ประเทศไทย: การตัดสินให้เยาวชนนักกิจกรรมมีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ เป็นบรรทัดฐานที่น่ากังวล

23 พฤศจิกายน 2565

Amnesty International Thailand

สืบเนื่องจากรายงานข่าวว่า เพชร ธนกร (สงวนนามสกุล) เด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ จากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงอย่างสงบขณะที่มีอายุ 17 ปี และศาลตัดสินให้คุมประพฤติตามอัตราสูงสุดเป็นเวลาสามปี โดยจะต้องอยู่ในศูนย์ฝึกอบรม

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า เพชรเป็นคนแรกที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยตอนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเขาเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี นับเป็นบรรทัดฐานที่น่ากังวล และสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวให้กับผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเยาวชนทั่วประเทศไทย ที่ต้องการแสดงออกด้วยการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

“แม้ศาลเยาวชนได้เปลี่ยนโทษ และอนุญาตให้ประกันตัว แต่คำตัดสินครั้งนี้อาจส่งผลให้เพชรต้องถูกควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ และต้องเข้าร่วมในการฝึกอบรมภาคบังคับตามระยะเวลาของบทลงโทษ เพชรไม่ควรถูกดำเนินคดีตั้งแต่แรก เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกโดยชอบธรรม 

“คำพิพากษาว่ามีความผิดครั้งนี้ไม่เพียงบั่นทอนเวลาและทรัพยากรที่เขาอาจใช้เพื่อการศึกษาเช่นเดียวกับเยาวชนในวัยเดียวกัน หากยังส่งผลให้เขามีประวัติอาชญากร ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อโอกาสในการประกอบอาชีพและอื่นๆ 

“เยาวชนที่แสดงความเห็น ทัศนะ และความคิดอย่างสงบเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ ไม่ควรได้รับโทษจำคุก หรือถูกควบคุมด้วยมาตรการใดๆ ที่จำกัดการดำเนินงานในแต่ละวัน ทางการไทยต้องยุติการข่มขู่และสอดแนมข้อมูลผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็ก และยุติการดำเนินคดีอาญากับพวกเขา”

 

ข้อมูลพื้นฐาน

ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ศาลเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์คดีแรกต่อเพชร ธนกร (สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในวันที่ 6 ธันวาคม 2563ขณะที่มีอายุ 17 ปี เพชรได้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงอย่างสงบที่วงเวียนใหญ่ กรุงเทพฯ ในระหว่างการชุมนุมประท้วง เพชรได้กล่าวปราศรัยเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

ศาลพิพากษาจำคุกเพชรเป็นเวลาสองปี ต่อมาได้เปลี่ยนโทษเป็น “การคุมประพฤติ” โดยเป็นการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม หรือสถานที่อื่นตามที่กำหนดโดยศาล ศาลจำแนกว่า เพชรต้องถูกควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ โดยเข้ารับการฝึกอบรมกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน ขั้นสูงไม่เกิน 3 ปี  

ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจในการเปลี่ยนโทษจำคุก และสั่งให้ “เยาวชนที่กระทำผิด” ต้องเข้ารับการฝึกอบรมเป็นระยะเวลาตามที่กำหนดโดยศาล แต่ไม่เกินกว่าระยะเวลาเมื่อจำเลยมีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์ มาตรา 143 ของพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 อนุญาตให้ศาลสามารถกำหนดระยะเวลาการฝึกอบรมขั้นต่ำและขึ้นสูง และกำหนดให้มีการปล่อยตัว “เยาวชนที่กระทำผิด” เวลาใดก็ได้ในช่วงเวลาดังกล่าว

ปัจจุบันเพชรได้รับการประกันตัวออกมาด้วยวงเงิน 30,000 บาท

เพชรเริ่มทำกิจกรรมตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยมศึกษาเมื่อปี 2563 โดยในขณะนั้นเพชรได้เรียกร้องให้มีการปรับปรุงระบบสวัสดิการด้านสังคม และความเท่าเทียมด้านการศึกษา การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการยุติการคุกคามด้วยกระบวนการกฎหมายต่อผู้ประท้วงอย่างสงบในประเทศไทย 

นับแต่ปี 2563 มีผู้ประท้วงอายุต่ำกว่า 18 ปีประมาณ 283 คน ที่ถูกดำเนินคดีในหลายข้อหา ส่วนใหญ่เป็นความผิดตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีการกำหนดให้ใช้ในช่วงที่เกิดโรคระบาด และได้มีการยกเลิกในภายหลัง

เยาวชนคนอื่นถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ยุยงปลุกปั่น และการเผยแพร่ข้อมูลที่ทางการมองว่าเป็น “ความเท็จ” โดยยังมีการดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องเกือบ 200 คดี 

ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) และ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child: CRC) สนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนทั้งสองให้การคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ภายใต้ข้อ 19  และ ข้อ 21 ของ ICCPR และ ข้อ 13 และ ข้อ 15 ของ CRC ตามลำดับ  

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรติดตามการนำ ICCPR ไปปฏิบัติ ได้ระบุถึงข้อห่วงกังวลต่างๆ เกี่ยวกับกฏหมายว่าด้วยการหมิ่นพระมหากษัตริย์ทั่วโลก โดยกล่าวว่า บุคคลสาธารณะทุกคนรวมถึงผู้ที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง ล้วนเป็นผู้ที่ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างชอบธรรม และการต่อต้านคัดค้านทางการเมือง รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันของรัฐนั้นไม่ควรเป็นเรื่องต้องห้าม  

ระหว่างกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือ UPR รอบที่สามประเทศไทยได้มีข้อแนะนำจากประเทศต่างๆ เพื่อสนับสนุนสิทธิเด็กในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงให้หลีกเลี่ยงการคุมขังเยาวชนที่ใช้สิทธิดังกล่าวและยุติการจับกุมและดำเนินคดีต่อเด็กด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์และข้อกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและความสงบของรัฐ ถ้าทางการไทยรับข้อเสนอแนะดังกล่าวจะเป็นการเสริมเสร้างความแน่วแน่ของทางการไทยต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แต่ปัจจุบันทางการไทยยังคงไม่รับข้อเสนอแนะดังกล่าว

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ: press@amnesty.org