ซูดาน: ความขัดแย้งระลอกใหม่ทวีความทุกข์ทรมานให้พลเรือนดาร์ฟูร์ที่มีมานานนับ 2 ทศวรรษ

25 เมษายน 2566

Amnesty International

ภาพถ่าย : © ASHRAF SHAZLY/AFP via Getty Images

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ท่ามกลางการสู้รบระหว่างกองทัพซูดาน (SAF) และกองกำลังกึ่งทหารติดอาวุธ (RSF) ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในซูดาน ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา พลเรือนในดาร์ฟูร์ต้องทนทุกข์ทรมานจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐล้มเหลวในการคุ้มครองความปลอดภัย และไม่สามารถรับประกันความยุติธรรมและแสดงความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงคราม และการละเมิดอื่นๆ หลังสงครามดาร์ฟูร์ปะทุขึ้น 

ความขัดแย้งในดาร์ฟูร์เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2546 เมื่อขบวนการปลดปล่อยซูดานโจมตีกองทัพซูดานที่สนามบินอัล-ฟาชีร์ ทางตอนเหนือของดาร์ฟูร์ ส่งผลให้ประชาชนหลายแสนคนถูกสังหาร และอีกหลายล้านคนต้องพลัดถิ่นเรื่อยมา

การลอยนวลพ้นผิดที่ยาวนานทำให้ผู้ที่ถูกต้องสงสัยว่าเป็นอาชญากรสงครามในดาร์ฟูร์ยังคงดำรงตำแหน่งผู้นำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงเฉกเช่นในทุกพื้นที่ในซูดาน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทุกฝ่ายรับประกันความปลอดภัยของพลเรือนและอนุญาตให้มีการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างทั่วถึง

“ความขัดแย้งในดาร์ฟูร์ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานในหมู่ประชาชน และการไม่สามารถรับประกับความยุติธรรมและความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความทุกข์ยากจะเป็นที่ประจักษ์ต่อไปในทุกพื้นที่” ไทเกอ ชากูทาห์ ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ กล่าว

“ในช่วงไม่กี่วันมานี้ พลเรือนจำนวนมากถูกสังหารด้วยอาวุธหนักในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น เป็นเรื่องน่าตกใจที่ 20 ปีหลังจากความขัดแย้งในดาร์ฟูร์ปะทุขึ้น ทางการซูดานยังคงล้มเหลวในการปกป้องพลเรือน หรือสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการแสดงความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นระหว่างความขัดแย้ง พลเรือนในซูดานยังคงติดอยู่ในวัฏจักรของการโจมตีด้วยอาวุธอย่างไม่เลือกปฏิบัติ เช่นเดียวกับอาชญากรรมร้ายแรงและการละเมิดอื่นๆ”

“รัฐบาลซูดานต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในการสืบสวนคดีในดาร์ฟูร์ รวมถึงการส่งตัวอดีตประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาเชีร์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรายอื่นๆ ที่ต้องสงสัยว่ามีความผิดฐานอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติไปยังกรุงเฮก”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ประชาคมโลก โดยเฉพาะสหประชาชาติและคณะมนตรีสันติภาพและความมั่นคงแห่งสหภาพแอฟริกา เพิ่มความพยายามในการรับประกันว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นในดาร์ฟูร์จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติรับรองว่าการห้ามค้าอาวุธในดาร์ฟูร์จะยังคงมีอยู่จนกว่ารัฐบาลซูดานจะยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมถึงให้คำมั่นว่าจะมีการรับรองความปลอดภัยของพลเรือน และมีการแสดงความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

ความรุนแรงต่อพลเรือนในดาร์ฟูร์ 

ตั้งแต่ปี 2546 พลเรือนในซูดานถูกกระทำด้วยความรุนแรง โดยหลังจากการโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธฝ่ายค้านเริ่มต้นขึ้น กองทัพซูดานได้ตอบโต้โดยไม่เพียงแต่มุ่งเป้าไปที่ฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มที่รัฐบาลกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

กลยุทธ์ต่อต้านการก่อความไม่สงบข้างต้น ซึ่งรัฐบาลยังใช้จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิต การทำลายล้าง และการพลัดถิ่นในวงกว้าง พลเรือนหลายแสนคนเสียชีวิตและได้รับผลกระทบจากความอดอยาก การขาดน้ำ และโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากความขัดแย้ง หมู่บ้านหลายร้อยแห่งถูกทำลาย ขณะที่การข่มขืนและความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่ โดยในปี 2559 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล บันทึกว่า กองกำลังของรัฐบาลได้มีการใช้อาวุธเคมีต่อพลเรือนในเขตเจเบล มาราของดาร์ฟูร์อย่างไร

หลังจากการปลดอดีตประธานาธิบดีอัล-บาเชียร์ออกจากตำแหน่งในปี 2562 การประนีประนอมอำนาจระหว่างผู้นำทหารและผู้นำพลเรือนได้นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล ท่ามกลางความรุนแรงในดาร์ฟูร์ที่ยังคงดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการสังหารอย่างผิดกฎหมาย การทุบตี ความรุนแรงทางเพศ การปล้นสะดม และการเผาหมู่บ้าน เป็นต้น แม้จะมีการจัดทำข้อตกลงสันติภาพของซูดาน ซึ่งได้มีการลงนามในปี 2563 ก็ตาม 

รัฐบาลไม่ได้มีท่าทีที่จะแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการปกป้องคุ้มครองพลเรือน หรือแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด กองทัพซูดาน (SAF) และกองกำลังกึ่งทหารติดอาวุธ (RSF) ยังคงปะทะกันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มติดอาวุธที่สังกัดรัฐบาลได้มุ่งเป้าไปที่พลเรือนตลอดช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง

ในเดือนธันวาคม 2565 ผู้นำพลเรือนและผู้นำกองทัพได้ลงนามใน "กรอบข้อตกลง" เพื่อถ่วงดุลอำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การปกครองของรัฐบาลพลเรือนใหม่ในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งข้อตกลงนี้กำหนดความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศเป็นหลักการทั่วไป และมอบหมายให้ผู้มีอำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่านเปิดตัวกระบวนการใหม่ที่มุ่งให้ความยุติธรรมแก่เหยื่อ และนำผู้กระทำความผิดในอาชญากรรมร้ายแรงมาพิจารณา นอกจากนี้ ทางการซูดานยังต้องรับประกันว่า ผู้ที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมเหล่านี้จะไม่ได้รับประโยชน์จากการคุ้มกันหรือการนิรโทษกรรม

“ทุกวันนี้ พลเรือนของดาร์ฟูร์ยังคงอยู่ตกภายใต้การบริหารของกองกำลังความมั่นคงชุดเดิมที่ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงครามในดาร์ฟูร์และพื้นที่อื่นๆ ของซูดาน” ไทเกอ ชากูทาห์ กล่าว

“เป็นเรื่องน่าละอายที่ผู้คนในซูดานยังคงใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวทุกวัน ผู้รอดชีวิตทุกคนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจะต้องได้รับการเยียวยาและชดเชยอย่างเหมาะสม เวลาต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อความยุติธรรม”

 

ข้อมูลพื้นฐาน

ตั้งแต่ปี 2546 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ ได้บันทึกหลักฐานอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงที่กระทำโดยกองทัพซูดานหลายครั้ง รวมถึงการสังหารพลเรือนและการทำลายทรัพย์สินของพลเรือนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การข่มขืนผู้หญิงและเด็กผู้หญิง การบังคับย้ายถิ่นฐานพลเรือน และการใช้อาวุธเคมี

ในปี 2548 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้รายงานสถานการณ์ในดาร์ฟูร์ไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในปี 2552 ซึ่งในปีต่อมา ทาง ICC ได้ออกหมายจับประธานาธิบดีอัล-บาเชียร์ ฐานความผิดอาชญากรรสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงออกหมายจับเจ้าหน้าที่รัฐอีก 3 คน และสมาชิกกลุ่มติดอาวุธฝ่ายค้านอีก 3 คน 

ในเดือนเมษายน 2565 ICC เริ่มกระบวนการพิจารณาคดีของอาลี โคเชอิบ ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้นำหลักของกองทหารอาสาสมัครของกลุ่มติดอาวุธจันจาวีด (Janjaweed) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ซูดานยังคงไม่ให้ความร่วมมืออย่างเพียงพอกับ ICC โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งตัวอดีตประธานาธิบดีอัล-บาเชียร์ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลอีกหลายคนไปพิจารณาคดีที่ ICC 

สามารถอ่านรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในซูดานได้ในรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2564/65 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล