"เลือกตั้ง 2566 : ฟังเสียงนโยบายภาคประชาสังคม (Civil Society's Agenda for the 2023 Thailand Election)"

12 เมษายน 2566

Amnesty International

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 เวลา 14.00 - 17.30 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน กรุงเทพฯ ภาคประชาสังคมจัดงานแถลงข่าว “เลือกตั้ง 2566 : ฟังเสียงนโยบายภาคประชาสังคม (Civil Society's Agenda for the 2023 Thailand Election)” เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชนหลากหลายประเด็นครอบคลุมทั้งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย คนพิการ เด็ก ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิมนุษยชนและการพัฒนา รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ต่อตัวแทนพรรคการเมืองและสาธารณชน

ท่ามกลางโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ภาคประชาสังคมต่างจัดทำนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน เรียกร้องผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองให้ยึดมั่นในพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาชน เพื่อเป็นการเน้นย้ำให้รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศในแง่มุมต่างๆที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น

เวทีเสวนาในครั้งนี้เริ่มต้นด้วยการนำเสนอภาพรวม “นโยบายสิทธิมนุษยชนของภาคประชาสังคม” โดย เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในนามขององค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่หลากหลาย ซึ่งมองเห็นและคาดหมายถึงโอกาสในการผลักดันให้ประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งมิใช่เพียงประเด็นที่ทางองค์กรได้ขับเคลื่อนเท่านั้นให้ได้รับการพิจารณาและดำเนินการอย่างเร่งด่วนทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จะถึงนี้ แต่หมายรวมถึงสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทั่วไป เนื่องจากความเป็นธรรมทางสังคมในด้านต่างๆ จะทำให้บุคคลดำรงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิและเสรีภาพเสมอกัน และได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพนั้นตามกฎหมายแห่งรัฐ  

ด้านเวที “เลือกตั้ง 2566: ฟังเสียงนโยบายจากภาคประชาสังคม” ได้รับเกียรติจาก สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) อธิพันธ์ ว่องไว หัวหน้าโครงการกาลพลิก มูลนิธิกระจกเงา นัสรี พุ่มเกื้อ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ และดำเนินรายการโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย สำนักข่าว The Reporters ก่อนจะปิดท้ายด้วยช่วงสอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

 

ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

 

 

สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด เปิดประเด็นด้วยการชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่รุนแรงขึ้นของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายกรณี ซึ่งมีสาเหตุมาจากองค์กรภาคธุรกิจ

“วันนี้เราอยู่ในยุคที่ไม่ว่าบริษัทจะใหญ่ขนาดไหน ทุกบริษัทมักจะอ้างว่า พวกเขามีความรับผิดชอบต่อสังคม หลายบริษัทกล่าวว่าตนมีนโยบายความยั่งยืน มีนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) หรือนโยบายอื่นๆ ซึ่งหนีไม่พ้นการอธิบายว่าตนเองมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร โดยแก่นสารในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม คือ การเคารพในสิทธิมนุษยชน หรือพูดอีกอย่างว่าการเคารพในสิทธิมนุษยชนกลายเป็นหัวใจหรือองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ”

สฤณี ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนว่า ปัจจุบันสหภาพยุโรปได้มีการบังคับใช้กฎหมาย Corporate Sustainability Due Diligence ซึ่งครอบคลุมการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานการผลิตของบริษัทขนาดใหญ่ในทุกประเด็นอย่างรอบด้าน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มความโปร่งใสในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน ทั้งยังสร้างความเท่าเทียมในอุตสาหกรรม ฉะนั้นจึงอยากให้พรรคการเมืองต่างๆ เสนอนโยบายที่กำหนดความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อสังคม ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน เพื่อเตรียมความพร้อมให้บริษัทไทยสามารถปฎิบัติตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มจะใส่ข้อกำหนดด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามามากขึ้น

นอกจากนี้ สฤณีเห็นด้วยกับการผลักดันกลไกคุ้มครองการรับเรื่องร้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กรภาคธุรกิจ ผ่านการให้ข้อมูล เสนอเรื่องร้องเรียน แจ้งเบาะแสการประพฤติที่ไม่เหมาะสมได้ด้วยตนเอง โดยไม่ถูกตอบโต้หรือกลั่นแกล้งโดยไม่เป็นธรรม (Non Retaliation) อันเป็นไปตามมาตรฐานสากล

 

#VoteForClimate ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ

 

 

ในฐานะผู้ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย เน้นย้ำว่า ไม่มีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนหรือมีความเป็นธรรมทางสังคม หากไร้ซึ่งเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญ คือ ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหัวใจในการได้มาซึ่งสิทธิทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

ดังจะเห็นได้จากอัตราค่าไฟที่มีการเรียกเก็บอย่างไม่เป็นธรรม อันเป็นผลพวงของความถดถอยในเรื่องของการจัดการโครงสร้างพลังงานไทยที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ธรรมาภิบาลในสัมปทานไฟฟ้า ความบิดเบี้ยวในการวางแผนการผลิตไฟฟ้า การแทรงแซงของทหารในกิจการพลังงาน และการผลักภาระให้กับประชาชน

ภายใต้แคมเปญ #VoteForClimate เข้าคูหากาสิ่งแวดล้อม กรีนพีซได้หยิบยกประเด็นความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมต่อพรรคการเมืองในหลากหลายประเด็น

“กรีนพีซ เชื่อว่า การเมืองที่ทำให้สิ่งแวดล้อมดีต้องอยู่บนรากฐานของความเป็นธรรมทางสังคมและประชาธิปไตยที่เปิดกว้างให้กับความหลากหลายทางความคิด และเปิดพื้นที่ให้กับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายอย่างแข็งขันและมีความหมาย”

 

สิทธิมนุษยชน คือ เรื่องของทุกคน

 

 

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยืนยันว่า พรรคการเมืองที่ให้คุณค่าประชาชน คือ พรรคที่พัฒนานโยบายเพื่อสังคมโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าพวกเขาจะได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาลฝ่ายค้านหรือไม่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้เลยก็ตาม ก่อนที่จะนำไปสู่ความสำคัญของการเร่งรัดทบทวนการเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ…เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเเละสภาผู้เเทนราษฎร เเละยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 มกราคม 2565 เเละวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 เพื่อถอนร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวจากการพิจารณาของฝ่ายบริหารเเละฝ่ายนิติบัญญัติอย่างถาวร

สำหรับในปีนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยนำเสนอ 5 ข้อเสนอเชิงนโยบายใหญ่ๆ ด้านสิทธิมนุษยชน ดังต่อไปนี้

  1. การไม่เลือกปฏิบัติ ธรรมาภิบาล เเละมาตรการป้องกันการทุจริต
  2. ประเด็นเฉพาะกลุ่ม (รวมถึงเรื่องผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง แรงงานข้ามชาติ ผู้พิการ ฯลฯ)
  3. สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม เเละวัฒนธรรม
  4. กรอบกฎหมายระหว่างประเทศเเละภายในประเทศ นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน เเละสถาบันสิทธิมนุษยชน
  5. สิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง (รวมถึงการสังหารนอกกฎหมาย การป้องกันการทรมานเเละการบังคับบุคคลให้สูญหาย คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ สิทธิในการสมรส การค้ามนุษย์ การใช้แรงงาน ฯลฯ)

“การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงหมุดหมายของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลหรือการทำงานของรัฐสภาเท่านั้นแต่ยังเป็นตัวชี้วัดที่จะแสดงให้เห็นว่าผู้แทนของประชาชนจะใช้กลไกในรัฐสภาอย่างไรให้เกิดการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนมากที่สุดโดยเฉพาะสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบซึ่งถูกจำกัดอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา”

 

การเดิมพันครั้งใหม่ของประชาชนชาวไทย

 

 

"การเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญและมีการเดิมพันสูงระหว่างความหวังกับความสิ้นหวังของคนรุ่นใหม่ เผด็จการขวาจัดกับประชาธิปไตย รัฐเผด็จการอำนาจนิยมกับรัฐสวัสดิการ สวัสดิการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกับอาวุธเพื่อความมั่นคงของกองทัพ โอกาสการศึกษาที่เท่าเทียมกันและธุรกิจการศึกษาเพื่อสร้างหนี้สิน สิทธิเสมอกันถ้วนหน้ากับระบบสงเคราะห์ และการสร้างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยกับการคงอยู่ของระบอบอำนาจนิยม”

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) เผยว่า ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในประเทศไทยถูกกล่อมเกลาจากชนชั้นนำระบอบอำนาจนิยมและเสรีนิยมใหม่ให้เชื่องเชื่อจนกลายเป็นสิ่งปกติ คนจน 4.4 ล้านคน รายได้ต่ำกว่า 2,803 บาทต่อเดือน ในขณะที่คนรวย 40 ตระกูลมีมูลค่าทรัพย์สิน 143,595 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 28.5 ของ GDP ที่ดินที่อยู่ในมือคนมั่งมีกว่า 6 แสนไร่เท่ากับจังหวัดสมุทรปราการแต่มีคนไร้ที่ดินคนไร้บ้านจำนวนมากเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษากว่า 1.2 ล้านคน เด็กครอบครัวยากจนเข้าถึงมหาวิทยาลัยเพียงร้อยละ 11 ผู้สูงอายุและคนพิการได้รับเบี้ยยังชีพต่ำกว่าเส้นความยากจน 3-5 เท่า

“ผมคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเปลี่ยนได้หรือไม่อยู่ที่ทุกคน และเรามีการเลือกตั้งใหญ่อีกครั้งในปีหน้า ซึ่งก็คือ การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา แม้จะไม่ใช่ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ แต่ก็เป็นแนวโน้มสำคัญ เพราะถ้าสมาชิกวุฒิสภาเปลี่ยน ย่อมมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะนำเสนอทางเลือกทางนโยบายต่างๆ”

 

นโยบายคนพิการต้องไม่มาจากทัศนคติด้านการสงเคราะห์

 

 

อธิพันธ์ ว่องไว หัวหน้าโครงการกาลพลิก มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า หน่วยเลือกตั้งควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถอำนวยให้คนพิการสามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนได้จริง เช่น บางหน่วยสถานที่ไม่อำนวยในการช่วยเหลือตัวเองได้มากนัก ควรเน้นการออกแบบให้รองรับคนทุกรูปแบบ

“คนพิการต่างตั้งใจจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งเลือกคนดีเข้ามาบริหารประเทศและต้องการให้พรรคการเมืองต่างๆมีนโยบายด้านการส่งเสริมอาชีพการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการต้องมีกลไกสนับสนุนโดยนโยบายต่างๆต้องไม่มาจากทัศนคติด้านการสงเคราะห์ควรเพิ่มค่าจ้างคนพิการให้สอดคล้องกับค่าครองชีพเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้เกิดผู้ช่วยคนพิการมากขึ้นด้านกลไกผู้ดูแลคนพิการไม่ควรขึ้นอยู่กับอสม. เพียงอย่างเดียวและต้องพัฒนากองทุนคนพิการให้ใช้งานตอบโจทย์คนพิการอย่างเต็มประสิทธิภาพที่สำคัญการเลือกตั้งต้องเคารพสิทธิและเสียงของคนพิการ”

 

คนรุ่นใหม่ความหวังใหม่

 

 

นัสรี พุ่มเกื้อ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ มองว่า ตอนนี้สังคมไทยได้กลายเป็นสังคมที่เยาวชนไร้ความหวัง เด็กเเละเยาวชนหลายคนถูกผลักออกจากระบบการศึกษา สถิติการเกิดขึ้นของปัญหาสุขภาพจิตในเด็กเเละเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มิหนำซ้ำเด็กเเละเยาวชนในประเทศนี้ยังรู้สึกว่าตนเองไม่มีสิทธิไม่มีเสียง เเละการเเสดงออกทางการเมืองมักลงเอยด้วยการตอบโต้ที่ใช้ความรุนเเรงเเละการถูกดำเนินคดี

“การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกสำหรับผม แต่ว่าสิ่งสำคัญคือการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการกำหนดชีวิตของผมหลังจากนี้อีก 10-20 ปี ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราต้องการที่จะเห็นว่าทุกคนให้ความสำคัญและความสนใจกับเด็กและเยาวชน เราต้องการการรับรู้ถึงการมีตัวตนของเราเพราะผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นความหวังให้เราอยู่ในประเทศนี้ต่อไป“

ในฐานะนักเรียนคนหนึ่ง นัสรียืนยันว่า การศึกษาที่ดีเป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดหา ไม่ใช่ประชาชนต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง ทั้งในแง่ของค่าใช้จ่ายและการสนับสนุนด้านอื่นๆ ทั้งหมด โดยที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าตนเป็นจนจึงจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ เฉกเช่นเดียวกับที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องทำจิตอาสาจึงจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐ พวกเราทุกคนต้องการสิทธิเสมอกันถ้วนหน้า

 

ท้ายที่สุด ภาคประชาสังคมย้ำว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองต้องให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและขอให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองทุกพรรคยึดมั่นในการพัฒนาสถานการณ์ในด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ตามที่ภาคประชาสังคมนำเสนอต่อพรรคการเมืองด้วย