ประเทศไทย: แอมเนสตี้ยินดีกับการที่หญิงชาวซาอุฯ ได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัย

9 มกราคม 2561

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

สืบเนื่องจากรายงานข่าวว่า องค์การสหประชาชาติให้สถานะผู้ลี้ภัยกับราฮาฟ โมฮาเหม็ด อัล-คูนูน หญิงซาอุฯ วัย 18 ปีแล้ว และได้มีการส่งเรื่องการพำนักในประเทศที่สามให้กับรัฐบาลออสเตรเลียพิจารณาแล้ว ซามาฮ์ ฮาดิด ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ภูมิภาคตะวันออกกลาง แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวดังนี้

 

“เรื่องราวของราฮาฟส่งสัญญาณที่สำคัญต่อชาวโลก ที่ร่วมกันรณรงค์สนับสนุนข้อเรียกร้องให้มีการคุ้มครองเธอ และพลังของประชาชนมีอำนาจเหนือผู้ที่ต้องการกดขี่เธอ ราฮาฟต้องยอมเสี่ยงภัยอย่างมาก เพื่อหลบหนีจากครอบครัว และทำลายระบบที่ผู้หญิงต้องอยู่ใต้การกำกับดูแลของเพศชายในซาอุดีอาระเบีย ในเวลาเพียงไม่กี่วัน เรื่องราวของเธอกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหลายล้านคนทั่วโลก มาช่วยกันเตือนให้โลกระลึกถึงความกล้าหาญและความเสียสละอย่างใหญ่หลวง ซึ่งหลายๆ คน ในหลายๆ ประเทศ ได้แสดงออกมาเพื่อแสวงหาที่พักพิงอันปลอดภัยในต่างประเทศ

 

“เรายินดีกับความเป็นผู้นำของทางการไทยในการจัดการกับกรณีของราฮาฟ อย่างไรก็ดี บุคคลไม่ควรถูกส่งตัวไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงว่าจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ฮาคีม อัลอรายบี ผู้ลี้ภัยชาวบาห์เรนและเหยื่อการซ้อมทรมานซึ่งก่อนหน้านี้อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย ได้ถูกทางการไทยควบคุมตัวเอาไว้เป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว ระหว่างรอการไต่สวนการขอให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ในอดีตประเทศไทยมักละเมิดความรับผิดชอบของตนที่มีต่อผู้ขอลี้ภัยและผู้ลี้ภัย การแสดงมนุษยธรรมต่อกรณีของราฮาฟจึงไม่ควรจบแค่กรณีของเธอเท่านั้น”

 

ข้อมูลพื้นฐาน

 

ราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-คูนูนเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิวันที่ 5 มกราคม 2562 ระหว่างการเดินทางจากคูเวตไปออสเตรเลีย อัล-คูนูนบอกว่า เธอหลบหนีมาจากการปฏิบัติมิชอบ การทุบตี และการขู่ฆ่าจากครอบครัวของตนเอง เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ อัล-คูนูนบอกว่า เจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ ได้ยึดหนังสือเดินทางของเธอเอาไว้ ส่วนหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยบอกว่า อัล-คูนูนถูกขัดขวางไม่ให้เดินทางต่อไปยังออสเตรเลีย และได้มีการติดต่อกับ “สถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียเพื่อประสานงาน” ในเรื่องนี้ จากการทวีตรายงานสดสถานการณ์ของตนเอง ทำให้คนทั้งโลกเกิดความสนใจ และเป็นเหตุให้เธอได้รับอนุญาตให้พำนักอาศัยในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ภายใต้การคุ้มครองขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 7 มกราคม

 

ในวันที่ 9 มกราคม กระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลียประกาศว่า UNHCR ได้ให้ความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยกับเธอแล้ว และระบุว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ไปพำนักอาศัยในออสเตรเลีย