เมียนมา: เปิดโปงการขนส่งเชื้อเพลิงอากาศยานรอบใหม่ไปเมียนมา แม้กองทัพยังคงก่ออาชญากรรมสงคราม

1 มีนาคม 2566

Amnesty International

ภาพถ่าย : Satellite image shows military aircraft at Tada-U Air Base on 10 February 2023 ©Maxar Technologies

การขนส่งเชื้อเพลิงอากาศยานรอบใหม่ไปเมียนมายังคงเกิดขึ้น แม้กองทัพยังคงก่ออาชญากรรมสงครามอย่างต่อเนื่อง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และ Global Witness กล่าวในวันนี้ หลังทางหน่วยงานตรวจพบว่ามีอีกหลายบริษัทที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานครั้งนี้

มอนต์เซ แฟร์เรอร์ นักวิจัยและที่ปรึกษาด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เราตรวจพบว่ามีการขนส่งเชื้อเพลิงอากาศยานรอบใหม่ ซึ่งน่าจะส่งถึงมือของกองทัพเมียนมาที่ได้โจมตีทางอากาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างต่อเนื่อง การโจมตีเหล่านี้เป็นการสังหารพลเรือนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเด็ก และทำลายทรัพย์สินของพลเรือน แต่เครื่องบินจะบินได้ก็เมื่อมีเชื้อเพลิงเท่านั้น

“นับแต่การทำรัฐประหารของกองทัพเมื่อปี 2564 กองทัพได้ปราบปรามอย่างโหดร้ายต่อผู้วิจารณ์ และโจมตีพลเรือนทั้งทางบกและอากาศ การจัดส่งเชื้อเพลิงอากาศยานถึงมือของกองทัพ ย่อมเป็นการสนับสนุนอาชญากรรมสงครามเหล่านี้ การจัดส่งน้ำมันต้องยุติลงทันที”

ฮันนา ฮินด์สตรอม นักสอบสวนอาวุโสของ Global Witness ซึ่งช่วยทำวิจัยครั้งนี้ เปิดเผยว่า เราเรียกร้องให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการค้าครั้งนี้ มองเห็นคนสำคัญกว่าผลกำไร และให้ยุติการจัดส่งเชื้อเพลิงที่สนับสนุนความโหดร้ายเหล่านี้ เราเรียกร้องให้รัฐต่างๆ ออกหรือบังคับใช้ข้อควบคุมเพื่อป้องกันการจัดส่งน้ำมันเหล่านี้

“สิ่งที่น่ากังวลใจอย่างยิ่งอีกประการหนึ่ง คือ การตัดสินใจของบริษัทพูมาเอ็นเนอร์ยี่ บริษัทเชื้อเพลิงข้ามชาติสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งประกาศว่าจะถอนตัวจากเมียนมาเมื่อเดือนตุลาคม 2565 และขายทรัพย์สินเกี่ยวกับเชื้อเพลิงอากาศยานให้กับกลุ่มธุรกิจในเมียนมา ซึ่งทำหน้าที่เสมือนตัวแทนของกองทัพในการนำเข้าเชื้อเพลิงอากาศยาน”  มอนต์เซ แฟร์เรอร์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

 

คลังอันตราย – สินค้าอันตราย บริษัทที่ให้เชื้อเพลิงกับกองทัพเมียนมา

ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล์เผยแพร่รายงาน “คลังอันตราย: เปิดโปงห่วงโซ่อุปทาน เชื้อเพลิงโหมอาชญากรรมสงครามในเมียนมา” เกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานของเชื้อเพลิงอากาศยานของประเทศที่จัดส่งให้กับกองทัพเมียนมา ซึ่งเชื่อมโยงกับบริษัทในประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับโลก  

ในปัจจุบัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, Global Witness และ Burma Campaign UK สามารถระบุได้ว่ามีบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมด้านเชื้อเพลิงอากาศยาน ซึ่งคาดว่าได้ส่งถึงมือกองทัพในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

