เมียนมา: การปิดกั้นอินเตอร์เน็ตครั้งใหม่ที่ “โหดร้ายและเกินกว่าเหตุ”

6 กุมภาพันธ์ 2564

Amnesty International 

สืบเนื่องจากรายงานข่าวที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการปิดกั้นอินเตอร์เน็ตทางมือถืออย่างกว้างขวางในเมียนมา มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวดังนี้   

 

“การปิดกั้นอินเตอร์เน็ตท่ามกลางการทำรัฐประหารที่สร้างความโกลาหล วิกฤตด้านมนุษยธรรม และโรคระบาด นับเป็นการตัดสินใจที่โหดร้ายและเกินกว่าเหตุ

“นับแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ประชาชนเมียนมา ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนอย่างสิ้นเชิง การปิดกั้นอินเตอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง ย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงอันตรายมากขึ้นที่จะต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโหดร้ายจากกองทัพ

“กองทัพต้องสั่งการให้เปิดให้บริการการสื่อสารโดยทันที และยุติการคุกคามสิทธิของประชาชน ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือและการสื่อสารทั้งหมดในเมียนมา ต้องร้องขอคำชี้แจงอย่างเร่งด่วนจากทางการเมียนมา” 

 

 

ข้อมูลพื้นฐาน

ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์มีรายงานว่า กองทัพเมียนมาสั่งให้บริษัทการสื่อสารในประเทศ ยุติการให้บริการอินเตอร์เน็ตและบริการ 4G อย่างสิ้นเชิง ตามข้อมูลที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับ การสั่งปิดกั้นครั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ถึงวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์

ก่อนหน้านี้มีการออกคำสั่งในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ สั่งการให้บริษัทการสื่อสาร ปิดกั้นการเข้าถึงทวิตเตอร์และอินสตาแกรม 

ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ กองทัพประกาศแล้วว่าได้สั่งการให้บริษัทการสื่อสารปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊กจนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์

ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ระหว่างที่เกิดการทำรัฐประหาร มีรายงานการปิดกั้นสัญญาณอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์ในบางพื้นที่ของประเทศ รวมทั้งเนปิดอว์ที่เป็นเมืองหลวง ย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองใหญ่สุด รวมทั้งที่รัฐฉานและคะฉิ่น และภาคมัณฑะเลย์และสะกาย แต่มีการเชื่อมต่อสัญญาณในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ยังมีการปิดกั้นอินเตอร์เน็ตมือถือในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งในรัฐยะไข่และรัฐชินในประเทศเป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้ว มีรายงานว่าได้มีการเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ต 4G ในพื้นที่ดังกล่าวช่วงค่ำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 

การควบคุมจำกัดเช่นนี้ ทำให้เกิดอันตรายอย่างยิ่งต่อประชากรพลเรือนที่เสี่ยงภัยอยู่แล้ว โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นอย่างยิ่งระหว่างที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และยิ่งจำเป็นมากขึ้นในขณะที่สถานการณ์ตึงเครียดจากการทำรัฐประหารและสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง

ตามหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน หน่วยงานธุรกิจต้องรับผิดชอบดูแลให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชน ไม่ว่ารัฐจะมีการปฏิบัติหรือมีพันธกรณีอย่างไรก็ตาม และย่อมมีความสำคัญเหนือกว่าการปฏิบัติตามกฎหมายในประเทศ

  

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม หรือการติดต่อสัมภาษณ์ โปรดติดต่อ:

Amnesty International’s press office in London, UK, on:

+44 20 7413 5566

อีเมล์: press@amnesty.org

ทวิตเตอร์: @amnestypress