สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2561

24 ธันวาคม 2561

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

จากจำนวนศพที่เพิ่มขึ้นมากมายในระหว่าง ”สงครามปราบปรามยาเสพติด” ของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตแห่งฟิลิปปินส์และรัฐบาลของเขา ไปจนถึงการปิดปากฝ่ายค้านทางการเมืองและสื่ออิสระในกัมพูชา ปฏิบัติการรุนแรงของกองทัพเมียนมา ทั้งการสังหาร การข่มขืน และการจุดไฟเผา ซึ่งเป็นเหตุให้ชาวโรฮิงญากว่า 720,000 คน ทั้งผู้หญิง ผู้ชายและเด็ก หลบหนีจากตอนเหนือของรัฐยะไข่เข้าสู่บังกลาเทศ สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก มีแนวโน้มเลวร้ายลงในปี 2561

  

ท่ามกลางบรรยากาศลอยนวลพ้นผิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเสี่ยงภัยมากขึ้น รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคยังคงไม่ปฏิบัติตาม หรือเพิกเฉยต่อพันธกรณีของตน ในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นเหตุให้พวกเขาตกเป็นเหยื่อการคุกคาม การข่มขู่ การดำเนินคดีอาญา และความรุนแรงต่อไป ผู้ที่ต่อสู้อยู่ในแนวหน้า ทั้งนักเคลื่อนไหวที่เป็นเยาวชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อที่ดิน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง และนักสหภาพแรงงาน ทุกคนตกเป็นเป้าหมายการปราบปรามของรัฐ เนื่องจากการออกมาแสดงความเห็นเพื่อปกป้องสิทธิ

 

 

เครื่องมือเพื่อปราบปราม จากการสอดแนมไปจนถึงการคุกคามทางอินเตอร์เน็ต

 Screen Shot 2561-12-24 at 15.27.46.png

 

รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ไม่อดทน ไม่ยอมให้มีการแสดงความเห็นต่างและการเคลื่อนไหวอย่างสงบ มีการใช้อำนาจทางศาลอย่างมิชอบ เพื่อบังคับใช้กฎหมายที่จำกัดการใช้สิทธิอย่างสงบ และทำให้พื้นที่ของภาคประชาชนหดตัวลง การคุกคามสื่อเสรีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราที่น่าตกใจ ในสิงคโปร์ นักเคลื่อนไหวตกเป็นเป้าหมายของแรงกดดันและการวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งการถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐาน “ทำให้เกิดความอับอายต่อกระบวนการยุติธรรม” เนื่องจากการแสดงความเห็นของตนในเฟซบุ๊ก ในประเทศไทย นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าว นักการเมือง นักกฎหมายและนักกิจกรรมจำนวนมากถูกดำเนินคดี เนื่องจากการชุมนุมอย่างสงบ และถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาและข้อหายุยงปลุกปั่น ในฟิจิ ผู้บริหารสื่อสามคนและผู้เขียนจดหมายหนึ่งคน ต้องเข้ารับการไต่สวนในข้อหายุยงปลุกปั่น และต่อมามีการยกฟ้องคดี เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นข้อหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง

  

ในฟิลิปปินส์ เช่นเดียวกับในเมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย และกัมพูชา มีการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นเพื่อยุยงให้มีการแสดงความเห็นเพื่อสร้างความเกลียดชังต่อชนกลุ่มน้อยด้านสังคม ศาสนา หรือชาติพันธุ์ โดยเฉพาะการแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ในเวลาเดียวกัน มีคนจำนวนมากขึ้นถูกลงโทษเนื่องจากการแสดงความเห็นทางอินเตอร์เน็ต รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ทางการอย่างสงบ กฎหมายคอมพิวเตอร์แบบเผด็จการได้ถูกใช้ทั่วภูมิภาค ส่งผลให้เกิดภัยคุกคามในระยะยาวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนต่อเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิความเป็นส่วนตัว ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนกรกฎาคม เวียดนามได้ผ่านกฎหมายฉบับใหม่ที่ให้อำนาจรัฐอย่างกว้างขวางและมีลักษณะเผด็จการ ทำให้รัฐสามารถเซ็นเซอร์และบังคับให้บริษัทผู้ให้บริการเทคโนโลยี ต้องยอมมอบข้อมูลมหาศาลให้ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน และสามารถเซ็นเซอร์การโพสต์แสดงความเห็นของผู้ใช้งานได้

 

แม้ว่าประเทศไทยให้พันธสัญญาจะยกเลิกโทษประหาร แต่ยังคงประหารชีวิตชายอายุ 26 ปีคนหนึ่งในข้อหา ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ถือว่าสิ้นสุดยุคเก้าปีที่ปลอดจากการประหารชีวิต

 

 

ผู้ปฏิบัติมิชอบหลบซ่อนอยู่หลังหน้ากากประชาธิปไตย

 2bf0a6d173e8383a2e7e895281e3bd6d4fd9d697.jpg

  

ในกัมพูชา พรรคของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกรกฎาคม โดยก่อนหน้านั้นได้ใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อขจัดฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง และยังได้สั่งปิดสื่อมวลชนหลายสิบแห่ง ก่อนจะมีการออกเสียงเลือกตั้ง การแบ่งปันอำนาจในเมียนมาระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพ ส่งผลให้เกิดสภาพที่เลวร้ายลงของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ แม้ว่ารัฐบาลพรรค National League for Democracy ของอองซานซูจีจะมีเสียงข้างมากในสภา ซึ่งย่อมทำให้สามารถแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายเผด็จสุดบางฉบับได้ 

 

 

ผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบตกเป็นเป้าหมาย แม้จะมีความหวังในมาเลเซีย

 10920fefa1f8467e64e77afc46c3250149e2215c.jpg

ผลการเลือกตั้งที่น่าประหลาดใจของมาเลเซียเมื่อเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ต้องออกจากตำแหน่ง ถูกมองว่าเป็นเส้นทางที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนในเชิงบวก อันวาร์ อิบราฮิม นักโทษด้านมโนธรรมสำนึกได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ยุติกว่าสองทศวรรษของการปราบปรามทางการเมืองต่ออดีตแกนนำฝ่ายค้าน ในเดือนตุลาคม รัฐบาลประกาศแผนยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท รวมทั้งยกเลิกพระราชบัญญัติความผิดฐานยุยงปลุกปั่นที่กดขี่ ซึ่งนับเป็นก้าวย่างสำคัญไปข้างหน้า หากมีการดำเนินงานจริง

 

ในพื้นที่อื่น ๆ การจับกุมและควบคุมตัวที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองและมีเป้าหมายเป็นผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเมียนมา วาโลนและจอโซอู นักข่าวรอยเตอร์ต่างถูกศาลลงโทษจำคุกเป็นเวลาเจ็ดปี เนื่องจากพยายามเปิดโปงเหตุการณ์สังหารหมู่ชายชาวโรฮิงญาโดยกองทัพ ในฟิลิปปินส์เมื่อเดือนกันยายน สว.แอนโทนิโอ ตรีลาเนส IV ซึ่งมักวิพากษ์วิจารณ์ดูเตอร์เต ถูกจับและต่อมาได้รับการประกันตัวออกมา ส่วนสว.ไลลา ดี ลิมา ได้ถูกควบคุมตัวมากว่าหนึ่งปีแล้วในข้อหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง สิ่งที่ถือเป็นพัฒนาการทางบวกที่หาได้ยากอย่างหนึ่งคือ เทพ วันนี นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิด้านที่อยู่อาศัยอของกัมพูชา ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ หลังติดคุกมาสองปีเนื่องจากการลงโทษที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ในเวียดนาม “แม่น้ำ” (ซึ่งแปลว่าแม่ของเห็ด) บล็อกเกอร์ ก็ได้รับการปล่อยตัวหลังถูกควบคุมตัวมาสองปี และถูกเนรเทศไปยังสหรัฐฯ

 

ผู้มีความหลากหลายทางเพศยังคงต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติที่ร้ายแรงต่อไป ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ยังมีบุคคลที่ถูกปราบปรามและถูกลงโทษอย่างรุนแรงตามกฎหมายที่ควบคุมกิจกรรมทางเพศอย่างเข้มงวด ในเดือนสิงหาคม ผู้หญิงมาเลเซียสองคนถูกปรับและถูกเฆี่ยนตีต่อสาธารณะ เนื่องจาก “พยายามมีเพศสัมพันธ์แบบเลสเบียน” ในประเทศทางแปซิฟิกเจ็ดประเทศ ซึ่งมีการเอาผิดทางอาญากับการรักเพศเดียวกัน ประชาชนหลายพันคนต้องเผชิญกับอคติและต้องดำรงชีวิตอยู่ใต้ความหวาดกลัวว่าจะถูกจำคุก

 

 

การขาดการคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย

 2f1eb2d3e65bcebda9e9aa44148ad6fe75e6da8f.jpg

สภาพความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย และแรงงานข้ามชาติตลอดทั่วภูมิภาค ยังคงเปราะบางอย่างยิ่ง และสถานการณ์เลวร้ายลงเนื่องจากขาดการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเป็นทางการ สำหรับผู้ขอลี้ภัยในหลายประเทศ ในเดือนสิงหาคม ทางการไทยได้ควบคุมตัวผู้ลี้ภัยเผ่ามองตานญาดจากเวียดนามและกัมพูชาอย่างน้อย 168 คนโดยไม่มีเวลากำหนด มีทั้งผู้หญิงตั้งครรภ์และเด็ก ต้นปีนี้ ทางการไทยได้บังคับส่งกลับแซม โสคา ผู้ลี้ภัยจากกัมพูชา ซึ่งถือเป็นการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ

 

สำหรับผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นในประเทศ พวกเขายังคงประสบปัญหาในการเข้าถึงความช่วยเหลือ โดยมีสถานการณ์เลวร้ายสุดในเมียนมา เนื่องจากทั้งหน่วยงานพลเรือนและกองทัพจำกัดการเข้าถึงพื้นที่ของหน่วยงานสหประชาชาติและหน่วยงานบรรเทาทุกข์ของเอกชน ในรัฐคะฉิ่นและตอนเหนือของรัฐฉาน ทางการปิดกั้นการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ในพื้นที่นอกเหนือการควบคุมของรัฐ ส่วนในรัฐยะไข่ ประชาชนกว่า 125,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา ยังคงถูกจำกัดบริเวณให้อยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นที่มีสภาพเลวร้าย และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อความอยู่รอด

 

ออสเตรเลียยังคงเรียกเสียงประณามต่อไป เนื่องจากปฏิเสธที่จะนำตัวผู้ขอลี้ภัยและผู้ลี้ภัยกว่า 1,000 คนออกจากสถานกักตัวในเกาะกลางทะเลที่เกาะนาอูรูและเกาะแมนัสของปาปัวนิวกินี ซึ่งเป็นความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศเหล่านั้น เพื่อเข้าสู่กระบวนการแสวงหาที่ลี้ภัย กรณีที่โด่งดังเป็นที่รู้จัก รวมถึงการปฏิเสธไม่ให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเพียงพอ การพยายามฆ่าตัวตายของวัยรุ่นที่ถูกกักตัว ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องจากองค์การสหประชาชาติ หน่วยงานทางการแพทย์ นักกฎหมายและภาคประชาสังคม ให้ออสเตรเลียแก้ไขข้อผิดพลาด และปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อดูแลบุคคลเหล่านี้

 

 

สุญญากาศของความรับผิด

 6e97695f32c3785269d439707d0c263cf9d4002b.jpg

เจ้าหน้าที่ของกองทัพที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงลอยนวลพ้นผิดต่อไป ในอินโดนีเซีย แม้จะมีข้อกล่าวหาถึงการปฏิบัติมิชอบในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งในจังหวัดปาปัวอยู่เสมอ แต่แทบไม่มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระเกิดขึ้น และไม่มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการของศาล ความพยายามให้เกิดความรับผิด รวมทั้งการผ่านร่างพระราชบัญญัติเพื่อเอาผิดกับการซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย ยังคงประสบความล่าช้าต่อไป  

 

รัฐบาลเมียนมาแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถ และไม่ประสงค์ที่จะสอบสวนและนำตัวผู้รับผิดชอบต่อปฏิบัติการรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในตอนเหนือของรัฐยะไข่มาลงโทษ เจ้าหน้าที่ของกองทัพได้สังหารประชาชนหลายพันคน ข่มขืนผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ควบคุมตัวผู้ชายและเด็กผู้ชายในสถานที่ต่าง ๆ และได้เผาบ้านเรือนหลายร้อยหลังของชาวโรฮิงญาจนราบเป็นหน้ากลอง ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างชัดเจน และทางหน่วยงานสอบสวนของสหประชาชาติบอกว่ารุนแรงถึงขั้นเป็นการสังหารล้างเผ่าพันธุ์

 

การสังหารนอกกระบวนการกฎหมายเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่สามใน “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ในฟิลิปปินส์ หลักฐานมากมายที่ชี้ถึงการปฏิบัติมิชอบของตำรวจ รวมทั้งการละเมิดสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งอาจถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เน้นให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่องค์การสหประชาชาติต้องดำเนินการสอบสวนระหว่างประเทศต่อกรณีการสังหารเหล่านี้  

 

เนื่องจากยังไม่มีการสอบสวนระดับชาติที่เป็นอิสระและไม่ลำเอียงเกิดขึ้นในเมียนมาหรือฟิลิปปินส์ จึงเกิดแรงกดดันให้ศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณาดำเนินการต่อบุคคล ที่ต้องสงสัยว่าก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมอื่น ๆ ถือเป็นสถานการณ์ในเชิงบวกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ศาลอาญาระหว่างประเทศประกาศเริ่มการสอบสวนเบื้องต้น กรณีของฟิลิปปินส์ ในเดือนกันยายน คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กำหนดให้มีกลไกความรับผิด เพื่อเก็บและรักษาพยานหลักฐานยืนยันความทารุณโหดร้ายที่เกิดขึ้นในเมียนมา นับเป็นก้าวย่างที่จะนำไปสู่ความยุติธรรม แต่ที่ผ่านมาทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ยังไม่ส่งเรื่องอย่างเป็นทางการให้ศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณา ฟิลิปปินส์ รวมทั้งจีนและบุรุนดี เป็นเพียงรัฐเดียวในภูมิภาคนี้ที่ออกเสียงคัดค้านมติดังกล่าว

 

หากปราศจากความพยายามอย่างมีเอกภาพเพื่อส่งเสริมความคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน และการทำงานที่สำคัญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน บรรดาผู้ที่เชื่อถือแนวคิดสุดโต่งและมีอิทธิพลในภูมิภาค ย่อมจะสามารถปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิต่อไป และทำลายชีวิตมนุษย์โดยไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด