กสม. มอบ 6 รางวัลเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

7 มีนาคม 2561

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงานวันสตรีสากล (8 มีนาคม) ประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2561 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ พร้อมประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหกรางวัล ขณะที่หลายฝ่ายกังวลถึงความปลอดภัยของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เร่งให้รัฐส่งสัญญาณเชิงบวก ผลักดันกฎหมายคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ยุติการอ้างเหตุความมั่นคงแห่งรัฐ


SLAPPs Law เพิ่มมากขึ้น
อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยว่าปีนี้ครบรอบ 20 ปี ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งพบว่าสองปีที่ผ่านมา สถิติการคุกคาม ด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีนักปกป้องสิทธิฯเพื่อตอบโต้การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพิ่มขึ้นมาก และพบว่านักปกป้องป้องสิทธิฯที่ออกมาต่อสู้อายุน้อยที่สุดคือเยาวชน ส่วนอายุมากที่สุด คือ หญิงวัย 78 ปี


“ปัจจุบันยังไม่มีกรณีไหนเลยที่เจ้าหน้าที่นำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ จึงต้องมีดังนั้นจึงต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาการใช้กระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อตอบโต้การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (SLAPPs) เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือการบัญญัติกฎหมายฉบับใหม่เพื่อป้องกันปัญหาการฟ้องคดีโดยไม่สุจริต”


SLAPPs Law หรือการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ (Strategic Lawsuits Against Public Participation) ซึ่งมีผลทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์สาธารณะ ได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิต รวมไปถึงความกังวลในความปลอดภัยทั้งของตนเองและครอบครัว


“สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้นคือการที่ SLAPPs ถูกนำมาใช้โดยบริษัทขนาดใหญ่และเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานเพิ่มมากขึ้น” อังคณากล่าวทิ้งท้าย


รัฐไม่เคยตอบรับในเชิงบวก
เป็นคำยืนยันจาก คาเทียร์ คริริซี่ รองผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แสดงความเห็นต่อบทบาทรัฐบาลที่ควรปกป้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ได้รับความรุนแรงจากการละเมิดสิทธิทั้งจากโดยรัฐและทั้งที่ไม่ใช่โดยรัฐ


“ประเทศไทยสามารถที่จะสร้างมิติเชิงบวกในกรณีได้โดยเชิญผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติที่ดูแลสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้มาเยี่ยมประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพื่อที่จะให้ข้อเสนอแนะต่อมาตรการที่ประเทศไทยควรจะดำเนินการเพื่อที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความเสี่ยง ซึ่งทราบว่าที่ผ่านมามีผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติได้เคยขอมาเยี่ยมตั้งแต่ปีพ.ศ. 2553 ก็ไม่เคยได้รับการตอบรับในเชิงบวก”

 

อ้างความมั่นคง
ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการแสดงปถากฐา “บทบาทผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ปัจจุบัน” ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของกฏหมายสิทธิมนุษยชนด้านสตรี


อ.วิทิตเสริมเพิ่มเติมว่าปัจจุบันได้มีการปฏิรูปกฏหมายด้านสิทธิสตรีมากขึ้น อย่างกฏหมายครอบครัว มีความเท่าเทียมในการฟ้องหย่า และพ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายประเด็นที่ยังน่าเป็นห่วง ซึ่งยังมีสองกรณีที่ถือเว่าเป็นข้อยกเว้น คือ ความมั่นคงแห่งรัฐและศาสนา


“เห็นได้ชัดว่ามีการใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งรัฐมากเกินไป พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก การที่สามารถกักตัวคนได้ 37 วัน โดยไม่ต้องขึ้นศาล เราต้องเลิกสิ่งเหล่านี้แล้วมุ่งสู่หลักนิติธรรม เพื่อนำคนขึ้นสู่ศาลอย่างโปร่งใส”


“นอกจากนี้ยังพบว่า มีการใช้หลายมาตราของกฎหมายอาญาเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก เช่น บทบัญญัติมาตรา 112 มาตรา 116 รวมไปถึงคำสั่งที่ออกมาจากผู้มีอำนาจ ดังนั้น ขอเรียกร้องว่าต้องหยุดใช้กฎหมายที่ไม่สมดุลในสายตาของสากล” ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต กล่าว


สำหรับรางวัลเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ที่ได้รับรางวัลประจำปีนี้มีทั้งบุคคล และ องค์กรนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งประกอบด้วย มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์, ทีมฟุตบอลบูคู FC, นุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค, สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw), ดารารัตน์ สุเทศ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพังงา และ หทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวอาวุโส สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส