ผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนกว่า 200 คน สัญญาจะร่วมมือกันแก้ปัญหาเร่งด่วนด้านสภาพภูมิอากาศ

20 กันยายน 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

(นิวยอร์ก) 18 กันยายน 2562 ถือเป็นปฏิบัติการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยตัวแทนกลุ่มชนพื้นเมือง คนงาน นักวิชาการ กลุ่มสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน 200 คน ได้พร้อมใจลงนามปฏิญญาที่สำคัญ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและบรรษัทดำเนินการแก้ปัญหาเร่งด่วนด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อประกันความอยู่รอดของมนุษยชาติ

 

ในการประชุมสุดยอดภาคประชาชนว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ สิทธิ และความอยู่รอดของมนุษย์ พวกเขามีเป้าหมายสร้างพลังใหม่ขึ้นมา สร้างพลังงานและทรัพยากรเพื่อขับเคลื่อนขบวนการภาคประชาชนที่เชื่อมโยงและหลากหลาย ซึ่งที่ผ่านมามีปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ โดยถือว่าประชาชนและสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลางของแนวทางออกจากปัญหา

 

ผู้นำและกลุ่มของพวกเขามุ่งกดดันรัฐบาลและบรรษัทให้ปฏิบัติตามพันธสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศ โดยในบรรดากิจกรรมต่าง ๆ ที่เสนอ พวกเขาวางแผนจะร่วมกันฟ้องคดีด้านสภาพภูมิอากาศมากขึ้น รณรงค์กดดันแหล่งทุนที่สนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล การพัฒนาให้เกิดกลไกตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นผลมากขึ้น และการประสานงานกับเครือข่ายการรณรงค์อย่างกว้างขวางทั้งในระดับชาติและภูมิภาค พวกเขายังจะเห็นชอบต่อการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องในอีกหลายเดือนข้างหน้า

 

การประชุมสุดยอดภาคประชาชนจัดขึ้นโดยสำนักงานด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, กรีนพีซอินเตอร์เนชั่นนัล, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, ศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ กองทุนโลกวัลเลซ และศูนย์สิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมโลกแห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ 18 และ 19 กันยายน ก่อนจะมีการประชุมสุดยอดปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศของเลขาธิการสหประชาชาติ

 

เครก โมคีเบอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแห่งกรุงนิวยอร์กกล่าวว่า

“สำหรับผู้ซึ่งต่อสู้ในแนวหน้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบแล้วต่อสิทธิที่จะเข้าถึงอาหาร น้ำ และสุขอนามัย การมีที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม บริการด้านสุขภาพ ความมั่นคงปลอดภัยส่วนบุคคล และกระทบแม้กระทั่งสิทธิที่จะมีชีวิตรอด ประชาชนจำนวนมากในรัฐที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ชุมชนตามแนวชายฝั่งและในพื้นที่ซึ่งประสบกับปัญหาการขยายตัวของพื้นที่ทะเลทราย กำลังเฝ้ามองดูสิทธิการกำหนดชะตากรรมของตนเองที่ถูกพรากไปทีละน้อย การอพยพโยกย้ายขนานใหญ่อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะส่งผลให้คนหลายล้านต้องเสี่ยงภัยเดินทางอย่างยากลำบากและไม่รู้ชะตากรรมของตนเอง สุดท้ายแล้ว ผลกระทบร้ายแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำลายโครงสร้างพื้นฐานของสังคมมนุษย์ ทุกประเทศต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาภัยคุกคามต่อสิทธิมนุษยชนเช่นนี้ ในการมารวมตัวกันของหลายหน่วยงานในขบวนการเพื่อความยุติธรรมของสภาพภูมิอากาศ พวกเรามุ่งขับเคลื่อนให้เกิดปฏิบัติการเพื่อสภาพภูมิอากาศทันที โดยมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามกรอบสิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วม”

 

เจนนิเฟอร์ มอร์แกน ผู้อำนวยการบริหารสากลของกรีนพีซอินเตอร์เนชั่นนัลกล่าวว่า

"วิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศถือเป็นวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชน ภัยพิบัติด้านสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อมนุษย์ ดังที่เราได้เห็นจากหายนะและการทำลายล้างที่เกิดขึ้นภายหลังพายุเฮอร์ริเคนดอเรียน

