สารจากเลขาธิการ เรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในปี 2561

19 ธันวาคม 2561

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ในวันนี้ โลกรำลึกถึงครบรอบ 70 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญมากที่มีการรับรองโดยประชาคมระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 เป็นการแสดงความเป็นเอกภาพอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพื่อให้กำเนิดกฎบัตรที่รับรองสิทธิเป็นฉบับแรกที่มีผลบังคับใช้กับทุกคน แสดงถึงเจตจำนงที่จะขจัดความอยุติธรรมทั่วโลก

 

แต่เจ็ดทศวรรษผ่านไป เราเห็นเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ เป็นเหตุให้เกิดผู้นำในลักษณะที่แสดงความเป็นใหญ่ของเพศชาย มีอคติต่อเพศหญิง อคติต่อเพื่อนมนุษย์ที่ต่างจากเรา และเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน พวกเขาทำตัวเหมือนเป็นผู้นำ “ที่แข็งแกร่ง” เป็นภาพสะท้อนเดียวกับการรุ่งเรืองขึ้นของลัทธิฟาสซิสต์ในยุคทศวรรษ 1930 ต่อเนื่องจากความถดถอยทางเศรษฐกิจในช่วงนั้น และนำไปสู่ความทารุณโหดร้ายในช่วงการสังหารชาวยิวจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหตุให้มีการเสนอการแก้ปัญหาด้วยการจัดทำปฏิญญาสากล และการประกาศว่าบุคคลทุกคน “เกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ”  

 

ในปี 2561 เราได้เห็นบรรดาผู้นำซึ่งทำตัวเหมือน “บุรุษผู้แข็งแกร่ง” เหล่านี้หลายคน พยายามทำลายหลักการความเท่าเทียม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของกฎหมายสิทธิมนุษยชน พวกเขาหาทางสร้างภาพที่ชั่วร้าย และประหัตประหารกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบและยากลำบาก แต่การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นที่รับรู้หรือเป็นที่พบเห็นมากสุด คงหนีไม่พ้นการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี

 

พลังของเสียงผู้หญิง

 

 

ผู้หญิงทั่วโลกอยู่ในแนวหน้าการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในปี 2561 ในอินเดียและแอฟริกาใต้ ผู้หญิงหลายพันคนออกมาประท้วงต่อต้านความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ในซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน นักเคลื่อนไหวที่เป็นผู้หญิงเสี่ยงจะถูกจับกุม และออกมาต่อต้านกฎหมายห้ามผู้หญิงขับรถและกฎหมายที่บังคับให้ผู้หญิงสวมฮิญาบ ในอาร์เจนตินา ไอร์แลนด์ และโปแลนด์ มีผู้ประท้วงมากมายเรียกร้องให้ยุติกฎหมายทำแท้งที่กดขี่ ประชาชนหลายล้านคนในสหรัฐฯ ยุโรป และบางส่วนของเอเชีย ได้เข้าร่วมกลุ่มผู้หญิงที่เดินขบวนในนามกลุ่ม #MeToo เพื่อเรียกร้องให้ยุติอคติและการปฏิบัติมิชอบทางเพศ ในตอนเหนือของไนจีเรีย ผู้หญิงพลัดถิ่นหลายพันคนรวมตัวเรียกร้องความยุติธรรม จากการถูกปฏิบัติมิชอบโดยสมาชิกกลุ่มโบโกฮาราม และเจ้าหน้าที่ของกองทัพไนจีเรีย

 

เราไม่อาจบรรยายได้ครอบคลุมถึงพลังมหาศาลของเสียงผู้หญิงเหล่านี้ เสียงที่ทรงพลังซึ่งเรียกร้องให้มีการเคารพสิทธิสตรีเสียที ประชาชนในไอร์แลนด์ออกเสียงอย่างถล่มทลายเพื่อคว่ำกฎหมายทำแท้ง ในซาอุดีอาระเบีย ผู้หญิงได้รับสิทธิที่จะขับรถในที่สุด ในไอซ์แลนด์และสวีเดน มีการออกกฎหมายใหม่เพื่อนิยามว่า การข่มขืนครอบคลุมถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้รับความยินยอม ในสหรัฐฯ ข้อกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติมิชอบทางเพศ ส่งผลสั่นสะเทือนในแวดวงสถาบันที่ชายเป็นใหญ่ในฮอลลีวูด ท้าทายทศวรรษแห่งการลอยนวลพ้นผิด

 

สถานการณ์ที่ยากลำบากของสิทธิสตรี

 

แต่เราไม่สามารถเฉลิมฉลองความสำเร็จที่รวดเร็วของการเคลื่อนไหวเพื่อผู้หญิงได้ โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลที่ผลักดันให้ผู้หญิงต้องออกมาต่อสู้อย่างจริงจัง ข้อเท็จจริงที่ตรงข้ามประการหนึ่งในปี 2561 ได้แก่ รัฐบาลในหลายประเทศประกาศสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อนโยบายและกฎหมายซึ่งควบคุมบังคับและกดขี่ผู้หญิง

 

40% ของผู้หญิงทั่วโลกในวัยเจริญพันธุ์ อาศัยอยู่ในประเทศซึ่งยังมีกฎหมายควบคุมการทำแท้งอย่างเข้มงวด และผู้หญิงประมาณ 225 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงการคุมกำเนิดสมัยใหม่ได้ แม้จะมีการรณรงค์อย่างกว้างขวาง เอลซัลวาดอร์ยังคงไม่ยอมเลิกเอาผิดกับการทำแท้งไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ในขณะที่วุฒิสภาอาร์เจนตินาได้โหวตคว่ำร่างพระราชบัญญัติรับรองการทำแท้งสำหรับอายุครรภ์ 14 เดือนแรกด้วยคะแนนเสียงเฉียดฉิว ในเวลาเดียวกัน ผู้กำหนดนโยบายในโปแลนด์และกัวเตมาลา ยังคงสนับสนุนกฎหมายทำแท้งที่เข้มงวดต่อไป ส่วนในสหรัฐฯ มีการตัดงบประมาณสนับสนุนคลินิกวางแผนครอบครัว เป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้หญิงหลายล้านคน

 

ความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาพส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อผู้หญิง คนข้ามเพศ และผู้ที่ใช้ชีวิตไม่ตรงกับเพศสภาพของตน แต่กลับกลายเป็นวิกฤตสิทธิมนุษยชนที่ถูกเพิกเฉยโดยนักการเมืองต่อไป ในเดือนกรกฎาคม บัลแกเรียลงมติไม่ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาอีสตันบุล สนธิสัญญาของยุโรปเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงต่อผู้หญิง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญของบัลแกเรียวินิจฉัยว่า อนุสัญญาดังกล่าว “ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” ในเดือนสิงหาคม ลักเซมเบิร์กได้เป็นประเทศที่ 33 ที่ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญานี้ แต่แม้ว่าประเทศในยุโรปจำนวนมากลงนามรับรองอนุสัญญา และสัญญาว่าจะปฏิบัติตาม แต่สถิติที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงสถานการณ์ที่ยังน่ากลัว

 

มีรายงานว่า หนึ่งใน 10 ของเด็กผู้หญิงทั่วโลกถูกทำร้ายทางเพศก่อนอายุ 20 ปี ในขณะที่มีเพียงหนึ่งในสามของประเทศในประชาคมยุโรปที่มีกฎหมายรับรองว่า การมีเพศสัมพันธ์โดยปราศจากความยินยอมถือเป็นการข่มขืน ในที่อื่น ๆ จากการสัมภาษณ์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้หญิงในพื้นที่ที่มีการสู้รบทั้งในไนจีเรีย อิรัก ซูดานใต้ และเมียนมา ต่างบรรยายถึงความทารุณโหดร้ายจากความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับตน โดยมักเป็นการลงมือของเจ้าหน้าที่กองทัพของประเทศตนเอง

 

ผู้หญิงทั่วโลกต้องประสบกับการเลือกปฏิบัติที่ทับซ้อนกันหลายชั้น รวมทั้งการเลือกปฏิบัติเนื่องจากรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือสถานะทางสังคม-เศรษฐกิจ พวกเธอต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แตกต่างกันและมากกว่ากลุ่มอื่น ในโซมาเลีย ผู้หญิงพิการมักตกเป็นเหยื่อการบังคับแต่งงานและความรุนแรงในครอบครัว ในแคนาดา ผู้หญิงพื้นเมืองเสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อการฆาตกรรมมากกว่าผู้หญิงกลุ่มอื่น ๆ ถึงหกเท่า พวกเราซึ่งอยู่ในขบวนการผู้หญิงและสิทธิมนุษยชน ต้องใช้ความพยายามมากกว่านี้เพื่อทำความเข้าใจกับรูปแบบการเลือกปฏิบัติที่ทับซ้อนกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน และประกันว่า มีการรับฟังเสียงของกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบสุดเหล่านี้

 

เพื่อตอบโต้แรงต่อต้านและการรณรงค์ของผู้หญิง กลุ่มที่เป็นปรปักษ์กับสิทธิทั่วละตินอเมริกาและยุโรป ใช้ยุทธวิธีใหม่ในการปราบปราม การตีตรานักสตรีนิยมและนักรณรงค์เพื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวหาว่าพวกเขาเป็น “ผู้สนับสนุนอุดมการณ์ของเพศสภาพ” (gender ideology) ซึ่งในความเห็นของพวกเขาถือเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อ “คุณค่าของชีวิตสมรสและชีวิตครอบครัว” กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้พยายามหาทางปิดปากผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการรณรงค์เกี่ยวกับการปฏิบัติมิชอบที่เกิดขึ้นในอินเตอร์เน็ต เป็นเหตุให้ผู้คนจากเพศสภาพที่หลากหลายซึ่งร่วมกันรณรงค์ต่อต้านความไม่เท่าเทียมทางเพศสภาพ ยังต้องต่อสู้อีกรอบหนึ่ง เพื่อคุ้มครองสิทธิที่จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้

 

จากงานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในปีนี้ ซึ่งถือเป็นการศึกษาเป็นครั้งแรก ๆ ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและความรุนแรงต่อผู้หญิงทางอินเตอร์เน็ต ยืนยันสิ่งที่ผู้หญิงหลายคนรู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องจริง กล่าวคือ สื่อโซเชียลมีเดียมีทั้งคุณและโทษในตัวของมันเอง บริษัทและรัฐบาลต่าง ๆ ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถคุ้มครองผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียจากการปฏิบัติมิชอบที่เกิดขึ้นมากมายทางอินเตอร์เน็ต ส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง หรือตัดสินใจเลิกใช้โซเชียลมีเดียไปเลย

 

ในทางตรงข้าม โซเชียลมีเดียมีส่วนช่วยให้คนเห็นความสำคัญมากขึ้นต่อเสียงของผู้หญิงในบางพื้นที่ของโลก ซึ่งเรียกร้องความเท่าเทียมในที่ทำงาน และเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาหลายทศวรรษหรือหลายศตวรรษด้วยซ้ำ และเป็นเหตุให้เกิดกระแสความสนใจครั้งใหม่ในปีนี้ ต่อเสียงเรียกร้องให้ลดช่องว่างด้านรายได้ของคนที่มีเพศสภาพแตกต่างกัน ซึ่งปัจจุบันมีความแตกต่างกันถึง 23% ในระดับโลก ผู้หญิงไม่เพียงได้รับค่าตอบแทนโดยเฉลี่ยน้อยกว่าผู้ชาย แต่มักจะต้องทำงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือทำงานนอกระบบ งานที่ขาดความมั่นคง และงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะฝีมือ ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากบรรทัดฐานทางสังคมที่มองว่าผู้หญิงและการทำงานของผู้หญิงมีสถานะต่ำกว่า

 

