ครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายเรียกร้องรัฐบาลออก พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหาย

10 กันยายน 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

หลังผ่านวันผู้สูญหายสากล 30 สิงหาคม 2562 ได้เพียง 4 วัน ก็มีข่าวที่ทำให้ความหวังของครอบครัว “รักจงเจริญ” ที่รอคอยการกลับมาของ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย ที่ถูกบังคับให้สูญหายระหว่างถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัว และหายไปนานกว่า 5 ปีสิ้นสุดลง เนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงยืนยันว่า บิลลี่ เสียชีวิตแล้ว เพราะชิ้นส่วนกะโหลกที่พบใต้สะพานแขวนในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของเขา

 

คำตอบการสูญหายของบิลลี่สะท้อนถึงการถูกคุกคามสิทธิมนุษยชนของผู้ที่เดินหน้าต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน ว่าท้ายที่สุดอาจจะมีจุดจบไม่ต่างกัน พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่ เปิดใจถึงคำตอบที่ได้รับ หลังสามีผู้เป็นที่รักของครอบครัวได้หายตัวไป ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 ซึ่งนับจากวันนั้นถึงวันนี้นานกว่า 5 ปีแล้ว

 ผู้สูญหายสากล063.jpg

 

มึนอ เล่าว่า ตลอดเวลาในหัวของบิลลี่ไม่เคยหยุดคิดที่จะช่วยเหลือทุกคนในหมูบ้าน ให้มีที่ดินทำกิน ให้อยู่ดีกินดี เขาอยากอยู่ทำงานเพื่อสังคม จนกว่าจะได้เห็นลูกๆ มีงานทำที่ดี ไม่ต้องลำบากเหมือนพ่อแม่ ซึ่งความลำบากครอบครัวก็คือการถูกเจ้าหน้าที่พาลงมาอยู่พื้นที่ที่ไม่ใช่บ้านของเรา เพราะบ้านคือที่ใจแผ่นดิน และเมื่อลงมาอยู่ที่นี่ เราก็มีปัญหาที่ดินทำกินไม่เพียงพอ เพราะมีชาวบ้านโป่งลึกอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ก็ต้องมาแบ่งพื้นที่กัน แต่ไม่มีปัญหาระหว่างชุมชนเพราะทุกคนรู้กันดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีใครอยากย้ายมา ความหวังของบิลลี่ คือเขาอยากให้คนบางกลอยกลับไปอยู่ที่เดิม ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทุกคนมีสวนที่ปู่ ย่า ตา ยาย ปลูกไว้ แต่ที่นี่เราเคยทำแต่ไร่ เราไม่เคยทำนาขั้นบันได แต่เขาจัดที่ให้เราทำ ก็เหมือนโดนยัดเยียดให้ทำก็ไม่ได้ผลเต็มที่

 

“อยากให้ความฝันของบิลลี่เป็นจริง ทุกคนต้องช่วยกัน ทำคนเดียวไม่ได้ และ 5 ปีที่ผ่านมาเห็นกรณีอื่นๆ เช่น ทนายสมชาย นีละไพจิตร หรือ ลุงเด่น คำแหล้ เหล่านักปกป้องสิทธิ ก็คิดอยากจะทำอะไรเพื่อให้ความสูญเสียแบบนี้ไม่เกิดขึ้นอีก ถ้ามีกฎหมายสักฉบับ อย่างเช่น พ.ร.บ. ที่กำลังถูกร่าง อยากให้รัฐสภา ให้นายกรัฐมนตรีที่ถูกเลือก ร่างให้ผ่านเร็วๆ ถ้ามีกฎหมายจะช่วยปกป้องคนที่อาจจะสูญหายหรือช่วยติดตามคนที่สูญหายได้”

มึนอกล่าว

 

ปัญหาการถูกคุกคามสิทธิเรื่องที่ดินทำกิน อาจเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับหลายคน แต่มึนอมีความเชื่อว่าหากใครได้เจอกับตัวเอง ก็ย่อมออกมาปกป้องสิทธิของตัวเองอย่างแน่นอน มึนอไม่เคยคิดหยุดต่อสู้แม้บางครั้งจะเหนื่อย และเมื่อหายเหนื่อยก็เดินหน้าต่อไปเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งเธอยึดถือสิ่งที่บิลลี่เคยพูดไว้ว่า

 

