สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 11 มีนาคม - 17 มีนาคม 2566

20 มีนาคม 2566

Amnesty International

 
อัฟกานิสถาน : ข้อกล่าวหาการถูกข่มขืนโดยสมาชิกตาลีบันจะต้องมีการสอบสวนและดำเนินคดีโดยทันที
10 มีนาคม 2566
 
สืบเนื่องจากการรายงานของสื่อท้องถิ่นเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมาในข้อกล่าวหาการถูกข่มขืนอย่างน่าสยดสยองของผู้หญิงคนหนึ่งกับลูกสาวตัวน้อยสองคนของเธอในจังหวัดซาร์เอโปล อัฟกานิสถาน ในคืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2023
ซามาน สุลตานี นักวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
“รายละเอียดที่เกิดขึ้นใหม่เกี่ยวกับการรุมโทรมผู้หญิงและลูกสาวของเธอโดยสมาชิกตาลีบันถือเป็นจุดต่ำสุดครั้งใหม่ที่น่าสยดสยองในบันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่พบเห็นได้ในอัฟกานิสถานในปัจจุบัน กลุ่มตาลีบันในฐานะผู้ที่มีอำนาจโดยพฤตินัยจะต้องประณามเหตุการณ์ดังกล่าวและเริ่มดำเนินการสอบสวนข้อกล่าวหาอย่างเป็นอิสระ โปร่งใส และเป็นกลางโดยทันที ผู้ที่กระทำความผิดจะต้องถูกดำเนินคดีและได้รับโทษตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมและไม่ต้องรับโทษประหารชีวิต”
“นับแต่ที่มีการยึดอำนาจเมื่อเดือนสิงหาคม 2021 กลุ่มตาลีบันได้ละเมิดสิทธิผู้หญิงและเด็กผู้หญิง และยังทำลายระบบการคุ้มครองและสนับสนุนผู้ที่หลบหนีความรุนแรง เช่น กระทรวงกิจการสตรี (Ministry of Women Affairs: MoWA) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอิสระ (Independent Human Rights Commission: AIHRC) และ กฎหมายว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี (the Law on the Elimination of Violence Against Women: EVAW) ตลอดจนหน่วยงานและศาลที่ดำเนินคดีเกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3JkUpQG
 
------
 
 
ระดับโลก: มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนและพิการอีกหลายพันคนจากการใช้กระสุนยางโดยมิชอบของตำรวจ
14 มีนาคม 2566
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ระบุว่า กองกำลังความมั่นคงทั่วโลกมักนำกระสุนยางและพลาสติกมาใช้อย่างมิชอบ รวมทั้งการใช้อาวุธเพื่อการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ เพื่อการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างโหดร้าย และเรียกร้องให้มีการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อการใช้งาน และให้มีสนธิสัญญาระดับโลกเพื่อควบคุมการค้าที่เกี่ยวข้อง
รายงานชื่อ “ลูกตาเราแตก” (My Eye Exploded) ที่เป็นการตีพิมพ์ร่วมระหว่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกับมูลนิธิโอเมกา ที่เก็บข้อมูลจากงานวิจัยในกว่า 30 ประเทศในช่วงห้าปีที่ผ่านมา โดยเก็บบันทึกข้อมูลจากผู้ชุมนุมประท้วงและผู้อยู่โดยรอบหลายพันคนที่ได้รับบาดเจ็บ และอีกหลายสิบคนที่เสียชีวิตจากการใช้อาวุธเพื่อบังคับใช้กฎหมายที่มีความร้ายแรงต่ำ อย่างไม่บันยะบันยังและไม่ได้สัดส่วน รวมทั้งการใช้กระสุนวิถีโค้งที่มีแรงกระแทกหรือกระสุนจลนศาสตร์ (Kinetic Impact Projectiles - KIPs) เช่น กระสุนยาง และการยิงกระสุนลูกปรายใหญ่หุ้มยาง (rubberized buckshot) และระเบิดแก๊สน้ำตาที่เล็งและยิงใส่ผู้ชุมนุมประท้วงโดยตรง
แพทริก วิลเคน นักวิจัยด้านการทหาร ความมั่นคงและการควบคุมมวลชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า “เราเชื่อว่า มาตรการควบคุมระดับโลกที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อการผลิตและการค้าอาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำ รวมทั้งกระสุนจลนศาสตร์ และแนวปฏิบัติที่เป็นผลในการใช้กำลัง เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาการปฏิบัติมิชอบที่เกิดเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3JnWjzZ
 
------
 
 
เลบานอน : ไม่มีความรับผิดชอบต่อการปราบปรามของกองกําลังรักษาความมั่นคงในการชุมนุมประท้วงตั้งแต่ 2019 - รายงาน
14 มีนาคม 2566
 
ไม่มีเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายคนไหนถูกดำเนินคดีในเลบานอน สำหรับการใช้กำลังที่ผิดกฎหมายและเกินควรต่อผู้ชุมนุมประท้วง ระหว่างการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่ปี 2019 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมาเนื่องจากมีการเผยแพร่รายงานฉบับใหม่ร่วมกับมูลนิธิโอเมก้า
รายงานฉบับใหม่ ชื่อ “ลูกตาเราแตก” (My Eye Exploded) ให้รายละเอียดว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในหลายประเทศทั่วโลกใช้กระสุนจลนศาสตร์ (Kinetic Impact Projectiles - KIPs) เช่น กระสุนยาง โดยประมาทเลินเล่อหรือเพื่อเป็นการลงโทษในการใช้กำลังอย่างไม่ยุติธรรมหรือไม่สมส่วน นอกจากนี้ รายงานยังมีการตรวจสอบกระสุนปืนประเภทอื่นๆ เช่น กระสุนโลหะที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้ในการบังคับใช้กฎหมายทั้งยังเป็นอันตรายสูง ซึ่งจะต้องห้ามไม่ให้ใช้ในการบังคับใช้กฎหมาย และการใช้ถังแก๊ซน้ำตาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นกระสุนเพื่อยิงใส่คนโดยตรง รายงานมีการสนับสนุนการสร้างสนธิสัญญาเพื่อการค้าที่ไม่ก่อให้เกิดการทรมานฉบับใหม่ ที่จะปิดช่องว่างด้านกฎระเบียบที่สำคัญโดยการแนะนำข้อห้ามทั่วโลกที่มีผลผูกพันตามกฎหมายและการควบคุมการค้าเกี่ยวกับอุปกรณ์บังคับใช้กฎหมายที่ใช้ในการกระทำการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3z0wwct
 
------
 
ญี่ปุ่น: การพิจารณาคดีใหม่เป็นขั้นตอนสู่ความยุติธรรมสำหรับนักโทษประหารที่ ‘รับโทษยาวนานที่สุด’ ในโลก
13 มีนาคม 2566
 
สืบเนื่องจากคำตัดสินของศาลสูงโตเกียวว่าฮากามาดะ อิวาโอะ (Hakamada Iwao) วัย 87 ปี ซึ่งได้ตกเป็นนักโทษประหารนานถึง 45 ปี โดยเชื่อว่านานที่สุดในโลก ควรได้รับอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่
ฮิเดอากิ นาคากาวา ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ญี่ปุ่น เผยว่า คำตัดสินนี้คือโอกาสที่เลยกำหนดมานานในการมอบความยุติธรรมให้กับฮากามาดะที่ต้องโทษประหารชีวิตมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ทั้งที่เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม
“คำตัดสินของฮากามาดะอ้างอิงจาก ‘คำรับสารภาพ’ ที่ถูกบังคับและมีข้อสงสัยอย่างมากเกี่ยวกับหลักฐานอื่นๆ ที่ใช้ปรักปรำ แม้เขาจะมีอายุถึง 87 ปีแล้ว แต่กลับยังไม่ได้รับโอกาสคัดค้านคำตัดสินที่ทำให้เขาเสี่ยงที่จะถูกประหารอย่างต่อเนื่องมาเกือบทั้งชีวิต
“ตอนนี้ศาลสูงโตเกียวได้รับรองสิทธิของฮากามาดะในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมซึ่งถูกปฏิเสธมาเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว อัยการจะต้องอนุญาตให้เรื่องนี้เกิดขึ้น
“นั่นหมายความว่าพวกเขาจะต้องไม่ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินในวันนี้หรือยืดระยะเวลาที่ไม่มีความชัดเจนสำหรับฮากามาดะนับตั้งแต่ ‘การปล่อยตัวชั่วคราว’ เมื่อเก้าปีก่อน แต่พวกเขาต้องอนุญาตให้มีการพิจารณาคดีใหม่นี้ในขณะที่ฮากามาดะยังสามารถเข้าร่วมในการกระบวนการพิจารณาคดีได้”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3LnLxfG
 
------
 
ฟีฟ่าได้รับจดหมายเปิดผนึกจากกว่าล้านลายเซ็น เรียกร้องความยุติธรรมให้กับพนักงานฟุตบอลโลกที่ถูกทารุณกรรม
13 มีนาคม 2566
 
ฟีฟ่าได้รับจดหมายจากผู้ลงนามเรียกร้องมากกว่าหนึ่งล้านคน — และเสื้อฟุตบอลที่ออกแบบเอง —ให้มีการชดเชยเงินให้กับแรงงานข้ามชาติที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงระหว่างที่ทำงานในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ที่กาตาร์
จดหมายเปิดผนึกนี้ส่งถึงฟีฟ่าก่อนการประชุมประจำปีขององค์กรในวันที่ 16 มีนาคม ที่รวันดา ที่มันถูกกดดันจากสมาชิกบางคนขององค์กรเองในการเยียวยาการละเมิดที่น่าตกใจเหล่านี้ การลงชื่อกว่าหนึ่งล้านชื่อนี้ถูกรวบรวมโดยอาวาซและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลใน 190 ประเทศ
“การประชุมครั้งนี้มอบโอกาสอีกครั้งสำหรับฟีฟ่าในการแก้ไขและกำหนดแผนการ และตารางเวลาในการจ่ายผลตอบแทนแก่พนักงานและครอบครัวของพวกเขาโดยตรงและรวดเร็ว จากคนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างน่าตกใจในการจัดการแข่งขันฟุตบอลที่สร้างขึ้นมาจากความเสียสละของพวกเขา” สตีฟ ค็อกเบิรน์ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและความยุติธรรมสังคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3JKw6x1
 
------
 
อินโดนีเซีย : ทางการล้มเหลวในการให้ความเป็นธรรมกับเหยื่อเหตุวินาศกรรมสนามฟุตบอล
16 มีนาคม 2566
 
สืบเนื่องจากการพ้นผิดของสองเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา ผู้ซึ่งถูกตั้งข้อหาความประมาททางอาญาตามหน้าที่ในเหตุจลาจลสนามกีฬากันจูรูฮัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 135 คน
อัสแมน ฮามิด ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินโดนีเซีย กล่าวว่า
“เป็นอีกครั้งที่ทางการล้มเหลวในการให้ความยุติธรรมแก่เหยื่ออันเป็นผลจากการใช้กำลังเกินกว่าเหตุในอินโดนีเซีย แม้จะมีการให้คำมั่นสัญญาว่าจะมีการดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนในการรับผิดชอบก็ตาม ทว่าหลายเดือนหลังจากเหตุโศกนาฏกรรมที่ทำให้โลกต้องตกตะลึง กลับมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด”
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินโดนีเซีย ขอย้ำถึงการเรียกร้องให้มีการดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นอิสระ ต่อการกระทำที่น่าตกใจของกองกำลังรักษาความปลอดภัยในสนามกีฬา โดยมีการยิงแก๊สน้ำตาใส่ฝูงชน ที่ก่อให้เกิดความแตกตื่นที่ทางออกของสนาม ซึ่งครอบครัวของเหยื่อต่างก็รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งกับผลลัพธ์ทางคดีเพียงน้อยนิดดังกล่าว”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3YXcoSV