สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 2 - 8  กรกฎาคม 2565

9 กรกฎาคม 2565

Amnesty International

ไทย : แอมเนสตี้ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องทางการไทยยกเลิกการดำเนินคดีต่อพี่สาววันเฉลิม

วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 

สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนร่วมกันส่งจดหมายถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีและยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ถูกตั้งข้อหาร่วมกันชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินรวม 2 คดี จากการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ค้นหาความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมและที่อยู่ของน้องชาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกลักพาตัวหายไปในช่วงเย็นของวันที่ 4 มิถุนายน 2563 บริเวณหน้าคอนโดแห่งหนึ่งในประเทศกัมพูชา โดยการรณรงค์นี้จะมีไปถึงวันที่  29 สิงหาคม 2565 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า รู้สึกเสียใจที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินคดีอาญาต่อสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เพียงเพราะเธอใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และยังรู้สึกไม่สบายใจกับรายงานที่อาจบ่งชี้ว่าเธอเป็น “บุคคลเฝ้าระวังพิเศษ (ระดับแดง)” ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย 

“สิตานันถูกตั้งข้อหาร่วมกันชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินรวม 2 คดี โดยคดีแรก จากการไปร่วมชุมนุม #ม็อบ5กันยา ที่ แยกอโศก เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 เพื่อถ่ายทอดความอยุติธรรมที่ตนเองได้รับจากเจ้าหน้าที่รัฐและเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่น้องชายและเหยื่อการบังคับสูญหาย และอีกคดีจากไปยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่น้องชายและเรียกร้องประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ที่บริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564  

“ในเดือนเมษายน 2565 องค์กรภาคประชาสังคมแห่งหนึ่งรายงานว่า ชื่อและรายละเอียดส่วนบุคคลของเธอปรากฏอยู่ในรายการเฝ้าระวังของกองกำลังความมั่นคงของไทย และเป็นไปได้ว่าจะส่งต่อให้ตำรวจท้องที่ ซึ่งอาจหมายความว่าเธออยู่ภายใต้การสอดส่องโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”  

แอมเนสตี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ออกมารณรงค์ให้มีการสอบสวนการอุ้มหายน้องชายของเธอ โดยบุคคลไม่ทราบฝ่ายที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ปัจจุบันยังไม่มีใครทราบชะตากรรมและที่อยู่ของเขา การดำเนินคดีกับสิตานันเป็นผลมาจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของเธอเท่านั้น และกำลังขัดขวางการณรงค์เพื่อตามหาความเป็นธรรมให้กับน้องชายและครอบครัวของเธอ รวมทั้งกำลังขัดขวางการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็งในประเทศไทยด้วย 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงเชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม ผู้สนับสนุน ตลอดจนผู้ที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนเขียนจดหมายถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเรียกร้องให้ยุติข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และบุคคลอื่นที่ตกเป็นเป้าหมายของการใช้อำนาจฉุกเฉินและถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สำหรับการทำงานรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน และตรวจสอบรายงานที่ว่า เธออาจถูกสอดแนมโดยเจ้าหน้าที่รัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และให้หลักประกันว่าจะมีการนำร่างกฎหมายที่จะกำหนดโทษทางอาญาต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายและการทรมานมาใช้โดยทันที และต้องสอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย รวมถึงการยอมรับสิทธิของครอบครัวผู้เสียหาย ทั้งยังขอให้ทางการไทยสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวยให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลอื่นๆ ในภาคประชาสังคมสามารถใช้สิทธิที่ในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ โดยไม่มีการข่มขู่ คุกคาม และการฟ้องร้องดำเนินคดี 

 

ลงชื่อรณรงค์ได้ที่นี่: https://bit.ly/3OLEJra

 

จีน : แอนเนสตี้เผยคำให้การอันน่าเศร้าของชาวอุยกูร์ที่ถูกคุมขังในซินเจียง

วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เผยแพร่คำให้การอันน่าเศร้าใจจากญาติของชาวอุยกูร์และชาวคาซัคจำนวน 48 รายที่ถูกคุมขังที่เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์และได้เน้นย้ำถึงข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมการข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติให้ปฏิบัติการต่อกรณีดังกล่าว 

ขณะที่มิเชล บาเชเลต์ (Michelle Bachelet) ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังไม่ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในเมืองซินเจียงซึ่งรอคอยอย่างยาวนาน อีกทั้งยังล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการรับรู้ถึงความรุนแรงของทางการจีนในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งสำหรับความล่าช้านี้ ขณะเดียวกันการประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะปิดอีกครั้งในสัปดาห์นี้โดยไม่สามารถหารือเกี่ยวกับข้อค้นพบของสหประชาชาติเกี่ยวกับซินเจียงได้เลย 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รวบรวมคำให้การใหม่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ปลดปล่อยผู้ต้องขังชาวซินเจียง ( Free Xinjiang Detainees) โดยเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของ 120 คนที่ถูกกวาดล้างในระบบเรือนจำและค่ายกักกันอันกว้างใหญ่ของจีนในเมืองซินเจียง 

“ เรื่องราวของครอบครัวเหล่านี้เผยให้เห็นถึงความน่าสะพรึงกลัวที่เกิดขึ้นในซินเจียงซึ่งถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ พวกเขาบอกว่าสมาชิกในครอบครัวหลายคนยังถูกคุมขังซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระดับอุตสาหกรรม” แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว 

ความล่าช้าที่มักเป็นลักษณะเฉพาะของการตอบสนองของยูเอ็นต่อพื้นที่อันเลวร้ายนี้ได้กลับด้อยค่าการบาดเจ็บของเหยื่อและผู้รอดชีวิตจากการคุมขัง การทรมานและการกดขี่ข่มเหงของจีนต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในซินเจียงตั้งแต่ปี 2560  

“เรายังคงเรียกร้องให้รัฐบาลจีนรื้อระบบค่ายกักกันขนาดใหญ่นี้ รวมทั้งยุติการกักขังตามอำเภอใจ การบังคับบุคคลให้สูญหายและการปฏิบัตอันโหดร้ายทารุณทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ในเรือนจำหรือสถานที่อื่น และหยุดการกดขี่ข่มเหงอันน่าสยดสยองต่อชาวอุยกูร์ คาซัค และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในซินเจียง” คาลามาร์ดกล่าว 

เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวอีกว่า ทางการจีนต้องรับผิดชอบและขั้นตอนสำคัญคือให้ บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่ เผยแพร่รายงานอันล่าช้านี้และควรนำเสนออย่างเร่งด่วนต่อสภาคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  

ความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องของบาเชเลต์ในการเรียกร้องอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงอื่นๆ ในซินเจียงเป็นอุปสรรคต่อความยุติธรรมและยังทำให้ระบบของสหประชาชาติอับอายไปด้วย  

 

ญาติเหยื่อเผยความในใจ

เมื่อเร็วๆ นี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้สัมภาษณ์เป็นภาษาตุรกีกับญาติของผู้ถูกคุมขังจำนวน 46 ราย โดยพวกเขาได้บอกเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขาที่ต้องถูกจับกุมในข้อหาผู้ก่อการร้ายหรือข้อหาหลอกลวงอื่นๆ ที่นอกเหนือกฎหมาย อย่างเช่น การจ่ายค่าเดินทางหรือค่าเล่าเรียนบุตรหลานในต่างประเทศ บางรายก็ถูกจับกุมเพียงเพราะศาสนาหรือชาติพันธุ์ของพวกเขา 

คุไลชา ออรัลเบย์ (Gulaisha Oralbay) หญิงชาวอุยกูร์บอกกับแอมเนสตี้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับน้องชายของเธอ ดิลชาต ออรัลเบย์ ( Dilshat Oralbay) นักหนังสือพิมพ์และนักแปลชาวอุยกูร์ที่เกษียณอายุราชการ หลังจากที่ทางการจีนได้เกลี้ยกล่อมให้เขาเดินทางกลับจากคาซัคสถานไป

ซินเจียงในปี 2560 และทันที่ที่เขาเดินทางถึงซินเจียง พาสพอร์ตของเขาก็ถูกยึด และหลายเดือนต่อเขาก็ถูกจับ 

“ ไม่มีการขึ้นศาลใดๆ เลย ทางการแค่ขังเขาไว้ และบอกว่าเป็นระยะเวลา 25 ปี” คุไลชา 

“ฉันไม่คิดว่าเขาเองจะรู้เหตุผล มีคนบอกว่าเป็นเพียงเพราะเขาเดินทางไปคาซัคสถาน และไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการอ้างเหตุผลและเหตุผลที่ชัดเจนเลย” 

 

ต่อมาน้องสาวของคุไลชาและดิลชาตก็ถูกคุมขังเช่นเดียวกัน 

อับดุลเลาะห์ ราซูล (Abdullah Rasul) บอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า พาร์ฮาต ราซูล (Parhat Rasul ) น้องชายของเขาซึ่งเป็นชาวนาอุยกูร์และคนขายเนื้อก็ถูกควบคุมตัวและนำตัวส่งไปยังค่ายกักกันในเดือนพฤษภาคมปี 2560 ครอบครัวไม่ได้รับการติดต่อโดยตรงจากเขาตั้งแต่นั้นมา แต่ในปี 2561 แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือบอกว่า พาร์ฮาตถูกตัดสินจำคุก 9 ปี 

ครอบครัวของพาร์ฮาต เชื่อว่าเขาถูกจับกุมเพียงเพราะเขาเป็นผู้สังเกตุการณ์ชาวมุสลิมและทำงานการกุศล สมาชิกครอบครัวยังเล่าอีกว่า คาลบิเนอร์ (Kalbinur) ภรรยาของพาร์ฮาตและพาริซาต อับดุกูล (Parizat Abdugul) ก็ถูกจำคุกเช่นเดียวกัน ทั้งนี้พาร์ฮาตเองมีลูกสาวสองคนอายุ 14 ปีและ 16 ปีและมีลูกชายอีกหนึ่งคนอายุ 11 ปี 

“ รัฐบาลจีนต้องการลบตัวตนของพวกเรา ลบวัฒนธรรมของพวกเรา ลบศาสนาของพวกเรา ” อับดุลเลาะห์ ราซูลกล่าว

“ฉันหวังว่าทุกคนจะได้เห็นชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเกิดของเรา” เขากล่าวทิ้งท้าย

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3yLIcA8

 

สิงคโปร์ : เรียกร้องรัฐบาลยุติการแขวนคอและสั่งพักการประหารชีวิตทันที

วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 

จากกรณีที่นายกัลวันต์ ซิงห์ (Kalwant Singh) สัญชาติมาเลเซียและชายอีกหนึ่งรายถูกลงโทษด้วยการประหารชีวิตที่สิงคโปร์เมื่อเร็วๆ นี้ 

เอ็มเมอร์ลีน จิล  (Emerlynne Gil) รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า สิงคโปร์ได้ประหารชีวิตผู้ต้องหาคคียาเสพติดอีกครั้งซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศและเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของสาธารณะ  

สิงคโปร์เป็นเพียง 1 ใน 4 ประเทศที่มีการประหารชีวิตบุคคลในความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและนับว่าเป็นการสวนกระแสโลกในปัจจุบันที่มุ่งไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต ทั้งนี้โทษประหารชีวิตไม่ใช่หนทางในการแก้ปัญหาและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลก็ได้คัดค้านอย่างไม่มีเงื่อนไข อีกทั้งไม่มีหลักฐานว่าการใช้โทษประหารชีวิตสามารถยับยั้งการก่ออาชญากรรม 

แม้ศาลพบว่าเขาเป็นเพียงผู้ส่งยาเสพติดเท่านั้น แต่กัลวันต์ก็ถูกปฏิเสธที่จะได้รับใบรับรองสำหรับความช่วยเหลือในการดำเนินคดี หลังจากนั้นศาลได้ตัดสินลงโทษประหารชีวิตเขา ขณะที่คำขอของเขาที่ได้ขอให้ทบทวนการออกใบรับรองกลับถูกปฏิเสธโดยศาลอุทธรณ์ก่อนการประหารชีวิตเพียงหนึ่งวัน 

ทั้งนี้สัปดาห์ที่ผ่านมา นายเค ชานมูกาม (K Shanmugam) รัฐมนตรีกระทรวงกฎหมายได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยปกป้องการใช้โทษประหารชีวิตในการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในสิงคโปร์โดยอ้างถึงการรับรู้ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติถึงปัญหาที่มีสาเหตุมาจากยาเสพติดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

“เป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ทางการสิงคโปร์ได้อ้างถึงไม่ว่าจะเป็นทั้งสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติและคณะกรรมการควบคุมสารเสพติดนานาชาติซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่มีหน้าที่ป้องกันอาชญากรรมและดูแลนโยบายด้านยาเสพติดก็ได้ประณามการใช้โทษประหารชีวิตสำหรับการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อีกทั้งยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าไปสู่การยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิต ซึ่งข้อเท็จจริงนั้น บทบาททั่วไปของยูเอ็นเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติดก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลงดใช้การตอบโต้เชิงลงโทษเพราะไม่มีประสิทธิภาพในการลดการค้ายาเสพติดหรือการใช้และจัดหายาเสพติด”

“รัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนสำหรับทุกคน ส่วนการใช้โทษประหารชีวิตนั้นก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลสิงคโปร์ยุติการแขวนคอและสั่งพักโทษประหารชีวิตไว้ก่อนเพื่อมุ่งหน้าไปสู่การยกเลิกการลงโทษที่น่าอับอายและไร้มนุษยธรรมนี้” 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3IogFrH

 

แอมเนสตี้เตือนศาลอาญาระหว่างประเทศไม่ควรดำเนินคดีแบบสองมาตรฐาน

วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลส่งสัญญาณเตือนศาลอาญาระหว่างประเทศในโอกาสครบรอบ 20 ปี ชี้ความชอบธรรมของศาลอาญาระหว่างประเทศมีความเสี่ยงที่จะสึกกร่อนมากขึ้นเนื่องจากใช้วิธีคัดเลือกเพื่อความยุติธรรม  

การตัดสินใจและแนวทางปฏิบัติหลายประการของศาลเองที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นสองมาตรฐานและการรับอิทธิพลจากรัฐที่มีอำนาจอย่างเต็มใจ  

ตัวอย่างเช่น ในปี 2563 สำนักงานอัยการได้ตัดสินใจไม่ดำเนินการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมสงครามโดยกองกำลังอังกฤษในอิรัก แม้การค้นข้อเท็จจริงของอังกฤษพบว่าอังกฤษเองได้ก่ออาชญากรรมเหล่านี้ หลังจากนั้นในปี 2564 ก็มีการตัดสินใจลดการจัดลำดับความสำคัฐของการสืบสวนอาชญากรรมสงครามในอัฟกานิสถานโดยกองกำลังแห่งชาติสหรัฐฯ และอัฟกานิสถาน โดยอัยการคาริม ข่าน (Karim Khan) อ้างว่ามีข้อจำกัดด้านศักยภาพและงบประมาณ แต่หลังจากนั้น 6 เดือนต่อมา อัยการได้เปิดตัวการสืบสวนสอบสวนที่ใหญ่ที่สุดในสำนักงานของเขาในประเทศยูเครน ทั้งนี้เขาได้ขอความช่วยเหลือทางการเงินโดยสมัครใจจากประเทศสมาชิกซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจัดสรรโดยรัฐสำหรับการสอบสวนของยูเครน 

“ 25 ปีที่ผ่านมาศาลอาญาระหว่างประเทศได้เปิดประตูเป็นคร้ังแรก หลังจากการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ในการจัดตั้งศาลอาญาระหว่าประเทศถาวรที่มีเขตอำนาจศาลเหนืออาชญากรรมระหว่างประเทศที่ร้ายแรงที่สุด สำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและผู้รอดชีวิตที่ถูกปฏิเสธความยุติธรรม ศาลอาญาระหว่างประเทศก็ได้ให้ความหวังอันริบหรี่ว่าผู้กระทำความผิดจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณา” แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

คาลามาร์ดกล่าวต่อว่า ดูเหมือนมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วยการตัดสินใจโดยอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ซึ่งได้แสดงความกังวลว่าศาลอาจจะมุ่งหน้าไปสู่ระบบลำดับชั้นของกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ

 

