แอมเนสตี้วอนที่ประชุม 'อาเซียน-ออสเตรเลีย' หาทางยุติล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา

16 มีนาคม 2561

 

แอมเนสตี้เรียกร้องนายกฯ ไทย ผู้นำอาเซียนและออสเตรเลีย ร่วมกันหาทางยุติการล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในเมียนมาอย่างจริงจัง พร้อมแสดงความกังวลด้านเสรีภาพก่อนการเลือกตั้งในไทย กัมพูชา และมาเลเซีย

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และแถลงถึงผู้นำประเทศต่างๆ ที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ให้ร่วมกันแสดงจุดยืนคัดค้านการล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญาในเมียนมา ซึ่งอาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

 

การประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลียครั้งนี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคม 2561 ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย โดยคาดว่า ออง ซาน ซูจี มุขมนตรีและผู้นำทางพฤตินัยของเมียนมา จะเข้าร่วมด้วย

 

แอมเนสตี้บันทึกข้อมูลปฏิบัติการอย่างโหดร้ายทารุณของกองทัพเมียนมาเพื่อหวังล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ซึ่งถือว่าเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และล่าสุดเมื่อสัปดหา์ที่ผ่านมา แอมเนสตี้พบด้วยว่าทางการเมียนมาตรึงกำลังทหารมากขึ้นในตอนเหนือของรัฐยะไข่ที่เคยเป็นที่อยู่ของชาวโรฮิงญา มีการสร้างฐานทัพหลายแห่งในหมู่บ้านชาวโรฮิงญาที่ถูกวางเพลิง 

 

เจมส์ โกเมซ ผู้อำนวยการสำนักงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “วิกฤตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา โดยเฉพาะในรัฐยะไข่ ต้องเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนในการประชุมที่ซิดนีย์ ที่ผ่านมาอาเซียนเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคซึ่งเป็นเรื่องที่น่าละอาย ถึงเวลาที่อาเซียนต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและจัดประชุมฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหานี้โดยเร็ว”

 

ขณะที่สื่อมวลชนต่างประเทศเปิดโปงว่ารัฐบาลออสเตรเลียยังคงมีแผนที่จะสนับสนุนกองทัพเมียนมาต่อไปในปีนี้ โดยมีการเสนอโครงการอบรมมูลค่าเกือบ 400,000 เหรียญ (ประมาณ 10 ล้านบาท) ให้กับกองทัพเมียนมา 

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและกองทัพเมียนมาที่ยังดำเนินอยู่ต่อไป เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ และต้องยุติลงทันที ทหารเหล่านี้เป็นทหารหน่วยเดียวกับที่สังหารชาวโรฮิงญา เผาหมู่บ้าน ข่มขืนและผลักดันชาวโรฮิงญาหลายแสนคนให้ต้องหลบหนีออกไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน” เจมส์ โกเมซ กล่าว 

 

แอมเนสตี้เรียกร้องให้ตัวแทนประเทศในการประชุมครั้งนี้ร่วมกันแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการยุติการล้างเผ่าพันธุ์ในเมียนมา ตลอดจนเรียกร้องเมียนมาให้ยุติปฏิบัติการที่ผลักดันชาวโรฮิงญาออกจากเมียนมาและการพยายามป้องกันไม่ให้พวกเขาเดินทางกลับเข้ามาในประเทศด้วย

 

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ยังแสดงความกังวลถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ในอาเซียนและออสเตรเลียด้วย เช่น นโยบายผู้ลี้ภัยที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมของออสเตรเลีย การคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศ และการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกก่อนการเลือกตั้งในไทย กัมพูชา และมาเลเซีย