๆ และในวันนี้เขาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เยาวชนลุกขึ้นมาต่อสู้”

 

เพื่อนสนิทของวันเฉลิมร้องไห้เมื่อเห็นรูปวันเฉลิมในม๊อบต่างๆ ชุมาพรกล่าวว่า “แต่มันก็เป็นทางเดียวที่จะทำให้เรื่องของเขายังคงอยู่ ตอนนี้เยาวชนนักกิจกรรมในประเทศไทย และในเมียนมาหรือแม้นักกิจกรรมทั่วโลก แข็งแกร่งพอที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม”