Credit - Elvert Barnes

รายงานแอมเนสตี้เผยทหารเมียนมากราดยิง-เผาบ้าน-ข่มขืนชาวโรฮิงญา

19 ธันวาคม 2559

 

แอมเนสตี้ออกรายงานด่วน ระบุกองทัพเมียนมามีส่วนรับผิดชอบในการละเมิดสิทธิต่อชาวโรฮิงญาอย่างกว้างขวางช่วงสองเดือนที่ผ่านมา พบมีทั้งการกราดยิง เผาบ้านเรือนและหมู่บ้าน ไปจนถึงการข่มขืน ระบุออง ซาน ซูจีล้มเหลวในการแสดงท่าทีต่อเหตุการณ์ดังกล่าว

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกรายงานล่าสุด ""WE ARE AT BREAKING POINT"- Rohingya: Persecuted in Myanmar, Neglected in Banglasdesh" พบว่ากองกำลังความมั่นคงของเมียนมามีส่วนรับผิดชอบต่อการสังหาร การข่มขืน การเผาบ้านเรือนและหมู่บ้าน ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งระหว่างปฏิบัติการปราบปรามชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรงในรัฐยะไข่ โดยการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

 

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวโรฮิงญาทั้งในเมียนมาและบังกลาเทศ ประกอบกับการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่าย และวีดิโออื่นๆ ชี้ให้เห็นว่ามีการจับกุมประชาชนหลายสิบคนโดยพลการในปฏิบัติการอันโหดร้ายและไม่ได้สัดส่วนของกองทัพเมียนมาในรัฐยะไข่ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา

 

ราเฟนดี จามิน (Rafendi Djamin) ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “กองทัพเมียนมาพุ่งเป้าโจมตีพลเรือนชาวโรฮิงญาอย่างโหดร้ายและเป็นระบบด้วยปฏิบัติการที่ใช้ความรุนแรง มีผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก ครอบครัว และหมู่บ้านต่างๆ ถูกโจมตีและทำร้ายผ่านวิธีการลงโทษแบบรวมหมู่”

 

“ปฏิบัติการที่น่าชิงชังของทหารดังกล่าวอาจเป็นส่วนหนึ่งของการมุ่งโจมตีพลเมืองอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ โดยอาจถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เรามีความกังวลว่าเรื่องราวความโหดร้ายทารุณที่เราได้รับทราบอาจเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น”

 

“ในขณะที่กองทัพเมียนมามีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อการละเมิดสิทธิเหล่านี้ ออง ซาน ซูจีเองก็ล้มเหลวที่จะปฏิบัติตามความรับผิดชอบทางการเมืองและศีลธรรมของตน โดยไม่ได้พยายามหยุดยั้งหรือประณามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่แต่อย่างใด”

 

การโจมตีและสังหารอย่างไม่เลือกเป้าหมาย

 

กองกำลังความมั่นคงของเมียนมาได้เริ่มปฏิบัติการครั้งใหญ่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ภายหลังเหตุโจมตีป้อมตำรวจชายแดนเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2559 ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตเก้านาย โดยกองทัพได้กล่าวหาว่ากลุ่มติดอาวุธที่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาเป็นผู้ก่อเหตุ

 

จากการศึกษาของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่าปฏิบัติการของกองทัพเมียนมามีความรุนแรงเกินกว่าที่จะถือเป็นปฏิบัติการที่ได้สัดส่วนต่อภัยทางความมั่นคง ประจักษ์พยานจำนวนมากบรรยายถึงสถานการณ์ที่ทหารเข้าไปยังหมู่บ้านและจุดไฟเผาอย่างไม่เลือกเป้าหมาย รวมทั้งสังหารชาวบ้านทั้งที่เป็นผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก มีอย่างน้อยหนึ่งกรณีที่ทหารลากชาวบ้านออกจากบ้านของพวกเขาเพื่อมายิงจนเสียชีวิต ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่สามารถคาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตที่แน่นอนได้

 

ในอีกเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2559 กองทัพได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ติดปืนกลสองลำเพื่อบินไปยังหมู่บ้านหลายแห่งทางตอนเหนือของรัฐฉานหลังมีการปะทะกับกลุ่มที่ต้องสงสัยว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธ เฮลิคอปเตอร์ของทหารได้กราดยิงแบบไม่เลือกเป้าหมายไปยังชาวบ้านที่กำลังหลบหนีด้วยความตกใจ ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ทราบจำนวน ในวันต่อมาทหารยังจุดไฟเผาบ้านเรือนอีกหลายร้อยหลัง

 