“ การตอบสนองต่อสถานการณ์ยูเครนได้แสดงให้เห็นว่าศาลอาญาระหว่างประเทศสามารถทำอะไรได้บ้าง ตอนนี้เราขอเรียกร้องให้สำนักงานอัยการและรัฐภาคีต่างๆ ให้การรับประกันว่าการสืบสวนต่างๆ จะดำเนินการภายใต้มาตรฐานเดียวกันเพื่อให้เหยื่อของอาชญากรรมระหว่างประเทศทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน” คาลามาร์ดกล่าว

 

ศาลตกอยู่บนความเสี่ยงที่ถูกครอบงำโดยมหาอำนาจ 

ประชาคมโลกได้แสดงการสนับสนุนอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนต่อศาลอาญาระหว่างประเทศนับตั้งแต่เหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครน รัฐบาลที่เคยคัดค้านการสอบสวนของศาลอาญาระหว่างประเทศในกรณีที่เกี่ยวข้องกับคนในชาติหรือพันธมิตรทางการของตนเองต่างหันมาสนับสนุนสำนักงานอัยการให้สอบสวนกรณีที่เกิดขึ้นในยูเครน 

ขณะที่ศาลอาญาระหว่างประเทศก็เริ่มยอมรับเงินทุนโดยสมัครใจ รวมทั้งกำลังพลสำรองที่จัดสรรไว้สำหรับสถานการณ์ในยูเครน แต่หากไม่มีความระมัดระวังเป็นพิเศษและความโปร่งใสอย่างเพียงพอ แนวทางนี้อาจมีความเสี่ยงที่ทำให้รัฐภาคีจะสนับสนุนเฉพาะสถานการณ์ที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของพวกเขาเท่านั้นซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดความยุติธรรมแบบคัดเลือกและทำให้ศาลเสี่ยงต่อการถูกครอบงำโดยรัฐที่มีอำนาจ 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีความกังวลด้วยว่าศาลและคณะส่วนใหญ่ยังคงนิ่งเงียบต่อสถานการณ์ในปาเลสไตน์และการสอบสวนอื่นๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับการประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ยูเครน ความนิ่งเงียบนี้อาจทำให้ผลการยับยั้งของศาลอ่อนแอลงและทิ้งความว่างเปล่าที่เต็มไปด้วยการโจมตีทางการเมืองเอาไว้ เช่นเดียวกับการโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญต่อความน่าเชื่อถือในข้อความของศาลที่จะไม่แสดงออกทางการเมือง 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศตรวจสอบให้แน่ใจว่า เงินทุนทั้งหมดได้รับการจัดสรรในลักษณะที่ไม่เลือกปฏิบัติและสอดคล้องกับผลประโยชน์ของความยุติธรรม และเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมระหว่างประเทศทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิในการเยียวยาและการชดเชยอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะเงินทุนที่เพิ่มขึ้น สำนักงานอัยการควรจัดลำดับความสำคัญของการสืบสวนสอบสวนในอาชญากรรมที่กระทำโดยทุกฝ่ายในอัฟกานิสถาน ศาลควรขออำนาจตุลาการสำหรับการสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับไนจีเรีย รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ในสถานการณ์อื่นๆ ที่มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยบนข้อจำกัดด้านทรัพยากร 

รัฐภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าการสอบสวนและกิจกรรมของศาลนั้นได้รับทุนสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยไม่ใช้ทรัพยากรและความร่วมมือเป็นเครื่องมือในการโน้นน้าวสถานการณ์และฝ่ายต่างๆ ที่กำลังถูกสอบสวน ในขณะเดียวกัน ทุกรัฐที่ยังไม่ได้ดำเนินการ รวมทั้งยูเครนต้องให้สัตยาบันในธรรมนูญกรุงโรม 

“ในโอาสครบรอบ 20 ปีนี้ เรายังคงเชื่อว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศสามารถมีบทบาทพิเศษในการตระหนักถึงสิทธิสากลในการเยียวยาและชดเชย” คาลามาร์ดกล่าว

“ในการบรรลุบทบาทนี้ อัยการต้องดำเนินการสืบสวนทั้งหมดโดยไม่มีการแบ่งแยกต่อผู้กระทำความผิดทั้งหมดด้วยความทารุณ ปราศจากความกลัวหรือความชื่นชม ไม่ว่าอำนาจทางการเมืองหรือเศรษฐกิจของผู้กระทำบางคนจะยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม” คาลามาร์ดกล่าวทิ้งท้าย 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3bC4CLa

