5 ชัยชนะของการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิง

3 July 2019

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

แปลโดย Smiling Sun

สิทธิเด็กและสตรีเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของงานของเรา และนี่คือชัยชนะบางส่วนที่เราช่วยให้นักรณรงค์ได้รับมาหลังจากที่ทำงานมาอย่างยาวนาน

 

การคุมกำเนิดฟรีและชัยชนะเหนือการบังคับสมรสในบูร์กินาฟาโซ

A woman with baby strapped to her back pours grain, every day life in the village of Labien, Burkina Faso, June 2018. A woman with baby strapped to her back pours grain, every day life in the village of Labien, Burkina Faso, June 2018.

© Sophie Garcia | hanslucas.comSophie Garcia www.sophiegarcia.net

 

ตั้งแต่วันที่หนึ่งมิถุนายนที่ผ่านมา การคุมกำเนิดและการปรึกษาวางแผนครอบครัวในบูร์กินาฟาโซจะไม่มีค่าใช้จ่าย โดยนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลที่ประกาศเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเป็นผลพวงจากการเรียกร้องสิทธิด้านดังกล่าวตั้งแต่ปี 2015 การคุมกำเนิดฟรีจะสร้างความแตกต่างอย่างมากในชีวิตของผู้หญิงเช่นโคโรทิมิ ที่กล่าวกับเราไว้เมื่อปี 2015 ว่า “บางครั้งเราไม่มีเงินมากพอสำหรับยาคุมกำเนิด และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ฉันมีลูกถึงแปดคน” เมื่อกำแพงทางเศรษฐกิจได้ทลายลง ผู้หญิงก็จะสามารถมีสิทธิมีเสียงเหนือร่างกายของตนเองมากขึ้น และผลต่อเนื่องจากการเรียกร้องเดียวกันโดยแอมเนสตี้ บูร์กินาฟาโซได้ทำให้การดำเนินคดีกับการบังคับสมรสเป็นไปได้ง่ายขึ้น เมื่อกฎหมายได้ครอบคลุมไปถึงการสมรสตามวัฒนธรรมดั้งเดิมโดยไม่มีการรับรองจากทางการ ที่ซึ่งการบังคับสมรสส่วนใหญ่เกิดขึ้นอีกด้วย

 

สิทธิการทำแท้งในไอร์แลนด์

 

© Jeff J Mitchell/Getty Images

 

การบริการทำแท้งในไอร์แลนด์ได้เปิดทำการในเดือนมกราคม 2019 หลังจากประชามติครั้งประวัติศาสตร์ในเดือนพฤษภาคม 2018 ได้ประกาศชัยชนะครั้งสำคัญของสิทธิสตรี โดยผลลัพธ์ที่ได้คือการอนุญาตทำแท้งภายใน 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์หรือในสภาวะที่ได้รับการยกเว้น โดยนโยบายดังกล่าวเป็นผลจากการรณรงค์มาเป็นเวลาหลายปีโดยนักรณรงค์มากมาย รวมถึงทางแอมเนสตี้ด้วย เมื่อปี 2015 เราปล่อยตัวโครงการ “เธอไม่ใช่อาชญากร” ที่ซึ่งนักวิจัย นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนของเราช่วยกันเกลี้ยกล่อมรัฐบาลให้ทำประชามติในหัวข้อดังกล่าวและร่างนโยบายนี้ขึ้น โดยโครงการของเรายังเป็นเวทีให้ผู้หญิงออกมาแชร์ประสบการณ์การทำแท้งและช่วยกันลบภาพและอคติทางลบที่เกี่ยวข้องในสังคม โครงการนี้ช่วยให้ทุกคนหันมาพูดคุยในประเด็นการทำแท้งที่จุดประกายการดีเบตหัวข้อดังกล่าวและนำไปสู่การคุ้มครองผู้หญิงที่มากขึ้น

 

พิษร้ายบนทวิตเตอร์ทำลายธุรกิจ

 

© AI Australia

 

