แอมเนสตี้เรียกร้องบริษัทเมตาต้องเยียวยาชาวโรฮิงญา หลังงานวิจัยพบกลไกของเฟซบุ๊กสนับสนุนความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา

29 กันยายน 2565

Amnesty International Thailand

ภาพถ่าย : © Amnesty International (Photo: Ahmer Khan)

อัลกอริทึมที่อันตรายและการมุ่งแสวงหากำไรของบริษัทเมตา เจ้าของเฟซบุ๊ก มีส่วนสนับสนุนต่อความโหดร้ายที่กองทัพเมียนมากระทำต่อชาวโรฮิงญาในปี 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในรายงานใหม่ที่เผยแพร่วันนี้

ความโหดร้ายของสื่อโซเชียล: บริษัทเมตาและสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาของชาวโรฮิงญา (The Social Atrocity: Meta and the right to remedy for the Rohingya) ให้ข้อมูลว่า บริษัทเมตาทราบหรือควรทราบว่า ระบบอัลกอริทึมของเฟซบุ๊ก มีส่วนสนับสนุนอย่างมากต่อความแพร่หลายของคอนเทนต์ ที่เป็นอันตรายและต่อต้านชาวโรฮิงญาในเมียนมา แต่บริษัทกลับไม่ดำเนินการแก้ไข

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ในปี 2560 ชาวโรฮิงญาตกเป็นเหยื่อการสังหาร ทรมาน ข่มขืน และต้องพลัดถิ่นฐานหลายพันคน โดยเป็นผลมาจากปฏิบัติการการล้างเผ่าพันธุ์ของกองทัพเมียนมา ในช่วงหลายเดือนและหลายปีก่อนจะเกิดความโหดร้ายเช่นนี้ อัลกอริทึมของเฟซบุ๊กมีส่วนในการกระพือความเกลียดชังอย่างรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา ซึ่งสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงในโลกที่เป็นจริงด้วย

“ในขณะที่กองทัพเมียนมาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติต่อชาวโรฮิงญา บริษัทเมตาได้ผลกำไรจากการเป็นกระบอกเสียงสนับสนุนความเกลียดชังผ่านอัลกอริทึมที่ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมความเกลียดชัง

“บริษัทเมตาต้องถูกตรวจสอบ ในปัจจุบัน ทางบริษัทต้องรับผิดชอบให้การเยียวยากับผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากความรุนแรงอันเป็นผลมาจากปฏิบัติการที่ขาดความระมัดระวังของตน”

ซอเย็ด ดอเลาะห์ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาวัย 21 ปี ให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า “ผมเห็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างมากในเฟซบุ๊ก ตอนแรกผมคิดว่าคนโพสต์ข้อมูลเหล่านี้เป็นคนเลว....ต่อมาผมก็คิดได้ว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากแค่คนเหล่านี้ ไม่ได้เกิดจากผู้โพสต์เท่านั้น แต่เฟซบุ๊กต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย เพราะเฟซบุ๊กมีส่วนสนับสนุนพวกเขา โดยไม่กำกับดูแลแพลตฟอร์มตัวเองให้ดี”

ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐยะไข่ทางตอนเหนือของเมียนมา ในเดือนสิงหาคม 2560 ชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คนหลบหนีจากรัฐยะไข่ หลังจากกองทัพเมียนมาได้เริ่มปฏิบัติการอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อสังหาร ข่มขืน และเผาบ้านเรือนของพวกเขา ความรุนแรงเหล่านี้เกิดขึ้นหลังการเลือกปฏิบัติที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ การประหัตประหาร และการกดขี่ต่อชาวโรฮิงญา ถึงขั้นเป็นการกดขี่และครอบงำทางเชื้อชาติที่เกิดมานานนับทศวรรษ 

 

© Tamara-Jade Kaz

Artwork commissioned for publication of research looking at the Rohingya right to remedy from Meta

 

กระบอกเสียงเพื่อต่อต้านชาวโรฮิงญา

บริษัทเมตาใช้ระบบอัลกอริทึมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเอ็นเกจเมนต์ เพื่อขับเคลื่อนการนำเสนอฟีดข่าวของเฟซบุ๊ก การจัดลำดับของฟีดข่าว การเสนอแนะ และคุณลักษณะของฟีดข่าวในกลุ่ม เป็นตัวกำหนดว่าผู้ใช้งานจะเห็นฟีดข่าวใดบ้างในแพลตฟอร์มนี้ บริษัทเมตาจะได้กำไรเมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กอยู่ในแพลตฟอร์มของตนนานสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะทำให้สามารถขายโฆษณาที่เจาะกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น การแสดงคอนเทนต์ที่ชวนให้คนโกรธเคือง รวมทั้ง

