ประเทศไทย : รับรองให้เนื้อหาของระเบียบผู้ลี้ภัยที่จะออกใหม่ สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ

12 พฤศจิกายน 2562

แถลงการณ์ร่วม

คาดว่าคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาร่างระเบียบว่าด้วยการคัดกรองผู้ลี้ภัยก่อนสิ้นปีนี้

 

(กรุงเทพฯ 11 พฤศจิกายน 2562) เราขอเรียกร้องรัฐบาลไทยให้บังคับใช้ และดำเนินงานตามกฎหมายและนโยบาย เพื่อประกันสิทธิและการคุ้มครองอย่างเต็มที่สำหรับผู้ลี้ภัย สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งการป้องกันไม่ให้ถูกบังคับส่งกลับ และไม่ให้มีการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ คาดว่าคณะรัฐมนตรีโดยสำนักนายกรัฐมนตรีจะได้พิจารณาร่างระเบียบนี้ก่อนสิ้นปี เพื่อจัดทำกรอบการคัดกรองผู้ลี้ภัย

 

ในวันที่ 28 ตุลาคม ฟอร์ตี้ฟายไรต์และองค์กรภาคประชาสังคมอื่นอีกหกแห่ง ได้จัดการประชุมให้ข้อมูลแบบปิด เพื่ออภิปรายถึงการจัดทำนโยบายด้านคนเข้าเมืองร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาล ตัวแทนองค์การสหประชาชาติ และตัวแทนทางการทูต ในระหว่างการประชุม ตัวแทนจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้กล่าวถึงเนื้อหาของร่างระเบียบฉบับนี้ ซึ่งเป็นการจัดทำ “กลไกคัดกรองระดับชาติ” สำหรับผู้ลี้ภัย โดยทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประกาศว่า จะมีการเสนอร่างระเบียบให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและเห็นชอบภายในสิ้นปีนี้ 

 

กว่าสามปีที่ผ่านมา ในวันที่ 10 มกราคม 2560 รัฐบาลไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรีที่ 10/01 พ.ศ. 2560 เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำกลไกคัดกรองและบริหารจัดการประชากรผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ซึ่งในทางเทคนิคแล้ว เคยเป็นหน้าที่ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โดยไม่มีความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับเจ้าหน้าที่ไทย รัฐบาลได้ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดทำกลไกนี้ โดยร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ร่างระเบียบที่คณะกรรมการจัดทำขึ้น จะเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี

 

ทางการไทยยังไม่ได้เปิดเผยร่างระเบียบดังกล่าวต่อสาธารณะ ทั้งยังไม่ได้จัดทำการรับฟังความเห็นต่อร่างดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในวันที่ 18 มิถุนายน 2561 หน่วยงานกว่า 13 แห่งซึ่งทำงานกับชุมชนผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองในไทย ได้เสนอเนื้อหาที่เป็นไปได้สำหรับร่างระเบียบฉบับนี้ ในระหว่างการประชุมสาธารณะร่วมกับตัวแทนของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง 

 

เราขอย้ำเตือนถึงข้อเสนอแนะก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดทำระเบียบที่ครอบคลุมข้อบทเพื่อประกันให้มี 

  • การป้องกันไม่ให้เกิดการส่งกลับ (refoulement) และไม่ให้มีการบังคับส่งกลับบุคคล ไปยังประเทศที่อาจเสี่ยงจะทรมาน หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
  • ให้จัดทำเนื้อหาตามนิยามของคำว่าผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และสนธิสัญญาระหว่างประเทศอื่น ๆ
  • ให้บุคคลทุกคนสามารถเข้าถึงกลไกการขอสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเข้าเมืองมาแบบใด อยู่ที่ไหน หรือเข้ามาเมื่อไร สอดคล้องกับหลักการว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติและการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมตามกฎหมาย
  • สิทธิในการเข้าถึงการอุทธรณ์คำสั่งโดยศาลที่เป็นอิสระ ทั้งนี้เพื่อให้มีการทบทวนคำถามทั้งในแง่ข้อเท็จจริงและกฎหมาย และสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในประเทศไทย จนกว่าคำพิพากษาจะถึงที่สุด และ 
  • การเข้าถึงการจัดทำเอกสารตามกฎหมาย การบริการด้านสุขภาพ และประกันสุขภาพ โอกาสในการศึกษา โอกาสในการทำงานและความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น ๆ สำหรับผู้ลี้ภัยทุกคน และผู้ที่อยู่ระหว่างหรือกำลังรอการเข้าสู่ขั้นตอนการคัดกรอง

 

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 รัฐบาลไทยได้จัดตั้งกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 4 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินงานตามกลไกคัดกรองที่เสนอ กองบังคับการจะต้องได้รับการจัดสรรทรัพยากรและบุคลากรอย่างเพียงพอ โดยเป็นผู้มีทักษะ ความรู้ และได้รับการอบรมอย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถประเมินคำขอลี้ภัย รวมทั้งมีความรู้ด้านกฎหมายผู้ลี้ภัย การทำงานกับล่าม การสัมภาษณ์ที่เคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการจัดการเมื่อผู้เสียหายเกิดความทุกข์ทรมานใจ 

