“สงครามปราบปรามยาเสพติด” กรณีของรัฐบาลดูเตอร์เต ที่องค์การสหประชาชาติต้องสอบสวนอย่างเร่งด่วน

9 กรกฎาคม 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

  • การสังหารนอกกระบวนการกฎหมายโดยตำรวจ
  • การปฏิบัติมิชอบเกิดขึ้นในระดับที่อาจถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

 

กระแสการฆ่าฟันโดยตำรวจ อันเป็นผลมาจากการรณรงค์ปราบปรามยาเสพติดที่นองเลือดของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตแห่งฟิลิปปินส์ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สูญเสียชีวิต และทำลายชุมชนต่าง ๆ ทั้งนี้ตามรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า องค์การสหประชาชาติต้องเริ่มการสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และความเป็นไปได้ที่จะเกิดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อันเป็นผลมาจาก “สงครามปราบปรามยาเสพติด” โดยทันที

 

รายงานฉบับใหม่ชื่อ “พวกเขาเอาแต่ฆ่าพวกเรา: การสังหารนอกกระบวนการกฎหมายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและการละเมิดอื่นๆ ระหว่าง ‘สงครามปราบปรามยาเสพติด’ ของฟิลิปปินส์” “They just kill’: Ongoing extrajudicial executions and other violations in the Philippines’ ‘war on drugs,"” ชี้ให้เห็นว่าตำรวจดำเนินงานโดยไม่ต้องรับผิดอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่มีการสังหารประชาชนจากพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งบุคคลซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ใน “บัญชีผุ้ต้องสงสัยด้านยาเสพติด” ที่ถูกจัดทำขึ้นมา โดยไม่สนใจกระบวนการอันควรตามกฎหมาย

 

‘สงครามปราบปรามยาเสพติด’ ของประธานาธิบดีดูเตอร์เต ยังคงเกิดขึ้นในลักษณะที่เป็นการสังหารในวงกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงสุดต่อคนยากจน

นายนิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

“สามปีผ่านไป ‘สงครามปราบปรามยาเสพติด’ ของประธานาธิบดีดูเตอร์เต ยังคงเกิดขึ้นในลักษณะที่เป็นการสังหารในวงกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงสุดต่อคนยากจน” นายนิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว  

“ถึงเวลาที่องค์การสหประชาชาติ เริ่มจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพื่อเอาผิดกับประธานาธิบดีดูเตอร์เตและรัฐบาลของเขา”

 

รัฐบาลฟิลิปปินส์ยอมรับว่า ตำรวจมีส่วนรับผิดชอบต่อการสังหารบุคคลอย่างน้อย  6,600 ครั้ง พยานหลักฐานต่างชี้ว่า หลายพันคนถูกสังหารโดยกลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย ซึ่งน่าจะมีความสัมพันธ์กับตำรวจ

 

ภายหลังการโยกย้ายผู้บัญชาการตำรวจระดับสูงจากเมโทรมะนิลา ซึ่งในขณะนั้นถือเป็นศูนย์กลางการสังหารของประเทศ ปรากฏว่าในปัจจุบัน จังหวัดบูลาคันในลูซอนกลางได้กลายเป็นทุ่งสังหารที่นองเลือดมากสุดแทน

 

ประธานาธิบดีดูเตอร์เตได้ให้เหตุผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุน “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ของรัฐบาลของเขา โดยบอกว่าคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็น “อาชญากร” และการสังหารพวกเขาถือว่า “ชอบด้วยเหตุผล”

 

ในระหว่างการสอบสวนเรื่องนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจำแนก 20 กรณี อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 27 คน ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย การสังหารเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วจังหวัดบูลาคันระหว่างเดือนพฤษภาคม 2561 ถึงเมษายน 2562 โดยทางหน่วยงานได้สัมภาษณ์บุคคล 58 คน รวมทั้งพยานผู้รู้เห็นการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย ครอบครัวของผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน

 

เป็นรายงานซึ่งเป็นการศึกษาเพิ่มเติมจากรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลครั้งก่อน ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนมกราคม 2560 ชี้ให้เห็นว่า ตำรวจใช้วิธีกำหนดเป้าหมายอย่างเป็นระบบต่อคนยากจนและอ่อนแอมากสุดทั่วประเทศ โดยมีการใช้วิธียัดยา ว่าจ้างมือสังหาร ลักทรัพย์จากเหยื่อที่ถูกสังหาร และสร้างรายงานสอบสวนเท็จเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

“การเป็นคนจนในประเทศฟิลิปปินส์ของประธานาธิบดีดูเตอร์เต ไม่มีความปลอดภัย” นายนิโคลัส เบเคลังกล่าว “เหตุอันนำไปสู่การสังหาร อาจเป็นเพียงการกล่าวหาอย่างไม่มีหลักฐานว่า ใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ใช้ ซื้อ หรือขายยาเสพติด ในทุกพื้นที่ที่เราได้ไปสอบสวนการสังหารเกี่ยวกับยาเสพติด เราพบว่าคนในท้องถิ่นต่างมีความหวาดกลัว เป็นความหวาดกลัวที่แฝงฝังเข้าไปในโครงสร้างระดับลึกของสังคม” 

 

การสังหารหลายครั้ง แต่มีรูปแบบเดียวกัน

 

ในทุกปฏิบัติการของตำรวจที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสอบสวน ตำรวจมักอ้างเหตุผลแบบเดียวกันคือ “การล่อซื้อ” โดยกล่าวหาว่ามีการส่งสายเข้าไปซื้อยา แต่ผู้ต้องสงสัยซึ่งมีอาวุธได้ต่อสู้ขัดขืน เป็นเหตุให้ “ตำรวจต้องวิสามัญ

 

เป็นเนื้อหาที่สอดคล้องกันราวกับบทหนัง เวลาอ่านรายงานสอบสวน เราจะพบว่ามีแบบฟอร์มการเขียนอย่างเดียวกันทั้งหมด

ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ชาวฟิลิปปินส์บอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

ครอบครัวและพยานต่างปฏิเสธเรื่องราวที่ตำรวจเสนอ ในบางกรณี ผู้เป็นเหยื่อไม่เคยครอบครองอาวุธเลย หรือยากจนจนไม่สามารถซื้ออาวุธไว้ในครอบครองได้ ญาติคนหนึ่งบอก ในบางกรณี เหยื่อการสังหารคดียาเสพติดมักถูกรายงานว่าเป็นผู้สูญหายก่อนในเบื้องต้น แต่ในเวลาต่อมาก็พบว่า รายชื่อเขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้ต้องสงสัยในการล่อซื้อซึ่งถูกตำรวจสังหาร เมื่อมีการพบศพในเวลาต่อมา

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ชาวฟิลิปปินส์ที่ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบอกว่า รายงานสอบสวนของตำรวจในกรณีการล่อซื้อที่ได้ตรวจสอบ พบว่าไม่มีลักษณะสอดคล้องกับมาตรฐานความเป็นไปได้ขั้นต่ำเลย “เป็นเนื้อหาที่สอดคล้องกันราวกับบทหนัง เวลาอ่านรายงานสอบสวน เราจะพบว่ามีแบบฟอร์มการเขียนอย่างเดียวกันทั้งหมด” 

 

นกรณีหนึ่ง ตำรวจอ้างว่า โจแวน มักทานอง คุณพ่อลูกสามอายุ 30 ปี ยิงปืนใส่พวกเขา และตำรวจค้นพบปืนขนาด .38 มม. และซองใส่ยาเสพติดจำนวนหนึ่งในที่เกิดเหตุ พยานระบุว่าโจแวนกำลังนอนกับลูกของเขา ตอนที่ตำรวจมาเคาะประตูบ้าน และถามหาชายอีกคนหนึ่ง ครอบครัวของโจแวนบอกว่าเขาไม่มีปืน และไม่ได้ใช้ยาเสพติดมากว่าหนึ่งปีแล้ว

 

“ตำรวจฆ่าเขาเหมือนสัตว์ตัวหนึ่ง” ญาติบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

เมื่อ ‘บัญชีผุ้ต้องสงสัยด้านยาเสพติด’ เป็นบัญชีสั่งตาย

 

ในกรณีส่วนใหญ่ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลตรวจสอบ เราพบว่าผู้ตายมักมีชื่ออยู่ใน “บัญชีผู้ต้องสงสัยด้านยาเสพติด” ซึ่งทางการรวบรวมจัดทำขึ้นเองนอกเหนือกระบวนการตามกฎหมาย

 

"ระบบที่ชั่วร้ายและเป็นวงจรต่อเนื่องไม่สิ้นสุด ผลักดันให้เกิดปฏิบัติตามคำสั่งอย่างมืดบอดและการสังหาร" นายนิโคลัส เบเคลัง

 

รายชื่อเหล่านี้กลายเป็นแนวทางการปฏิบัติในการจับกุมหรือสังหารของตำรวจ เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นจนถึงระดับหมู่บ้าน ต่างถูกกดดันให้ต้องทำยอด โดยต้องรวบรวมรายชื่อของ “ผู้ใช้” “ผู้ชักชวนให้ใช้” “ผู้สนับสนุนทางการเงิน” และ “ผู้คุ้มครอง” ในพื้นที่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมองว่ารายชื่อเหล่านี้ไม่น่าเชื่อถือ ขาดความชอบธรรม และขาดเหตุผล ทั้งยังเป็นหลักฐานที่ชี้ว่ารัฐบาลพุ่งเป้าทำร้ายชุมชนคนยากจนและคนชายขอบ

 

นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้สัมภาษณ์นักสิทธิมนุษยชนที่สอบสวนเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่หมู่บ้านและอื่น ๆ ซึ่งต่างยืนยันว่า ไม่มีทางที่จะเอารายชื่อตนเองออกจากบัญชีเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดระบบที่มีการติดตามตัวและมีความเสี่ยงอย่างถาวร

 

“รัฐบาลดูเตอร์เตสั่งให้เร่งแข่งขันทำยอดคนตาย โดยเจ้าหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีและจับตามองพวกเขา ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ใช้หรือขายยาจริงหรือไม่ก็ตาม ระบบที่ชั่วร้ายและเป็นวงจรต่อเนื่องไม่สิ้นสุด ผลักดันให้เกิดปฏิบัติตามคำสั่งอย่างมืดบอดและการสังหาร” นายนิโคลัส เบเคลังกล่าว

 

ความรับผิดชอบของตำรวจ

 

การสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในบูลาคัน เกิดขึ้นหลังจากมีการโยกย้ายเข้ามาของผู้บัญชาการตำรวจระดับสูง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยประจำอยู่ที่เมโทรมะนิลา ซึ่งเดิมเคยถือเป็นพื้นที่ที่มีการสังหารเกี่ยวกับยาเสพติดมากสุด โดยตำรวจทั้งสองนายได้รับการเลื่อนยศให้มาดำรงตำแหน่งในบูลาคัน และพื้นที่อื่น ๆ ในลูซอนกลาง

 

"การโยกย้ายตำรวจระดับสูงมายังภูมิภาคซึ่งมีการสังหารเพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นสัญญาณที่น่าตกใจของการไม่ต้องรับผิด" นายนิโคลัส เบเคลัง

 

หนึ่งในสองตำรวจคือ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรชิโต เบอร์ซาลูนา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจที่เมืองคาลูคันในขณะที่มีการยิงสังหารคลาน เดโลส ซานโตส อายุ 17 ปีในเดือนสิงหาคม 2560

 