จากโครงการ #ToxicTwitter ที่เราปล่อยออกมาเมื่อเดือนมีนาคม 2018 เราแสดงให้เห็นถึงผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเสรีภาพการแสดงออกของผู้หญิงจากการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะผู้หญิงผิวสี ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และผู้หญิงที่มีบุคลิกข้ามเพศ หลังจากโครงการดังกล่าว ทางทวิตเตอร์ได้อัพเดตนโยบายการปราบปราม “ถ้อยคำที่ลดทอนความเป็นมนุษย์” และเปิดเผยข้อมูลการบังคับใช้กฎดังกล่าวเป็นครั้งแรกตามการเรียกร้องของเรา แต่ทางทวิตเตอร์ก็ยังไม่แจกแจงข้อมูลอย่างชัดเจน เราจึงต้องลงมือกันเองและตั้งโครงการสายตรวจเกรียนขึ้น ซึ่งเป็นโครงการวิจัยมหาชนเพื่อเปิดโปงขนาดและลักษณะของการกลั่นแกล้งออนไลน์ที่เพ่งเล็งผู้หญิง โดยเราได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและนักกิจกรรมอนนไลน์กว่า 6500 คนจาก 150 ประเทศ ผลลัพธ์ที่ได้เมื่อเราเปิดเผยข้อมูลในเดือนธันวาคม 2018 ทำให้ต้องตะลึง เพราะสถิติระบุว่าจะมีผู้หญิงถูกกลั่นแกล้งบนทวิตเตอร์ทุกๆ 30 วินาที ผู้หญิงผิวสีจะมีโอกาสโดนแกล้งสูงกว่าผู้หญิงผิวขาวถึง 84% และเป็นอีกครั้งที่ผลการวิจัยของเราส่งให้หุ้นทวิตเตอร์ร่วงกราวภายในไม่กี่วัน ซึ่งเป็นการช่วยกดดันทวิตเตอร์ให้หันมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังมากขึ้น

 

การตัดสินคดีละเมิดทางเพศครั้งประวัติศาสตร์ในเม็กซิโก

 

© Sergio Ortiz/Amnesty International

 

ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งทวีปอเมริกาได้ประกาศคำตัดสินเมื่อเดือนพฤษจิกายน 2018 ในคดีที่ผู้หญิง 11 คนถูกทุบต ระราน และข่มขืนโดยกองกำลังความมั่นคงเม็กซิโกหลังจากพวกเธอถูกจับกุมในการประท้วงเมื่อปี 2006 ถึงแม้ทางเม็กซิโกจะยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินเหตุ แต่พวกเขาโบ้ยความผิดให้เป็นรายบุคคลแทนที่จะรับว่าทำโดยเป็นระบบ ทว่าทางศาลไม่เห็นด้วยและตัดสินให้รัฐเม็กซิโกต้องรับผิดชอบ โดยทางศาลยังระบุอีกว่าความรุนแรงทางเพศที่กระทำต่อผู้หญิงกลุ่มดังกล่าวถือเป็นการทรมาน ทางแอมเนสตี้ได้ให้การสนับสนุนผู้หญิงกลุ่มดังกล่าวนับตั้งแต่การเก็บข้อมูลการล่วงละเมิดเมื่อปี 2006 และนำไปสู่การรณรงค์ระดับนานาชาติ โดยคำตัดสินนี้ไม่ใช่แค่เพียงชัยชนะของพวกเธอทั้ง 11 คนเท่านั้น แต่ยังช่วยในการทำคดีของผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงที่เลือกปฎิบัติโดยเพศที่กระทำโดยกองกำลังความมั่นคงเม็กซิโกคนอื่นๆด้วย

 

เรื่องของความยินยอมในไอซ์แลนด์และสวีเดน

 

สวีเดนได้ออกกฎหมายให้การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้รับความยินยอมถือเป็นการข่มขืนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2018 ตามหลังโครงการ #MeToo และการรณรงค์ต่อเนื่องนานหลายปีของกลุ่มสิทธิสตรีต่างๆเช่นกลุ่มระดับรากหญ้า FATTA โดยแอมเนสตี้ได้มีส่วนในความเปลี่ยนแปลงนี้ หลังจากคอยจับตาดูและเปิดเผยช่องว่างทางกฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืนทั้งในสวีเดนและประเทศกลุ่มนอร์ดิกอื่นๆ สวีเดนเป็นประเทศที่ 8 ในยุโรปตะวันตกที่ใช้กฎหมายเกี่ยวกับการยินยอม ตามหลังประเทศไอซ์แลนด์ และในขณะที่เหล่านักรณรงค์ทั้งหลาย รวมถึงแอมเนสตี้ด้วย กำลังรณรงค์เรื่องนี้ต่อไป เดนมาร์คก็กำลังจะออกกฎหมายดังกล่าวในไม่ช้า และรัฐบาลในประเทศฟินแลนด์ กรีซ สเปน โปรตุเกต และสโลเวเนียก็กำลังพิจารณากฎหมายดังกล่าวเช่นกัน