คอนเทนต์ที่สนับสนุนความเกลียดชังจนถึงขั้นเป็นการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ความเป็นปรปักษ์ และการเลือกปฏิบัติ เป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง เพราะจะทำให้ผู้ใช้อยู่ในแพลตฟอร์มนานขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าว การส่งเสริมและการขยายผลคอนเทนต์ประเภทนี้ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของแม่แบบธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการสอดแนมข้อมูลส่วนบุคคลของเฟซบุ๊ก

ในช่วงหลายเดือนและหลายปีก่อนจะเกิดปฏิบัติการปราบปราม เฟซบุ๊กในเมียนมาได้ทำตัวเป็นกระบอกเสียงของคอนเทนต์ที่ต่อต้านชาวโรฮิงญา ผู้ใช้งานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมาและกลุ่มพุทธชาตินิยมสุดโต่ง ต่างรุมโพสต์คอนเทนต์ต่อต้านชาวมุสลิมอย่างกว้างขวางในแพลตฟอร์มนี้ รวมทั้งการโพสต์ข้อมูลบิดเบือนอย่างจงใจ อ้างว่า

ชาวมุสลิมกำลังจะยึดครองประเทศ และสร้างภาพว่าชาวโรฮิงญาเป็น “ผู้รุกราน” 

ในโพสต์ที่มีการแชร์กว่า 1,000 ครั้ง เป็นภาพของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิม พร้อมกับคำบรรยายว่าเขาเป็น “ผู้ทรยศต่อชาติ” บรรดาคอมเมนต์ในโพสต์นี้เต็มไปด้วยข้อความข่มขู่และเหยียดเชื้อชาติ รวมทั้งการบอกว่า “เขาเป็นพวกมุสลิม พวกมุสลิมก็เหมือนกับสุนัข ต้องถูกยิงทิ้ง” และ “อย่าปล่อยให้มันมีชีวิตอยู่ต่อไป กำจัดมันทั้งเผ่าพันธุ์ หมดเวลาของพวกคุณแล้ว” 

คอนเทนต์ที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติ ยังเกิดจากการโพสต์ของผู้นำในกองทัพและรัฐบาลพลเรือนเมียนมาเอง พลเอกอาวุโส  มิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพเมียนมา โพสต์ในหน้าเฟซบุ๊กของตัวเองเมื่อปี 2560 ว่า “เราขอประกาศอย่างเปิดเผยว่า ในประเทศนี้ไม่มีเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาแต่อย่างใด” ต่อมาเขาได้ใช้กำลังยึดอำนาจในการทำรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2564 

ในเดือนกรกฎาคม 2565 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice :ICJ) วินิจฉัยว่า ศาลมีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีเพื่อเอาผิดกับรัฐบาลเมียนมา ตามอนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อไป โดยเป็นผลมาจากการปฏิบัติของเมียนมาต่อชาวโรฮิงญา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยินดีกับก้าวย่างสำคัญ เพื่อมุ่งตรวจสอบรัฐบาลเมียนมา และยังคงเรียกร้องต่อไปให้ผู้นำระดับสูงของกองทัพเมียนมา ต้องเข้ารับการไต่สวนจากบทบาทที่มีในการก่ออาชญากรรมต่อชาวโรฮิงญา

ในปี 2557 บริษัทเมตาพยายามสนับสนุนกิจกรรมต่อต้านความเกลียดชังที่เรียกว่าของกลุ่มปาน-สการ์ (Panzagar) หรือที่แปลว่า "ภาษาดอกไม้" ที่จัดทำชุดสติ๊กเกอร์เพื่อให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กสามารถนำไปโพสต์ เพื่อต่อต้านคอนเทนต์ที่สนับสนุนความรุนแรงหรือการเลือกปฏิบัติ สติ๊กเกอร์เหล่านี้เป็นรูปตัวการ์ตูนพม่าน่ารักๆ พร้อมมีคำขวัญต่างๆ อย่างเช่น “คิดก่อนแชร์” และ “อย่าเป็นต้นเหตุของความรุนแรง” 

