ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งกรมการปกครองไม่รับจดทะเบียน "เนติวิทย์" นั่งกรรมการแอมเนสตี้เพราะใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

20 กุมภาพันธ์ 2566

Amnesty International

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ รมว.มหาดไทย ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2562 ที่ยกอุทธรณ์ของสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กรณีอธิบดีกรมการปกครอง ในฐานะนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนแต่งตั้ง นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นกรรมการสมาคมฯ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ตัวแทนสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เดินทางไปศาลปกครองกลางเพื่อรับฟังการพิจารณาคดีกรณีสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หลังฟ้องศาลปกครองกรณีนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร (อธิบดีกรมการปกครอง) ใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในกรณีมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนแต่งตั้งนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นกรรมการสมาคมฯ และฟ้องร้องดำเนินคดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมีการฟ้องร้องตั้งแต่ปี 2562

ศาลปกครองให้เหตุผลในคำพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ รมว.มหาดไทย ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรคสอง ได้บัญญัติว่าในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ประกอบกับพฤติการณ์ของนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ที่เป็นการแสดงออกถึงความคิดและความเชื่อของตน โดยไม่ปรากฏว่าเคยถูกศาลพิพากษาว่าเป็นความผิดตามกฎหมายมาก่อน จึงเห็นว่าพฤติการณ์ของนายเนติวิทย์  ตามที่อธิบดีกรมการปกครองกล่าวอ้าง ไม่อาจถือว่าขัดแย้งต่อวัตถุประสงค์ตามข้อบังคับของสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

การที่อธิบดีกรมการปกครองมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของสมาคม ในรายนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล จึงเป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้การรับรอง และเป็นการใช้ดุลพินิจออกคำสั่ง เกินขอบเขตแห่งความจำเป็นเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและความมั่นคงของรัฐ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คำสั่งดังกล่าวของอธิบดีกรมการปกครองจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อ้างเหตุผลในการออกคำสั่งยกอุทธรณ์เนื่องจากนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ถูกดำเนินคดีอาญาหลายคดีนั้น จึงเป็นการออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

นางสาวฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นสมาชิกสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยตั้งแต่เดือนมีนาคม 2555 เมื่อมีการเปิดรับสมัครกรรมการสมาคมฯ แทนตำแหน่งที่ว่างลงเมื่อปี 2561 เนติวิทย์ได้สมัครเข้าเป็นกรรมการสมาคม ประเภทเยาวชน จากการตรวจสอบพบว่า มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นกรรมการสมาคมตามข้อบังคับของสมาคมแต่อย่างใด และได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 ให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2561

ในฐานะนายกสมาคมคือผู้ฟ้องคดีที่ 1 และในฐานะนักวิชาการที่สอนและวิจัยในสาขากฎหมายสิทธิมนุษยชน รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ศาลปกครองให้ความยุติธรรมในการพิจารณาคดีนี้ โดยเน้นย้ำว่าหน่วยงานรัฐจะต้องใช้อำนาจและดุลพินิจภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัดให้เป็นไปตามความจำเป็นเพื่่อประโยชน์สาธารณะ ระมัดระวังมิให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ รมว.มหาดไทย พร้อมทั้งสั่งอธิบดีกรมการปกครองดำเนินการพิจารณาคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการสมาคมของสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 17 ส.ค. 2561 จำนวน 1 ราย ที่แต่งตั้ง นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นกรรมการสมาคมฯ คนใหม่  ให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป

การตัดสินดังกล่าวถือเป็นการยับยั้งการใช้อำนาจรัฐในลักษณะที่ขัดต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ สร้างความสอดคล้องกับหลักการของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเคารพนับถือตลอดมา ซึ่งการตัดสินคดีนี้ถือว่ามีความสำคัญในการสร้างบรรทัดฐานเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการสมาคมในสังคมไทยต่อไป”

 

ข้อมูลพื้นฐาน

สมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ฟ้องศาลปกครองกลางกรณีนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร (อธิบดีกรมการปกครอง) ใช้อำนาจหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในกรณีมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนแต่งตั้งนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นกรรมการสมาคมฯ และฟ้องร้องดำเนินคดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยวินิจฉัยอุทธรณ์ของสมาคมฯ ล่าช้าเกินกำหนดระยะเวลา ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 82 วรรคท้ายกำหนด เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เริ่มดำเนินงานในประเทศไทยอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2536 และจดทะเบียนเป็น “สมาคมนิรโทษกรรมสากล” เมื่อปี พ.ศ. 2545 ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย” ในปี พ.ศ. 2555 โดยดำเนินกิจกรรมด้านการส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจและรณรงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางโดยประสานความร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนองค์กรอิสระต่างๆ ปัจจุบันแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยมีสมาชิกกว่า 1,000 คน

 

รายละเอียดคำวินิจฉัยโปรดอ่านจากคำพิพากษาศาลปกครองกลางที่แนบมาพร้อมนี้

 https://bit.ly/3EivJq7