สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 18 กุมภาพันธ์ - 24 กุมภาพันธ์ 2566

27 กุมภาพันธ์ 2566

Amnesty International

 
ยูเครน : หนึ่งปีหลังจากการรุกรานเต็มรูปแบบของรัสเซีย สิทธิของเหยื่อจะต้องเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด
23 กุมภาพันธ์ 2566
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเนื่องในวาระครบหนึ่งปีนับตั้งแต่เกิดการรุกราน ประชาคมโลกต้องพัฒนาแผนที่เข้มแข็งเพื่อนำความยุติธรรมมาให้กับเหยื่อสงครามรุกรานยูเครนของรัสเซีย
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 กองทัพรัสเซียเปิดฉากการรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกว่า “การกระทำรุกรานและหายนะด้านสิทธิมนุษยชน” ตั้งแต่นั้นมา กองกำลังรัสเซียได้ก่ออาชญากรรมสงครามและการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอื่นๆ รวมถึงการประหารชีวิตนอกกระบวนการยุติธรรม การโจมตีอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนและสถานที่พักพิง การเนรเทศและบังคับให้พลเรือนโยกย้ายถิ่นฐาน และการสังหารที่ผิดกฎหมายในวงกว้างด้วยการยิงถล่มเมืองต่างๆ
แม้การรุกรานยังคงดำเนินต่อไปและยังไม่ทราบขอบเขตทั้งหมดของอาชญากรรมที่ก่อขึ้นในยูเครน แต่การเรียกร้องความยุติธรรมและสิทธิของเหยื่อและผู้รอดชีวิตจะต้องได้รับความสำคัญ ประชาคมโลกมีหน้าที่ชัดเจนในการประกันว่าผู้ที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศจะต้องรับรู้ว่าความรับผิดชอบและความยุติธรรมจะมีชัยเหนือการลอยนวลพ้นผิด
แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เนื่องจากกองกำลังรัสเซียดูเหมือนกำลังเพิ่มการโจมตีในยูเครน พันธกิจในการนำตัวผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาชญากรรมสงครามทั้งหมดมารับผิดจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่าที่เคย
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/41nQD0X
 
-----
 
 
เกาหลี : คำตัดสินเรื่องประกันสุขภาพจุดประกายความหวังของการสมรสเท่าเทียมในเกาหลีใต้
21 กุมภาพันธ์ 2566
 
จากที่ศาลสูง (High Court) เกาหลีใต้ได้ตัดสินออกคำสั่งให้สำนักงานประกันสุขภาพต้องกลับมาคุ้มครองความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิตเพศเดียวกัน
โบรัม จาง นักวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า
“นี่คือการตัดสินใจสำคัญที่จะพาเกาหลีใต้ให้เข้าใกล้ความสำเร็จของการสมรสเท่าเทียม หนทางในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นอาจยังยาวไกล แต่คำตัดสินนี้ได้มอบความหวังว่าอคตินั้นล้วนแล้วแต่สามารถเอาชนะได้
“การที่ไม่ยอมรับคู่ชีวิตในความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักเพศเดียวกันนั้นหมายความว่าสำนักงานประกันสุขภาพได้เลือกปฏิบัติต่อคู่รักเพศเดียวกัน โดยได้ปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาทั้งที่คู่รักต่างเพศสามารถมีได้ คำตัดสินในครั้งนี้จะช่วยทำให้เรื่องที่ผิดเหล่านี้ได้ถูกต้องเสียที
“คำตัดสินนี้สำคัญมากเพราะเป็นการตัดสินแรกที่กฎหมายได้ยอมรับคู่รักเพศเดียวกันผ่านศาล ไม่ว่าจะศาลชั้นไหนในประเทศเกาหลีใต้ แต่ยังต้องมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากเพื่อหยุดการเลือกปฏิบัติ และการทำให้ชุมชนเพศหลากหลายต้องกลายเป็นอาชญากรรม”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3XZXJWB
 
-----
 
 
ตูนิเซีย : ต้องยกเลิกโทษจำคุกคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกตัดสินในคดีรักเพศเดียวกัน
19 กุมภาพันธ์ 2566
 
ก่อนการพิจารณาคดีอุทธรณ์ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ศาลอุทธรณ์นาเบิลสำหรับสมาชิกสองรายของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศในตูนิเซีย ซึ่งเป็นหญิงข้ามเพศและชายรักชาย ที่ถูกตัดสินว่ามีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันและถูกพิพากษาโดยศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 ให้จำคุกเป็นเวลา 3 ปีและ 1 ปีตามลำดับ
แอมนา กูเอลลาลี รองผู้อำนวยการฝ่ายตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
“เป็นเรื่องที่น่าตกใจและยอมรับไม่ได้เลยที่ตุลาการของตูนิเซียยังคงเข้ามาแทรกแซงชีวิตส่วนตัวของผู้คน โดยมีการมอบอำนาจให้ตำรวจดำเนินการบุกค้นบ้านโดยพลการ ทั้งยังอนุญาตให้มีการดำเนินคดีกับบุคคลในข้อกล่าวหาที่มีความเกี่ยวข้องกับรสนิยมทางเพศและตัวตนของพวกเขา ศาลอุทธรณ์นาเบิลควรที่จะใช้โอกาสนี้ในการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดสิทธิในอดีต ด้วยการกลับคำพิพากษาและตัดสินให้พวกเขาพ้นโทษจึงจะเป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง”
“มาตรา 230 ที่กำหนดให้กิจกรรมทางเพศระหว่างเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ถือเป็นการแสดงออกซึ่งความเกลียดกลัวต่อบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างฝังลึก และจะต้องถูกลบออกไปจากประมวลกฎหมายอาญาของตูนิเซียอย่างเร่งด่วน รัฐบาลควรสั่งยุติการจับกุมและดำเนินคดีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัตินี้ในทันที”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3SsFGqR
 
-----
 
เอสวาตินี : การสอบสวนคดีสังหาร ธูลานี่ มาเซโก้ จะต้องเป็นอิสระและมีความโปร่งใส
21 กุมภาพันธ์ 2566
 
ทางการเอสวาตินีจะต้องรับประกันว่าการสอบสวนคดีสังหารโดยมิชอบด้วยกฎหมายของทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ธูลานี่ มาเซโก้ จะเป็นอิสระ เป็นกลาง โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หนึ่งเดือนหลังจากที่เขาถูกยิงโดยมือปืนนิรนาม
“หนึ่งเดือนหลังจากที่ ธูลานี่ มาเซโก้ ถูกยิง ยังคงไม่ชัดเจนว่าทางการเอสวาตินีได้ดำเนินการในขั้นตอนใดไปแล้วบ้าง เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระในการระบุและนำผู้กระทำความผิดในอาชญากรรมครั้งนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องให้ทางการชี้แจงว่า พวกเขาจะรับประกันว่าการสอบสวนคดีสังหารมาเซโก้จะเป็นไปอย่างละเอียดถี่ถ้วน เป็นกลาง และโปร่งใสอย่างไร”วองไก ชิกวันดา รองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำแอฟริกาใต้ กล่าว
“มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่หลักฐานจะต้องไม่ถูกดัดแปลง ในฐานะรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เอสวาตินีมีหน้าที่ในการสอบสวนการสังหารโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้นความล้มเหลวในการสอบสวนการสังหารโดยมิชอบด้วยกฎหมายของธูลานี่ และการนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจึงถือเป็นการละเมิดพันธกรณีของประเทศภายใต้ ICCPR”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3XRz6LG
 
-----
 
ฟิลิปปินส์ : หกปีผ่านมา อดีตวุฒิสมาชิกเลลา เดอ ลิมา ยังคงถูกคุมขังโดยพลการต่อไป
23 กุมภาพันธ์ 2566
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ย้ำถึงการเรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้ทางการฟิลิปปินส์ยุติข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริงในทันทีต่อนักโทษทางความคิดและอดีตวุฒิสมาชิกอย่าง เลลา เดอ ลิมา และรับประกันการปล่อยตัวของเธอในทันทีและไม่มีเงื่อนไขก่อนหน้าปีที่หกของเธอที่ถูกคุมขังโดยพลการ
“เป็นเรื่องที่น่าขบขันที่เลลา เดอ ลิมา ต้องถูกคุมขังเป็นเวลานานถึง 6 ปี หลังจากที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาที่ถูกกุขึ้นกับเธอในคดีที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากพยานคนแล้วคนเล่าถอนคำให้การแล้ว รัฐบาลของมาร์กอสจะต้องยุติการกดขี่ข่มเหงอย่างเธอต่อไป” เรเชล ชัว โฮวาร์ด นักวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 พยานบุคคลสำคัญหลายคนได้ให้การปฏิเสธคำให้การของพวกเขาต่อ เดอ ลิมา โดยชี้ว่าพวกเขาต่างถูกบีบบังคับและคุกคามจากอดีตข้าราชการเพื่อสร้างข้อกล่าวหาต่อเธอ โดยพยานเหล่านี้ รวมถึง ราฟาเอล ราโกส อดีตรักษาการอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้ซึ่งกล่าวว่าเขาถูกบังคับให้ “สร้างเรื่องโกหก” โดยอดีตรัฐมนตรียุติธรรม วิตาเลียโน อากีร์เร และเจ้าหน้าที่อาวุโสคนอื่นๆ
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3YXo1dr
 
-----
 
 
ออสเตรเลีย : ออสเตรเลียล้มเหลวในการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (OPCAT)
21 กุมภาพันธ์ 2566
 
ออสเตรเลียไม่สามารถให้การรับรองแก่คณะอนุกรรมการว่าด้วยการป้องกันการทรมานแห่งสหประชาชาติ (SPT) ในการตรวจสอบสถานที่คุมขังประเภทต่างๆ ในออสเตรเลีย ส่งผลให้หน่วยงานเฝ้าระวังการทรมานของสหประชาชาติยกเลิกแผนการตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขังซึ่งเลื่อนมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออสเตรเลีย เรียกร้องให้เขตอำนาจศาลทั้งหมดของออสเตรเลียจัดให้มีการเข้าถึงสถานที่คุมขังต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบและปราศจากข้อจำกัด เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีของพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT) เพื่อป้องกันการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมต่อเด็ก ผู้ลี้ภัย และผู้ขอลี้ภัยในสถานที่คุมขังในออสเตรเลีย
“ขณะนี้ ออสเตรเลียกลายเป็นหนึ่งในสองประเทศนอกกรอบในระดับสากลที่ SPT ตัดสินใจยกเลิกการตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขังภายใต้พิธีสารนี้ ขณะที่อีกประเทศหนึ่ง คือ รวันดา”ไร อัทคินสัน นักรณรงค์เชิงกลยุทธ์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออสเตรเลีย กล่าว
“พิธีสารนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันการทรมาน การกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงนับเป็นความอับอายในระดับสากลที่ออสเตรเลียล้มเหลวในการร่วมมือเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาระดับโลกที่ให้ไว้”