สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 10 กันยายน - 16 กันยายน 2565

17 กันยายน 2565

Amnesty International Thailand

 
ประเทศไทย : แอมเนสตี้ประเทศไทยจับมือคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี จัด “สิทธิมนุษยชนศึกษา” เป็นเวลา 3 ปี
16 กันยายน 2565
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยลงนามความมือกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดสิทธิมนุษยชนศึกษา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมกิจกรรมด้านสิทธิสนุษยชนในพื้นที่ให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยมี ผศ.ดร.สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และนางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในสิทธิมนุษยชนร่วมกันเป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 16 กันยายน 2568
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3BnHVUo
 
--------
 
 
ประเทศไทย : ผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ในข้อหาหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์
12 กันยายน 2565
 
สืบเนื่องจากคำพิพากษาตัดสินจำคุก จตุพร แซ่อึง (นิว) เป็นเวลา 2 ปีจากการเข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์เมื่อเดือนตุลาคม 2563
 
ไคลด์ วอร์ด รองเลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า กิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์นั้นเป็นการตีความสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศในเชิงเสียดสี โดยเป็นงานสาธารณะซึ่งจัดขึ้นโดยสงบ ไม่ต่างจากงานเทศกาลตามท้องถนนทั่วๆ ไปที่มีการแสดงดนตรี ออกร้านขายอาหาร และการเต้นรำ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวไม่ควรต้องถูกตัดสินลงโทษ เพียงเพราะการมีส่วนร่วมในการรวมกลุ่มกันโดยสงบเช่นนี้
 
โดยไคลด์ วอร์ด กล่าวว่า “คำพิพากษาในคดีนี้ นับเป็นการตัด สินลงโทษในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตรย์ตรย์เป็นคดีที่ 10 ตั้งแต่ปี 2564 ตั้งแต่การชุมนุมโดยสงบเป็นส่วนใหญ่ที่เริ่มขึ้นในปี 2563 มีนักกิจกรรมและผู้ชุมนุม 210 คนถูกฟ้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งนับเป็นจำนวนที่สูงเป็นประวัติการณ์”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3RLSjMF
 
--------
 
ยูเครน : เมื่อยูเครนยึดดินแดนคืนจากรัสเซีย การเก็บหลักฐานเกี่ยวกับข้อกล่าวหาอาชญากรรมสงครามเป็นสิ่งสำคัญ
12 กันยายน 2565
 
จากการค้นพบหลักฐานชิ้นใหม่เกี่ยวกับข้อกล่าวหาอาชญากรรมสงครามที่กระทำโดยกองกำลังรัสเซีย หลังจากการรุกคืบของกองกำลังยูเครนในการเข้าทวงคืนดินแดนที่รัสเซียยึดไว้
 
มารี สตรูเทอร์ส ผู้อำนวยการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง กล่าวว่า “เมื่อยูเครนกลับมาครอบครองดินแดนที่กองกำลังรัสเซียยึดเอาไว้ พวกเขาต้องให้ความสำคัญในการเก็บหลักฐานเกี่ยวกับข้อกล่าวหาอาชญากรรมสงคราม แต่การรวบรวมพยานหลักฐานดังกล่าวต้องใช้ทรัพยากรเป็นอย่างมาก ดังนั้นเราจึงขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกช่วยจัดหาทรัพยากรที่จะช่วยสนับสนุนความพยายามของยูเครน และการพิจารณาคดีที่กำลังดำเนินการอยู่และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งหมดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาอาชญากรรมสงครามต้องเป็นไปตามหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3BibNl5
 
--------
 
กาตาร์ : ผลการสำรวจทั่วโลกเผยความต้องการอย่างล้นหลามให้ฟีฟ่าชดเชยแรงงานข้ามชาติในฟุตบอลโลก
15 กันยายน 2565
 
จากโพลสำรวจทั่วโลกฉบับใหม่ที่จัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่าผู้ใหญ่เกือบสามในสี่ (73%) จากประเทศที่ทำการสำรวจ ขอสนับสนุนให้ฟีฟ่าชดเชยแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบระหว่างการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ โดยจำนวนการสนับสนุนนั้นยิ่งสูงขึ้นในกลุ่มผู้ที่มีแนวโน้มจะเข้าชมการแข่งขันอย่างน้อยหนึ่งเกม (84%)
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอเรียกร้องให้ฟีฟ่าและกาตาร์จัดทำแผนการเยียวยา ด้วยการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่จากแรงงาน สหภาพแรงงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศและประชาสังคม โดยควรมีการจัดทำแผนและมีการจัดการประชุมเบื้องต้นระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ ก่อนการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 นี้
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3RLXxrI
 
