สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 1 เมษายน - 7 เมษายน 2566

10 เมษายน 2566

Amnesty International

 

ประเทศไทย : เลือกตั้ง 2566 : ฟังเสียงนโยบายภาคประชาสังคม (Civil Society's Agenda for the 2023 Thailand Election)

5 เมษายน 2566

 

ภาคประชาสังคมจัดงานแถลงข่าว “เลือกตั้ง 2566 : ฟังเสียงนโยบายภาคประชาสังคม (Civil Society's Agenda for the 2023 Thailand Election)” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชนหลากหลายประเด็นครอบคลุมทั้งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย คนพิการ เด็ก ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิมนุษยชนและการพัฒนา รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ต่อตัวแทนพรรคการเมืองและสาธารณชน

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2566 ซึ่งให้วันที่ประกาศราชกิจจานุเบกษาการยุบสภาส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างช้าที่สุด 45-60 วันนับตั้งแต่วันยุบสภาซึ่งต่อมา กกต. มีมติให้วันเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมต่างได้จัดทำนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อนำเสนอต่อผู้สมัครพรรคการเมืองเพื่อกระตุ้นให้การจัดทำนโยบายต่างๆของพรรคการเมืองควรมาจากการฟังเสียงของประชาชนและให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนในแง่มุมต่างๆที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/40PtVhs 

 

-----

 

 

อินเดีย : การแสวงหาเทคโนโลยีการเฝ้าระวังใหม่ของรัฐบาลเพิ่มความกังวลด้านสิทธิมนุษยชน

31 มีนาคม 2566

 

สืบเนื่องจากการรายงานของ Financial Times ที่ระบุว่า ทางการอินเดียกำลังค้นหาเทคโนโลยีสปายแวร์ทางเลือกใหม่ เพื่อแทนที่ซอฟต์แวร์เพกาซัส ซึ่งพัฒนาโดย NSO Group

Donncha Ó Cearbhaill หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า 

“เป็นเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่งที่แทนที่รัฐบาลอินเดียจะเคารพสิทธิมนุษยชนและแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายของเพกาซัส ทว่าทางการกลับมองหาสปายแวร์ทางเลือกใหม่ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเฝ้าระวัง”

“นับเป็นเรื่องน่าละอายที่แม้ว่าเทคโนโลยีสปายแวร์จะถูกนำไปใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนปราบปรามผู้เห็นต่าง และจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออก แต่รัฐบาลทั่วโลกยังคงพัฒนาวิธีการเหล่านี้ เพื่อมุ่งเป้าไปที่ผู้คัดค้านและผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างผิดกฎหมาย”

 

อ่านต่อ: https://rb.gy/x0i7j 

 

----- 

 

 

เซอร์เบีย/โคโซโว : เริ่มการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามของอดีตประธานาธิบดีโคโซโว “ก้าวสำคัญบนเส้นทางแสนยาวไกลสู่ความยุติธรรม”

3 เมษายน 2566

 

สืบเนื่องจากการพิจารณาคดี ฮาชิม ทาซี อดีตประธานาธิบดีโคโซโว และผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยโคโซโว (KLA) อีก 3 ราย ณ ศาลคดีอาชญากรสงครามพิเศษในกรุงเฮก ในความผิดฐานความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ 

นิลส์ มูอิซเนียกส์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคยุโรป แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า

“วันนี้เป็นก้าวสำคัญบนเส้นทางแสนยาวไกลสู่ความยุติธรรม ความจริง และการชดใช้ให้กับเหยื่อหลายร้อยคนของสงครามโคโซโวที่รอมาเกือบ 2 ทศวรรษครึ่ง เพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับอาชญากรรมอันน่าสยดสยองที่กระทำต่อพวกเขา”

“การที่ต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปีในการนำผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนรับผิดชอบทางอาญาขึ้นศาล ทำให้วัฒนธรรมการไม่ต้องรับโทษต่ออาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโคโซโวยังคงมีอยู่ การพิจารณาคดีครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย”

 

อ่านต่อ: https://rb.gy/tnacz 

 

-----

 

 

อิหร่าน : ข้อมูลเพิ่มเติม : จัมชิด ชาร์มาห์ ชาวเยอรมัน-อิหร่าน ถูกตัดสินประหารชีวิต

3 เมษายน 2566

 

จัมชิด ชาร์มาห์ ผู้เห็นต่างทางการเมืองชาวเยอรมัน-อิหร่าน วัย 68 ปี มีความเสี่ยงที่จะถูกประหารชีวิต หลังศาลปฏิวัติในกรุงเตหะรานตัดสินประหารชีวิตเขาฐานความผิดในข้อหา "เผยแพร่การทุจริตฉ้อฉลบนโลก" ในการพิจารณาคดี ณ วันที่ 10 มกราคม 2566

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เว็บไซต์ศาลยุติธรรมรายงานคำพิพากษาลงโทษจัมชิด ชาร์มาห์ฐาน “เจตนากระทำการก่อการร้าย 23 ครั้ง ซึ่งประสบความสำเร็จในการดำเนินการทั้งหมด 5 ครั้ง” โดยหนึ่งในนั้น คือ เหตุระเบิดในเมืองชีราซ จังหวัดฟาร์ส ในปี 2551 

ด้านจัมชิด ชาร์มาห์ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด รวมทั้งในระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งดำเนินไปอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากทางการอิหร่านปฏิเสธสิทธิของเขาในการปรึกษาทนายความอย่างเป็นอิสระ รวมถึงการได้รับการคุ้มกันอย่างเพียงพอจากการการทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้าย การสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และการพิจารณาคดีโดยผู้มีอำนาจอย่างเป็นกลาง

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2020 จัมชิด ชาร์มาห์ถูกทางการอิหร่านบังคับให้เป็นบุคคลสูญหาย ถูกทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้าย อาทิ การกักขังเดี่ยวเป็นเวลานานและการปฏิเสธการรักษาพยาบาลอย่างเพียงพอ

 

อ่านต่อ: https://rb.gy/k4id5 

 

-----

 

ซาอุดีอาระเบีย : ข้อมูลเพิ่มเติม : ปล่อยตัว ซัลมา อัล-เชฮับ หลักถูกตัดสินจำคุก 27 ปีจากการทวีต 

3 เมษายน 2566

 

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ศาลอาญาพิเศษ (SCC) ในกรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย ตัดสินจำคุก ซัลมา อัล-เชฮับ นักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยลีดส์และคุณแม่ลูกสอง ถึง 27 ปี ตามด้วยคำสั่งห้ามเดินทางอีก 27 ปีหลังศาลฎีกาส่งคดีของเธอไปที่ห้องพิจารณาอุทธรณ์ของ SCC เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง

ล่าสุด การพิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรมของ SCC ได้มีการตัดสินให้ ซัลมา อัล-เชฮับ มีความผิดฐานเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย จากการรีทวีตเพื่อสนับสนุนประเด็นสิทธิสตรี 

 

อ่านต่อ: https://rb.gy/mgrmz 

 

-----

 

เอลซัลวาดอร์ : หนึ่งปีในภาวะฉุกเฉิน ทางการกำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ

3 เมษายน 2566

 

เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า นับแต่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทางการเอลซัลวาดอร์ได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงอย่างเป็นระบบ และได้มีการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งได้รับการอนุมัติในเดือนมีนาคม 2565 โดยคาดว่าจะสามารถจัดการกลุ่มอันธพาลภายในประเทศได้

การประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินนี้ส่งผลให้มีการกักขังมากกว่า 66,000 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่กระทำโดยพลการ พบการปฏิบัติอย่างโหดร้าย การทรมาน และการละเมิดอย่างโจ่งแจ้งในกระบวนการอันชอบธรรม รวมถึงการบังคับบุคคลให้สูญหาย ทั้งยังมีผู้เสียชีวิตในความดูแลของรัฐอย่างน้อย 132 คน ซึ่ง ณ เวลาที่เสียชีวิตนั้น พวกเขายังไม่ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิดในอาชญากรรมใดๆ 

กุญแจสำคัญในการกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ คือ การประสานงานและการสมรู้ร่วมคิดของรัฐบาลทั้ง 3 ฝ่าย การวางกรอบกฎหมายที่ขัดต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญา และการไม่นำมาตรการมาใช้เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

 

อ่านต่อ: https://rb.gy/dv5gy 

 

-----

 

จีน : คามิล วายิท นักศึกษาชาวอุยกูร์ถูกควบคุมตัวฐานโพสต์วิดีโอประท้วง 

5 เมษายน 2566

 

คามิล วายิท นักศึกษาชาวอุยกูร์ ที่กำลังศึกษาอยู่ในมณฑลเหอหนาน ถูกตำรวจเข้าจับกุมเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2565 ขณะเดินทางกลับไปพักผ่อนที่บ้านในมณฑลซีเจียง 

โดยในเดือนพฤศจิกายน 2565 คามิล วายิท ได้โพสต์วิดีโอบน WeChat เกี่ยวกับ “การประท้วง A4” ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศจีนหลังจากเหตุเพลิงไหม้ในอุรุมชี หลังจากนั้นไม่นาน พ่อของเธอได้รับโทรศัพท์เตือนจากตำรวจ และเธอได้ลบโพสต์ดังกล่าว

ปัจจุบันคามิลถูกควบคุมตัวนานกว่า 4 เดือนแล้ว ฉะนั้นหากไร้ซึ่งสิทธิในการติดต่อครอบครัวหรือปรึกษาทนายความที่เธอเลือกอย่างเป็นอิสระ จึงมีความเป็นไปได้ว่าคามิลอาจถูกทรมานและได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้าย


อ่านต่อ: https://rb.gy/98yax