วงเสวนามองพลังนักศึกษา เห็นโอกาสขยับ การประท้วง’ สู่การเปลี่ยนแปลง

13 มีนาคม 2563

Amnesty International Thailand

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ SCC Creative Space แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดเสวนา “บทบาทการเมืองกับการชุมนุม” ร่วมพูดคุยโดย ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ German Institute of Global and Area Studies, ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ชลธิชา แจ้งเร็ว อดีตแกนนำนักศึกษา และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ดำเนินรายการ

 

ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ

นักวิชาการประจำสถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ German Institute of Global and Area Studies

89719085_2609289852673419_1626442001178165248_o.jpg

สิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกตอนนี้เป็นความย้อนแย้ง เกิดการหดตัวลงของพื้นที่ภาคประชาสังคม สาเหตุหลักมาจากระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกเข้าสู่สภาวะถดถอย เกิดระบอบการเมืองลูกผสมมากขึ้น โดยเฉพาะในหลายประเทศที่เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับไทย มีการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไม่ได้ทำงานตามระบอบประชาธิปไตยอีกต่อไป ลักษณะหนึ่งคือพื้นที่ภาคประชาสังคมลดลง เป็นผลจากการออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อให้การเคลื่อนไหวเป็นไปได้ยากขึ้น

 

จากการเก็บข้อมูลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามีกฎหมายที่ใช้ควบคุมการแสดงความเห็นของภาคประชาสังคมเยอะมาก และมีการใช้กฎหมายหลายฉบับกัน ทำให้ผู้กระทำความผิดคนหนึ่งมักเจอการดำเนินคดีซ้อนกันหลายกฎหมาย ทุกประเทศมีกฎหมายเกี่ยวกับไซเบอร์ น่าสนใจว่าสิงค์โปร์ เวียดนาม และไทย ออกกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ในเวลาใกล้เคียงกันมาก ล่าสุดสิงคโปร์ก็ออกกฎหมายต้านข่าวปลอมเพื่อควบคุมข้อมูลข่าวสารและจับแกนนำฝ่ายค้าน อีกกฎหมายที่มีทุกประเทศคือกฎหมายหมิ่นประมาทที่มักใช้คู่กับกฎหมายไซเบอร์ ที่น่าสนใจคือกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงจะถูกใช้ในประเทศที่มีสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เช่น ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย นอกจากนี้กฎหมายยุยงปลุกปั่น มาตรา 116 เป็นกฎหมายที่เก่าแก่มากในเกือบทุกประเทศ ในประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมก็ได้รับตกทอดกฎหมายนี้มาจากเจ้าอาณานิคมเพื่อไม่ให้คนท้องถิ่นแข็งขืน

 

ขณะนี้เข้าใจว่าไทยกำลังปรับกฎหมายเกี่ยวกับภาคประชาสังคม ใน อินเดีย รัสเซีย ฮังการี มีการให้ลงทะเบียนเอ็นจีโอเพื่อไม่ให้รับเงินต่างประเทศ นี่คือหมุดหมายหนึ่งของการเสื่อมถอยของประชาธิปไตยทั่วโลก

 

ภาคประชาสังคมทั่วโลกอยู่ในลักษณะกึ่งปิด คือถูกควบคุมด้วยกฎหมาย ความย้อนแย้งคือแม้มีกฎหมายคุมภาคประชาสังคมขนาดนี้ แต่คนก็ยังประท้วง โดยมีประเด็นประท้วงหลากหลาย เช่น ในลาตินอเมริกาเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ฮ่องกงหรือสเปนเป็นเรื่องสิทธิการปกครองตัวเอง อัลจีเรียและซูดานเป็นเรื่องคอร์รัปชัน-ระบอบเผด็จการที่ไม่ชอบธรรม แต่ประเด็นที่มีร่วมกันคือ ระยะห่างระหว่างชนชั้นนำกับประชาชน ผู้ปกครองออกห่างจากเสียงของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งในประเทศประชาธิปไตยอย่างยุโรป เกิดภาวะที่ชนชั้นนำรู้สึกว่าไม่ต้องฟังเสียงประชาชน และการเลือกตั้งไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับสถิติช่วงห้าปีที่ผ่านมาที่มีคนทั่วโลกใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยลง เพราะคนไม่เชื่อในการเลือกตั้งและออกสู่ท้องถนนมากขึ้น

 

โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการประท้วงทั่วโลก ดังนี้

 

1. มีการใช้เทคโนโลยีมากในการระดมคน ทำให้การประท้วงเป็นที่รู้จักในสาธารณะมากขึ้น เช่นกรณีฮ่องกงมีการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและหลบเร้นการติดตามของเจ้าหน้าที่ได้ โดยคิดค้นแอพพลิเคชั่นของตัวเองเพื่อติดต่อกันในหมู่นักกิจกรรม ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมการปรับเทคนิคการชุมนุม จากเดิมที่เป็นการแสดงพลังด้วยคนเยอะๆ แต่ปัจจุบันเป็นลักษณะกระจายมากขึ้น แต่ละแห่งคนอาจไม่เยอะ แต่มีการจัดหลายแห่ง

 

2. รูปแบบองค์กรมีความหลากหลายมากขึ้น มีทั้งแบบเก่าที่มีการกำกับจากบนลงล่างชัดเจน หรือแบบที่เหมือนจะไม่มีแกนนำ แต่ที่จริงแล้วมีผู้นำเป็นกลุ่มคน ขบวนการมีการปรับตัวหมุนเวียนแกนนำไปเรื่อยๆ 

 

3. บทบาทของคนรุ่นใหม่ที่ลุกมาแสดงความคับข้องใจต่อชนชั้นนำในหลายประเทศทั่วโลก ขบวนการที่เป็นแรงบันดาลใจการประท้วงวันศุกร์เพื่อเรียกร้องนโยบายตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ คือ March for our lives ในสหรัฐอเมริกา เด็กมัธยมออกมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับปืน ซึ่งเกิดขึ้นหลายเมืองในสหรัฐ จนมีการเดินขบวนที่วอชิงตันดีซีเพื่อกดดันผู้มีอำนาจรัฐ

 

4. ผู้ชุมนุมยังใช้สันติวิธีเป็นส่วนใหญ่ แต่มีงานศึกษาพบว่าตั้งแต่ช่วงปี 2553 เป็นต้นมา พบว่าประสิทธิภาพขบวนการสันติวิธีลดลง แต่ยังไม่มีคนศึกษาพื้นที่เทาๆ ตรงกลางระหว่างการไม่ใช้ความรุนแรงกับการจลาจล แต่ทุกครั้งที่มีการจลาจลจะเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐใช้ความรุนแรง และทำให้คนนอกมองว่าเป็นกลุ่มจลาจล ไม่ใช่ผู้ประท้วง

 

สำหรับปรากฏการณ์การประท้วงในสังคมไทย สิ่งแรกคือเราเห็นความโกรธของคน เราเห็นคนที่รู้สึกคับข้องใจ อึดอัดกับสถานการณ์ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาแล้วไม่มีช่องทางในการแสดงออก ตอนนี้ความเสี่ยงอาจลดลงแต่ยังมีการใช้กฎหมายจับกุมอยู่ 

 

โจทย์สำคัญ คือ การประท้วงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วหายไป แล้วจะเปลี่ยนม็อบเป็นมูฟเมนต์สู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร สิ่งที่ชนชั้นนำทำก็คือรอ พอคนหายโกรธ เห็นว่าไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลงก็เลิกออกมา ทำอย่างไรให้ม็อบดำรงอยู่ได้ด้วยเวลาต่อเนื่องและสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างในสังคมที่จะกดดันให้อีกฝ่ายเปลี่ยนแปลงได้ การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดได้จากคนกลุ่มหนึ่ง แต่เราต้องสื่อสารกับสังคมว่าความทุกข์และความโกรธของเราเป็นจุดร่วมกันในสังคม 

 

ในระยะยาว การต่อสู้ของเราต้องเป็นการต่อสู้ของคนอื่น การขยับจากม็อบนักศึกษาเป็นระดับชาติต้องอาศัยแคมเปญ มีการออกแบบกิจกรรมเพื่อเป้าหมาย ไม่ใช่ทำกิจกรรมเพื่อระบายอารมณ์ เป้าหมายนั้นต้องเชื้อเชิญคนอื่นได้ว่าเรามีเป้าหมายเดียวกัน

 

สิ่งที่น่ากังวลคือช่วงหลังมีการพูดเรื่องไอโอเยอะ แต่ไม่น่ากลัวเท่ากองกำลังประชาชน เราอย่าดูแคลนคนที่สนับสนุนระเบียบการเมืองแบบนี้อยู่ ทำอย่างไรให้พวกสุดโต่งกลายเป็นเสียงที่เบา และพวกที่ยังมีสติอยู่เห็นว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้ล่วงละเมิดสิ่งที่เขารัก และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมของเราได้ด้วย ขบวนการต่อสู้อาจต้องเริ่มคิดถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย ตกลงเรื่องการใช้สันติวิธีกับผู้ร่วมชุมนุมและตรวจสอบอาวุธกัน โดยเฉพาะการตรวจสอบคนนอก

 

เราอาจคิดว่าเป็นเรื่องยากเย็นที่จะเปลี่ยนแปลง แต่หากคุณเห็นโดมิโนล้มมันจะเร็วมาก ระบอบจะอยู่ได้ต้องมีความชอบธรรม ตอนนี้เราอยู่ในภาวะที่ความชอบธรรมถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ และไปจี้จุดการโต้ตอบของระบอบ ระบอบที่ฉลาดจะโต้ตอบด้วยความเมตตาคือการดึงมาเป็นพวก แต่ระบอบที่เปราะบางจะเริ่มใช้การปราบปราม และเผยให้เห็นว่าระบอบไม่มีความชอบธรรม 

 

การเริ่มจากขบวนการศึกษาเป็นเรื่องดี เพราะสังคมคิดว่าเป็นพลังบริสุทธิ์ แต่สุดท้ายจะกลายเป็นมูฟเมนต์ได้ต้องขยายไปที่อื่น เราต้องเริ่มวาดแผนผังว่ามีใครบ้างที่ออกมาเคลื่อนไหวและไม่พอใจกับรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา เช่น พีมูฟ ขบวนการรากหญ้าในพื้นที่นอกกรงเทพฯ และนอกมหาวิทยาลัย นี่เป็นโจทย์ที่ต้องคิด

 

ชลธิชา แจ้งเร็ว

อดีตแกนนำนักศึกษา

 87461456_2609289956006742_604394094315175936_o.jpg

ช่วงปี 2557 หลังรัฐประหารฝุ่นควันกำลังตลบ เรากับเพื่อนๆ หลายคนออกไปประท้วงโดยคิดว่าอยากระบาย เราทนไม่ไหวที่เสียงของเราถูกพรากไป หลังรัฐประหารมีการออกคำสั่งจำนวนมากที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพ โดยมีคำสั่ง 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมือง เป็นข้อแตกต่างระหว่างอดีตกับปัจจุบันคือมิติทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย

ข้อแตกต่างอีกอย่างคือเจเนอเรชั่นที่แตกต่าง กระแสในทวิตเตอร์ที่มาแรงมาก และพรรคอนาคตใหม่ก็มีบทบาทเช่นกัน ปรากฏการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวทางการเมืองของวัยรุ่น หากฟังปราศรัยของนักศึกษาช่วงที่ผ่านมาจะเห็นปรากฏการณ์ของภาวะการตื่นตัวชัดเจน 

หลังรัฐประหาร เมื่อจัดกิจกรรมจะมีการพูดกันว่าอย่าม็อบ เดี๋ยวไม่ได้เลือกตั้ง กลัวคสช.ใช้เป็นข้ออ้าง ช่วงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ สิ่งหนึ่งที่เจอตอนเดินสายคือคนฝ่ายเดียวกันบอกให้ไปโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจะได้เลือกตั้ง จากนั้นเหตุการณ์หลังเลือกตั้งที่คสช.ยังอยู่ ทำให้เกิดการตั้งคำถามกันมากขึ้น พรรคการเมืองต่างๆ ก็ไม่อยู่กับเราแล้ว คล้ายเป็นฟางที่ค่อยๆ หลุดออกไปเรื่อยๆ จนคนรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ถ้าวันนี้ไม่ลุกขึ้นสู้จะไม่ได้ระบอบประชาธิปไตยคืนมา

ประสบการณ์การคุกคามที่เกิดขึ้นคือ 1. การดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ตอนนี้มีพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2. บทบาทของสถาบันการศึกษา ที่อาจอ้างระเบียบมหาวิทยาลัยหรืออาจารย์โรงเรียนมัธยมข่มขู่ว่าจะไม่ออกใบจบให้ 3. รูปแบบการคุกคามขัดขวางการจัดกิจกรรม การติดตามตัว ถ่ายรูป ไปเยี่ยมบ้าน 4. การคุกคามทางออนไลน์ ปรากฏการณ์ที่เกิดกับจ่านิวหรือเอกชัย หงส์กังวานก่อนถูกทำร้ายร่างกายจะโดนโจมตีจากเพจไอโอหนักมาก การสร้างเฮทสปีชเหล่านี้เป็นการสร้างความชอบธรรมให้การใช้ความรุนแรงต่อนักกิจกรรมการเมือง ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะถูกขู่ข่มขืน วิจารณ์รูปร่างหน้าตา

ช่วงที่เราออกไปประท้วงหลังรัฐประหาร เราไม่มีการวางแผนรับมือกับการคุกคามต่างๆ และเราไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอจากภาคประชาสังคม เราไม่มีวิธีการประเมินความเสี่ยง การดูแลความปลอดภัย ปัจจุบันเรามีคนจำนวนมากที่พร้อมให้คำแนะนำ คำปรึกษา และความช่วยเหลือกับนักศึกษา สามารถแชร์ประสบการณ์ความรู้ร่วมกันโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ น่าจะทำให้การเคลื่อนไหวไปได้ไกลมากขึ้น

สิ่งที่เราต้องการสำหรับการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมคือมูฟเมนต์ ที่เป็นงานระยะยาว ต้องมีการจัดตั้งและการจัดการ ต้องคิดว่าการจัดองค์กรแบบบนลงล่างจะเหมาะไหม หรือควรจะรวมตัวกันหลวมๆ โดยไม่มีผู้นำหลักและทุกคนสามารถเป็นผู้นำเองได้ ต้องพิจารณาว่ามูฟเมนต์แบบไหนที่เหมาะสม แต่เรากังวลสภาวะที่พยายามผลักนักศึกษาออกไป พยายามให้นักศึกษารวมตัวกันแล้วบอกว่ารุ่นพี่อย่าเข้าไปยุ่ง เราไม่เชื่อว่าถ้าเราจะเคลื่อนไหวเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงแล้วจะทำได้ด้วยพลังนักศึกษาอย่างเดียว แต่ต้องมีการทำงานหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน แรงงาน ประชาสังคม ประสบการณ์ของรุ่นพี่อาจนำมาใช้ไม่ได้ทั้งหมด แต่ดีกว่าการเริ่มจากศูนย์

 

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์

ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 89386738_2609290186006719_21892122617577472_o.jpg

ศูนย์ทนายความฯ เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 เพราะมีคนโดนจับจากการประท้วงแล้วทุกคนทำอะไรไม่ถูกว่าจะติดตามช่วยเหลือยังไง นักกฎหมายจึงรวมตัวกันทำงานช่วยเหลือ ส่วนใหญ่พวกเราจะพยายามปรับความคิดว่าสิ่งที่เขากำลังเผชิญไม่ใช่ความผิดร้ายแรง เป็นเรื่องปกติ แต่สังคมนี้ทำให้เป็นเรื่องผิด โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับพ่อแม่ของเคสต่างๆ จากนั้นมีการให้ความช่วยเหลือในกระบวนการกฎหมาย โดยให้ความเข้าใจและสร้างพลังให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เขาทำเป็นความกล้า

โดยปกติการชุมนุมเป็นสิ่งที่เราทำได้ พ.ร.บ.การชุมนุมก็เปิดช่องให้ทำได้ แต่กระบวนการที่เกิดขึ้นไม่ใช่กระบวนการทางกฎหมาย เพราะกฎหมายไปไม่ถึงการชุมนุมในสถานศึกษา แต่เขาใช้พ.ร.บ.ไซเบอร์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาใช้จัดการมากขึ้น เช่นที่ช่วงหลังไม่มีการใช้มาตรา112 แต่กลับนำข้อหาอื่นมาใช้ เช่น กรณีผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ “นิรนาม” ที่ข้อหาและเหตุผลต่างๆ เหมือนมาตรา 112 แต่เขาเอามาตราอื่นมาใช้แทน

สิ่งที่น่ากังวลมาก คือ กระบวนการนอกกฎหมาย ไม่มีการฟ้องคดีหรือจับกุม แต่เป็นการพาไปคุย แล้วในกระบวนการพูดคุยนั้นจะมีคนนอกเครื่องแบบเยอะมากที่ไม่แสดงตัวว่าเป็นใคร แล้วมีเครื่องอัดเสียง มีกระดาษให้เซ็น ขั้นตอนพวกนี้เขาไม่สามารถทำได้ การเรียกตัวต้องมีการแจ้งข้อหา หากเขามาเคาะประตูบ้านต้องติดต่อคนที่ไว้ใจหรือองค์กรต่างๆ ให้รู้ความเคลื่อนไหว หากจะตรวจยึดมือถือต้องมีข้อหา

ศูนย์ทนายความฯ กำลังเข้าสู่เฟสที่สอง เราจะพยายามร้างความกล้าในสภาวะที่เกิดความกลัวในสังคม เราไม่อยากให้คนในสังคมกลัวจนเกินไป เราเป็นหนึ่งในองค์กรที่เข้ามาให้การสนับสนุนเรื่องทางกฎหมาย ขณะที่ช่วงหลังนักเรียนและนักศึกษามีความตื่นตัวมาก เรามีทีมงานซัพพอร์ตเรื่องข้อมูลทางกฎหมายอยู่แล้ว