Photo - Jiří Doležel

พ.ร.บ.คอมฯ โค้งสุดท้าย 5 องค์กรย้ำข้อกังวลการละเมิดสิทธิ

26 ตุลาคม 2559

 

5 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ร่วมย้ำข้อกังวลเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ของไทย ระหว่างที่ สนช. กำลังพิจารณาในโค้งสุดท้าย

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอีก 4 องค์กร ออกแถลงการณ์ร่วมเน้นย้ำข้อกังวลต่อการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หรือ “พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์” ของไทย ซึ่งกำลังถูกพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ในขณะนี้

 

ข้อกังวลหลักต่อ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ประกอบไปด้วยมาตรา 14 (1) ที่เนื้อหาแก้ไขเพิ่มเติมในปัจจุบันยังคงเปิดโอกาสให้สามารถถูกนำมาใช้ร่วมกับกฎหมายหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาได้ ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายซ้ำซ้อน เพิ่มภาระให้จำเลยและศาล ตลอดจนขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยเป็นรัฐภาคี

 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 14(2) ที่กำหนดนิยามความเสียหายจากข้อมูลเท็จทางคอมพิวเตอร์ไว้อย่างกว้างขวาง มาตรา 15 ที่กำหนดโทษสำหรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ไม่เซ็นเซอร์เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม มาตรา 18 และ 19 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวประชาชนได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล ไปจนถึงมาตรา 20 ที่กำหมดให้ทางการปกปิดหรือถอดเนื้อหาที่กระทบความมั่นคงของประเทศได้ ซึ่งทั้งหมดมีแนวโน้มที่จะขัดต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงออก

 

ตามข้อมูลของสำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งมอบให้กับฟอร์ติฟายไรท์ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2559 มีข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่เข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลแล้ว 399 ข้อกล่าวหา เปรียบเทียบปี 2558 ที่มี 321 ข้อกล่าวหา ปี 2557 71 ข้อกล่าวหา ปี 2556 46 ข้อกล่าวหา ปี 2555 13 ข้อกล่าวหา และเพียงหกข้อกล่าวหาในปี 2554

 

download.png

 

ขณะที่ข้อมูลของ iLaw ระบุว่าระหว่างเดือนกรกฎาคม 2550 ถึงธันวาคม 2557 พบว่าเพียง 22% ของการฟ้องคดีอาญาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยตรง เช่น การเจาะเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ส่วนอีก 78% ที่เหลือล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกกล่าวหาว่ามีลักษณะดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาททั้งสิ้น

 

download (1).png

 

ลงนาม:

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International)
สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH - International Federation for Human Rights)
องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights)
คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists)
ลอว์เยอร์ไรท์วอทช์แคนาดา (Lawyers Rights Watch Canada)