หากปราศจากความเท่าเทียมในที่ทำงาน ผู้หญิงต้องแบกรับผลกระทบจากปัญหาในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อไป ในสหราชอาณาจักร มีรายงานว่าผู้หญิงต้องแบกรับ 86% ของภาระที่เกิดจากมาตรการตัดลดงบประมาณ ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2553 เนื่องจากผู้หญิงต้องพึ่งพาประกันสังคม

 

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผู้หญิงมักติดอยู่ในกับดักวงจรการเลือกปฏิบัติ ที่เป็นผลมาจากโครงสร้างและบรรทัดฐานทางเพศที่ไม่เท่าเทียม การมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อแก้ปัญหากฎหมายที่สนับสนุนความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจ แม้ว่าปี 2561 จะมีผู้หญิงจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างเชื่องช้า เพราะในปัจจุบันมีเพียง 17% ของประมุขของรัฐหรือของรัฐบาลที่เป็นผู้หญิง และมีเพียง 23% ของสมาชิกรัฐสภาทั่วโลกที่เป็นผู้หญิง

 

2562: โอกาสของการเปลี่ยนแปลง

 

วาระครบรอบ 70 ปีของปฏิญญาสากลฯ จึงเป็นโอกาสให้กลับมาทบทวนความสำเร็จที่สำคัญสำหรับผู้หญิงและผู้ชายทุกคนที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ผลจากการล็อบบี้อย่างเข้มแข็งของผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อ หรรษา เมธา เป็นเหตุให้มีการแก้ไขข้อความในข้อ 1 ของปฏิญญาฉบับนี้จาก “All men are born free and equal” เป็น “All human beings are born free and equal” (เปลี่ยนจาก ‘men’ เป็น ‘human beings’ ผู้แปล) ซึ่งความกังวลของหรรษา เมธาถือว่าถูกต้อง เพราะการใช้คำว่า “men” อาจหมายถึงว่าผู้หญิงจะไม่ได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน 70 ปีผ่านไป เรายังคงต้องต่อสู้เพื่อให้มีการยอมรับว่า สิทธิสตรีเป็นสิทธิมนุษยชนเข่นกัน ซึ่งนับเป็นภารกิจเร่งด่วนสุดอย่างหนึ่ง

 

รัฐบาลต้องหาทางแก้ปัญหานี้ ด้วยการแสดงพันธกิจอย่างจริงจัง ต่ออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW) ซึ่งถือเป็นกฎบัตรระหว่างประเทศเพื่อสิทธิของผู้หญิง และประกันว่าการดำเนินงานระดับประเทศ จะส่งผลให้ผู้หญิงปลอดพ้นจากการเลือกปฏิบัติและความรุนแรง

 

CEDAW ถือเป็นสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่มีการให้สัตยาบันมากสุดเป็นอันดับสอง โดยมีรัฐภาคี 189 ประเทศ แต่รัฐบาลต้องหยุดการแสดงท่าทีเหมือนกับจะเคารพสิทธิของผู้หญิง แต่ไม่ได้ทำให้เป็นจริง การขยายตัวอย่างรวดเร็วของการรณรงค์เพื่อผู้หญิงในปีนี้ เป็นหลักฐานที่ชี้ว่า ประชาชนไม่อาจยอมรับแค่การแสดงวาทศิลป์อีกต่อไป เราก็ไม่ยอมเช่นกัน ในปี 2562 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจะล็อบบี้มากขึ้น เพื่อประกันว่ารัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะยกเลิกการประกาศข้อสงวนที่มีต่อ CEDAW โดยให้มีผลทันที และดำเนินการตามขั้นตอนที่กล้าหาญและจำเป็นเพื่อให้เกิดสิทธิสตรีขึ้นอย่างเต็มที่ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องยืนหยัดกับขบวนการผู้หญิง สนับสนุนเสียงของผู้หญิงที่มีความหลากหลาย และต่อสู้เพื่อให้มีการยอมรับสิทธิทั้งปวงเหล่านี้ ผมหวังว่าท่านจะเข้าร่วมมือกับเรา