“เขาเกิดมาเพื่อเป็นคนที่ช่วยแก้ไขปัญหาในสังคมให้คลี่คลาย ให้ทุกคนเข้าใจ เกิดมาชาตินี้ ชีวิตอุทิศให้สังคมล้วนๆ เขาทำดีโดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ แม้ต้องแลกด้วยชีวิตก็จะทำต่อไป”

 

มึนอยังเล่าถึงสิ่งที่บิลลี่บอกไว้ก่อนหายตัวไป ว่าเขารู้ชะตากรรมของตัวเอง ว่าเขาช่วยงานปู่คออี้ เรียกร้องสิทธิ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่พอใจ เขาบอกว่าถ้าเจอตัวถูกฆ่าตายแน่นอน ซึ่งมึนอเองเคยห้ามไว้ และขอให้หยุด แต่บิลลี่ยึดมั่นว่าถ้าทำเพื่อสังคมก็ยอมตาย จึงไม่มีคำพูดไหนที่ไปหยุดความตั้งใจของบิลลี่ได้

 

“อยากให้บิลลี่เป็นคนสุดท้าย ไม่อยากให้เกิดกับคนอื่นอีก และอยากให้ยอมรับวิถีชีวิต สิทธิชุมชน วัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง เชื่อว่าถ้ารัฐยอมรับได้ ปัญหาที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย จะคลี่คลายได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้จะหมดไป”

ภรรยาบิลลี่กล่าว

 

ผู้สูญหายสากล133.jpg 

เช่นเดียวกับสุภาพ คำแหล้ ภรรยาของ เด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ นักปกป้องสิทธิที่ดินทำกินของชุมชน หายตัวไปเมื่อ 16 เมษายน 2559 อยากวิงวอนให้ช่วยตามหา นายเด่น เพราะทุกวันนี้คนที่อยู่ข้างหลังลำบากมาก และอยากขอให้ผู้มีอำนาจในภาครัฐเร่งออกกฎหมายมาจัดการปัญหาโดยเร็ว ที่สำคัญอยากให้ช่วยจัดการปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้เพราะทุกวันนี้ สุภาพและชาวบ้านยังมีวิถีชีวิตที่ลำบาก

 

“กฎหมายก็ยังไม่คืบหน้า เรื่องของตาเด่นก็ยังมืดมน ไม่รู้ใครเป็นคนทำ คดีไม่คืบหน้าเลย ก็หวังว่าจะมีกฎหมายมารองรับเรา เราไม่อยากให้มีการสูญหายเกิดขึ้นในสังคมด้วย ตอนนั้นปี 2559 เด่นหายไป ตอนนี้ปี 2562 ก็ยังไม่รู้เรื่องเลย หน่วยงานก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรเลย เราแก่แล้วหากินก็ลำบาก”

นางสุภาพ กล่าว

 

ผู้สูญหายสากล150.jpg

อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และ อดีตรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ กล่าวในฐานะผู้เสียหายว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปี 5 เดือนที่สู้คดีมา ได้รับคำตอบว่าศาลฎีกาพิพากษาตัดสิทธิญาติในการเป็นผู้เสียหายในคดี พร้อมยกฟ้องตำรวจ 5 นาย โดยศาลให้เหตุผลว่า ไม่มีหลักฐานใดที่บอกว่าทนายสมชาย บาดเจ็บหรือเสียชีวิตไปแล้ว นั่นหมายความว่าทนายสมชายต้องมาเรียกร้องการสูญหายด้วยตัวเอง แต่ปัญหาก็คือเราก็ไม่รู้ว่าเขาหายไปไหน ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีกฎหมายที่จะคุ้มครอง ที่ผ่านมาเรามีเรื่องเล่าของคนหายมากมาย แต่คดีสมชายเป็นคดีเดียวที่ถูกนำขึ้นสู่ชั้นศาล มีพยานหลักฐานมากที่สุด

 

“คนก็หาย กฎหมายก็ไม่มี ศาลบอกว่าญาติไม่มีสิทธิฟ้อง เพราะไม่มีหลักฐานว่าทนายสมชายบาดเจ็บหรือตาย ต้องให้เขามาฟ้องเอง แล้วเราจะไปหาตัวทนายสมชายจากที่ไหน คนก็หายไปแล้ว กฎหมายก็ไม่มีคุ้มครอง และกฎหมายก็ยังไม่อนุญาตให้ญาติไปเป็นผู้เสียหายแทน ซึ่งคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะดำเนินการเรื่องนี้ เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐในการอำนวยความยุติธรรมอย่างปฏิเสธไม่ได้ หลังจากทนายสมชายหายตัวไป หลายคนอาจจะจำได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่มากในขณะนั้น ซึ่งก็ไม่คิดว่าจะมีใครถูกบังคับให้สูญหายอีก แต่หลายปีต่อมา ก็มีบิลลี่ หายไปอีก ทุกวันนี้การถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทยลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีหลักประกันว่าคนจะไม่สูญหายอีก หรือเจ้าหน้าที่จะไม่ใช้อำนาจในการทำเช่นนี้ได้อีก”

อังคณากล่าว

 

อังคณากล่าวอีกว่า อยากเห็นกลไกในรัฐสภาที่ผ่านคณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติหลักการให้มีสัตยาบันให้มีกฎหมายร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... แต่ว่าในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลับให้ความเห็นว่าให้มีกฎหมายแล้วค่อยให้สัตยาบัน ที่สำคัญการพิจารณากฎหมายก็เป็นไปอย่างล่าช้า มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข จนไม่คงใจความสำคัญไว้ อยากให้รัฐสภานำเรื่องนี้เข้ามาพิจารณาใหม่ แต่ต้องเป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับด้วย

 

สำหรับครอบครัวผู้สูญหาย อังคณายอมรับว่า เดินหน้าเรียกร้องต่อสู้มาเยอะมาก แต่ก็ไม่มากพอที่จะหาความยุติธรรมได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมต้องออกมารณรงค์ วันหนึ่งคนที่สูญหายอาจจะเป็นคนในครอบครัวคุณหรือตัวคุณเอง ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนมาช่วยกันในการที่จะป้องกันยุติการสูญหายในประเทศไทยต่อไป

 ผู้สูญหายสากล031.jpg

ด้านปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า วันผู้สูญหายสากลถือเป็นวันที่สำคัญมาก แต่ถึงแม้ว่าเราจะมีวันผู้สูญหายสากล แต่เรากลับยังไม่มีกฎหมายหรืออะไรที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาผู้ถูกบังคับสูญหายเลย ยิ่งนานวันความยุติธรรมก็ไม่เกิดกับครอบครัวผู้สูญหาย การจัดงานวันผู้สูญหายจัดแบบนี้มาทุกปีแต่ไม่มีอะไรคืบหน้า หากลองคิดถึงครอบครัวผู้สูญหายที่ต้องเผชิญกับการที่ไม่คำตอบหรือความยุติธรรมเกิดขึ้นทุกๆ วันจะเป็นอย่างไร ในเรื่องความจำเป็นของการมีกฎหมาย แอมเนสตี้พยายามเคลื่อนไหวมาหลายปี แต่สิ่งที่เห็นคือความถดถอยของร่างกฎหมาย เพราะมีการตัดทอนใจความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนออกไป จึงฝากความหวังไว้กับรัฐบาลใหม่จะหยิบขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง

 

“สาระสำคัญที่ถูกตัดออกไป คือการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายในสถานการณ์หรือกรณีฉุกเฉินคือให้ละเว้นได้ แต่เราไม่อยากให้มีตรงนี้ เพราะไม่ว่าจะกรณีใดก็ตามต้องมีการใช้กฎหมาย แอมเนสตี้อยากเห็นความจริงจังของรัฐบาลในการออกกฎหมายและต้องให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้วย ที่ผ่านมาเราเห็นความพยายาม แต่ก็มีแต่คำมั่นสัญญา แต่ไม่เกิดขึ้น เราหวังว่าปีนี้ไม่มีคำสัญญา แต่จะมีสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะยิ่งนานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นช่องว่างให้เกิดการสูญหายได้มากขึ้น”

 

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุอีกว่า เรื่องนี้อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะคิดว่าไม่น่าเกิดขึ้นกับเราหรือคนที่เรารัก ทำให้คนไม่สนใจ แต่ความจริงแล้ว ใครๆ อาจจะกลายเป็นผู้ถูกบังคับให้สูญหายได้ นอกจากนั้นผู้กระทำผิดในกรณีที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยถูกลงโทษ อาจส่งผลให้เกิดกรณีต่อไปได้อีก สุดท้ายไม่อยากให้วันผู้สูญหายสากลจัดเป็นแค่เชิงสัญลักษณ์อย่างเดียว แต่ต้องการให้วันนี้เป็นเครื่องหมายที่บอกว่าจะไม่มีการบังคับสูญหายเกิดขึ้นอีก

 

“ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีกฎหมายป้องกันไม่ให้มีการบังคับให้สูญหายเกิดขึ้น”

 

ผู้สูญหายสากล132.jpg