การจัดส่งครั้งหนึ่งเกี่ยวข้องกับเรือขนส่งน้ำมัน Prime V ที่เดินทางจากสิกขาในอินเดียเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ในวันที่ประมาณ 10 ธันวาคม เรือ Prime V ได้ขนถ่ายเชื้อเพลิงอากาศยานเกรด Jet A-1 ไว้ที่คลังน้ำมันของอดีตบริษัทพูมาเอ็นเนอร์ยี่เอวีเอชั่นซัน จำกัด (PEAS) บริเวณท่าเรือตละวา ประเทศเมียนมา

หนึ่งในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมครั้งนี้คือบริษัทรีลายแอนซ์ อินดัสทรีส์ จำกัด ของอินเดีย ซึ่งเป็นเจ้าของคลังน้ำมันที่จ่ายน้ำมันให้กับเรือ Prime V บริษัทซีเทรดมารีน จากประเทศกรีซ เป็นเจ้าของผู้ได้รับประโยชน์จากเรือ Prime V ส่วนบริษัทเจแปนพีแอนด์ไอคลับเป็นผู้ให้การประกันภัยความรับผิด  แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลติดต่อกับบริษัทเหล่านี้ แต่มีเพียงบริษัทเจแปนพีแอนด์ไอที่ตอบกลับมา โดยระบุว่า เป็นการปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรที่มีผลบังคับใช้

เรายังได้รับรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดส่งน้ำมันในเดือนตุลาคม ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเรือขนส่งน้ำมัน Big Sea 104 เดินทางออกจากโรงกลั่นน้ำมันบางจากที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ประเทศไทย ประมาณวันที่ 8 ตุลาคม 2565 โดยเดินทางถึงท่าเรือติละวาในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา และได้ขนถ่ายน้ำมัน Jet A-1 จำนวน 12,592 ตัน ที่ท่าเรือของอดีตบริษัท PEAS ตามข้อมูลของบริษัท Kpler บริษัทข้อมูลสินค้าโภคภัณฑ์

โรงกลั่นที่จ่ายน้ำมันให้กับเรือเป็นของบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ส่วนบริษัทพริมา มารีน จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของและผู้ได้รับประโยชน์ของเรือ Big Sea 104 โดยบริษัทชิปโอนเนอร์พีแอนด์ไอคลับจากลักเซมเบิร์กเป็นผู้ทำประกันภัย โดยบริษัทเหล่านี้ต่างไม่ได้ตอบกลับจดหมายจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

“แต่ละบริษัทเหล่านี้ต่างมีบทบาทที่ช่วยให้กองทัพเมียนมายังคงสามารถเข้าถึงเชื้อเพลิงอากาศยาน เพื่อทำการโจมตีทางอากาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สิ่งนี้ต้องยุติลง บริษัททุกแห่งควรยุติการมีส่วนร่วมในการจัดส่งเชื้อเพลิงอากาศยานให้กับเมียนมา” มอนต์เซ แฟร์เรอร์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

 

การขายทรัพย์สินของพูมาเอ็นเนอร์ยี่ในเมียนมา ทำให้เกิดข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชน

ในขณะที่มีการจัดส่งน้ำมันทั้งสองครั้ง ท่าเรืออยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทลูกในเมียนมาของบริษัทพูมาเอ็นเนอร์ยี่ ซึ่งตั้งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์และสิงคโปร์ ในเดือนตุลาคม 2565 พูมาเอ็นเนอร์ยี่ระบุว่าจะถอนตัวออกจากเมียนมา หลังจากขายทรัพย์สินให้กับบริษัทที่เรียกว่า “เป็นบริษัทเอกชนในท้องถิ่น” แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้ซื้อครั้งนี้คือบริษัทชุนเอ็นเนอร์ยี่ ซึ่งเดิมมีชื่อว่ากลุ่มเอเซียซัน เอวีเอชั่น และมีการขายจนสมบูรณ์ในเดือนธันวาคม 2565

บริษัทชุนเอ็นเนอร์ยี่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจในเมียนมาที่มีชื่อว่า กลุ่มเอเชียซัน ซึ่งนำเข้าเชื้อเพลิงอากาศยานในนามของกองทัพ และจัดส่งไปยังฐานทัพอากาศต่าง ๆ ภายหลังการถอนตัวของพูมาเอ็นเนอร์ยี่ กลุ่มบริษัทนี้ได้เข้ามาจัดการคลังน้ำมันหลักที่ใช้เก็บเชื้อเพลิงอากาศยานที่ท่าเรือติละวา กรุงย่างกุ้ง และดำเนินการร่วมกันกับ Petroleum Products Enterprise ซึ่งอยู่ควบคุมโดยกองทัพเมียนมา เพื่อนำเข้าและขนส่งเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วประเทศ

