รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตปี 2562: ภาพรวมการประหารชีวิตทั่วโลกลดลง

21 เมษายน 2563

Amnesty International 

  • ซาอุดีอาระเบีย อิรัก ซูดานใต้ และเยเมน เร่งประหารชีวิตสวนทางแนวโน้มโลก
  • การประหารชีวิตระดับโลกลดลง 5ต่ำสุดในรอบ 10 ปี 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตปี 2562 พบว่าซาอุดีอาระเบียยังคงมีสถิติการประหารชีวิตสูงในปี 2562 แม้ภาพรวมการประหารชีวิตทั่วโลกลดลง โดยทางการซาอุดีอาระเบียประหารชีวิต 184 คนในปีที่ผ่านมา เป็นจำนวนสูงสุดเท่าที่แอมเนสตี้บันทึกได้ในหนึ่งปีของประเทศนี้

 

ในเวลาเดียวกัน จำนวนการประหารชีวิตเพิ่มขึ้นสองเท่าในอิรัก และอิหร่านยังคงเป็นประเทศที่ประหารชีวิตมากสุดอันดับสองของโลกรองจากจีน ซึ่งไม่มีผู้ใดทราบจำนวนผู้ถูกประหารที่แท้จริงเนื่องจากเป็นความลับของทางราชการ อย่างไรก็ดี ประเทศเหล่านี้สวนทางกับกระแสโลก เนื่องจากการประหารชีวิตระดับโลกลดลงเป็นปีที่สี่ติดต่อกัน โดยในปี 2562 มีการประหารชีวิตเกิดขึ้นอย่างน้อย 657 ครั้ง ลดลงจากปี 2561 ที่มีการประหารชีวิตเกิดขึ้นอย่างน้อย 690 ซึ่งนับเป็นสถิติต่ำสุดในรอบทศวรรษ 

 

แคลร์ อัลแกร์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย รณรงค์และนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่าโทษประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่ทารุณและไร้มนุษยธรรม ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าจะสามารถช่วยป้องปรามการก่ออาชญากรรมได้มากกว่าการจำคุก ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในโลกตระหนักถึงเรื่องนี้แล้ว และเป็นเรื่องน่ายินดีที่เห็นจำนวนการประหารชีวิตลดลงทั่วโลก

 

 อย่างไรก็ดี มีเพียงไม่กี่ประเทศที่เพิ่มการประหารชีวิตมากขึ้น ซึ่งสวนทางกระแสโลกที่ต่างถอยห่างออกจากโทษประหารชีวิต โดยประเทศซาอุดีอาระเบียยังเพิ่มการใช้โทษประหารชีวิต รวมทั้งใช้เป็นอาวุธเพื่อโจมตีผู้เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งนับเป็นแนวโน้มที่น่าตกใจ ส่วนในประเทศอิรักมีการเพิ่มจำนวนการประหารชีวิตอย่างมากเกือบสองเท่าตัวภายในหนึ่งปี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจเช่นกัน” 

 

ในปี 2562 ประเทศแถวหน้าที่มีการประหารชีวิตมากสุดในโลกห้าประเทศ ได้แก่ จีน (1000s); อิหร่าน (อย่างน้อย 251); ซาอุดีอาระเบีย (184); อิรัก (อย่างน้อย 100) และอียิปต์ (อย่างน้อย 32)

 

ตัวเลขนี้ในรายงานของแอมเนสตี้ไม่นับรวมสถิติในจีน ซึ่งเชื่อว่ามีการประหารชีวิตประชากรหลายพันคน และข้อมูลนี้ถือเป็นความลับของทางราชการ นอจากนั้นยังมีอีกหลายประเทศที่ยังคงปกปิดข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการใช้โทษประหารชีวิต โดยจำกัดการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต ได้แก่ อิหร่าน เกาหลีเหนือ และเวียดนาม 

 

การประหารชีวิตเพิ่มสูงขึ้นในประเทศส่วนน้อย 

จากข้อมูลที่มีอยู่ ตัวเลขการประหารชีวิตทั่วโลกส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเพียง 20 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย อิรัก ซูดานใต้ และเยเมน ซึ่งประหารชีวิตในปี 2562 มากกว่าปี 2561 อย่างมีนัยสำคัญ 

ในปี 2562 ซาอุดีอาระเบียประหาร 184 คน เป็นผู้หญิงหกคน และผู้ชาย 178 คน ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งเป็นพลเมืองของต่างชาติ ส่วนในปี 2561 ประหารไป 149 คน 

การประหารชีวิตส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดและอาชญากรรม อย่างไรก็ดี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบข้อมูลการใช้โทษประหารชีวิตเพิ่มขึ้นในการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่าง รวมทั้งมุสลิมนิกายชีอะฮ์ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในซาอุดีอาระเบีย 

ในวันที่ 23 เมษายน 2562 มีการประหารหมู่ 37 คน โดย 32 คนเป็นชายชาวชีอะฮ์ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐาน “ก่อการร้าย” โดยศาลรับฟังเพียงคำสารภาพที่ได้จากการทรมาน  

ในบรรดาผู้ที่ถูกประหารในวันที่ 23 เมษายน คือฮุสเซน อัล-มอสซาเลม เขาได้รับบาดเจ็บหลายแห่ง ทั้งจมูกหัก กระดูกไหปลาร้าหัก และกระดูกขาร้าว ขณะถูกขังเดี่ยวและถูกทุบตีด้วยกระบองไฟฟ้า และการทรมานรูปแบบอื่นๆ  

มอสซาเลมเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลอาญาพิเศษของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 เพื่อพิจารณาคดีต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย แต่ต่อมามักถูกใช้เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่าง 

ในอิรัก จำนวนผู้ถูกประหารเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากอย่างน้อย 52 คนในปี 2561 เป็นอย่างน้อย 100 ในปี 2562 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการใช้โทษประหารชีวิตกับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธที่เรียกตนเองว่า “รัฐอิสลาม” 

ในซูดานใต้ ทางการประหารอย่างน้อย 11 คนในปี 2562 เป็นจำนวนสูงสุดนับแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี 2554 เยเมนประหารอย่างน้อยเจ็ดคนในปี 2562 เทียบกับอย่างน้อยสี่คนในปี 2561 บาห์เรนได้รื้อฟื้นการประหารชีวิตหลังงดเว้นไปหนึ่งปี โดยประหารสามคนในเวลาเพียงปีเดียว 

 

การขาดความโปร่งใสเกี่ยวกับการใช้โทษประหารชีวิต

หลายประเทศไม่ตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการใช้โทษประหารชีวิต แสดงให้เห็นการขาดความโปร่งใสเกี่ยวกับการปฏิบัติการเช่นนี้ของหลายรัฐบาล  

อิหร่านเป็นประเทศที่ใช้โทษประหารชีวิตมากเป็นอันดับสองรองจากจีน โดยมีการประหารอย่างน้อย 251 คนในปี 2562 เทียบกับอย่างน้อย 253 คนในปี 2561 สี่คนมีอายุต่ำกว่า 18 ปีขณะที่กระทำความผิด อย่างไรก็ดี การขาดความโปร่งใสทำให้ยากที่จะยืนยันตัวเลขรวมที่แท้จริงของการประหารชีวิต ซึ่งอาจมากกว่าจำนวนนี้มาก 

ในคดีหนึ่ง เด็กหนุ่มสองคน เมฮีดี โสราบิฟาร์และอามิน เซดาฆัต ถูกประหารอย่างลับๆ ในวันที่ 25 เมษายนที่เรือนจำอาเดลาบัด ในเมืองชีราซ์ แคว้นฟาร์ส ทั้งคู่ถูกจับกุมเมื่ออายุได้ 15 ปี และถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดข้อหาข่มขืนกระทำชำเราหลายกรรม ภายหลังการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม วัยรุ่นทั้งสองคนไม่ทราบว่าตนเองถูกตัดสินประหารชีวิต จนกระทั่งก่อนจะถูกประหารไม่นาน บนร่างกายของพวกเขายังมีร่องรอยการถูกเฆี่ยน แสดงว่าก่อนตายพวกเขาถูกเฆี่ยนตี 

