ญี่ปุ่น: การพิจารณาคดีใหม่เป็นขั้นตอนสู่ความยุติธรรมสำหรับนักโทษประหารที่ ‘รับโทษยาวนานที่สุด’ ในโลก

13 มีนาคม 2566

Amnesty International

ภาพถ่าย: © Getty Images

สืบเนื่องจากคำตัดสินของศาลสูงโตเกียวว่าฮากามาดะ อิวาโอะ (Hakamada Iwao) วัย 87 ปี ซึ่งได้ตกเป็นนักโทษประหารนานถึง 45 ปี โดยเชื่อว่านานที่สุดในโลก ควรได้รับอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่

ฮิเดอากิ นาคากาวา ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ญี่ปุ่น เผยว่า คำตัดสินนี้คือโอกาสที่เลยกำหนดมานานในการมอบความยุติธรรมให้กับฮากามาดะที่ต้องโทษประหารชีวิตมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ทั้งที่เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม

“คำตัดสินของฮากามาดะอ้างอิงจาก ‘คำรับสารภาพ’ ที่ถูกบังคับและมีข้อสงสัยอย่างมากเกี่ยวกับหลักฐานอื่นๆ ที่ใช้ปรักปรำ แม้เขาจะมีอายุถึง 87 ปีแล้ว แต่กลับยังไม่ได้รับโอกาสคัดค้านคำตัดสินที่ทำให้เขาเสี่ยงที่จะถูกประหารอย่างต่อเนื่องมาเกือบทั้งชีวิต

“ตอนนี้ศาลสูงโตเกียวได้รับรองสิทธิของฮากามาดะในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมซึ่งถูกปฏิเสธมาเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว อัยการจะต้องอนุญาตให้เรื่องนี้เกิดขึ้น

“นั่นหมายความว่าพวกเขาจะต้องไม่ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินในวันนี้หรือยืดระยะเวลาที่ไม่มีความชัดเจนสำหรับฮากามาดะนับตั้งแต่ ‘การปล่อยตัวชั่วคราว’ เมื่อเก้าปีก่อน แต่พวกเขาต้องอนุญาตให้มีการพิจารณาคดีใหม่นี้ในขณะที่ฮากามาดะยังสามารถเข้าร่วมในการกระบวนการพิจารณาคดีได้”

 

ข้อมูลพื้นฐาน:

ฮากามาดะ อิวาโอะถูกตัดสินประหารชีวิตในปี 2511 และเชื่อว่าเป็นนักโทษประหารที่รับโทษยาวนานที่สุดในโลก เขาใช้เวลากว่า 45 ปีถูกคุมขังในแดนประหาร โดยส่วนใหญ่เป็นการขังเดี่ยว

หลังจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาฆาตกรรมนายจ้างและครอบครัวของนายจ้าง ฮากามาดะ “รับสารภาพ” หลังตำรวจสอบปากคำนาน 20 วัน เขาถอน “คำรับสารภาพ” ในระหว่างการพิจารณาคดีและบอกกับศาลว่าตำรวจทุบตีและข่มขู่เขา

เขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำในเดือนมีนาคม 2557 เมื่อศาลแขวงชิซูโอกะ (ซึ่งตัดสินประหารชีวิตเขาในปี 2511) อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่หลังจากหลักฐานดีเอ็นเอใหม่ทำให้เกิดข้อสงสัยอย่างมากเกี่ยวกับความผิดของเขา อย่างไรก็ตาม เขายังคงถูกตัดสินโทษประหารชีวิตอยู่

การตัดสินใจเปิดการพิจารณาคดีใหม่อ้างอิงจากหลักฐานมากกว่า 600 ชิ้น ซึ่งอัยการได้รับคำสั่งจากศาลให้เปิดเผยหลังจากที่ฮากามาดะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เป็นครั้งที่สองในปี 2551 โดยหลักฐานเหล่านี้บางชิ้นได้ลดทอนความน่าเชื่อถือของหลักฐานก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม อัยการยื่นอุทธรณ์คำตัดสินทันที ในเดือนมิถุนายน 2551 ศาลสูงโตเกียวได้พิพากษากลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นและปฏิเสธการพิจารณาคดีใหม่ แม้ว่าจะไม่มีการเรียกให้ฮากามาดะกลับเข้าเรือนจำก็ตาม หลังจากทนายความของฮากามาดะ ยื่นอุทธรณ์ ศาลสูงสุดของญี่ปุ่นได้ยกเลิกคำตัดสินของศาลสูงในเดือนธันวาคม 2563 และขอให้ศาลตรวจสอบการอุทธรณ์คำตัดสินอีกครั้งเพื่ออนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่

การประหารชีวิตในญี่ปุ่นใช้วิธีการแขวนคอและมักกระทำอย่างลับๆ ผู้ต้องขังในแดนประหารจะได้รับแจ้งในเช้าวันประหารชีวิต และครอบครัวของพวกเขาจะได้รับแจ้งหลังจากประหารชีวิตแล้วเท่านั้น

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำความผิดหรือผู้บริสุทธิ์ หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม