ครบ 1 ปียกเลิกกฎอัยการศึก
แอมเนสตี้กังวล 
คำสั่ง คสช. ยังคงถูกใช้ ‘เสมือน’ กฎอัยการศึก

3 เมษายน 2559

 

แอมเนสตี้กังวลการปราบปรามผู้เห็นต่างและการให้อำนาจพิเศษแก่ทหารตามคำสั่ง คสช. ที่เสมือนกฎอัยการศึก ในโอกาสที่ทางการไทยเปิดหลักสูตรปรับทัศนคติและครบหนึ่งปีการยกเลิกกฎอัยการศึก ยกตัวอย่างกรณีวัฒนา-ประวิตร-ขันแดง

 

หลังจากที่ทางการไทยประกาศเปิดหลักสูตรปรับทัศนคติในค่ายทหารสำหรับผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และเนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งปีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องทางการไทยให้ยกเลิกอำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยังคงให้อำนาจพิเศษทหารเสมือนการใช้กฎอัยการศึก ตลอดจนเรียกร้องให้ยุติการปราบปรามการแสดงออกอย่างสงบของผู้ที่เห็นต่างด้วย

 

คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ลงวันที่ 1 เมษายน 2558 และคำสั่ง คสช. ที่ 13/2559 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2559 ได้ให้อำนาจทหารเพิ่มขึ้นในนามของความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ซึ่งก่อให้เกิดการลิดรอนสิทธิเสรีภาพตามมา ทั้งสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุม รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา

 

คำสั่ง คสช. ดังกล่าวยังเปิดช่องให้ทหารไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนปกติในกระบวนการยุติธรรม ใช้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยแบบไม่ตั้งข้อหา ควบคุมตัวในสถานที่ที่ตั้งขึ้นมาอย่างไม่เป็นทางการ สั่งค้นโดยไม่มีหมายศาล สั่งยึดทรัพย์สิน เก็บรวบรวมพยานหลักฐาน และสั่งฟ้องคดีต่อบุคคลในศาลทหารโดยไม่ต้องถูกตรวจสอบจากหน่วยงานอื่นด้วย ขณะที่ผู้ถูกควบคุมตัวเองก็ไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิจากระบบตุลาการได้

 

ทางการไทยยังสามารถเรียกตัวสื่อมวลชน นักการเมือง และประชาชนทั่วไปที่เห็นต่างมาควบคุมตัวแบบลับได้ ยกตัวอย่างเช่น การควบคุมตัว นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงสองครั้งในหนึ่งเดือน การปฏิเสธไม่ให้ นายประวิตร โรจนพฤกษ์ เดินทางไปร่วมประชุมเสรีภาพสื่อโลกที่ประเทศฟินแลนด์ ไปจนถึงการจับกุมและตั้งข้อหาในศาลทหารต่อ นางธีรวรรณ เจริญสุข หลังโพสต์รูปตัวเองกับขันสีแดงที่มีลายเซ็นของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังกังวลเกี่ยวกับบางมาตราในพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกได้สูงสุด 10 ปีต่อผู้ที่ใช้ภาษา “หยาบคาย” ในการต่อต้านการทำประชามติรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการข่มขู่ว่าจะปราบปรามการกระทำใดๆ ที่เชื่อว่าอาจทำให้บุคคล “เข้าใจผิด” เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของราชการในช่วงก่อนจะมีการทำประชามติที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2559

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้ปฏิบัติต่อการใช้สิทธิมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบของประชาชน ในฐานะที่เป็นสิทธิ ไม่ใช่อาชญากรรม และขอกระตุ้นประชาคมโลกให้กดดันทางการไทยเพื่อแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เสื่อมถอยลงในประเทศด้วย