การเลือกตั้งในอินโดนีเซีย: ถึงเวลาต้องตอกย้ำสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน

18 April 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแถลงเนื่องในวาระการเลือกตั้งของประเทศอินโดนีเซีย แนะรัฐบาลใหม่ของอินโดนีเซีย ต้องกำหนดให้สิทธิมนุษยชนเป็นองค์ประกอบสำคัญของนโยบายบริหารประเทศ หลังเกิดการปฏิบัติที่มิชอบอย่างร้ายแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ตีพิมพ์และเผยแพร่วาระสิทธิมนุษยชน โดยมีเป้าหมายถึงผู้สมัครเป็นผู้แทนในสภาจำนวน 7,968 คน และผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีอีกสองคน

 

อุสมาน ฮามิด ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศอินโดนีเซียเผยว่า วาระสิทธิมนุษยชนของเรานำเสนอแผนปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรัฐบาลและรัฐสภาใหม่ควรนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง เพื่อปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศอินโดนีเซีย หลังเกิดสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากในช่วงสี่ปีครึ่งที่ผ่านมา โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยและผู้อยู่ชายขอบ

 

“รัฐบาลใหม่มีโอกาสแก้ไขสถานการณ์นี้ และป้องกันไม่ให้เกิดความถดถอยต่อความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษชนที่เกิดขึ้นมานับแต่ปี 2541”

 

สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในอินโดนีเซียถดถอยลงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีทั้งการพุ่งเป้าโจมตีชนกลุ่มน้อยด้านศาสนามากขึ้น มีการวางเพลิงศาสนสถานและบ้านเรือนโดยฝูงชนที่บ้าคลั่ง ในบางกรณีส่งผลให้มีการบังคับโยกย้ายชุมชนออกนอกพื้นที่

 

นับแต่ต้นปี 2559 ได้เกิดปฏิการณ์ที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อข่มขู่ เลือกปฏิบัติและเพื่อผลักให้อยู่ชายขอบต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งการที่เจ้าหน้าที่จับกุมเพื่อสร้างความอับอายต่อหน้าธารกำนัล และการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่เพื่อคุกคามผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 

วาระสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลครอบคลุมประเด็นที่สำคัญเก้าประการ ซึ่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถจัดลำดับความสำคัญเองได้ ทั้งการคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพทางความคิดและด้านมโนธรรมสำนึก เสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อ ความรับผิดต่อการละเมิดและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมาของกองกำลังของรัฐ สิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในปาปัว ความรับผิดต่อการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนของบรรษัทในธุรกิจปาล์มน้ำมัน การยกเลิกโทษประหารชีวิต และการคุ้มครองสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 

ประเด็นเร่งด่วนเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อกังวลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อประเทศอินโดนีเซีย โดยเป็นผลมาจากการวิจัยอย่างต่อเนื่องของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และการติดต่อเป็นประจำกับหน่วยงานเอกชนระหว่างประเทศ และหน่วยงานในพื้นที่ รวมทั้งข้อมูลจากผู้เสียหายจากถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัว ทนายความ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้สื่อข่าวและบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

“รัฐบาลและรัฐสภาใหม่ต้องดำเนินการมากขึ้นเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ส่งเสริมพื้นที่ของภาคประชาสังคม เปิดโอกาสให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถทำงานเพื่อช่วยเหลือชีวิคคนได้”

“ด้วยเหตุดังกล่าว ทางการต้องทบทวนกฎหมายที่มักถูกใช้เพื่อขัดขวางเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเร่งด่วน รวมทั้งข้อหาหมิ่นประมาทในประมวลกฎหมายอาญา และข้อกฎหมายอื่นๆ ที่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อขัดขวางการแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างชอบธรรมและอย่างสงบ”

 

ตัวอย่างเช่น ในเดือนตุลาคม 2561 เฮนรี บูเดียวาน นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุกสี่ปี จากการละเมิดมาตรา 107(ก) ของประมวลกฎหมายอาญาอินโดนีเซียในข้อหา “อาชญากรรมต่อความมั่นคงของรัฐ” อันเนื่องมาจากการแสดงสัญลักษณ์เป็นรูปค้อนและเคียวของคอมมิวนิสต์ระหว่างการประท้วง ซึ่งเขาปฏิเสธว่าไม่ได้ทำเช่นนั้น

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รวบรวมข้อมูลกรณีการข่มขู่ การทำร้าย และการฟ้องคดีอย่างไม่เป็นธรรมต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ดำเนินการอย่างชอบธรรม ทั้งนี้รวมถึงการสาดน้ำกรดใส่โนเวล บัสเวดาน พนักงานสอบสวนคนสำคัญของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริต (KPK) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่สอบสวนด้านทุจริต ภายหลังการสอบสวนเป็นเวลาสองปี ตำรวจยังไม่สามารถจำแนกตัวผู้ต้องสงสัยได้เลย

 

“สิทธิมนุษยชนต้องเผชิญกับการโจมตีและความถดถอยครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงสี่ปีครึ่งที่ผ่านมา และประชาชนอินโดนีเซียจำนวนมากต้องประสบความทุกข์ยากโดยไม่จำเป็น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหยุดยั้งความเสื่อมถอยเหล่านี้ และสถาปนาสิทธิมนุษยชนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง” อุสมานกล่าวทิ้งท้าย