 

นอกจากนั้น กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 4 ยังควรปรึกษากับ UNHCR เพื่อจัดตั้งหน่วยงานที่ทำงานกับชุมชนผู้ลี้ภัยในประเทศไทย และการทำงานกับตัวผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบ การจัดทำขั้นตอนปฏิบัติตามมาตรฐาน เพื่อจำแนกตัวผู้ลี้ภัยและบุคคลอื่นซึ่งต้องได้รับการคุ้มครองระหว่างประเทศ ขั้นตอนปฏิบัติเหล่านี้ควรประกันว่า

 

  • บุคคลที่เข้าสู่การคัดกรอง สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการนี้ มีทนายความที่มีความสามารถและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และมีล่ามที่มีคุณภาพและไม่ลำเอียง รวมทั้งมีหลักประกันในขั้นตอนปฏิบัติ
  • การตัดสินใจใด ๆ ต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลแต่ละกรณี และเป็นการประเมินเงื่อนไขเฉพาะด้านสำหรับผู้ยื่นคำขอแต่ละคน โดยต้องมีการสัมภาษณ์ส่วนบุคคล เพื่อให้โอกาสกับบุคคลที่เข้าสู่การคัดกรอง สามารถนำเสนอข้อมูลและพยานหลักฐานเกี่ยวกับสภาพที่เกิดขึ้นกับตนได้
  • ผู้เข้ารับการคัดกรองต้องได้รับแจ้งผลการตัดสินอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเป็นคำวินิจฉัยที่มีข้อมูลมากเพียงพอ เพื่อช่วยให้สามารถยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้อย่างจริงจัง และหากจำเป็น
  • การเก็บข้อมูลเป็นความลับในทุกขั้นตอนของการคัดกรอง รวมทั้งในขั้นของการยื่นเอกสาร ข้อมูลเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของบุคคลที่เข้าสู่การคัดกรอง ข้อกล่าวหาว่ามีการประหัตประหาร และข้อมูลอื่น ๆ ที่ได้ให้ไว้ระหว่างกระบวนการคัดกรอง และ
  • UNHCR องค์กรภาคประชาสังคม และหน่วยงานอื่น ๆ สามารถให้ข้อมูล และมีส่วนร่วมอย่างจริงจังกับกระบวนการคัดกรองและพัฒนาการที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เพื่อประกันให้เกิดขั้นตอนปฏิบัติอย่างเต็มที่ อย่างเป็นผลและเป็นธรรม เพื่อการคุ้มครองผู้ลี้ภัยที่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 

 

การประชุมเพื่อให้ข้อมูลกับรัฐบาลในวันที่ 28 ตุลาคม ยังเป็นโอกาสของการอภิปรายถึงการดำเนินงานและความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการที่ใช้แทนการกักตัวเด็ก หลังจากมีการลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องการกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับเมื่อเดือนมกราคม 2562 ตาม MoU ฉบับนี้ ทางการไทยเห็นชอบที่จะส่งตัวเด็กและแม่เด็กออกจากสถานกักตัวคนต่างด้าว โดยกำหนดวงเงินค่าประกันตัวที่ 50,000 บาทต่อคน ตาม MoU ฉบับนี้ รัฐบาลสัญญาว่า จะใช้มาตรการกักตัวเด็กเป็นมาตรการสุดท้าย และมีการกักตัวให้สั้นสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

ในระหว่างการประชุมเพื่อให้ข้อมูล ตัวแทนจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน หน่วยงานภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประกาศว่า หลายหน่วยงานกำลังจัดทำแนวปฏิบัติในการส่งตัวเด็กออกจากสถานกักตัวคนต่างด้าว และการบริหารจัดการเพื่อดูแลเด็กกลุ่มดังกล่าว อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของแนวปฏิบัตินี้และ MoU ต่อสาธารณะ และการดำเนินงานที่เป็นอยู่ ยังไม่สามารถให้ความคุ้มครองอย่างเต็มที่กับเด็กและครอบครัว ยกตัวอย่างเช่น การให้ประกันตัวเป็นสิทธิที่ให้เฉพาะกับแม่ที่มีบุตรซึ่งอยู่ระหว่างการกักตัวในฐานะคนเข้าเมือง แต่พ่อซึ่งมีบุตรเป็นผู้เข้าเมืองที่ถูกกักตัวเช่นกัน หรือผู้ดูแลเด็กที่ถูกกักตัวคนอื่น ๆ จะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว วงเงินประกันตัวที่กำหนด ยังถือว่าสูงเกินไปสำหรับผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ตามกฎหมาย MoU นี้ยังมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งอนุญาตให้กักตัวผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองได้เพียงภายใต้กฎหมาย ความจำเป็นและความเหมาะสม ทั้งยังป้องกันไม่ให้ผู้เข้าเมืองและเด็กถูกกักตัวโดยพลการหรือโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 

 

ตามข้อกังวลดังกล่าว เราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำการปรึกษาหารืออย่างจริงจังกับ UNHCR หน่วยงานซึ่งทำงานกับชุมชนผู้ลี้ภัย และตัวผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบในประเทศไทย เพื่อจัดทำขั้นตอนปฏิบัติในการดำเนินงานตาม MoU อย่างสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลไทยควรจะ

 

  • ขยายเนื้อหาของ MoU เพื่อสนับสนุนมาตรการแทนการกักตัวสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองทุกคน ไม่เฉพาะเด็กและแม่ของเด็ก
  • ป้องกันไม่ให้มีการจับกุมและควบคุมตัวผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองโดยพลการ
  • ขจัดหรือลดการตั้งเงื่อนไขในการประกันตัวให้เหลือน้อยสุด
  • ประกันว่า จะไม่มีการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองโดยพลการ และจะมีการกักตัวผู้เข้าเมืองด้วยเหตุผลที่เป็นข้อยกเว้นเท่านั้น ทั้งนี้หลังจากมีการประเมินข้อมูลเป็นรายบุคคล และทั้งนี้หลังจากมีการใช้มาตรการอื่นแทนการกักตัวอย่างสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว และ
  • ให้ถอนการประกาศข้อสงวนตามข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งจำกัดพันธกรณีของประเทศไทย ในการขยายสิทธิของอนุสัญญาให้ครอบคลุมถึงเด็กผู้ลี้ภัยด้วย

 

จากข้อมูลของ UNHCR ประเทศไทยรองรับผู้ลี้ภัยประมาณ 95,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยในระยะยาวจากเมียนมา ซึ่งอาศัยอยู่ตามค่ายที่พักพิงชั่วคราวบริเวณพรมแดนไทย-เมียนมา ทั้งนี้ไม่รวมถึง “ผู้ลี้ภัยในเขตเมือง” อีกประมาณ 6,000 คนจาก 45 ประเทศ รวมทั้งปากีสถาน เวียดนาม โซมาเลีย อิรัก ปาเลสไตน์ ซีเรีย จีน และประเทศอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีสถานภาพตามกฎหมาย หรือไม่ได้รับการรับรองและกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ทั้งยังมีผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาและผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อีกประมาณ 5,000 คนในไทย โดยบางส่วนถูกกักตัวที่สถานกักตัวคนต่างด้าว หรือในสถานสงเคราะห์ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  

 

เนื่องจากไม่มีสถานภาพตามกฎหมายในไทย ผู้ลี้ภัยจึงตกเป็นเหยื่อการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ สำหรับหลายครอบครัว อาจเป็นเหตุให้พวกเขาต้องพลัดพรากจากกันเป็นเวลานาน ความพยายามของประเทศไทยในการจัดทำกลไกคัดกรองระดับชาติ และการจัดทำเนื้อหาของ MoU ให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ จะส่งผลดีต่อมาตรการด้านความมั่นคง ช่วยส่งเสริมการคุ้มครอง และป้องกันการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ และการละเมิดอื่น ๆ 

 

แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 หรือพิธีสาร พ.ศ. 2510 แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้แสดงเจตจำนงอย่างต่อเนื่องที่จะคุ้มครองผู้ลี้ภัยในประเทศไทย รวมทั้งการเห็นชอบต่อข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน ที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration – GCM) และข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัย (Global Compact on Refugees) ระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในเดือนธันวาคม 2561 นอกจากนั้น รัฐบาลไทยยังย้ำถึงเจตจำนงที่มีต่อ “หลักมนุษยธรรมและการดูแลกลุ่มผู้เข้าเมืองอย่างผิดปรกติที่หลากหลาย” ในระหว่างการประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อพิจารณาพันธกรณีของไทยที่มีต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ในเดือนมีนาคม 2560 

 

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน ประเทศไทยยังเป็นแกนนำในการสนับสนุนให้มีการรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิเด็กในบริบทการเข้าเมือง ระหว่างการประชุมอาเซียนซัมมิทที่กรุงเทพฯ จากเนื้อหาของปฏิญญานี้ ผู้นำอาเซียนแสดงเจตจำนงที่จะคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัย และจัดทำมาตรการที่เป็นผลเพื่อใช้แทนการกักตัวเด็กผู้เข้าเมือง 

 

เพื่อแสดงถึงเจตจำนงเพิ่มเติม รัฐบาลไทยควรให้ภาคยานุวัติกับอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสาร พ.ศ. 2510 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกครอบครัว (International Convention on the Rights of All Migrant Workers and Members of Their Families- ICRMW) และสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอื่น ๆ เรายังยินดีที่มีโอกาสสนับสนุนรัฐบาลไทยในการจัดทำกฎหมายและนโยบาย และประกันให้มีการดำเนินงานตามข้อปฏิบัติ อย่างสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 

 

 

ลงนาม: 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International)

Asia Pacific Refugee Rights Network (APRRN)

อไซลัมแอคเซส ประเทศไทย (AAT)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF)

เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRSP)

สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี

ฟอร์ตี้ฟายไรต์

Life Raft International

มูลนิธิศักยภาพชุมชน (PEF)

เครือข่ายสันติภาพโรฮิงญาแห่งประเทศไทย

โครงการก้าวหน้าพัฒนาชุมชน (Step Ahead)