 

อุซเบกิสถาน : แอมเนสตี้เรียกร้องยุติการใช้กำลังที่ผิดกฎหมายต่อผู้ประท้วง

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 

จากกรณีที่มีรายงานการใช้กำลังที่ผิดกฎหมายในเมืองนูกูส (Nukus) จนมีผู้ประท้วงเสียชีวิตอย่างน้อย 18 ราย หลังจากการประท้วงต่อต้านข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำเอาการปกครองตนเองของคาราคัลปัคสถาน (Karakalpakstan)ในอุซเบกิสถานออกไป มารี สตรูเธอร์ส (Marie Struthers) ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยุโรปตะวันออกและเอเชียกล่าวว่า ภาพที่ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เห็นในสื่อสังคมออนไลน์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นเป็นภาพที่ผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บอย่างทารุณโหดร้ายและดูเหมือนว่ากองเลือดอยู่เต็มท้องถนนไปหมดซึ่งเป็นภาพที่น่าตกใจอย่างมาก ทางการต้องเปิดเผยอย่างเร่งด่วนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนูกูส รวมทั้งสั่งการให้มีการสอบสวนอย่างเป็นกลาง เป็นอิสระและละเอียดถี่ถ้วนเกี่ยวกับการใช้กำลังต่อผู้ประท้วง และต้องให้การรับรองว่าผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้จะได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม 

“ เรากังวลว่าทางการอุซเบกิสถานกำลังใช้วิธีการปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์และปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต การสื่อสารทางโทรศัพท์มือถือต่างๆ ในนูกูสทำให้ทั่วโลกหยุดการรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา” สตรูเธอร์สกล่าว 

ทั้งนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับรายงานว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่วิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ถูกควบคุมตัวแล้วและมีความเสี่ยงที่จะถูกทรมานและได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้าย ขณะที่การปิดข้อมูลทำให้การตรวจสอบโดยอิสระแทบเป็นไปไม่ได้เลย 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3yJ74IY

 

ไทย : แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับ 5 องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศเรียกร้องไทยผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน-อุ้มหาย ให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับ 5 องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศได้แก่ กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights) ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists) สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights) และองค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก (World Organization Against Torture) ส่งจดหมายเปิดผนึกเนื่องใน "วันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมานสากล”  (International Day In Support of Victims of Torture) ถึง ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทรมาน การประติบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และการบังคับให้สูญหายโดยจดหมายเปิดผนึกได้แสดงความกังวลถึงความล่าช้าของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันร่างยังอยู่ในชั้นกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา อีกทั้งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบขยายเวลาไปอีก 30 วัน ทำให้การพิจารณากฎหมายฉบับนี้ขยายออกไปถึงกลางเดือนสิงหาคม ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างมากที่กฎหมายฉบับนี้จะไม่แล้วเสร็จภายในสมัยประชุมครั้งนี้ ที่จะจบลงวันที่ 18 กันยายน 2565 

ทั้งนี้ 6 องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศยังเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการวิสามัญและวุฒิสภาเร่งรัดกระบวนการพิจารณาและผ่านร่าง พ.ร.บ.นี้โดยไม่ชักช้าและประกันว่ากฎหมายดังกล่าวสอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและให้มีการอภิปรายอย่างโปร่งใสและมีการชี้แจงความคืบหน้าของกระบวนการพิจารณาของวุฒิสภาด้วย 

ในแถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุว่า ไทยเข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี แห่งสหประชาชาติในปี 2550 และได้ให้คำมั่นสัญญาทั้งในระดับระหว่างประเทศและในประเทศหลายครั้งที่จะทำให้การทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา 

นอกจากนั้น ในระหว่างกระบวนการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR) ครั้งที่สอง เมื่อปีพ.ศ. 2559 รัฐบาลยังให้คำมั่นโดยสมัครใจว่าจะให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับของ UNCAT เพื่อส่งเสริมพันธกรณีของประเทศไทยต่อการป้องกันการทรมานและการประติบัติที่โหดร้ายให้สอดคล้องตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น และในระหว่างกระบวนการ UPR ครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ประเทศไทยยังยอมรับข้อเสนอแนะจากประเทศอื่นที่จะตรากฎหมายเพื่อทำให้การทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา และประกันให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วย 

แม้จะมีการให้คำมั่นเหล่านี้มามากว่า 15 ปี และมีการจัดทำร่างกฎหมายหลายฉบับเพื่อทำให้การทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา แต่ร่างกฎหมายเหล่านี้กลับถูกถอนออกไปโดยหน่วยงานของรัฐต่างๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้จะมีการนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง แต่ก็ทำให้เกิดความล่าช้าอย่างมากในกระบวนการนี้ นอกจากนั้นเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัตินี้กลับถูกทำให้อ่อนลงและถูกลดทอนในหลายโอกาส ซึ่งไม่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตราฐานระหว่างประเทศ  

ในท้ายของจดหมายระบุว่า องค์กรภาคประชาสังคมรระหว่างประเทศยังคงมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับวุฒิสภาประเทศไทย ในการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินี้ และยินดีหากจะมีโอกาสได้เข้าพบ อภิปราย และรับฟังความเห็นหรือคำถามใดๆ ที่ทางวุฒิสภามีต่อประเด็นต่างๆ ในจดหมายที่ส่งไปถึง เพื่อให้ประเทศไทยผ่านร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศโดยสมบูรณ์ 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3NNSioH

 

เบลารุส : แอมเนสตี้เรียกร้องรัฐบาลเบลารุสปล่อยตัวนักศึกษาหลังโดนโทษจำคุก 6.5 ปีฐานโพสต์วิจารณ์บทบาทผู้นำกับสงครามยูเครน

วันที่ 6 กรกฎาคม 2565

จากรายงานข่าวที่ระบุว่าศาลในประเทศเบลารุสได้ตัดสินลงโทษจำคุก ดานุตา เปียเรดน์ยา (Danuta Pyrednya) นักศึกษาวัย 20 ปีจากเมืองมาฮิลิว (Mahiliou) เป็นระยะเวลา 6.5 ปีในข้อหาโพสต์ข้อความซ้ำที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์สงครามในยูเครนและบทบาทของนายอาเลียกซันเดอร์ ลูกาแชนกา (Alexander Lukashenko) ประธานาธิบดีเบลารุส 

มารี สตรูเทอร์ส (Marie Struthers) ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลางกล่าวว่า ทางการเบลารุสได้เพิ่มการปราบปรามความคิดเห็นฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็สนับสนุนรัสเซียในการรุกรานยูเครนอย่างต่อเนื่อง 

“ ดานุตา เปียเรดน์ยาและคนอื่นๆ ในเบลารุสที่ถูกจำคุกเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็นของพวกเขาอย่างสันติและแสดงความคิดเห็นต่อต้านสงครามจะต้องได้รับการปล่อยตัวและยกเลิกข้อหาต่างๆ ทันที” สตรูเทอร์ส กล่าว 

ทางการเบลารุสได้จำคุกเปียเรดน์ยาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาในข้อหาโพสต์ข้อความซ้ำอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียและนายอาเลียกซันเดอร์ ลูกาแชนกา ประธานาธิบดีเบลารุสเกี่ยวกับการทำสงครามในยูเครน 

นักศึกษาระดับหัวกะทิรายนี้ต้องถูกให้ออกจากมหาวิทยาลัย ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน คณะกรรมการความมั่นคงเบลารุสได้ขึ้นบัญชีชื่อของเขาในฐานะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย และในวันที่ 5 กรกฎาคม ศาลได้ตัดสินลงโทษเธอเป็นระยะเวลา 6.5 ปีด้วยข้อหาทำลายผลประโยชน์ของชาติตามกฎหมายอาญามาตรา 361 (3) และหมิ่นประมาทประธานาธิบดีตามมาตรา 368(1)  

นับตั้งแต่รัสเซียได้รุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ มีชาวเบลารุสนับพันคนถูกจำคุกเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นของพวกเขาในการต่อต้านสงคราม 

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3NPxvkH