ปฏิญญาฉบับนี้เป็นสัญลักษณ์ของยุคใหม่ของปฏิบัติการเพื่อสภาพภูมิอากาศ โดยมีเยาวชนและพันธมิตรหลายกลุ่มเป็นแกนนำ พวกเราจะดำเนินการและท้าทายกับผู้มีส่วนรับผิดชอบ รัฐบาลที่อ่อนแอและบรรษัทที่ทรงอำนาจแต่มีพิษร้าย จะไม่สามารถหลบซ่อนตัวได้อีก เราจะถือว่าประชาชนเป็นศูนย์กลางของข้อเรียกร้องของเรา และเรียกร้องให้เกิดความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศกับชุมชนซึ่งแทบไม่มีส่วนร่วมในการก่อปัญหา แต่กลับต้องได้รับผลกระทบมากสุดจากภัยฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ”

 

คูมี นายดู เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า

“การต่อสู้ที่เร่งด่วนสุดของโลก ต้องอาศัยพลังและความหลากหลายของขบวนการประชาชนเพื่อสิทธิมนุษยชนระดับโลก พวกเราเป็นตัวแทนของกลุ่มประชาชนที่สำคัญ พวกเรามีพลังและทักษะที่จะต่อสู้ให้เกิดความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ แต่ที่ผ่านมาเราต่อยเบาไปหน่อย

“แอมเนสตี้จะทำหน้าที่ของตนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราต้องการให้ที่ประชุมสุดยอดนำไปสู่การเปิดตัวของขบวนการสิทธิมนุษยชนระดับโลกที่มีพลัง เพื่อปกป้องคนในรุ่นปัจจุบันและอนาคต ถ้าร่วมมือกันเราจะชนะ”

 

แคโรล มัฟเฟตต์ ประธานและซีอีโอของศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศกล่าวว่า

“ต้นทุนที่เกิดจากการเพิกเฉยต่อวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ เห็นได้ชัดจากปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ผลกระทบด้านอาชีพและชีวิตมนุษย์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พายุเฮอร์ริเคนดอเรียนให้บทเรียนที่เจ็บปวดเพื่อย้ำเตือนเราว่า ต้นทุนนี้มีอยู่จริงและกำลังเพิ่มขึ้น ปฏิญญาในวันนี้สะท้อนถึงพันธสัญญาร่วมกันในประชาคมสิทธิมนุษยชน ที่จะให้สิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลางของปัญหาวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ยุติการใช้ประโยชน์จากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้วิกฤตรุนแรงขึ้น และเพื่อกดดันให้รัฐบาลและบรรษัทรับผิดชอบ หากพวกเขาขัดขวางการดำเนินงานของเรา”

 

เอลเลน ดอร์ซี ผู้อำนวยการบริหารกองทุนโลกวัลเลซ กล่าวว่า

“ภาคส่วนและขบวนการด้านสิทธิมนุษยชนจากทั่วโลก ช่วยนำทรัพยากรใหม่ กลุ่มผู้สนับสนุนที่มีพลังจากทั่วโลก และปฏิบัติการกดดันด้านสิทธิมนุษยชนที่โดดเด่น เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพขบวนการด้านสภาพภูมิอากาศ พวกเราเรียกร้องให้รัฐบาลและบรรษัทปฏิบัติการอย่างได้สัดส่วนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อประกันความอยู่รอดของมนุษยชาติ”

 

ฟิลิป แอลส์ตัน ศูนย์สิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมโลกแห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวว่า

“มีคนกล่าวหาว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นการส่งสัญญาณเตือนที่เกินจริง แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนที่จะช่วยยุติการเสียชีวิตของลูกหลานเราจำนวนมาก และรวมทั้งพวกเราเองด้วย จากข่าวที่เราอ่านทุกวัน ประชาชนจำนวนมากกำลังเสียชีวิตจากอากาศร้อน จมน้ำตายเพราะน้ำท่วม หรือถูกไฟไหม้เนื่องจากไฟป่า หรือถูกบีบบังคับให้ต้อง

ละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด แต่เรากลับหลอกตัวเองว่า ปัญหาเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้นกับเราหรอก หลายคนหลีกเลี่ยงปัญหาด้วยการหันไปสนใจกับโซเชียลมีเดีย หรือหมกมุ่นสนใจแต่การดำรงชีวิตประจำวันต่อไป ในขณะที่ภัยพิบัติเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนจากความเป็นไปได้กลายเป็นความแน่นอน ในสถานการณ์เช่นนั้น สิทธิมนุษยชนที่เรารู้จักจะกลายเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ เว้นแต่เราจะเริ่มปฏิบัติการทันที”