--------
 
อิหร่าน : กำแพงที่สร้างรอบหลุมศพเหยื่อการสังหารหมู่แสดงถึงความจำเป็นของการตรวจสอบระหว่างประเทศอย่างเร่งด่วน
13 กันยายน 2565
 
ประเทศที่มีส่วนร่วมกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติต้องเรียกร้องให้ทางการอิหร่านหยุดปกปิดหลุมศพของเหยื่อใน "การสังหารหมู่ในเรือนจำ" เมื่อปี 2531 และต้องเปิดให้มีการตรวจสอบระหว่างประเทศในทันทีเกี่ยวกับการวิสามัญฆาตกรรมและการบังคับบุคคลให้สูญหายของผู้เห็นต่างหลายพันคนอันเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างต่อเนื่อง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา
 
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทางการอิหร่านได้เริ่มสร้างกำแพงคอนกรีตสูง 2 เมตรรอบกับสุสานคาวาราน นอกเมืองเตหะราน ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่ฝังศพของผู้เห็นต่างทางการเมืองหลายร้อยคนที่ถูกประหารชีวิตอย่างลับๆ ในปีพ.ศ. 2531 โดยการก่อสร้างกำแพงในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดความกังวลเป็นอย่างมากว่าทางการจะสามารถเข้าไปทำลายหรือเข้าไปยุ่งกับหลุมศพในสุสานโดยพ้นจากสายตาของสาธารณชนได้ เนื่องจากสถานที่นี้ไม่สามารถมองเห็นได้จากฝั่งภายนอกอีกต่อไป และบริเวณทางเข้าก็มีการคุ้มกันโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งจะอนุญาตให้ญาติเข้าได้เฉพาะในบางวันเท่านั้น
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3qG7R8M
 
--------
 
 
อัฟกานิสถาน : การสอบสวนครั้งใหม่พบว่ากลุ่มตาลีบันทรมานและประหารชีวิตชาวฮาซาราภายใต้การโจมตีเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ก่อนล่วงหน้า
15 กันยายน 2565
 
นักรบกลุ่มตาลีบันสังหารชาวฮาซารา (Hazaras) 6 คน ซึ่งเป็นการโจมตีโดยเจตนาต่อชนกลุ่มน้อยในจังหวัดกอร์ ของอัฟกานิสถาน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา หลังจากมีการดำเนินการสอบสวนครั้งใหม่
 
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2565 กลุ่มตาลีบันได้คุมขังและประหารชีวิตชายสี่คนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างปฏิบัติการจู่โจมตอนกลางคืนเพื่อค้นหาอดีตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม มีการพบว่าร่างกายของผู้ถูกประหารอย่างน้อยหนึ่งรายมีร่องรอยการทรมานเกิดขึ้น นอกจากนั้นผู้หญิงและเด็กหญิงอายุ 12 ปีก็ได้ถูกฆ่าตายด้วยเช่นกันระหว่างที่มีการจู่โจม ซึ่งการโจมตีในครั้งนี้นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการขยายขอบเขตการกำหนดเป้าหมายการสังหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกับบุคคลที่กลุ่มตาลีบันมองว่าเป็นศัตรู ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งเหล่าสมาชิกชุมชนฮาซาราและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลอัฟกานิสถานชุดเก่า
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้มีการบันทึกการวิสามัญฆาตกรรมที่คล้ายคลึงกันต่อชาวฮาซาราในจังหวัดกัซนี (Ghazni province) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 และจังหวัดเดย์คุนดิ (Daykundi province) เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 แม้ว่าจะมีการให้คำมั่นสัญญาต่อสาธารณชนเอาไว้ว่าจะไม่พุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัฐจากรัฐบาลชุดก่อน แต่กลุ่มตาลีบันก็ยังคงไม่ได้มีการสอบสวนหรือลงโทษผู้ใดเลยกับการสังหารนี้
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3dlw5lE