“แม้แต่ประเทศซึ่งสนับสนุนโทษประหารชีวิตอย่างเข้มแข็ง ยังประสบกับความยากลำบากในการที่จะหาเหตุผลมาสนับสนุนโทษแบบนี้ และเลือกที่จะทำการประหารอย่างลับๆ หลายประเทศหาวิธีการปกปิดข้อมูลการใช้โทษประหารชีวิต แม้จะรู้ว่าจะต้องถูกตรวจสอบจากนานาชาติ”

 “การประหารชีวิตอย่างลับๆ กำลังเกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ตั้งแต่เบลารุสถึงบอตสวานา และอิหร่านถึงญี่ปุ่น ในบางกรณียังคงมีการประหารชีวิตโดยไม่แจ้งให้ครอบครัว ทนายความ หรือตัวนักโทษเองได้ทราบล่วงหน้า” แคลร์ อัลแกร์กล่าว

 

การยกเลิกโทษประหารชีวิตในระดับโลกกำลังจะมาถึง

เป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2554 ที่มีการลดลงของจำนวนประเทศที่ประหารชีวิตในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีเจ็ดประเทศรายงานข้อมูลการประหารชีวิตในปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นลดการประหารชีวิตลงอย่างมากจาก 15 เหลือ 3 ส่วนสิงคโปร์ลดลงจาก 13 เหลือ 4 ในปี 2562

ไม่มีการประหารชีวิตในอัฟกานิสถานเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2553 ในไต้หวันและไทยไม่มีการประหารชีวิตในปี 2562 ซึ่งต่างเคยประหารชีวิตบุคคลในปี 2561 ส่วนคาซัคสถาน สหพันธรัฐรัสเซีย ทาจิกิสถาน มาเลเซีย และแกมเบีย ยังคงปฏิบัติตามข้อตกลงพักใช้การประหารชีวิตชั่วคราว

 ในระดับโลก 106 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตในกฎหมายสำหรับความผิดอาญาทุกประเภทและ 142 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้ว

นอกจากนั้น ในหลายประเทศมีการดำเนินการเชิงบวกเพื่อยุติการใช้โทษประหารชีวิต

ยกตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีอิเควทอเรียลกินีประกาศในเดือนเมษายนว่า รัฐบาลของเขาจะออกกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิต พัฒนาการในเชิงบวกที่อาจนำไปสู่การยุติโทษประหารชีวิต ยังเกิดขึ้นในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง เคนยา แกมเบีย และซิมบับเว

บาร์เบโดสได้ตัดโทษประหารชีวิตเชิงบังคับจากรัฐธรรมนูญของตนเองด้วย 

ในสหรัฐอเมริกา ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียจัดทำข้อตกลงพักใช้การประหารชีวิตชั่วคราวในรัฐ ซึ่งมีจำนวนนักโทษประหารชีวิตมากสุดในประเทศ และนิวแฮมเชียร์กลายเป็นรัฐที่ 21 ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท  

อย่างไรก็ดี ความพยายามของฟิลิปปินส์ที่จะนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้กับ “อาชญากรรมป่าเถื่อนเนื่องจากคดียาเสพติดและลักทรัพย์” และความพยายามของศรีลังกาที่จะรื้อฟื้นการประหารชีวิตเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี ซึ่งกลายเป็นรอยด่างของความก้าวหน้าในการยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลก รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ก็ขู่ที่จะรื้อฟื้นการประหารชีวิต หลังงดเว้นไปเกือบสองทศวรรษ  

 “เราต้องรักษาแรงผลักดันในการรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตระดับโลกเอาไว้”

 “เราเรียกร้องให้ทุกประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยต้องสร้างแรงกดดันในระดับสากลต่อประเทศที่ยังมีการประหารชีวิตอยู่ เพื่อยุติการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมนี้อย่างถาวร” 

แคลร์ อัลแกร์กล่าว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตตามที่ประกาศไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งมีงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น

 

อ่านรายงานฉบับเต็ม