การจู่โจมองค์กรอิสระทั่วโลกรุนแรงขึ้น ด้วยการออกกฎหมายสกัดงานสิทธิมนุษยชน

1 มีนาคม 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 

รายงานใหม่ของทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุถึงการกระทำของหลากหลายรัฐบาลทั่วโลกที่กำลังเล่นงานองค์กรอิสระทางการเมืองโดยการออกกฎหมายที่บังคับสมาชิกองค์กรให้อยู่ใต้การเฝ้าระวังโดยทางการ กลั่นแกล้งด้วยระบบราชการหรือกระทั่งข่มขู่ด้วยโทษจำคุก

 

โดยรายงานเรื่อง กฎหมายเพื่อปิดปาก: การปราบปรามองค์กรประชาสังคมรอบโลก ได้เปิดเผยรายชื่อประเทศต่างๆเกือบ 50 ชื่อ ที่เริ่มใช้หรือเตรียมออกกฎหมายและวิธีการเพื่อกดขี่และปิดกั้นการทำงานขององค์กรอิสระ

 

นายคูมี นายดู เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้กล่าวว่า “ทางเราได้เก็บรวบรวมข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการของรัฐบาลที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ในการสกัดกั้นการทำงานที่สำคัญขององค์กรอิสระต่างๆ”

 

“ในหลายๆประเทศ องค์กรอิสระที่ออกมาพูดถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนกำลังถูกปิดปาก กลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนกำลังเผชิญกับสิ่งกีดขวางที่เพิ่มขึ้นเพื่อขัดขวางการทำงาน และการปิดกั้นไม่ให้พวกเขาพูดหรือทำงานได้จะส่งผลกระทบกับทุกๆคน”

 

ในช่วงเวลาเพียงสองปีที่ผ่านมา มีการผ่านกฎหมายกว่า 40 ฉบับที่กีดขวางการทำงานขององค์กรประชาสังคมทั่วโลก โดยกฎหมายเหล่านี้มักจะมาในรูปแบบของการเพิ่มขั้นตอนทางราชการเพื่อสร้างความยากลำบากในการดำเนินงานอย่างถูกต้อง จำกัดทรัพยากร เฝ้าจับตาดู หรือกระทั่งสั่งปิดองค์กรอิสระที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อจำกัดที่ไม่มีเหตุผลของทางการได้

 

เป็นปัญหากันทั่วโลก

 

เมื่อเดือนตุลาคม 2018 รัฐมนตรีประเทศปากีสถานปฏิเสธคำร้องจัดตั้งองค์กรอิสระระดับนานาชาติกว่า 18 เจ้า รวมถึงเพิกเฉยคำขอให้ทบทวนการตัดสินใจดังกล่าวโดยไม่ระบุสาเหตุ

 

องค์กรอิสระในเบลารุสก็กำลังถูกจับตาดูเช่นกัน และการทำงานให้กับองค์กรที่ถูกปฏิเสธใบอนุญาต(หรือยกเลิกโดยไม่แจ้งเตือน)ถือเป็นความผิดอาญา

 

รัฐบาลซาอุดีอาระเบียสามารถปฏิเสธที่จะออกใบอนุญาตให้องค์กรอิสระเจ้าใหม่ได้ รวมถึงยกเลิกใบอนุญาตที่ออกแล้วหากองค์กรดังกล่าว “เป็นภัยต่อความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศ” ซึ่งกฎดังกล่าวกระทบกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนอย่างมาก รวมถึงกลุ่มสิทธิสตรีที่ไม่สามารถทำงานอย่างเสรีได้ในประเทศ

 

องค์กรอิสระที่รับเงินจากต่างประเทศในอิยิปต์ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบที่เข้มงวดและไม่เป็นธรรม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวนมากถูกสั่งห้ามเดินทาง ยึดทรัพย์และดำเนินคดี โดยพวกเขาอาจถูกจำคุกนานถึง 25 ปีหากถูกตัดสินให้มีความผิดจากการรับเงินจากต่างประเทศ

 

นายคูมียังกล่าวอีกว่า “สำนักงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนลได้ตกเป็นเป้าโจมตีในหลายประเทศตั้งแต่อินเดียจนถึงฮังการี ทางการได้กลั่นแกล้งพนักงานของเรา บุกค้นสำนักงานและยึดทรัพย์สิน โดยทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีองค์กรอิสระในประเทศ”

 

การจำคุกเมื่อไม่ปฏิบัติตาม

 

หลายๆประเทศเช่นอาเซอร์ไบจาน จีน และรัสเซียได้ออกระเบียบใหม่ที่บีบบังคับองค์กรอิสระมากขึ้น โดยหากไม่สามารถทำตามได้จะถูกตัดสินจำคุก หนึ่งในนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนชาวอาเซอร์ไบจาน นายราซุล จาฟารอฟ ได้เล่าให้เราฟัง

 

“ผมถูกจับเพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมและการประท้วงของกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ผมทำอยู่” ราซุลเล่าให้ฟัง โดยตัวเขาเองเพิ่งจะได้ออกจากเรือนจำเมื่อปี 2016 หลังถูกคุมขังมาปีกว่า “มันเป็นบรรยากาศที่เลวร้าย คนที่ยังไม่โดนจับต้องยุบองค์กรหรือล้มโครงการไป หลายๆคนต้องออกไปทำงานนอกประเทศ”

