แอมเนสตี้ชมไทยถอนคำร้องทุกข์หมิ่นประมาท 3 นักปกป้องสิทธิฯ

8 มีนาคม 2560

 

แอมเนสตี้ชื่นชมทางการไทย หลัง กอ.รนม. เผยจะถอนคำร้องทุกข์ข้อหาหมิ่นประมาทต่อสามนักปกป้องสิทธิฯ ที่ทำรายงานการทรมานในพื้นที่ชายแดนใต้

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่าการที่กองทัพไทยถอนคำร้องทุกข์ข้อหาหมิ่นประมาทต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามคนที่ทำรายงานกรณีการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ชายแดนใต้นับเป็นพัฒนาการเชิงบวกด้านสิทธิมนุษยชน

 

เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เปิดเผยว่าจะถอนคำร้องทุกข์ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาและละเมิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ต่อพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ สมชาย หอมลออ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ ซึ่งร่วมกันจัดทำและเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการทรมานในจังหวัดชายแดนใต้และถูก กอ.รมน. แจ้งความร้องทุกข์เมื่อปี 2559

 

โจเซฟ เบเนดิกต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวชื่นชมการตัดสินใจของหน่วยงานของกองทัพไทยในการถอนคำร้องทุกข์ที่มีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่กล้าหาญทั้งสามคน และหวังว่าจะมีการถอนคำร้องทุกข์และยกเลิกข้อกล่าวหาต่างๆ ต่อนักนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ของพวกเขาอย่างสงบด้วยเช่นกัน

 

“คดีนี้สะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาและกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิอื่นๆ โจมตีผู้ที่ใช้สิทธิของตนอย่างสงบในประเทศไทย และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความอยุติธรรมเช่นนี้ขึ้นมาอีก ทางการไทยควรพิจารณาแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเหล่านี้ และปรับปรุงให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย” โจเซฟ เบเนดิกต์ กล่าว

 

รายงานดังกล่าวจัดทำโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจ มีข้อมูลเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติอันโหดร้ายโดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองทัพไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้รวม 54 กรณี ต่อมาในเดือนพฤษภาคม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสามคนในฐานะบรรณาธิการของรายงาน โดยแอมเนสตี้ทั่วโลกได้ร่วมกันรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีการถอนคำร้องทุกข์ต่อทั้งสามคนมาโดยตลอด

 

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามคนนี้เท่านั้นที่ถูกคุกคามจากการทำหน้าที่อย่างสงบ แอมเนสตี้พบว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางการไทยมักโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว และภาคประชาสังคมจำนวนมาก โดยเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนั่นเอง