อย่างไรก็ดี ไม่นานหลังจากนั้นนักกิจกรรมสังเกตเห็นว่า สติ๊กเกอร์เหล่านี้กลับทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่คาดหวัง อัลกอริทึมของเฟซบุ๊กตีความว่า การติดสติ๊กเกอร์เหล่านี้เป็นเครื่องหมายแสดงว่า ผู้ใช้มีความพึงพอใจกับโพสต์เหล่านั้น ทำให้ระบบเริ่มส่งเสริมให้เห็นโพสต์เช่นนี้มากขึ้น แทนที่จะลดโอกาสที่ผู้ใช้งานจะเห็นโพสต์เหล่านี้ ซึ่งล้วนแต่สนับสนุนความเกลียดชัง สติ๊กเกอร์เหล่านี้กลับทำให้คนเห็นโพสต์เหล่านี้มากขึ้น 

คณะทำงานสากลและเป็นอิสระแห่งสหประชาชาติเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงในเมียนมา มีข้อสรุปในท้ายสุดว่า “โซเชียลมีเดียมีบทบาท [ที่] สำคัญมาก สำหรับความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศที่เฟซบุ๊กเท่ากับอินเทอร์เน็ต” 

โมฮัมหมัด โชวีฟี นักกิจกรรมชาวโรฮิงญากล่าวว่า “ชาวโรฮิงญาได้แต่ฝันว่าจะได้มีชีวิตแบบเดียวกับคนอื่น ๆ ในโลก....แต่พวกคุณ เฟซบุ๊ก กลับทำลายความฝันของพวกเรา”

 

 

เฟซบุ๊กไม่ดำเนินการแก้ไข

ในรายงานให้ข้อมูลว่า บริษัทเมตาไม่ดำเนินการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเหมาะสมครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานของตนในเมียนมา แม้ต้องมีความรับผิดชอบในการตรวจสอบเช่นนั้นตามมาตรฐานระหว่างประเทศ

จากการศึกษาภายในตั้งแต่ปี 2555 ชี้ว่า บริษัทเมตารู้ว่าอัลกอริทึมของตนอาจส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงในโลกที่เป็นจริง ในปี 2559 งานวิจัยของบริษัทเมตาเองยอมรับอย่างชัดเจนว่า “ระบบการเสนอแนะข้อมูลของเรายิ่งสนับสนุนปัญหา” ของความคิดสุดโต่ง

บริษัทเมตาได้รับข้อมูล และมีการเข้าเยี่ยมจากนักกิจกรรมภาคประชาสังคมในประเทศหลายครั้ง ในช่วงปี 2555 และ 2560 โดยมีการเตือนให้บริษัททราบว่า พวกเขาอาจกำลังสนับสนุนความรุนแรงที่สุดโต่ง ในปี 2557 ทางการเมียนมาถึงกับบล็อกเฟซบุ๊กเป็นการชั่วคราว เนื่องจากแพลตฟอร์มนี้มีบทบาทในการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงด้านชาติพันธุ์ในรัฐมัณฑะเลย์ อย่างไรก็ดี บริษัทเมต้ากลับไม่รับฟังคำเตือนเหล่านี้ ทั้งยังไม่ปฏิบัติตามนโยบายเกี่ยวกับคำพูดที่สร้างความเกลียดชังของตนอย่างต่อเนื่อง  

การสอบสวนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ครอบคลุมการวิเคราะห์หลักฐานใหม่จาก “เฟซบุ๊กเปเปอร์” ซึ่งเป็นเอกสารภายในของบริษัทที่รั่วออกมา และถูกนำมาเปิดเผยโดยฟรานเซส ฮอเกน

ในเอกสารภายในชิ้นหนึ่งตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 พนักงานบริษัทเมตาบันทึกไว้ว่า “เรามีหลักฐานจากหลายแหล่งข้อมูลว่า คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง คำปราศรัยทางการเมืองที่แบ่งแยก และข้อมูลเท็จในเฟซบุ๊ก....ส่งผลกระทบต่อสังคมทั่วโลก เรายังมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า กลไกของผลิตภัณฑ์หลักของเรา รวมทั้งการสร้างความเป็นไวรัล การเสนอแนะฟีดข่าว และการจัดอันดับเอ็นเกจเมนต์ของเรา ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คำพูดเหล่านี้แพร่หลายอย่างกว้างขวางในแพลตฟอร์มของเรา”

 

 

‘บริษัทเมตาต้องจ่ายค่าชดเชย’

ในวันนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดตัวโครงการใหม่ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทเมตา แพลตฟอร์ม อิงค์ ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องให้มีการเยียวยาวต่อชาวโรฮิงญา

