ภาพ - sanjitbakshi

แอมเนสตี้ย้ำไทยอย่าลืมประเด็น "นักปกป้องสิทธิมนุษยชน"
ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

18 กรกฎาคม 2560

 

ตัวแทนไทยเตรียมเสนอรายงานทบทวนการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อ UN แอมเนสตี้ย้ำอย่าลืมจุดยืนในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ระบุถ้าไม่มีสิทธิมนุษยชน ความยั่งยืนย่อมไม่เกิดขึ้น

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลส่งหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศของไทย เรียกร้องให้ทางการไทยย้ำจุดยืนในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมการทำงานของพวกเขา ในโอกาสที่ไทยจะเข้าเสนอรายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ที่สหประชาชาติ (UN)

 

แอมเนสตี้มองเห็นถึงความสำคัญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในฐานะที่พวกเขามีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของคนทุกคนในสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนใช้ชีวิตได้โดยปราศจากความหวาดกลัวและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งต่างก็เป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals--SDGs) ของ UN

 

579_sdgs.jpg

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังคงถูกคุกคามหลากหลายรูปแบบ มีการจำกัดพื้นที่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมให้แคบลง ไปจนถึงใส่ร้าย ข่มขู่ หรือทำร้ายร่างกาย เพื่อลดทอนความชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนลง ฉะนั้น หากไม่มีการแก้ไขใดๆ เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองนักปปกป้องสิทธิมนุษยชน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยื่นซึ่ง UN กำหนดให้บรรลุภายในปี ค.ศ. 2030 ก็คงไม่สามารถสำเร็จได้จริง

 

ตัวแทนรัฐบาลไทยมีกำหนดจะนำเสนอรรายงานผลการทบทวนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยสมัครใจในวันนี้ (18 ก.ค.) บนเวทีการเมืองระดับสูง (High-Level Political Forum) จัดโดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติและคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมที่นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ โดยประเทศไทยเป็น 1 ใน 44 ประเทศที่จะนำเสนอรายงานดังกล่าวในครั้งนี้

 

แอมเนสตี้กระตุ้นรัฐบาลไทยให้ย้ำจุดยืนเกี่ยวกับบทบาท ความสำคัญ และความชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนสนับสนุนการทำงานของพวกเขา โดยผลักดันให้มีกระบวนการรับรองและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ยุติการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรูปแบบต่างๆ และยุติการใช้อำนาจทางกฎหมายโดยมิชอบต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

 

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs มีทั้งหมด 17 เป้าหมายหลักๆ ครอบคลุมประเด็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงความเท่าเทียมกันของคนไนสังคม ความยุติธรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสันติภาพ ซึ่งประเทศต่างๆ ต้องปฏิบัติตามให้บรรลุเป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2030 อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ และสามารถชมการถ่ายทอดสดการรายงานครั้งนี้ได้ที่นี่