สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 17 - 23 กันยายน 2565

25 กันยายน 2565

Amnesty International Thailand

 
ประเทศไทย: แอมเนสตี้ ประเทศไทยยื่นจดหมายถึงทางการไทย เรียกร้องยุติการประกาศใช้และยุติข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
 
แอมเนสตี้ ประเทศไทย ตัวแทนนักกิจกรรมและนักวิชาการที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินร่วมยื่นหนังสือและหกข้อเรียกร้องถึงทางการไทยเพื่อให้ยุติการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและยุติข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เกิดจากการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง ระบุที่ผ่านมา ข้อกล่าวหา “ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ถูกนำมาใช้ในการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมประท้วงมากที่สุด และมีอย่างน้อย 1,467 คนถูกดำเนินคดีดังกล่าว
 
อ่านข่าวฉบับเต็มได้ที่นี่: https://bit.ly/3dEIVvp
 
------
 
 
กัมพูชา : พิพากษายืนคดีอดีตประมุขแห่งรัฐของกัมพูชาภายใต้เขมรแดงเมื่อการพิพากษาคดีใกล้สิ้นสุด
22 กันยายน 2565
 
สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยองค์คณะชำระคดีวิสามัญแห่งตุลาการกัมพูชา (Extraordinary Chambers in the Courts of Cambodia: ECCC) ให้พิพากษายืนคดีข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการละเมิดสนธิสัญญาเจนีวาขั้นร้ายแรงต่อนายเขียว สัมพัน อดีตประมุขแห่งรัฐของกัมพูชาภายใต้การปกครองของเขมรแดง
 
มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
“แม้ว่าจะมีข้อบกพร่องที่ชัดเจน แต่ศาลคดีเขมรแดงแสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีความผิดในอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศต้องเป็นผู้รับผิดชอบและจะถูกนำตัวมารับผิดชอบ นอกจากนั้นคำตัดสินในวันนี้ควรเป็นเครื่องเตือนใจอีกอย่างหนึ่งว่าความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดนั้นไม่มีวันหมดอายุ”
 
“ศาลได้ทำหน้าที่เป็นเวทีสำคัญสำหรับการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับยุคแห่งการสังหารของเขมรแดง และยังเป็นสถานที่ที่รับฟัง บันทึกและเผยแพร่เสียงของเหยื่อ แม้ว่าคำตัดสินของวันนี้จะเป็นคำตัดสินสุดท้ายของศาล แต่การทำหน้าที่ในการสนับสนุนเหยื่อและผู้รอดชีวิตยังไม่เสร็จสิ้น”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3UrihXz
 
------
 
 
อิหร่าน : การปราบปรามอย่างรุนแรงต่อการชุมนุมประท้วงการเสียชีวิตมาห์ซา อามินี ต้องการปฏิบัติการด่วนจากทั่วโลก
21 กันยายน 2565
 
เหล่าผู้นำโลกในสมัชชาสหประชาชาติต้องสนับสนุนการเรียกร้องให้จัดตั้งการสืบสวนระหว่างประเทศที่เป็นอิสระและกลไกการรับผิดชอบเพื่อจัดการกับวิกฤตการลอยนวลพ้นผิดที่กำลังเกิดขึ้นในอิหร่าน ความจำเป็นของปฏิบัติการด่วนนี้เกิดขึ้นจากกรณีล่าสุดของมาห์ซา อามินี หญิงสาวชาวอิหร่าน วัย 22 ปี ที่เสียชีวิตระหว่างถูกจับกุม และการระดมยิงต่อผู้ชุมนุมประท้วง ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยแปดคนและบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเมื่อวันที่ 21 กันยายน
 
กองกำลังรักษาความมั่นคงของอิหร่านกำลังปราบปรามอย่างรุนแรงต่อการชุมนุมประท้วงโดยสงบที่เกิดขึ้นจากกรณีการเสียชีวิตของมาห์ซา อามินี เมื่อวันที่ 16 กันยายน หลายวันหลังจากถูกควบคุมตัวโดยตำรวจศีลธรรม จากสาเหตุละเมิดกฎผ้าคลุมศีรษะที่กำหนดให้หญิงอิหร่านจำเป็นต้องสวม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการใช้ปืนลูกซองและกระสุนโลหะอื่นๆ อย่างผิดกฎหมาย แก๊สน้ำตา ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และการทุบตีด้วยกระบองของกองกำลังรักษาความมั่นคงเพื่อสลายผู้ชุมนุมประท้วง
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3LFhI8E
 
------
 
สหรัฐอเมริกา : การทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อผู้ขอลี้ภัยชาวเฮติมีรากฐานมาจากการเหยียดสีผิวต่อต้านคนผิวดำ
22 กันยายน 2565
 
ทางการสหรัฐฯ ได้กำหนดให้ผู้ขอลี้ภัยชาวเฮติถูกคุมขังโดยพลการ และมีการปฏิบัติที่โหดร้ายโดยเลือกปฏิบัติและทำให้อับอายซึ่งเป็นการทรมานตามเชื้อชาติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเมื่อวันที่ 22 กันยายน ในรายงานฉบับใหม่ที่ชื่อว่า ‘They Did Not Treat Us Like People’: Race and Migration-Related Torture and Other Ill-Treatment of Haitians Seeking Safety in the USA
 
โดยการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้พร้อมกับการขับไล่มวลชนจำนวนมากออกจากประเทศภายใต้กฎหมาย Title 42 ที่อนุญาตให้ทางการขับไล่ผู้อพยพส่วนใหญ่ก่อนที่จะสามารถขอลี้ภัยได้และเป็นบทล่าสุดในประวัติศาสตร์อันยาวนานของการคุมขัง กีดกัน และการปฏิบัติในการพยายามยับยั้งชาวเฮติที่แสวงหาความปลอดภัยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีรากฐานมาจากการเลือกปฏิบัติที่ต่อต้านคนผิวสีอย่างเป็นระบบ
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3C3xuqv
 
------
 
ฟุตบอลโลกฟีฟ่า : ผู้ให้การสนับสนุนทุกภาคควรเรียกร้องให้ฟีฟ่าชดเชยให้แก่แรงงานข้ามชาติ
20 กันยายน 2565
 
คู่ค้าของฟีฟ่าและผู้สนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 จะต้องกดดันคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศและรัฐบาลกาตาร์ในการให้ค่าตอบแทนและมอบการเยียวยาอื่นๆ ให้กับเหล่าแรงงานข้ามชาติและครอบครัวของพวกเขาที่เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ โดยเหตุจากการโกงค่าจ้างหรือหนี้จากค่าจัดหางานที่ผิดกฎหมายระหว่างการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ฮิวแมนไรท์วอทช์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และ แฟร์ / สแควร์ (องค์กรที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับแรงงานอพยพ) กล่าวเมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา
 
โดยการประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นจากโพลสำรวจทั่วโลกฉบับใหม่ที่จัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่าสองในสาม (66 เปอร์เซ็นต์) ของผู้ตอบแบบสำรวจและ 72 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีแนวโน้มจะเข้าชมการแข่งขันอย่างน้อยหนึ่งเกม ลงความเห็นว่าคู่ค้าของฟีฟ่าและผู้สนับสนุนจะต้องเรียกร้องให้ฟีฟ่าชดเชยให้กับแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบระหว่างการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในกาตาร์ ซึ่งโพลสำรวจนี้ดำเนินการโดย YouGov และสำรวจผู้ใหญ่ 17,477 คนใน 15 ประเทศ
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3fhWZvu
 
------
 
สาธารณรัฐซิมบับเว : ทางการจะต้องปล่อยตัว ส.ส. ฝ่ายค้านที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมเป็นเวลา 100 วัน
21 กันยายน 2565
 
การคุมขังโดยพลการอย่างต่อเนื่องของหัวหน้า ส.ส. ฝ่ายค้านและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, จ๊อบ สิคาร์ลา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านอื่นอย่าง ก๊อดฟรีย์ ซิโฮล เผยให้เห็นถึงระบบยุติธรรมทางการเมืองในสาธารณรัฐซิมบับเว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวลากว่าร้อยวันตั้งแต่การคุมขัง
 
“การคุมขัง สิคาร์ลา และ ซิโฮล โดยพลการนั้นไม่ยุติธรรมและเป็นการข่มเหง มันได้สร้างความทุกข์ใจทางอารมณ์ต่อพวกเขาและครอบครัวอย่างไม่สามารถที่จะบรรยายได้” กล่าวโดย ลูเซีย มาซูก้า กรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สาธารณรัฐซิมบับเว
 
นอกจากนั้นเนื่องจากการที่นักวิจารณ์รัฐบาลและสมาชิกฝ่ายค้านมักจะถูกคุกคามและจับกุม แอมเนสตี้เชื่อว่าข้อกล่าวหาต่อ สิคาร์ลา และซิโฮล รวมทั้งการปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวของพวกเขา เป็นความพยายามในการข่มเหงและปิดปากฝ่ายค้านทางการเมืองโดยทางการซิมบับเว
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3LA2669
 
------
 
สาธารณรัฐประชาชนจีน : คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติต้องรับรองความมั่นใจถึงความรับผิดชอบต่อความโหดร้ายในซินเจียง
20 กันยายน 2565
 
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติต้องยุติความเฉยเมยและจัดตั้งกลไกระหว่างประเทศที่เป็นอิสระในการสืบสวนอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศในเขตการปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ซินเจียง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา
 
การประชุมคณะมนตรี ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 12 กันยายน เป็นการประชุมครั้งแรกตั้งแต่รายงานล่าสุดของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติต่อความโหดร้ายของรัฐบาลในซินเจียง โดยการประเมินเหตุการณ์ที่ค้างมาเป็นระยะเวลานาน ได้ยืนยันหลักฐานมากมายเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อชาวอุยกูร์และชุมชนชนคนกลุ่มน้อยที่เป็นมุสลิมส่วนใหญ่ โดยได้มีจัดทำเอกสารโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและหน่วยงานที่น่าเชื่อถืออื่นๆ
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3qXeFz3