 

ข้อจำกัดเหล่านี้หมายความว่าองค์กรอิสระจะต้องตกอยู่ในการจับตาของรัฐบาล โดยประเทศจีนได้ออกข้อบังคับใหม่ที่ควบคุมการทำงานขององค์กรอิสระอย่างเข้มงวดตั้งแต่การจดทะเบียน รายงานเส้นทางการเงิน ข้อจำกัดการจ้างงานและการเรี่ยไร

 

ในประเทศรัสเซีย รัฐบาลระบุองค์กรอิสระที่รับเงินจากต่างประเทศเป็น “สายของต่างชาติ” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเดียวกันกับการเป็นสายลับ ผู้ทรยศ และศัตรูของชาติ โดยระเบียบนี้ถูกใช้อย่างกว้างมากจนแม้กระทั่งองค์กรช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเบาหวานยังนับเป็นสายของต่างชาติ จนถูกปรับอย่างหนักจนกระทั่งถูกสั่งปิดเมื่อเดือนตุลาคม 2018 โดยทั้งนี้องค์กรอิสระด้านการแพทย์ สิ่งแวดล้อม และสิทธิสตรีก็ตกเป็นเป้าอยู่เช่นกัน

 

ผลกระทบลูกคลื่น

 

นโยบายที่กดขี่ของรัสเซียส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปยังหลายๆประเทศ

 

ทางการฮังการีบังคับให้องค์กรอิสระระบุตัวเองว่า “รับทุนจากต่างประเทศ” เพื่อลดความน่าเชื่อถือในสังคม องค์กรที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกปรับอย่างหนักและอาจถูกสั่งพักงานได้ โดยองค์กรด้านผู้ลี้ภัยถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษและมีการคุกคามพนักงานอย่างมากหลังมีการออกกฎหมายใหม่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018

 

“เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราและองค์กรอื่นๆต่อไป แล้วกฎหมายใหม่อะไรจะออกมาอีก” นายเอรอน ดีมีเทอร์จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ฮังการี กล่าว

 

“พนักงานของเราหลายคนตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้งทั้งบนโลกออนไลน์และชีวิตจริง สถานที่จัดงานหลายแห่งปฏิเสธที่จะร่วมงานกับเราอีก รวมไปถึงโรงเรียนหลายๆแห่งที่เคยทำกิจกรรมสิทธิมนุษยชนก็กลัวการตอบโต้จนต้องยกเลิกกิจกรรมไป”

 

บางประเทศจะเลือกกดดันองค์กรที่ปกป้องผู้เป็นเหยื่อในสังคมเป็นพิเศษ โดยกลุ่มที่รับผลกระทบอย่างหนักที่สุดมักจะเป็นกลุ่มสิทธิสตรี โดยเฉพาะสิทธิทางเพศและการเจริญพันธุ์ กลุ่มสิทธิความหลากหลายทางเพศ สิทธิผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

 

“ไม่มีใครที่ควรถูกดำเนินคดีเพราะออกมาปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้นำทั่วโลกควรที่จะพยายามสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม และทำให้ประชาชนของตนมีหน้าที่การงานที่มั่นคง ระบบสาธารณสุขที่ดี เข้าถึงการศึกษาและที่พักอาศัยได้ ไม่ใช่เล่นงานคนที่ออกมาเรียกร้องประเด็นดังกล่าว” นายคูมีกล่าว

 

“นักปกป้องสิทธิมนุษยชนลุกขึ้นมาเพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าสำหรับทุกๆคน พวกเราจะไม่ยอมแพ้เพราะเรารู้ดีว่างานนี้สำคัญแค่ไหน ยิ่งเมื่อผู้นำนานาชาติได้ย้ำคำมั่นไว้เมื่อวันครบรอบ 20 ปีที่จะทำตามปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อพวกเขา มันถึงเวลาที่เหล่าผู้นำจะต้องทำให้มันเป็นความจริง”

 

กฎระเบียบที่บีบบังคับองค์กรอิสระยังสามารถพบได้ในอีกหลายประเทศ แม้กระทั่งประเทศที่ขึ้นชื่อถึงความเป็นเสรีด้านประชาสังคมเช่นสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา โดยทางซิวิคัส แนวร่วมของนักกิจกรรมและองค์กรภาคประชาสังคมระดับโลกได้กล่าวว่ารายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนลได้เผยแพร่ในช่วงเวลาที่สำคัญพอดี

 

“รายงานนี้นับว่าเผยแพร่ออกมาได้ทันท่วงทีกับสภาวะการออกระเบียบเพื่อควบคุมองค์กรอิสระภาคประชาสังคมในตอนนี้” นายแมนดีป ทีวานา หัวหน้าฝ่ายโครงการของซิวิคัสกล่าว “เหล่าผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและงานประชาสังคมจะสามารถร่วมมือกันหยุดยั้งปัญหานี้ได้ก็เพราะได้มีผู้ชี้ให้เห็นปัญหานั้นๆแล้ว”