ภายหลังรายงานข่าวในระดับโลกต่อกรณีสังหารที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้มีการอนุญาตให้เบอร์ซาลูนาสามารถ “ลาพักการปฏิบัติหน้าที่” โดยไม่มีการดำเนินคดีกับเขา แต่มีการดำเนินคดีกับตำรวจระดับล่าง ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาแทน และในเวลาต่อมาศาลตัดสินว่ามีความผิดและสั่งลงโทษ

 

“การโยกย้ายตำรวจระดับสูงมายังภูมิภาค ซึ่งมีการสังหารเพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นสัญญาณที่น่าตกใจของการไม่ต้องรับผิด” นายนิโคลัส เบเคลังกล่าว “การที่รัฐบาลดูเตอร์เตยังคงปฏิเสธและปัดความรับผิดชอบ ถือเป็นปฏิบัติการที่โกหกไปวัน ๆ”

 

ถึงเวลาที่องค์การสหประชาชาติต้องลงมือสอบสวน

 

ยกเว้นกรณีเดียวที่มีการตัดสินว่าตำรวจมีความผิดฐานสังหารคลาน เดโลส ซานโตส ทางการฟิลิปปินส์ไม่สามารถสอบสวนอย่างน่าเชื่อถือ และดำเนินคดีกับผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการสังหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย ที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามปราบปรามยาเสพติดได้เลย

 

"ทุกครั้งที่ดิฉันเห็นภาพของลูก ดิฉันรู้สึกเหมือนมีอะไรทิ่มแทงหัวใจ"

แม่ของเหยื่อวัย 20 ปี

  

รายงานใหม่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เสนอพยานหลักฐานจำนวนมากที่ชี้ว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในระหว่าง “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ที่นองเลือดของฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

 

จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลฟิลิปปินส์หลีกเลี่ยงความพยายามใดๆ ที่จะตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่าง “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง แม้ว่าศาลอาญาระหว่างประเทศจะเริ่มการไต่สวนเบื้องต้นต่อการรณรงค์ปราบปรามยาเสพติดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ประธานาธิบดีดูเตอร์เตได้ประกาศทันควันว่า ฟิลิปปินส์จะถอนตัวจากการเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมของศาล ซึ่งการถอนตัวดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

ครอบครัวของผู้เสียหาย พยาน ทนายความ ผู้นำทางศาสนา และบุคคลอื่น ๆ ต่างแสดงความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่าต่ออุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้เข้าถึงความยุติธรรม และบรรยากาศการลอยนวลพ้นผิดอย่างสิ้นเชิงในประเทศ

 

“ทุกครั้งที่ดิฉันเห็นภาพของลูก ดิฉันรู้สึกเหมือนมีอะไรทิ่มแทงหัวใจ” แม่ของเหยื่อวัย 20 ปีกล่าวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล “เขาต้องการให้ดิฉันสู้เพื่อเขา แต่ดิฉันจะทำอย่างไรได้?”

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังพบว่า โครงการบำบัดและรักษาผู้ใช้ยาที่มีอยู่ น้อยกว่าความต้องการที่แท้จริงมาก  ทางหน่วยงานเน้นย้ำว่า ทางการต้องเพิ่มบริการด้านสุขภาพและสังคมให้มากกว่านี้ เพื่อลดความเสี่ยงและอันตรายจากยาเสพติด และยุติการรณรงค์บนพื้นฐานความรุนแรงและความหวาดกลัว

 

ทางหน่วยงานเรียกร้องคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้เริ่มการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ อย่างไม่ลำเอียง และอย่างเป็นผลโดยทันที ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเกิดขึ้นในระหว่าง “สงครามปราบปรามยาเสพติด” รวมทั้งการก่ออาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ

 

ในทำนองเดียวกัน สำนักงานอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ ต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และจัดให้มีการสอบสวนอย่างเต็มที่และอย่างรอบด้าน

 

ดาวน์โหลดรายงานที่นี่