ชายวัย 30 ปีคนหนึ่งเล่าว่า “พวกเรากลัวมากเมื่อได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์ ... ทหารกราดยิงทั่วไปหมด ไม่ว่าพวกเขาจะมองไปเห็นใคร ก็จะยิงลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ พวกเขายิงอยู่อย่างนั้นนานมาก ... พวกเรานอนหลับในคืนนั้น และเช้าวันต่อมาทหารก็กลับมาและเริ่มกราดยิงอีกระลอก”

 

การข่มขืนและความรุนแรงทางเพศ

 

ทหารเมียนมายังก่อเหตุข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในปฏิบัติการด้านความมั่นคงครั้งนี้ด้วย โดยมักเป็นส่วนหนึ่งของการบุกโจมตีภายหลังจากที่ผู้ชายในหมู่บ้านหลบหนีไปแล้ว

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้สัมภาษณ์ผู้หญิงชาวโรฮิงญาหลายคนซึ่งเล่าว่าพวกเธอถูกทหารข่มขืน รวมถึงอีกหลายคนที่ได้พบเห็นว่ามีการข่มขืนเกิดขึ้น ส่วนผู้ทำงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในบังกลาเทศยืนยันข้อมูลว่าพวกเขาได้ให้การรักษาพยาบาลต่อเหยื่อการข่มขืนหลายคนที่หลบหนีข้ามชายแดนเข้ามา

 

ฟาติมาห์ อายุ 32 ปี เป็นหนึ่งในผู้หญิงชาวโรฮิงญาที่หลบหนีไปยังบังกลาเทศ เธอบอกว่าทหารบุกเข้ามาในหมู่บ้าน ลากเธอออกไปที่นาข้าวและข่มขืนเธอ “ทหารสามนายข่มขืนฉัน ... หลังจากนั้น ฉันก็จำอะไรไม่ได้เลยเพราะหมดสติไป ... พอตื่นขึ้นมาตอนเช้า ฉันลุกขึ้นนั่งไม่ได้ ได้แต่คลานไปตามคันนา”

 

การจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ

 

ทหารและตำรวจตระเวนชายแดนได้ของเมียนมาได้จับกุมชาวโรฮิงญาหลายร้อยคน โดยเฉพาะผู้ชาย และมักพุ่งเป้าไปที่ผู้สูงวัย นักธุรกิจ และผู้นำชุมชน โดยรายงานระบุถึงการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการอย่างน้อย 23 กรณี ซึ่งเป็นเรื่องราวของชาวโรฮิงญาที่ถูกตำรวจนำตัวออกมาจากบ้านโดยไม่แจ้งให้ครอบครัวของพวกเขาทราบว่าจะไปที่ไหน รวมทั้งไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ

 

สื่อของทางการเมียนมารายงานว่ามีผู้เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวอย่างน้อยหกคน นับตั้งแต่ทหารเริ่มปฏิบัติการในพื้นที่ ข้อมูลดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลอย่างมากว่าอาจเกิดการทรมานระหว่างการควบคุมตัวด้วย

 

กองกำลังความมั่นคงยังมักทุบตีชาวโรฮิงญาระหว่างการจับกุม ผู้หญิงคนหนึ่งอธิบายถึงวิธีการอันโหดร้ายทารุณที่กองกำลังความมั่นคงใช้กับลูกชายสองคนของเธอที่ถูกจับกุม "ลูกชายฉันสองคนถูกทหารมัดมือไว้ข้างหลัง จากนั้นก็ถูกรุมซ้อมอย่างหนัก ทหารเตะพวกเขาเข้าที่หน้าอก ฉันเห็นกับตาและได้แต่ร้องไห้เสียงดัง”

 

ปฏิบัติการล้างแผ่นดิน

 

จากการสัมภาษณ์เหยื่อและการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสามารถยืนยันได้ว่าทหารเมียนมาได้เผาทำลายอาคารบ้านเรือนของชาวโรฮิงญากว่า 1,200 แห่ง โดยในบางกรณีเป็นการเผาทั้งหมู่บ้าน ประจักษ์พยานหลายคนเล่าถึงการใช้อาวุธของทหาร ซึ่งดูเหมือนจะมีการใช้ปืนยิงจรวดแบบอาร์พีจีเพื่อทำลายบ้านเรือนประชาชนด้วย

 

หมู่บ้านที่ถูกทำลายอย่างหนักคือหมู่บ้านที่มีการปะทะระหว่างทหารกับกลุ่มติดอาวุธ แสดงให้เห็นว่าทหารใช้ปฏิบัติการเหล่านี้เพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธ

 

หายนะด้านมนุษยธรรม

 