วันนี้เป็นโอกาสครบรอบหนึ่งปีของการสังหารโมหิบ มุลเลาะห์ นักกิจกรรมคนสำคัญ และประธานสมาคมชาวโรฮิงญาในรัฐอาระกัน/ยะไข่เพื่อสันติภาพและสิทธิมนุษยชน โมหิบเป็นแกนนำสำคัญระดับชุมชนในการตรวจสอบบริษัทเมตา

กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาได้ร้องขอการเยียวยาโดยตรงจากบริษัทเมตา เพื่อขอให้สนับสนุนเงินจำนวนหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับโครงการด้านการศึกษาในค่ายผู้ลี้ภัยที่คอกซ์บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ จำนวนเงินที่พวกเขาเรียกร้องคิดเป็นเพียงประมาณ 0.002% ของผลกำไรของบริษัทเมตา จำนวน 46.7 พันล้านเหรียญตั้งแต่ปี 2564 แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 บริษัทเมตาปฏิเสธคำร้องขอของชุมชนชาวโรฮิงญาโดยระบุว่า “เฟซบุ๊กไม่ได้ดำเนินกิจการด้านการกุศล” 

โชวกูทารา ผู้หญิงและแกนนำเยาวชนชาวโรฮิงญาวัย 22 ปี ให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า “เฟซบุ๊กต้องจ่ายค่าชดเชย ถ้าพวกเขาไม่จ่าย เราจะไปฟ้องทุกศาลในโลก เราจะไม่ยอมหยุดการเคลื่อนไหวอย่างเด็ดขาด”

ปัจจุบันมีการฟ้องอย่างน้อยสามคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายจากบริษัทเมตาให้กับชาวโรฮิงญา โดยมีการฟ้องคดีแพ่งต่อบริษัทเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ทั้งในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา กลุ่มเยาวชนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญายังได้ร้องเรียนผ่านกลไกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD)เพื่อเอาผิดกับบริษัทเมตา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานประสานงานระดับชาติของ OECD ในสหรัฐฯ

“บริษัทเมตามีความรับผิดชอบตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่จะต้องเยียวยาต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา เพราะมีส่วนสนับสนุนให้เกิดปัญหานั้น ข้อค้นพบจากรายงานควรทำให้เราตระหนักว่า บริษัทเมตาเสี่ยงที่จะสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงต่อไป เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงในขั้นพื้นฐานต่อแม่แบบธุรกิจและอัลกอริทึมที่พวกเขาใช้”

“การปฏิรูปอย่างเร่งด่วนและกว้างขวางต่อระบบอัลกอริทึมที่ใช้ เพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบและส่งเสริมความโปร่งใส เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อประกันว่า สิ่งที่บริษัทเมตากระทำต่อชาวโรฮิงญา จะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยอีกในที่อื่นในโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีความรุนแรงด้านชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่อง”

“สุดท้ายแล้ว รัฐต่างๆ ต้องสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยการประกาศใช้และบังคับใช้ตามกฎหมายที่เป็นผล เพื่อเข้าแทรกแซงแม่แบบธุรกิจที่มีพื้นฐานจากการสอดแนมข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดทั้งอุตสาหกรรมเทคโนโลยี บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถดำเนินการเช่นนี้ได้ เนื่องจากพวกเขายังคงมุ่งแสวงหาผลกำไรมหาศาล” แอกเนส คาลามาร์ด กล่าว

ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเขียนจดหมายถึงบริษัทเมตา เกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทในการทำธุรกิจในเมียนมา ในช่วงก่อนและระหว่างความโหดร้ายซึ่งเกิดขึ้นในปี 2560 บริษัทเมตาตอบกลับโดยระบุว่า ไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนปี 2560 ได้ เนื่องจากทางบริษัท “อยู่ระหว่างเป็นคู่ความในคดีที่มีการฟ้องและเกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้” 

ในวันที่ 14 มิถุนายน 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เขียนจดหมายถึงบริษัทเมตาอีกครั้ง เกี่ยวกับข้อกล่าวหาในรายงานนี้ และให้เวลากับบริษัทที่จะชี้แจง แต่บริษัทเมตาไม่ได้ให้ความเห็นแต่อย่างใด

 

ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้บริษัทเมตาต้องเยียวยาให้กับชาวโรฮิงญา https://www.amnesty.org/en/petition/meta-repair-rohingya-community/