แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยง ปกาเกอะญอ "กิ๊ป ต้นน้ำเพชร"

26 พฤษภาคม 2566

Amnesty International

“รู้สึกเหมือนได้กลับบ้านที่ใจแผ่นดิน รู้สึกป่าโอบกอดพวกเราได้
คิดถึงอดีตที่เราเคยมีวิถีชีวิต ที่เป็นความสุขที่สุดในชีวิต”
- กิ๊ป ต้นน้ำเพชร


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยง ปกาเกอะญอ “กิ๊ป ต้นน้ำเพชร”

ช่วงเย็นของวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 กิ๊ป ต้นน้ำเพชร เสียชีวิต หลังอาการทรุดหนักในช่วงคืนวันที่ 23 พฤษภาคม และครอบครัวนำส่งไปยังโรงพยาบาลแก่งกระจานที่อยู่ห่างออกไปราว 3 ชั่วโมง และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา

กิ๊ป ต้นน้ำเพชร คือหนึ่งในนักปกป้องสิทธิมนุษยชน #บางกลอย ในหมู่บ้านเดียวกันกับ #บิลลี่พอละจี

กิ๊ปและครอบครัว มักจะเดินทางมาที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องสิทธิร่วมกับชาว #บางกลอย อยู่เสมอ นับตั้งแต่วันที่ชาวบางกลอยถูกบังคับให้เคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัย จากบริเวณบางกลอยบน มาสู่บางกลอยล่าง และร่วมเรียกร้องสิทธิตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เมื่อยุทธการตะนาวศรีในพื้นที่ป่าแก่งกระจานเริ่มต้นขึ้น ซึ่งมีการเผาทำลายทรัพย์สินและยุ้งฉางของชาวบางกลอยที่อาศัยอยู่บริเวณบางกลอยบน

กรกฎาคม 2554 ปู่คออี้รวมกับชาวบ้านบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน จ.เพชรบุรี รวม 6 คน จึงได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช คดีนำกำลังเข้ารื้อทำลายเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัว

ปี 2561 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็น #ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคนละประมาณ 50,000 บาท และระบุเพิ่มเติมว่าการกระทำของเจ้าหน้ากรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็นไม่สมควรแก่เหตุ

แม้คดีการฟ้องร้องต่อคดีจะสิ้นสุดลง แต่การต่อสู้ของชาวบางกลอยยังไม่สิ้นสุดลง

การเผาทำลายในวันนั้น ไม่ได้ทำลายแค่ “บ้าน” สิ่งที่สูญหายไปกับกองไฟ คือเครื่องใช้ ผ้า และพิธีกรรมที่สานต่อจากบรรพบุรุษ
นั่นหมายความว่า การถูกบังคับโยกย้ายมายังบางกลอยล่าง ทำให้พิธีกรรม วิถีชีวิต และความมั่นคงทางอาหารของชาวบางกลอยหายไปด้วย

ในวิถีดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยง ปกาเกอะญอ เมล็ดพันธุ์ที่ถูกส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ จะสานต่อกลายเป็นข้าวและพืชพันธุ์หลากหลายนับร้อยชนิดในพื้นที่ไร่หมุนเวียน พวกเขาจะมีข้าวกินตลอดทั้งปี และสามารถประกอบพิธีกรรมดั้งเดิมได้

ไม่ใช่เพียงเท่านั้น แต่การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในพื้นที่ป่าตามวิถีก็สูญสลายจากพื้นที่เช่นเดียวกัน
เด็กเกิดใหม่จะไม่สามารถผูกสายสะดือไว้กับต้นไม้ อย่าง “เดปอทู่” และการตาย พวกเขาไม่สามารถฝังร่างผู้เป็นที่รักในป่าได้อีก

จากการที่ไม่สามารถทำกินได้ และถูกบังคับให้ออกไปจากบ้าน กิ๊ปและครอบครัว จึงเริ่มต้นเคลื่อนไหวในปี 2564 อีกครั้ง

ท่ามกลางวิกฤตโควิดที่ชาวบ้านถูกกดค่าแรง เลิกจ้าง และไม่สามารถเบิกจ่ายได้อย่างตรงเวลา ในวันที่พวกเขาต้องไปซื้อข้าวจากร้านค้า แทนที่จะมีความมั่นคงทางอาหารเช่นวันวาน
ในปี 2564 กิ๊ป รวมถึงชาวบางกลอยได้เดินเท้ากลับไปยังบางกลอยบนอีกครั้ง

จากการพยายามที่จะกลับบ้าน ในวันที่ 5 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังไปที่บางกลอยบนเพื่อควบคุมตัวชาวบ้าน โดยกวาดต้อนชาวบ้านลงมาได้ทั้งหมด 85 คน มีหมายจับจากศาลจังหวัดเพชรบุรี 30 คน ในข้อหา “บุกรุก ก่นสร้าง แผ้วถาง ยึดถือครอบครอง กระทำการใดๆ อันเป็นการทำให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิมแก่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562

กระบวนการดังกล่าวทำให้ชาวบ้านต้องรับสารภาพข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ทนายความที่ชาวบ้านไว้วางใจและญาติเข้าพบ จนทำให้ชาวบ้าน 22 คนที่ถูกจับกุมได้ในที่เกิดเหตุต้องถูกฝากขังทันที

24 พฤษภาคม 2564 ชาวบ้านบางกลอยทั้งสิ้น 28 ราย (จากเดิม 30 ราย แต่เนื่องจากความผิดพลาดในการออกหมายศาลที่ทำให้ชื่อของชาวบ้าน 2 คนคลาดเคลื่อน) ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนให้ไปพบที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอแก่งกระจาน เพื่อรับทราบข้อหาเพิ่มเติม ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507

28 พฤษภาคม 2564 พนักงานสอบสวนแจ้งว่า ให้ชาวบ้านทั้ง 28 คน ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อนำตัวส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการในวันดังกล่าว

ชาวบางกลอยยังคงร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับตนเอง ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 พวกเขาได้ปักหลักชุมนุมร่วมกับกลุ่มพีมูฟ เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยบางกลอย ก่อนยื่นหนังสือ กิ๊ปร่วมกับพี่น้อง ได้ร่วมผูกข้อมือให้กับผู้ชุมนุมเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ

จากการชุมนุมดังกล่าว ลูกสาวของกิ๊ป จันทร ต้นน้ำเพชร ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เธอต้องเดินทางจากบางกลอยมาเพื่อรายงานตัวร่วมกับแม่ ที่เป็นผู้ปกครอง

การเสียชีวิตของกิ๊ป ไม่ได้หมายความว่าการต่อสู้ของชาวบางกลอยจะจบลง คดีความยังคงดำเนินต่อไป เช่นเดียวกันกับที่จิตวิญญาณแห่งการเรียกร้องเพื่อคืนสู่ใจแผ่นดินยังคงมีอยู่เสมอ

สำหรับครอบครัว กิ๊ปคือแม่ของลูก ๆ คือพี่สาวของน้องชาย
สำหรับเพื่อนร่วมจิตวิญญาณ กิ๊ปคือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ชนเผ่าพื้นเมือง
สำหรับคนเมืองที่ร่วมต่อสู้กับเธอ กิ๊ปคือแม่กิ๊ป ที่มักจะมาพร้อมกับรอยยิ้มและจิตวิญญาณของนักต่อสู้ ที่กำแพงทางภาษาไม่อาจสามารถขวางกั้นได้

พิธีศพของกิ๊ปจัดตามวิถีพุทธ ไม่ใช่วิถีกะเหรี่ยงดั้งเดิม และจะจัดขึ้นจนถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2566

ขอแสดงความเสียใจอีกครั้ง กับครอบครัวของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
“กิ๊ป ต้นน้ำเพชร”