ชาวบ้านหลายหมื่นคนตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรม หลังทางการเมียนมามีคำสั่งห้ามไม่ให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมทั้งหมดเดินทางเข้าสู่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ แม้ว่าก่อนวันที่ 9 ตุลาคม ระดับภาวะขาดสารอาหารในพื้นที่จะอยู่ในขั้นรุนแรงมากแล้วก็ตาม โดยประชาชน 150,000 คนต้องพึ่งพาอาหารแจกเพื่อประทังชีวิต

 

การสั่งระงับบริการด้านสุขภาพทำให้เกิดความกังวลอย่างมากต่อผู้ที่กำลังเจ็บป่วย โดยเฉพาะผู้หญิงตั้งครรภ์และผู้หญิงที่เพิ่งคลอดลูก หลายคนไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีประชาชนอย่างน้อย 30,000 คนถูกบีบให้ต้องหลบหนีจากบ้านเรือนตนเองและต้องหาทางเอาตัวรอดด้วยตัวเอง เนื่องจากหน่วยงานด้านมนุษยธรรมไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาได้

 

ความล้มเหลวทางการเมือง

 

ทางการเมียนมาปฏิเสธการกระทำอย่างชัดเจน โดยระบุว่ากองทัพไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ ระหว่างปฏิบัติการครั้งนี้ ท่ามกลางหลักฐานมากมายที่ชี้ไปในทางตรงกันข้าม

 

เป็นที่น่าสงสัยว่าออง ซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐและผู้นำในทางปฏิบัติของรัฐบาลพลเรือนพม่า จะมีบทบาทอย่างไรในกรณีนี้ เนื่องจากกองทัพเมียนมาสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ใต้การกำกับดูแลของพลเรือน และยังมีอำนาจควบคุมการดำเนินงานหลายส่วนในรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเธอไม่ออกมาพูดประณามความทารุณที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด และดูเหมือนว่าไม่ต้องการจะทำเช่นนั้น หรือไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

 

“ทางการเมียนมาจงใจเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นโดยกองทัพในรัฐยะไข่ การละเมิดที่ปราศจากเหตุผลอย่างสิ้นเชิงเหล่านี้ต้องยุติลงโดยทันที และต้องมีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระเพื่อรับประกันว่าผู้กระทำผิดมาจะถูกนำตัวมาลงโทษ” ราเฟนดี จามินกล่าว

 

ความทุกข์ยากในบังกลาเทศ

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนหลั่งไหลข้ามพรมแดนไปยังบังกลาเทศในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาเพื่อหาที่ปลอดภัย ทั้งนี้ ไม่มีใครทราบจำนวนผู้ลี้ภัยที่แท้จริงได้ แต่ทางสหประชาชาติประมาณการณ์ว่ามีอย่างน้อย 27,000 คน

 

เพื่อรับมือกับการไหลทะลัก ทางการบังกลาเทศได้เพิ่มความเข้มงวดในการใช้นโยบายปิดพรมแดนด้านติดกับเมียนมาซึ่งใช้มาเป็นเวลานาน มีการควบคุมตัวและผลักดันผู้ลี้ภัยหลายพันคนออกนอกประเทศ ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเป็นการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) ซึ่งห้ามไม่ให้ผลักดันผู้คนกลับไปยังประเทศหรือดินแดนที่มีความเสี่ยงว่าพวกเขาจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยเด็ดขาด

 

การจับกุมและส่งกลับบีบให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาต้องหลบซ่อนตัวตามค่ายผู้อพยพ หมู่บ้าน และป่าเขาตลอดแนวพรมแดนด้านตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ พวกเขามีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก เนื่องจากรัฐบาลเพิ่มความเข้มงวดและจำกัดความช่วยเหลือ โดยอ้างว่าเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัจจัยที่ดึงดูดผู้อพยพหน้าใหม่เข้ามา

 

“รัฐบาลบังกลาเทศต้องเปิดพรมแดนให้ผู้แสวงหาที่พักพิงและยุติการปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาที่เข้าประเทศเพราะความยากลำบากราวกับพวกเขาเป็นอาชญากร หน่วยงานด้านมนุษยธรรมต้องได้รับอนุญาตให้สามารถเข้าถึงประชาชนหลายหมื่นคนที่หลบหนีภัยร้ายจากเมียนมาได้อย่างไม่มีข้อจำกัด” แชมพา พาเทล (Champa Patel) ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวปิดท้าย

 

 

เพิ่มเติม 

รายงานฉบับเต็มภาษาอังกฤษ
ข่าวแจกฉบับเต็มภาษาอังกฤษ
ข่าวแจกฉบับเต็มภาษาไทย