Credit - AFP/Getty Images

แอมเนสตี้เรียกร้องเมียนมาหยุดปิดกั้น

ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อชาวโรฮิงญา

5 กันยายน 2560

 

แอมเนสตี้พบว่าการทางการเมียนมาปิดกั้นไม่ให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้าสู่รัฐยะไข่ ทำให้ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนตกอยู่ในอันตราย เรียกร้องเมียนมาให้อนุญาตให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่และปราศจากการแทรกแซง

ผู้ปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือในพื้นที่เปิดเผยว่าสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่กำลังรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากกองทัพได้เริ่มปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่อีกครั้ง หลังหน่วยปฏิบัติการด้านความมั่นคงหลายสิบแห่งถูกโจมตีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยทางการอ้างว่าเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธกองทัพปลดแอกชาวโรฮิงญาแห่งรัฐยะไข่

ทีรานา ฮัสซัน ผู้อำนวยการฝ่ายรับมือภาวะวิกฤต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่าสถานการณ์การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่กำลังเข้าขั้นหายนะ ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ควรมีเหตุผลใดๆ มาอ้างเพื่อปฏิเสธความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่กำลังเดือดร้อนได้เลย การที่ทางการเมียนมาปิดกั้นการทำงานของหน่วยงานด้านมนุษยธรรมต่างๆ ส่งผลให้ชีวิตประชาชนหลายหมื่นคนต้องตกอยู่ในอันตราย และยังแสดงให้เห็นว่าทางการไม่ใยดีต่อชีวิตอันมีค่าของพลเรือนในประเทศ

“การปิดกั้นเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชุมชนในรัฐยะไข่ทั้งหมด รัฐบาลจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงท่าทีอย่างเร่งด่วน และอนุญาตให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงพื้นที่ส่วนต่างๆ ของรัฐได้อย่างเต็มที่โดยปราศจากการแทรกแซง เพื่อให้ประชาชนที่กำลังทุกข์ยากได้รับความช่วยเหลือ”

นอกจากการช่วยเหลือที่ถูกปิดกั้นแล้ว ทางการเมียนมายังทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกด้วยการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญา โดยอ้างว่าพบเสบียงอาหารที่มีฉลากขององค์กรระหว่างประเทศติดอยู่ในค่ายของกลุ่มติดอาวุธ

“ข้อกล่าวหาต่อองค์กรมนุษยธรรมระหว่างประเทศว่าเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในรัฐยะไข่เป็นข้อกล่าวหาที่ทั้งเกินจริงและขาดความรับผิดชอบ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมทำงานให้ความช่วยเหลือชาวเมียนมามาโดยตลอด ซึ่งเป็นภารกิจที่รัฐบาลมักไม่สามารถทำเองได้ ทางการเมียนมาต้องหยุดเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ เช่นนี้ และหยุดกล่าวหาโดยปราศจากมูลความจริงทันที” ทีรานากล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ มีประชาชนหลายหมื่นคนถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องหนีออกจากบ้านเรือนของตน ตามข้อมูลล่าสุดขององค์การสหประชาชาติ คาดว่ามีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาราว 90,000 คนข้ามพรมแดนไปยังบังกลาเทศ ขณะที่รัฐบาลเมียนมาได้สั่งอพยพประชาชนอีกกว่า 11,000 คน ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยอีกกลุ่มหนึ่งทางตอนเหนือของรัฐยะไข่