สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 8 ตุลาคม - 14 ตุลาคม 2565

16 ตุลาคม 2565

Amnesty International Thailand

 
ประเทศไทย : คำแถลงจากเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิตเนื่องในวันยุติโทษประหารชีวิตสากล
10 ตุลาคม 2565
 
วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปีคือวันยุติโทษประหารสากล (World Day against the Death Penalty) ที่กำหนดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในประเด็นโทษประหารชีวิตซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน นอกจากนั้นยังเป็นวันที่ทั่วโลกรณรงค์เรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต สร้างการรับรู้ถึงข้อเสียของโทษดังกล่าวและเรียกร้องให้ทุกประเทศลงนามในพิธีสารเลือกรับของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ฉบับที่ 2 เพื่อการยุติโทษประหารฯ (Second Optional Protocol to the ICCPR, aiming at the abolition of death penalty) ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่ยังไม่เข้าเป็นภาคี แต่เข้าเป็นภาคี ICCPR ฉบับหลัก โดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2539 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2540
เนื่องในโอกาส วันยุติโทษประหารสากลนี้ เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ที่รวมทั้งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และองค์อื่นๆ ขอคัดค้านการสังหารหรือเข่นฆ่าชีวิตมนุษย์ในทุกกรณี รวมทั้งว่าการประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์คือสิทธิในการมีชีวิตอยู่ การประหารชีวิตเป็นการกระทำที่โหดร้าย รุนแรง และเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมที่สุด และยังมีผลต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีความเสี่ยงที่จะตัดสินผิดพลาด
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3Ct20ck
 
.
 
 
รัสเซีย : การโจมตีของรัสเซียในกรุงเคียฟและเมืองต่างๆ ทั่วยูเครนเป็นการขยายขอบเขตการรุกรานและเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างชัดเจน
10 ตุลาคม 2565
 
สืบเนื่องจากข่าวรายงานการยิงถล่มของรัสเซียในกรุงเคียฟและหลายเมืองทั่วยูเครน
แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
“นี่เป็นอีกวันหนึ่งที่มีข่าวสะเทือนขวัญจากยูเครน โดยรัสเซียเปิดฉากยิงขีปนาวุธใส่ย่านที่อยู่อาศัย ตัวเมือง และสิ่งก่อสร้างของพลเรือน หลุมที่เกิดจากแรงระเบิดของขีปนาวุธรัสเซียกลางสนามเด็กเล่นใจกลางกรุงเคียฟ เป็นสัญลักษณ์ของการเพิกเฉยต่อชีวิตมนุษย์อย่างสิ้นเชิง ซึ่งอธิบายได้ถึงลักษณะการรุกรานของรัสเซีย”
“เป้าหมายสูงสุดของการโจมตีในวันนี้คือเพื่อแพร่กระจายความหวาดกลัวในหมู่ประชากรทั้งหมด”
“รัสเซียต้องยุติสงครามการรุกรานในทันที ทุกคนที่รับผิดชอบต่อการรุกรานและอาชญากรรมสงครามครั้งนี้ รวมทั้งเหล่าผู้บังคับบัญชาและผู้นำพลเรือน เช่น เหล่ารัฐมนตรีและประมุขของรัฐจะต้องรับผิดชอบต่อความผิดทางอาญาจากการกระทำของพวกเขา”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3S0IIke
 
.
 
 
ซาอุดีอาระเบีย : เพิกถอนคำตัดสินลงโทษชาวนูเบียนอียิปต์ที่จัดงานรำลึกโดยสงบ
11 ตุลาคม 2565
 
สืบเนื่องจากข่าวที่ศาลอาญาพิเศษของซาอุฯ ได้พิพากษาจำคุกชายชาวนูเบียนอียิปต์ จำนวน 10 คน เป็นระยะเวลาระหว่าง 10 ถึง 18 ปีจากการจัดงานรำลึกโดยสงบ
ไดอาน่า เซมาน รักษาการรองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือกล่าวว่า
“การตัดสินจำคุกคนเหล่านี้มากกว่า 10 ปีเพียงเพราะจัดงานชุมชนโดยสงบนับว่าเป็นการเยาะเย้ยความยุติธรรม พวกเขาไม่ควรถูกจับตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่จะโดนดำเนินคดีจากศาลอาญาพิเศษที่มีชื่อเสียงเลย คำพิพากษาโทษของพวกเขาจะต้องถูกยกเลิกและพวกเขาจะต้องได้รับการปล่อยตัวในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข พวกเขาได้ใช้เวลาเกือบ 16 เดือนถูกคุมขังโดยไม่มีหมายศาล และยังต้องเผชิญกับการละเมิดอย่างร้ายแรงมากมายในการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม เพียงเพราะแค่พวกเขาใช้สิทธิมนุษยชนของตนเอง”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3TiimeF
 
.
 
ยุโรป : ข้อมติของสภายุโรปเรียกร้องให้มีการดำเนินการต่อกระแสความหวาดกลัวอิสลามในยุโรป
10 ตุลาคม 2565
 
ท่ามกลางกระแสความหวาดกลัวอิสลามที่เพิ่มสูงขึ้นในยุโรป ซึ่งถูกขยายกระแสโดยหมู่นักการเมืองที่ใช้วาทกรรมต่อต้านมุสลิม โดยสมาชิกรัฐสภาจาก 46 ประเทศจะลงคะแนนเสียงในการประชุมใหญ่ในสมัชชารัฐสภาคณะมนตรียุโรป ในมติที่กล่าวหาทางการในหลายรัฐของยุโรปว่ามีการทำให้การเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมเป็นเรื่องปกติและยังเรียกร้องให้รัฐมีการดำเนินการเพื่อจัดการกับกระแสความหวาดกลัวอิสลามที่ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการเหยียดเชื้อชาติ
โดยก่อนจะมีการอภิปรายและการลงคะแนนเสียงในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2565 นี้
นิลส์ มุยอีซเนียกส์ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประจำภูมิภาคยุโรป กล่าวว่า
“มติครั้งนี้ควรเป็นการเตือนสติ กฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหยียดเชื้อชาติจะไม่เกิดขึ้นในยุโรป อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังต่อชาวมุสลิมและผู้ที่ถูกมองว่านับถือศาสนาอิสลาม มักจะไม่ได้รับการบันทึกอย่างเป็นทางการหรือมีสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ การสอดแนมชาวมุสลิมชาย หญิง และแม้แต่เด็กก็ถูกยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติ และมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายต่างๆ ก็กำลังดำเนินการอยู่นอกกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยไม่มีการป้องกันที่เพียงพอ”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3Mwc8ph
 
.
 
ฟิลิปปินส์ : ปล่อยตัว ไลลา เดอ ลิมา ในทันทีโดยไม่ย้ายไปสถานกักขัง หลังเกิดเหตุการณ์จับตัวประกัน
10 ตุลาคม 2565
 
สืบเนื่องจากข่าวที่มีนักโทษทางความคิดและอดีตวุฒิสมาชิก ไลลา เดอ ลิมา ถูกจับเป็นตัวประกันเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมาภายในห้องขังของเธอ ที่ศูนย์ควบคุมตัวตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์
บุตช์ โอลาโน ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิลิปปินส์ กล่าวว่า
“เป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างมากที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและอดีตวุฒิสมาชิก เลลา เดอ ลิมา ถูกจับเป็นตัวประกัน โดยผู้ต้องขังอีกคนภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ โดยการที่เธอจะต้องทนกับประสบการณ์ที่น่าเจ็บปวดและน่าหวาดกลัวนี้ นอกเหนือจากถูกคุมขังโดยพลการมากว่าห้าปีแล้ว คือจุดสูงสุดของการกระทำที่โหดเหี้ยม ละเลยการปฎิบัติหน้าที่ และอยุติธรรม”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3g4XLMs
 
.
 
สหรัฐอเมริกา : รัฐบาลไบเดนจะต้องเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจในการขยายอำนาจของกฎหมาย Title 42
13 ตุลาคม 2565
 
สืบเนื่องจากข่าวการประกาศของรัฐบาลไบเดนเกี่ยวกับกระบวนการใหม่สำหรับผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาที่แสวงหาความปลอดภัย
เอริกา เกบารา-โรซาส ผู้อำนวยการ สำนักงานภูมิภาคอเมริกา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
“ภายในไม่กี่วันหลังจากหน่วยงาน Interagency Coordination for Refugees and Migrants R4V เผยว่ามีชาวเวเนซุเอลาจำนวน 7.1 ล้านคนที่ต้องการความคุ้มครองระหว่างประเทศ รัฐบาลไบเดนได้มีการประกาศแผนใหม่ที่น่าละอายในการปิดกั้นการเข้าลี้ภัยของชาวเวเนซุเอลาที่แสวงหาความปลอดภัยที่ชายแดนสหรัฐฯ ในขณะที่เรารับรู้ถึงขั้นตอนสำคัญที่ดำเนินการโดยรัฐบาลไบเดนในการสร้างโครงการอนุญาตให้เข้าชั่วคราวสำหรับชาวเวเนซุเอลากว่า 24,000 คน เรารู้สึกตื่นตระหนกอย่างยิ่งกับการขยายอำนาจของกฎหมาย Title 42 โดยนโยบายใหม่นี้มีจุดมุ่งหมายที่จะปิดกั้นไม่ให้ชาวเวเนซุเอลาเข้ามาแสวงหาความปลอดภัยที่ชายแดน ซึ่งแสดงให้เห็นอีกครั้งว่ากฎหมาย Title 42 นั้นไม่ได้อยู่บนพื้นฐานด้านสาธารณสุขและยังขัดต่อพันธกรณีของสหรัฐอเมริกาและระหว่างประเทศในการส่งเสริมสิทธิของทุกคนในการแสวงหาความปลอดภัย ซึ่งประชาชนทุกคนมีสิทธิแสวงหาความปลอดภัย โดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ทางครอบครัวหรือการเงิน และโครงการอนุญาตให้เข้าชั่วคราวใดๆ ก็ไม่ควรเข้ามาแทนที่สิทธิในการขอลี้ภัย”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3S2TGWk