เมื่อเดือนที่แล้ว สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อบุคคลและบริษัทที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มเอเซียซัน เนื่องจากเชื่อมโยงกับการจัดส่งเชื้อเพลิงอากาศยานไปให้กับกองทัพอากาศ ก่อนีมาตรการคว่ำบาตร้ กลุ่มเอเชียซันได้เปลี่ยนชื่อบริษัทของตนหลายแห่งเป็นชุนเอ็นเนอร์ยี่

มอนต์เซ แฟร์เรอร์ กล่าวว่า “พูมาเอ็นเนอร์ยี่ได้ระบุว่า ผู้ซื้อทรัพย์สินของตนในเมียนมา ได้ดำเนินการอย่าง ‘สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชน  อย่างไรก็ดี สืบเนื่องจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างบริษัทชุนเอ็นเนอร์ยี่กับกองทัพเมียนมา เรากังวลว่าคำยืนยันเช่นนี้ปราศจากความหมาย”

 

ประชาคมโลกต้องเริ่มปฏิบัติการ

ในขณะที่บริษัทต่าง ๆ ยังคงส่งออกเชื้อเพลิงอากาศยานไปยังเมียนมา แม้รู้ว่าตนเองมีบทบาทสนับสนุนอาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นจากกองทัพ ประชาคมโลกต้องมีปฏิบัติการ

ก่อนหน้านี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และ Global Witness ได้กำหนดแนวทางในอนาคต คือประเทศต่าง ๆ ควรระงับการส่งออกและการขนส่งเชื้อเพลิงอากาศยานไปเมียนมา ที่สำคัญ พวกเขายังควรระงับการให้บริการจากบุคคลที่สาม รวมทั้งบริการประกันภัย การขนส่งทางเรือ หรือบริการทางการเงินให้กับเรือที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งเชื้อเพลิงอากาศยานไปเมียนมา

ฮันนา ฮินด์สตรอมกล่าวว่า ประชาคมโลกมีเครื่องมืออยู่แล้วที่จะใช้มาตรการจำกัดเหล่านี้ เราควรทำสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อลดทอนศักยภาพของกองทัพเมียนมาในการก่อกรรมทำเข็ญกับพลเรือน”

 

ข้อมูลพื้นฐาน

ตามข้อมูลของสถาบันสันติภาพและความมั่นคงแห่งเมียนมา กองทัพได้โจมตีทางอากาศ 104 ครั้ง ในปี 2564 และ 243 ครั้ง ในปี 2565

ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ครบรอบสองปีการทำรัฐประหารในเมียนมา แคนาดาและสหราชอาณาจักประกาศมาตรการขัดขวางไม่ให้ส่งเชื้อเพลิงอากาศยานถึงกองทัพ รวมทั้งการคว่ำบาตรรอย่างมีเป้าหมายต่อบริษัทและบุคคลในเมียนมา ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ สหภาพยุโรป ได้ดำเนินการต่อกลุ่มเอเซียซันและบริษัทที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กลุ่มเอเซียซัน เทรดดิ้งและกลุ่มเอเซียซันเอ็นเนอร์ยี่

ผลจากการสอบสวนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในรายงาน Deadly Cargo ทำให้บริษัทวิลเลมเสน บริษัทเดินเรือระดับโลกระบุว่า จะยุติให้บริการขนส่งทางเรือให้กับเรือใด ๆ ที่ขนส่งเชื้อเพลิงอากาศยานไปเมียนมา

บริษัทโคเรียนแพนโอเชียน ยังระบุว่า จะไม่อนุญาตให้เรือของตนขนส่งเชื้อเพลิงอากาศยานไปเมียนมา ส่วนบริษัทไทยออยล์ประกาศระงับการขนส่งเชื้อเพลิงอากาศยานไปเมียนมา

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ: press@amnesty.org